fbpx
จิตวิทยาการลงทุน

กระบวนการจิตวิทยาการลงทุนบำบัด (Trading Tribe Process) โดย Ed Seykota

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

นักลงทุนที่พยายามหลอกตัวเองหรือไม่กล้าเผชิญหน้าต่อความผิดพลาดในการลงทุนของเขานั้น ย่อมที่จะต้องขาดทุนต่อไปและขาดทุนต่อไปเรื่อยๆจนหมดตัว นอกจากนี้แล้ว นักลงทุนที่ไม่ได้เรื่องก็มักที่จะดึงดูดกันเองอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่มันเกิดจากกลไกเบื้องลึกในจิตใจของเราต่างหาก ลองอ่านบทความชิ้นนี้ซึ่งเขียนโดย Ed Seykota เซียนหุ้นระดับโลกดูนะครับ

ขอเกริ่นนำนิดนึงว่าบทความนี้ Ed Seykota ได้เขียนเอาไว้เพื่อเป็นแนวทางให้กับการบำบัดจิตใจซึ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรมแย่ๆในการลงทุน โดยใช้การบำบัดในลักษณะของการจับกลุ่มพูดคุยแบบเปิดใจถึงข้อผิดพลาดในการลงทุนที่เกิดขึ้น เรียกว่า Trading Tribe Proces (คล้ายๆกับการสารภาพบาป) เพื่อที่จะทำให้ตัวของเราไม่ “เก็บกด” เอาความรู้สึกแย่ๆไว้จนกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีในการลงทุนออกมาโดยไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น บางคนอาจติดหุ้นอยู่แต่หลอกตัวเองหรือทำเป็นมองข้ามไปเรื่อยๆ จนในที่สุดแล้วเนื่องจากการที่เราพยายามปิดกั้นมันมาตลอด หากเรายังคงขาดทุนอยู่หนักเข้าๆเราก็อาจระเบิดมันออกมาโดยแสดงพฤติกรรมแบบสุดโต่งออกมาไม่รุ้ตัว ประมาณว่าอาจเก็บกดจากการขาดทุนมานาน เลยหน้ามืดเดิมพันหมดหน้าตักทั้งที่รู้ว่าไม่ควรทำเพียงเพราะอยากจะลืมความรู้สึกแย่ๆจากการขาดทุนที่หลอกตัวเองมานาน … ซึ่งแน่นอนว่าถ้าคุณโชคร้ายพอก็อาจต้องขาดทุนบักโกรกก็ได้

สิ่งเหล่านี้เองเป็นที่มาของวลีเด็ดจาก Ed Seykota ที่ว่า

“ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน พวกเราทุกๆคนต่างก็ได้รับในสิ่งที่เราต้องการจากตลาดอยู่แล้ว”

นั่นก็เพราะถึงแม้ว่ามันอาจดูเหมือนว่าทุกเข้าจะเข้ามาเล่นหุ้นเนื่องจากต้องการผลกำไร แต่สุดท้ายแล้วพวกเราก็มักที่จะทำ (หรือตกเป็นเหยื่อ) ในสิ่งที่จิตใต้สำนึกพยายามที่จะระบายมันออกมาแทนนั่นเอง และต่อไปนี้ก็คือบทความดีๆจาก Ed Seykota ครับ!

กระบวนการจิตวิทยาการลงทุนบำบัด The Trading Tribe Process

เป็นที่รู้กันดีว่านักเล่นหุ้นส่วนใหญ่นั้น มักค่อนข้างที่จะหวงแหนความเป็นส่วนตัวและรักอิสระเป็นอย่างสูง การอยู่เพียงลำพังและทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองนั้นดูจะเป็นส่วนหนึ่งในวัฒธรรมของพวกเราไปแล้ว

อย่างไรก็ตามพวกเราทุกๆคนต่างก็รู้ดีว่า อารมณ์ความนึกคิดรวมถึงสัญชาติญาณต่างๆของพวกเรา มักที่จะถูกสะท้อนออกมาในพฤติกรรมการเล่นหุ้นของพวกเราเองเช่นกัน นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมพวกเราจึงพยายามที่จะฝึกฝนจิตใจของตนเองให้มากที่สุด เพราะนั่นก็เพื่อที่จะพัฒนาทักษะในการเล่นหุ้นให้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง และนี่ก็คือสิ่งที่กระบวนการจิตวิทยาการลงทุนบำบัด “Trading Tribe Process (TPP)” จะเข้ามาช่วยในจุดนี้ เนื่องจากในการที่เราจะสามารถพัฒนาทักษะที่มีความข้องเกี่ยวกันของ Ego และ จิตใต้สำนึกได้นั้น มันค่อนข้างเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในการที่จะบรรลุเป้าหมายได้ด้วยตนเองเพียงลำพัง แต่มันกลับเป็นเรื่องง่ายขึ้นที่เราจะสามารถพัฒนาและฝึกฝนทักษะเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติเมื่อเราได้อยู่ร่วมเป็นกลุ่มกัน

