fbpx
วิธีการเล่นหุ้นและวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค

อัตราส่วนมหัศจรรย์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

Fibonacci ในตลาดหุ้น

หนึ่งในวิธีการที่คนส่วนมากชอบใช้ในการหา Price Target กันก็คือการใช้อัตราส่วนการย่อขยายของราคาหุ้นในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็น Fibonacci Ratio, Harmonic Ratio หรือ Gann Ratio โดยในบทความนี้เราจะมาหาคำตอบกันดูว่าราคาหุ้นนั้นมักที่จะเกิดการวกกลับกันที่อัตราส่วนเท่าไหร่กันดูบ้างครับ

อัตราส่วนมหัศจรรย์อยู่ที่เท่าไหร่?

ก่อนที่เราจะไปพูดถึงผลลัพธ์ของพวกมันกันนั้น ผมคงจะต้องขอเกริ่นสักนิดเกี่ยวกับวิธีในการวัดการเคลื่อนไหวของหุ้นกันเสียก่อน เนื่องจากการวัดจุดต่ำสุด-สูงสุดของราคาหุ้นในแต่ละรอบของแต่ละคนนั้นมีความเป็นนามธรรม (Subjective) อยู่ค่อนสูง และหากว่าเราลองถามคนสัก 10 คนดูล่ะก็ … เราก็มักที่จะได้คำตอบที่ไม่ตรงกันสักเท่าไหร่นัก ดังนั้น ผมจะขอใช้วิธีการวัดที่มีความเป็นคณิตศาสตร์และเที่ยงธรรมที่สุดดังต่อไปนี้

1. ผมใช้การวัดจุดต่ำสุด-สูงสุดในแต่ละรอบด้วย Zigzag Indicator ที่ 1% (วัดจากราคาปิด) เนื่องจากเป็นค่ามาตรฐานที่พวกเราส่วนใหญ่นิยมใช้กัน

2. ผมเลือกเฉพาะหุ้นที่อยู่ใน SET100 โดยทำการทดสอบย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 3/1/2001 – 23/3/2012 เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันว่าสภาพคล่องของหุ้นนั้นมีผลต่อความแม่นยำของอัตราส่วนยืดและหดของราคาหุ้น

3. การวัดการยืดและหดตัวของราคาหุ้นจะทำการวัดจากจุดต่ำสุดและสูงสุดก่อนหน้าที่จะเกิดการวกกลับขึ้นดังรูปที่หัวบทความ

4. การเก็บข้อมูลจะเก็บระยะของฐานข้อมูล (Bin) เริ่มตั้งแต่น้อยกว่า -2.65 เท่าไล่ไปเรื่อยๆจนถึง 100 โดยมีช่องไฟคราวละ 0.1 ซึ่งการที่ผมเก็บข้อมูลในลักษณะนี้ก็เพื่อที่จะเผื่อค่าความคลาดเคลื่อนให้อัตราส่วนสำคัญๆเอาไว้ด้านละ 0.5 นั่นเอง

ว่ากันสั้นๆเสร็จแล้วก็ไปดูผลลัพธ์ของพวกมันกันก่อนเลยดีกว่าครับ

ความน่าจะเป็นของอัตราส่วนการเด้งขึ้นและย่อลงในตลาดหุ้น

image

ภาพตารางแจกแจงความถี่ : เป็นการวัดเอาจำนวนครั้งที่หุ้นใน SET100 เกิดการวกกลับทั้งหมดในช่วงเวลาที่ทำการทดสอบออกมา แล้วนำมาหาอัตราส่วนในการเด้งตัวขึ้นหรือย่อตัวลงมาโดยเปรียบเทียบกับระยะการ Swing ของราคาในรอบที่แล้ว โดยค่าติดลบจะหมายถึงอัตราส่วนของย่อตัวจาก High เดิม และค่าบวกคืออัตราส่วนของการเด้งขึ้นจาก low เดิมของหุ้น

