fbpx
วิธีการเล่นหุ้นและวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค

จำนวนความถี่ของการซื้อขายหุ้นและผลกำไรของคุณ

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

“อย่าซื้อขายหุ้นบ่อยๆ เดี๋ยวจะโดนค่าคอมกินตาย มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง”

นี่เป็นประโยคที่ผมมักได้ยินอยู่เสมอจากหลายๆคนที่อยู่ในตลาดหุ้น น่าเสียดายที่คำพูดเหล่านี้เป็นความเข้าใจผิดไปอย่างมากเลยทีเดียว เพราะความจริงแล้วความถี่ของการซื้อขายกลับเป็นสิ่งที่มีผลดีต่อผลของการลงทุนอย่างไม่น่าเชื่อ และนี่ก็คือเหตุผลของมันครับ

สิ่งที่ทำให้คุณขาดทุนในระยะยาวไม่ใช่จำนวนความถี่ของการซื้อขายหุ้น

คนที่บอกว่ายิ่งซื้อขายบ่อยจะยิ่งเจ๊งหุ้นนั้น ไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆที่มีผลต่อผลกำไรในระยะยาวจากการลงทุน พวกเขาเข้าใจผิดถึงกลไกและเงื่อนไขที่จะกำหนดถึงผลกำไรคาดหวังในระยะยาวไปอย่างสิ้นเชิง นั่นก็เพราะหากว่ากลยุทธ์การลงทุนใดๆที่จะให้กำไรเป็นบวกในระยะยาวออกมาได้นั้น มันจะต้องให้ผลกำไร-ขาดทุนสุทธิที่เป็นบวก หรือให้ค่ากำไรคาดหวังโดยเฉลี่ย (Expectancy) ที่เป็นบวกออกมาได้เสียก่อน ซึ่งตัวแปรต่างๆที่ทำให้สมการออกมาเป็นบวกเหล่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องของความถี่ทั้งสิ้น! แต่พวกมันจะถูกกำหนดจากอัตราส่วนของความแม่นยำ Accuracy และอัตรา Pay-off ของกลยุทธ์นั้นๆ ซึ่งถ้าหากจะมีเหตุผลใดที่ทำให้กลยุทธ์บางอย่างไม่สามารถที่จะทำกำไรออกมาในระยะยาวได้แล้วล่ะก็ มันก็มักที่จะเกิดขึ้นเพราะอัตราส่วนของตัวแปรทั้งสองอย่างนี้อยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป จนพวกมันไม่สามารถที่จะ Cover ต้นทุนหรือค่าคอมมิสชั่นในการซื้อขายหุ้นของเราได้ต่างหาก!! (คลิ้ก! เพื่ออ่านเรื่องของกำไรคาดหวัง Expectancy)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าค่า Expectancy จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่ากลยุทธ์นั้นๆมีประสิทธิภาพ แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้เราคาดการณ์ถึงผลกำไรสุทธิ (Net Profit) ในระยะยาวออกมาได้เลย นั่นเพราะมันเป็นเพียงตัวแปรหนึ่งของผลกำไรสุทธิคาดหวังเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ยังขาดไปจากสมการของมันก็คือ “ความถี่” หรือ “จำนวน” ของการซื้อขายหุ้นนั่นเอง นอกจากนี้แล้วจำนวนของการซื้อขายในปริมาณมากก็ยังนำเราไปสู่ข้อดีประการต่างๆของมันดังนี้

Note : ค่า Expectancy ที่ได้ควรคิดรวมแบบหักลดจากค่าคอมมิสชั่นในการซื้อขายที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

ข้อดีประการที่ 1 : จำนวนของการซื้อขายหุ้น คือตัวเร่งกำไรของระบบการลงทุน

P/T = E

โดยที่

P = ผลกำไรสุทธิคาดหวัง

E = ผลกำไร-ขาดทุน โดยเฉลี่ยต่อครั้งจากระบบการลงทุน

T = จำนวนการเทรด

จากสมการง่ายๆนี้คุณจะเห็นได้ว่าเรานั้นสามารถที่จะหาผลกำไร-ขาดทุนโดยเฉลี่ยต่อครั้งจากการนำเอาผลกำไรสุทธิทั้งหมดหารด้วยจำนวนการซื้อ-ขายทั้งหมดออกมา ซึ่งเมื่อมองในมุมกลับโดยย้ายข้างสมการแล้วเราก็จะพบว่าผลกำไรสุทธิจากระบบนั้นก็คือผลคุณของ E และ T ดังสมการข้างล่างนี้เอง

P = T * E

ดังนั้นแล้วไม่ว่ากลยุทธ์การลงทุนใดๆจะให้ค่ากำไรคาดหวังโดยเฉลี่ยต่อครั้งที่สูงสักเท่าไหร่ มันก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะตัดสินถึงศักย์ภาพของมันอยู่ดี เพราะ “ความถี่” หรือจำนวนการเทรดของกลยุทธ์นั้นๆ ยังคงเป็นตัวแปรที่มีผลอย่างมากกับผลกำไรสุทธิในท้ายที่สุดของมัน