กระบวนการจิตวิทยาการลงทุนบำบัด (TPP) นั้นตระหนักได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อวิเคราะห์ลงไปในจิตใจของพวกเราลึกๆแล้ว พวกเราทุกคนต่างก็ไม่ได้เป็นอิสระจากกันไปอย่างสิ้นเชิง พวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอยู่และยังมีความเกี่ยวโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยความเข้าใจในสิ่งต่างๆเหล่านี้ มันจึงช่วยทำให้กำแพงที่ขวางกั้นระหว่างจิตใจและร่างกาย, ภายนอกและภายใน รวมถึงตัวตนของคุณกับโลกภายนอกได้ถูกพังทลายลงไป และนี่จะเป็นสิ่งช่วยให้คุณรู้จักกับตัวตนของคุณได้อย่างมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

Fred – สัญชาติญาณที่ควบคุมพฤติกรรมต่างๆของเรา

ข้อมูลข่าวสารต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นจะวิ่งเข้าสู่จิตใจของเราผ่านประสาทสัมผัสและไหลไปยังสิ่งที่เรียกว่า Fred

Fred คือส่วนหนึ่งในจิตใจของพวกเรา โดยที่คนส่วนใหญ่อาจที่จะเรียกมันว่า จิตใต้สำนึก (Subconscious), ระบบลิมบิค (Limbic System) ,สมองในส่วนที่คล้ายกับผลอัลมอนด์ (Amygdala), สมองส่วนหลัก หรือแม้แต่กระทั่งสัญชาตญาณ

โดยปกติแล้ว Fred จะตอบสนองต่อภยันตรายและโอกาสต่างๆที่ผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็วไปตามอารมณ์โดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น หากว่าคุณเอามือแตะไปที่ของที่มีความร้อนบางอย่าง Fred จะทำงานในทันที และมันจะบังคับให้ตัวของคุณดึงมือออกมาจากภยันตรายตรงนั้นก่อนที่สมองในส่วนของ “จิตสำนึก” (Conscious Mind “CM”) จะเคยรู้จักว่ามันคืออะไรมาก่อนเสียด้วยซ้ำ

Fred นั้นทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมและการกระทำหลายๆอย่างของพวกเรา พวกมันคือผู้ที่ควบคุมการสื่อสารของเรา โดย Fred จะทำหน้าที่จัดการกระบวนการขยับปาก, เส้นเสียง และการแสดงออกทางสีหน้าของเราโดยอัตโนมัติ  นอกจากนี้แล้ว Fred ยังทำหน้าที่ปรับความสมดุลต่างๆของเราเมื่อเราพยายามทรงตัวอยู่บนจักรยานอีกด้วย โดยที่กิจกรรมทั้งหมดต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ถูกดำเนินการโดยไม่ผ่านจิตสำนึกหรือ “CM” ของเราเลย หลังจากนั้น Fred จะเก็บข้อมูลต่างๆที่เราได้พบเจอในรูปแบบของ “ประสบการณ์” โดยที่ประสบการณ์เหล่านี้อาจรวมถึงความรู้สึก, ภาพต่างๆ หรือแม้กระทั่งจุดอ้างอิงไปยังประสบการณ์อื่นๆด้วย

จิตสำนึก “CM” ผู้ที่ทำหน้าที่ขบคิดและตัดสินใจว่าจะตอบสนองกับสิ่งต่างๆอย่างไร

เมื่อ CM ของเราได้รับข้อมูลข่าวสารต่อมาจาก Fred มันจะนำตรรกะเหตุผล (Logic) และกระบวนการตัดสินใจ (Judgement) เข้ามา เพื่อประมวลผลว่าเราควรที่จะตอบสนองต่อข้อมูลเหล่านั้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น CM จะรู้ว่าหากมีกระต่ายกระโดดผ่านไปยังด้านหลังของต้นไม้และไม่กลับออกมา มันจะประมวลผลว่ากระต่ายตัวนั้นควรที่จะอยู่ด้านหลังของต้นไม้ต้นนั้น โดยที่ CM ของเราสามารถแม้กระทั่งที่จะสับเปลี่ยนภาพของต้นไม้ออกไปให้เหลือแต่ความว่างเปล่า และ “เห็น” ว่ามีกระต่ายกำลังซ่อนอยู่ด้านหลังต้นไม้ต้นนั้น นอกจากนี้แล้ว CM ยังจะช่วยในการประมวลการตัดสินใจของ Fred ในสถานการณ์ต่างๆให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย โดยเมื่อ Fred และ CM สามารถที่จะทำงานประสานกันได้อย่างเป็นปกตินั้น CM จะเป็นผู้ที่ช่วยปรับการตอบสนองต่อข้อมูลต่างๆที่เกิดขึ้นให้กับ Fred นั่นเอง

สติปัญญาคือผลของการทำงานร่วมกันระหว่าง Fred กับ CM

เมื่อมีสถานการณ์ใหม่ๆเกิดขึ้นกับเรา Fred จะดึงเอาประสบการณ์ที่มีความใกล้เคียงที่สุดที่มันรู้จักเข้ามาประมวลผลและตอบสนองไปตามความเหมาะสมให้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนมอบดอกไม้ให้กับคุณ แต่ทันใดนั้นก็มีผึ้งบินออกมาพร้อมกับต่อยคุณเข้าที่จมูกอย่างแรง Fred จะเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นนี้เข้าไปอยู่ในรูปของประสบการณ์ความเจ็บปวดของคุณ และมันจะยังคงเชื่อมต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนี้กับประสบการณ์ของความเจ็บปวดต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่ CM จะค่อยๆทำหน้าที่ปรับการประมวลผล ว่าคุณควรที่จะตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรหากว่าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง โดยสิ่งต่างๆเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในลักษณะของการครุ่นคิด, รำพึงรำพัน, การฝันหรือแม้แต่การเพ้อฝัน หรือเป็นอาการอื่นๆที่เกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์ต่างๆเหล่านั้นตามมาหลอกหลอน โดยในท้ายที่สุดแล้ว CM ของคุณอาจแนะนำให้ Fred นั้นวิ่งหนีไปเมื่อเจอกับดอกไม้ หรือเมื่อเจอกับคนที่กำลังถือช่อดอกไม้อยู่นั่นเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เมื่อมีใครสักคนพยายามที่จะยื่นดอกไม้ให้กับคุณ Fred จะทำให้คุณรู้สึกคันจมูกขึ้นมาและก้าวเท้าถอยหลังออกมาในทันที เพราะนี่คือผลของกลไกการเตือนภัยเพื่อปกป้องตัวของคุณเอง (Protective Warning “PW”) แต่ต่อมาหากว่าคุณค่อยๆเก็บสั่งสมประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้พบเจอกับดอกไม้โดยไม่มีผึ้งอยู่ ในที่สุดแล้ว CM จะค่อยๆสามารถแนะนำให้ Fred ปรับเปลี่ยนการตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จนในที่สุดเมื่อคุณเจอต้องเจอกับการรับช่อดอกไม้ คุณก็อาจสามารถที่จะค่อยๆจ้องมองช่อดอกไม้นั้น เพื่อให้แน่ใจได้ว่าไม่มีผึ้งอยู่ในนั้นก่อนที่จะยื่นจมูกดมดอกไม้ลงไป

โดยทั่วไปแล้ว Fred และ CM จะทำงานร่วมกันไปเองตามธรรมชาติ คล้ายๆกับการสนทนากันไปมาเรื่อยๆ โดยในบุคคลซึ่งมีสุขภาพสมบูรณ์นั้น เมื่อ Fred ส่งสัญญาการเตือนภัยเพื่อปกป้องตนเอง (PW) ออกมา CM ก็มักที่จะตอบสนองต่อมันได้อย่างชาญฉลาด