จำนวนของสัญญาณการซื้อ-ขายนั้นเปรียบได้กับประตูแห่งโอกาสในการเล่นหุ้น ยิ่งระบบของคุณให้มันออกมาได้มากเท่าไหร่มันก็ยิ่งส่งผลดีมากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่าระบบ ก. จะมีค่า E เท่ากับ 10,000 บาท/ครั้ง ในขณะที่ระบบ ข. นั้นมีค่า E อยู่ที่ 5,000 บาท/ครั้ง มันก็อาจเร็วเกินไปที่เราจะเปรียบเทียบและตัดสินถึงศักย์ภาพของพวกมัน เนื่องจากหากว่าระบบ ก. ให้สัญญาณการซื้อขายใน 1 ปีเพียง 10 ครั้ง ในขณะที่ระบบ ข. ให้สัญญาณการซื้อขายถึง 100 ครั้ง ศักย์ภาพในการทำกำไรของระบบ ข. นั้นจะมากกว่าระบบ ก. อยู่ถึง 5 เท่าเลยทีเดียว ความถี่หรือจำนวนของสัญญาณการซื้อขายที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลดีต่อผลการลงทุนในระยะยาวและไม่ใช่ผลเสียอย่างที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกัน และนี่ก็คือตัวอย่างจากผลกระทบของจำนวนการซื้อขายที่เกิดขึ้นจากระบบเดียวกัน

image

Basket CAGR Pay-off Ratio % of Winners # Trades
Turtle 2-SET50 24.41 2.56 50.18 544
Turtle 2-SET100 41.2 2.67 49.86 726

ตัวอย่าง : จากภาพและตารางด้านบนคือผลการลงทุนของระบบ Turtle System 2 ซึ่งทำการทดสอบย้อนหลังแบบรวมค่าคอมมิสชั่น 0.25% ต่อครั้ง ในกลุ่ม SET50 และ SET100 ตั้งแต่วันที่ 3/1/2001-23/3/2012 ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท เราจะเห็นได้ว่าผลตอบแทนของพวกมันต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งที่อัตราส่วนของ Pay-off และ % of Winners ของมันนั้นพอๆกัน ต่างกันก็เพียงจำนวนการซื้อขายซึ่งระบบที่เล่นใน SET100 นั้นมีจำนวนการซื้อขายที่มากกว่าราวๆ 33%

ข้อดีประการที่ 2 : จำนวนสัญญาณการซื้อขายหุ้น คือตัวช่วยนำพาระบบไปสู่ค่าคาดหวังของมัน

สำหรับข้อดีประการที่สองของจำนวนการซื้อขายนั้น ก็คือการที่มันจะช่วยนำพาระบบการลงทุนของเราไปสู่เป้าหมายที่ได้คาดการณ์เอาไว้และทำให้ผลการลงทุนของเรามีความสม่ำเสมอขึ้นนั่นเอง ลองนึกถึงผลของการโยนเหรียญดูสิครับ ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่าความน่าจะเป็นของมันในการที่จะออกหัวหรือก้อยจะอยู่ที่ 50-50 แต่หากว่าเรามีโอกาสโยนมันเพียงแค่ 10 ครั้งผลที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างไร?

ผลที่เกิดขึ้นก็คือด้วยจำนวนของการโยนเหรียญเพียง 10 ครั้งนั้น ผลของมันจะเบี่ยงเบนไปจากความน่าจะเป็นที่เราคาดหวังเอาไว้ที่ 50% เป็นอย่างมาก ซึ่งในทางกลับกันแล้วหากเรามีโอกาสโยนเหรียญสัก 100 หรือ 1,000 ครั้ง ค่าของมันก็จะยิ่งเข้าไกล้สู่ความน่าจะเป็นที่เราคาดหวังเอาไว้เป็นอย่างมาก ซึ่งนี่ก็เป็นความจริงที่คุณสามารถจะพิสูจน์ได้ง่ายๆด้วยตัวของคุณเอง และมันก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นจริงกับผลการลงทุนในระยะยาวเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น

หากว่าระบบการลงทุนของคุณให้ความถี่หรือจำนวนของการซื้อขายอยู่ที่ราวๆ 10 ครั้ง/ต่อปี มันก็คงจะไม่สมเหตุสมผลนักที่คุณจะคาดหวังว่าระบบของคุณจะสามารถทำกำไรออกมาได้ในทุกๆเดือนหรือทุกๆปี อย่างไรก็ตาม หากว่าความถี่ของสัญญาณที่เกิดขึ้นนั้นมีปริมาณมากสัก 100 หรือ 1,000 ครั้งต่อปี มันก็จะมีความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นเป็นอย่างมากว่า ระบบของคุณจะสามารถทำกำไรได้อย่างที่คุณนั้นคาดการณ์เอาไว้ในแต่ละเดือนหรือแต่ละปีนั่นเอง