ต้นกำนิดของพฤติกรรมสุดโต่ง (Drama) และการสะดุดของการลื่นไหลของประสบการณ์

เนื่องจากสภาวะสังคมในยุคใหม่นั้น ได้สอนให้เราพยายามที่จะเก็บซ่อนความรู้สึกเอาไว้อยู่เสมอ พวกเราจึงได้เรียนรู้ที่จะปิดซ่อนพวกมันเอาไว้, บ่ายเบี่ยงต่อมัน, หลอกตัวเอง หรือแม้กระทั่งกดความรุ้สึกเหล่านั้นเอาไว้โดยไม่รู้ตัว ผลก็คือพวกเราจึงพยายามที่จะตัดการติดต่อสื่อสารระหว่างอารมณ์และเหตุผลของตัวเราเองออกไป ยกตัวอย่างเช่น มันมักที่จะมีคนบอกกับเราอยู่เสมอว่า “คุณไม่ควรรู้สึกอย่างนั้น” หรือสุภาพบรุษควรที่จะกลั้นน้ำตาเอาไว้ และสุภาพสตรีก็ควรที่จะเก็บความเกรี้ยวกราดเอาไว้เช่นกัน นอกจากนี้แล้ว เด็กนักเรียนก็ควรที่จะนั่งนิ่งๆเรียงเป็นแถว และห้ามไม่ให้ปลดปล่อยความรู้สึกต่อระบบการเรียนของพวกเขา การพยายามที่จะอดกลั้นอารมณ์เหล่านี้ จึงมักที่จะทำให้การสื่อสารที่สำคัญมากๆระหว่าง Fred และ CM เกิดการสะดุดขึ้นมานั่นเอง และเมื่อเกิดการสะดุดของการถ่ายโอนประสบการณ์ต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ Fred จะพยายามที่จะส่งผ่านประสบการณ์เหล่านั้นออกมาซ้ำๆอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อย เพื่อที่จะให้ประสบการณ์เหล่านี้สามารถส่งผ่านไปยัง CM ได้นั่นเอง

CM ของเรานั้นอาจได้รับการเรียนรู้ทางอ้อมจากพ่อแม่หรือบุคคลใกล้ชิดในชีวิตของเรา ว่าความรู้สึกบางอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ “แย่” หรือเป็นสิ่งที่เราไม่ควรที่จะรู้สึกเช่นนั้น CM จึงเชื่อมโยงความรู้สึกเหล่านั้นให้กลายเป็นสิ่งที่อันตรายและพยายามที่จะปัดป้องมันออกไป นอกจากนี้แล้ว CM ยังอาจแม้กระทั่งชี้นำให้ Fred นั้น “ตัดสิน” ที่จะปิดกั้นความรู้สึกนั้นออกไปด้วย ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าน็อต (K-not) หรือสิ่งที่ผูกเอาความรู้สึกที่เกิดขึ้นไว้ว่าเป็นสิ่งที่แย่กับตัวของเรา

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม Fred จะยังคงพยายามที่จะส่งผ่านประสบการณ์ไปสู่ CM อยู่เช่นเคย และมันจะค่อยๆยกระดับความรุนแรงของมันขึ้นเรื่อยๆ Fred จะพยายามกดดันส่งผ่านความรู้สึกออกมา จนในที่สุดมันอาจส่งผ่านออกมาในลักษณะของการฝันกลางวัน, เพ้อฝัน หรือการฝันร้ายในยามดึก ซึ่งสุดท้ายแล้ว Fred อาจพยายามหาที่อยู่ให้ประสบการณ์เหล่านั้นใน “โลกภายนอก” แทนที่จะเก็บอยู่ในตัวมัน และส่งผลให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่สุดโต่ง (Drama) ขึ้นมานั่นเอง ทั้งที่โดยทั่วไปแล้วนั้น จุดประสงค์ของกลไกการปกป้องตัวเราเอง (PW) นั้นเกิดขึ้นก็เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากการเกิด Drama ขึ้นมา แต่เมื่อเราพยายามที่จะปิดกั้นมันเอาไว้ มันจึงกลับกลายเป็นผลทำให้เกิด Drama ขึ้นมาแทน และเมื่อ Drama ได้ค่อยๆถูกระบายออกมา มันก็ยิ่งไปกระตุ้นความรู้สึกเก่าๆเหล่านั้นขึ้นมาอีก คุณจึงมักจะต้องประหลาดใจและโมโหตัวเองสุดๆ เมื่อพบว่าคุณต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่คุณไม่ชอบและไม่ต้องการอยู่ซ้ำๆเรื่อยไป

หากว่าต่อมา CM ของคุณยังคงไม่ได้รับข้อมูลที่ส่งออกมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือการที่ Drama จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆซ้ำๆ ในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆเป็นปีๆหรือแม้กระทั่งชั่วชีวิตของคุณเอง โดยจากตัวอย่างที่เราได้พูดถึงกันไปนั้น Fred อาจสังเกตเห็นป้ายของฟาร์มผึ้งในช่อดอกไม้ และทำให้คุณตกอยู่ใน Drama อีกครั้งเมื่อคุณรู้ตัวขึ้นมาก็เป็นได้

Fred นั้นต้องการที่จะให้ CM ได้รับรู้ถึงประสบการณ์ผ่านทางกลไกการเตือนภัยเพื่อปกป้องตัวของคุณเอง (PW) อย่างไรก็ตาม CM ก็อาจจะยังคงพยายามที่จะปิดกั้นการรับรู้ต่อมัน แต่ยิ่ง CM ของคุณพยายามที่จะปัดป้องความรู้สึกนั้นมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเป็นการทำลายระบบเตือนภัยเกี่ยวกับพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นซ้ำๆของคุณมากขึ้นเท่านั้น

จากที่เราได้กล่าวถึงไปนั้น จะสังเกตได้ว่าความพยายามของ Fred นั้นมีจุดประสงค์ในทางบวกอยู่เสมอ และแท้จริงแล้ว พวกเราทุกคนต่างก็ได้รับในสิ่งที่เราต้องการด้วยกันทั้งสิ้น (หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือสิ่งที่ Fred นั้นต้องการ) การพยายามปฏิเสธหรือเมินเฉยความรู้สึกจาก CM จึงกลายเป็นการยอมรับและยืนยันอาการที่เกิดขึ้นไปโดยปริยาย

Under Fred เส้นทางการสื่อสารโดยไม่รู้ตัวของมนุษย์

พวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่มี Fred อยู่ภายในจิตใจ โดยที่ Fred ทั้งหลายนั้นจะเชื่อมโยงถึงกันและกันอยู่ภายใต้ Under Fred ซึ่งก็คือเครือข่ายในการติดต่อสื่อสารเส้นหลักของ Fred หลายๆส่วน และพวกมันจะรับรู้โดยสัญชาติญาติญาณได้ว่า Fred ในส่วนไหนคือพันธมิตรของพวกมันในการที่จะสร้างพฤติกรรมที่สุดโต่ง (Drama) ออกมาได้ ยกตัวอย่างเช่น เรามักพบว่าผู้คนที่เติบโตมาด้วยการถูกข่มเหงในวัยเด็ก มักที่จะเป็นที่ดึงดูดใจอย่างมากสำหรับกลุ่มบุคคลซึ่งมีพฤติกรรมที่ชอบการทารุณ และพวกเขาก็อาจที่จะเลือกบุคคลเหล่านี้เป็นคู่ครองเสียด้วย

[ในทางเดียวกันนี้ CM ของเราก็มีวิธีการสื่อสารกับพวกมันเองด้วยเช่นกัน โดยที่พวกมันจะเชื่อมต่อกันผ่านทาง “จิตสำนึกที่สะสมกันมาแต่อดีตกาล” (Collective Consciousness) ซึ่งจะเก็บสะสมเอาภาษา, เทคโนโลยี และ Know how ของเราเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ดิคชันนารี่, ห้องสมุด และอินเตอร์เนท สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เก็บสะสม CC เอาไว้ทั้งสิ้น หรือหากจะยกตัวอย่างง่ายๆก็คือ CC เกี่ยวกับการเล่นหุ้นในขณะนี้นั้นก็มักที่จะถูกเก็บเอาไว้ในโลกของอินเตอร์เนทนั่นเอง ซึ่งในทางกลับกันแล้ว “จิตไร้สำนึกที่สะสมกันมาแต่อดีตกาล” (Collective UnConsciousness) ของพวกเราก็จะถูกเก็บไว้อยู่ในก้นบึ้งของ Fred นั่นเอง]