ข้อดีประการที่ 3 : จำนวนสัญญาณการซื้อขายหุ้น คือสิ่งที่ช่วยยืนยันถึงความน่าเชื่อถือของระบบการลงทุน

สำหรับข้อดีประการสุดท้ายของจำนวนการซื้อขาย ก็คือความน่าเชื่อถือที่เราจะได้รับจากผลของการทดสอบ (Back-test) ระบบการลงทุนย้อนหลังของเรานั่นเอง นั่นเพราะจำนวนของการซื้อขายที่เกิดขึ้นนั้นเปรียบได้กับ Sample-Size ของการวัดผลในทางสถิติที่เกิดขึ้น ยิ่งคุณมีมันมากเท่าไหร่ผลที่ได้ออกมานั้นก็จะมีความน่าเชื่อถือและไกล้เคียงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงๆมากขึ้นเท่านั้น นี่เป็น Effect แบบเดียวกับที่มักเกิดขึ้นจากการทำ Poll แบบสำรวจที่เราเคยเห็นกันอยู่ทั่วไป และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจำต้องการกลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุมในปริมาณมากนั่นเอง

ระบบการลงทุนที่ให้ Expectancy, % of Winner หรือ Pay-off ที่สูงมากๆอาจกลายเป็นสิ่งที่ไร้ราคาหากว่ามันได้มาจากผลการซื้อขายไม่กี่สิบครั้ง ในทางกลับกันแล้วระบบการลงทุนที่ให้ค่าต่างๆไม่สูงมากเท่าไหร่นักก็อาจกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเชื่อถือได้มากกว่า หากว่ามันได้มาจากการผลการซื้อขายเป็นพันๆหมื่นๆครั้ง และหากว่าเรานั้นต้องเลือกใช้ระบบการลงทุนแบบใดแบบหนึ่งจากที่ผมได้กล่าวมาแล้วล่ะก็ มันก็จะเป็นเรื่องที่ปลอดภัยกว่ามากที่คุณจะเลือกระบบการลงทุนที่ให้ผลการลงทุนธรรมดาๆแต่ได้มาจากผลของการการซื้อขายจำนวนมากอย่างแน่นอน

จำนวนความถี่ของการซื้อขายหุ้นคือสิ่งที่คุณต้องการมัน!

ท้ายที่สุดแล้วคุณควรเข้าใจว่าผลกระทบจากจำนวนความถี่ของสัญญาณการซื้อขายที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องของสไตล์การลงทุน แต่มันเป็นคณิตศาสตร์ของผลกำไรซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับวิธีการเล่นหุ้นทุกๆรูปแบบ

ยกตัวอย่างเช่น หากเราบอกว่าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว แน่นอนว่าการจะให้มีจำนวนการเทรดเป็น 100 -1000 ครั้งคงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ แต่เราก็สามารถที่จะเพิ่มจำนวนการลงทุนหรือ sample size ของระบบขึ้นมาได้ด้วยการลดขนาดการลงทุนในแต่ละตัวลงเพื่อกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นหลายๆตัว นั่นจะทำให้ค่าคาดหวังจากวิธีการลงทุนของเราเข้าสู่ค่าเป้าหมายของมันได้เร็วขึ้นพร้อมกับมีผลตอบแทนที่ smooth ขึ้นในคราวเดียวกัน

หรือหากมองอีกแง่หนึ่งแล้ว ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ซื้อขายเยอะขนาดนั้นจริงๆ แต่ถ้าสัญญาณจากกลยุทธ์ของเรานั้นเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงที่เราได้ทำการทดสอบย้อนหลังไป มันก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจว่ามันไม่ได้เป็นเพียงอุบัติเหตุทางสถิติเท่านั้น

ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้เองจึงทำให้จำนวนความถี่ของการซื้อขายหุ้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคุณ จำนวนการซื้อขายในปริมาณมากนั้นไม่ใช่ศัตรูที่ร้ายกาจของนักเล่นหุ้นสักเท่าไหร่นัก ในทางกลับกันแล้วพวกมันกลับจะเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลการลงทุนในระยะยาวของพวกเราด้วยซ้ำ พวกมันคือสิ่งที่ช่วยเพิ่มพูนผลตอบแทนละลดความเสี่ยงให้กับระบบการลงทุนไปในตัว คนที่เข้าใจบทบาทของมันจะพยายามหาทางเพิ่มจำนวนของพวกมัน แทนที่จะชิงชังหรือพยายามลดจำนวนของพวกมันลงไป!

แมงเม่าคลับ.คอม หนังสือหุ้นน่าอ่าน, วิธีการเล่นหุ้น, การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค, จิตวิทยาการลงทุน และการบริหารเงินทุน Money Management

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)