ประโยชน์ของกระบวนการจิตวิทยาการลงทุนบำบัด – การสร้างการลื่นไหลของประสบการณ์

จากสิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น กระบวนการ TTP จะช่วยสนับสนุนการลื่นไหลของประสบการณ์จาก Fred ไปยัง CM ของพวกเรา (การรับรู้และยอมรับต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้น) และช่วยสร้างความกระปี้กระเป่าเพิ่มความสามารถให้กับ CM ในการที่จะรับสัญญาณ PW จาก Fred ให้ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นแล้ว กระบวนการ TTP จึงตั้งใจที่จะละทิ้งวิธีการเดิมๆที่คนส่วนใหญ่ปฎิบัติกัน เช่น การพยายามนำเสนอด้วยข้อมูลต่างๆ, การพยายามยุยงให้กระทำสิ่งใดๆ, การแนะแนวทางต่างๆ หรือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับ Drama นั้นๆ เพราะแท้จริงแล้วประโยชน์ของกระบวนการ TPP นั้นอยู่ที่การแบ่งปันความรู้สึกที่เกิดขึ้น, การสะท้อนถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น และการพยายามส่งเสริมให้ผู้อื่นรู้สึก หรือยอมรับในสิ่งที่เขารู้สึกจริงๆนั่นเอง

กระบวนการและปรากฏการณ์ของ TPP

เมื่อกระบวนการ TPP ได้เกิดขึ้นนั้น จะค่อยๆเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆขึ้นตามลำดับดังนี้

ช่วงที่ 1 : การรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น (ความรู้สึกในแง่ลบ)

  • การปฏิเสธและเพิกเฉยจาก CM
  • ใช้การบอกเล่าเรื่องราวความรู้สึกและหนทางอื่นๆ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากปัญหาที่จะเกิดขึ้น
  • ความรู้สึกอึดอันจากการยอบรับต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้น

ช่วงที่ 2 : เมื่อ Fred สามารถติดต่อสื่อสารกับ CM ได้อย่างราบรื่น (จนไม่หลงเหลืออะไรอยู่เลย)

  • ความผ่อนคลายซึ่งแสดงออกมาผ่านทางร่างกาย
  • ภาวะความรู้สึกเบาโล่งสบาย
  • ความรู้สึกซาบซ่านจากความโล่งใจที่เกิดขึ้น
  • ความรู้สึกพรั่งพรูที่เกิดขึ้นจากการได้รับการปลดปล่อยอารมณ์
  • เกิดช่วงเวลาซึ่งเป็นวินาทีของการเข้าถึงบางอย่าง (Ahaaa Moment) หลังจากที่สิ่งต่างๆดูจะเข้ารูปเข้ารอยขึ้น
  • เกิดการพัฒนาขึ้นของปัญญาในส่วนที่เคยเป็นปัญหาอยู่แต่เดิม

ช่วงที่ 3 : เมื่อชีวิตค่อยๆดำเนินต่อไป และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ

  • อาการหรือพฤติกรรมที่ย่ำแย่ซ้ำซากจำเจจะค่อยๆหายไป
  • อาการหมกมุ่นอยู่กับความวิตกกังวลลดน้อยลงไป
  • ความสมดุลระหว่างอารมณ์และเหตุผล
  • ใช้ชีวิตอยู่ในภาวะที่จิตใจผ่องใส
  • มีชีวิตที่ดีขึ้น
  • มีความสามารถในการเก็งกำไร/ลงทุนได้อย่างดีขึ้น
  • มองเห็นโอกาสต่างๆที่ผ่านเข้ามาได้อย่างชัดเจนขึ้น
  • สุขภาพกายและใจดีขึ้น
  • มีชีวิตที่มีความสมดุลระหว่างการกินอยู่และการลงทุน
  • เข้าสู่จุด Zero Point (จุดที่จิตใจโล่งสบาย จากการที่จิตใต้สำนึกได้รับการปลดปล่อยความรุ้สึกต่างๆออกมาจนหมดสิ้น)

.

…..

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ? หวังว่าบทความในวันนี้จะทำให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญต่อการยอมรับกับความรู้สึกของตัวเองให้มากขึ้น อย่าพยายามปิดกั้นความรู้สึกของเราจนเกินไปจนเก็บกดมันเอาไว้ เพราะนอกจากมันจะดีกับชีวิตของเราแล้ว มันยังจะช่วยให้พฤติกรรมในการลงทุน/เก็งกำไรของเราดีขึ้นมากๆอีกด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าผลการลงทุนของคุณจะต้องดีขึ้นตามมาอย่างแน่นอนครับ ^_^

แมงเม่าคลับ.คอม หนังสือหุ้นน่าอ่าน, วิธีการเล่นหุ้น, การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค, จิตวิทยาการลงทุน และการบริหารเงินทุน Money Management

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)