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ

– ถึงแม้ว่าตัวเลขอัตราส่วนทองคำ (Golden Ratio) ที่ +– 0.618 และ +- 1.618 นั้นจะถูกใช้ในการหาจุดวกกลับของราคาหุ้นกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่เรากลับไม่พบว่ามันมีนัยยะทางสถิติกับหุ้นใน SET100 สักเท่าไหร่นัก โดยจากตารางในช่วง พวกมันมีสัดส่วนเพียงราวๆร้อยละ 5.1% และ 1.2% ของการวกกลับทั้งหมดเท่านั้น

– อัตราส่วนที่มีนัยยะสำคัญที่สุดในเชิงสถิติจาก Fibonacci Ratio คือ +- 1 โดยพวกมันมีสัดส่วนคิดเป็นราวๆร้อยละ 10% ของการวกกลับทั้งหมด

– มันไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่เราจะพบกับการขายหมูและติดหุ้นจากการนำเอาอัตราส่วนยอดนิยมเหล่านี้ไปใช้ (โดยเฉพาะกับคนที่ไม่รู้จัก Cutloss) เนื่องจากหากเรานับสัดส่วนของการวกกลับที่นอกเหนือไปจากอัตราส่วนสุดท้ายซึ่งก็คือ +- 2.618 แล้ว พวกมันจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 18.4% ซึ่งถือว่ามากที่สุดในตารางแจกแจงความถี่เลยทีเดียว

– จำนวนของการวกกลับส่วนใหญ่ของราคาหุ้นที่มีอัตราส่วนน้อยกว่า 1 เท่า (ย่อหรือเด้งไม่เกิน High หรือ Low เดิม) จะอยู่ที่ 41,287 ครั้งหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในแนวโน้มแบบ Sideway ซึ่งยืนยันไปในทางเดียวกับทฤษฏีที่เราเคยเรียนรู้และเชื่อต่อๆกันมาว่าการเคลื่อนไหวแบบ Trending ของตลาดจะอยู่ที่ราวๆ 30% – 40% เท่านั้น

– จุดกลับตัวทั้งหมด 71,171 ครั้งจาก Zigzag ที่ 1% คิดเป็นราวๆ 30% ของฐานข้อมูลทั้งหมด 236,038 Data Point หรือตีคร่าวๆได้ว่าทุกราว 3.31 วันจะเกิดการวกกลับของราคาหุ้นซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวแบบสุ่มที่สูงมากๆในแนวโน้มระยะสั้น โดยตัวเลข 30% ตรงนี้จะค่อยๆลดน้อยลงไปเมื่อเราพยายามจับจุดกลับตัวของหุ้นในแนวโน้มที่ใหญ่ขึ้น (% ของ Zigzag มากขึ้น)

บทสรุป : แล้วเรายังควรที่จะใช้อัตราส่วนมหัศจรรย์เหล่านี้ต่อไปหรือไม่

ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยจะไม่ได้เกิดขึ้นในรูปแบบที่เราเคยเชื่อกัน แต่ผมคงต้องบอกตามตรงว่าผมคงจะตอบสรุปให้ในข้อนี้กับทุกๆคนไม่ได้ เนื่องจากพวกมันเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งซึ่งคุณจะสามารถนำไปสร้างระบบการลงทุนของคุณได้เท่านั้น ยังคงมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่คุณจะต้องคำนึงถึงอีกมากมาย และผมเองก็ไม่ได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะ Discredit แนวทางการเล่นหุ้นกับอัตราส่วนต่างๆเหล่านี้ ผมเองเชื่อว่าการลงทุนไม่ใช่ Perfect Game คนที่จะชนะตลาดได้ในระยะยาวก็ยังเป็นคนที่กล้าที่จะยอมรับถึงความเป็นจริงในตลาด และรู้จักแพ้ตลาดให้เป็นอยู่เช่นเดิม (Best Loser) และเพื่อที่จะยืนยันถึงความเป็นไปได้ในการใช้อัตราส่วนเหล่านี้เพื่อทำกำไรนั้น ผมจะขอทิ้งท้ายไว้ด้วยผลการลงทุนระบบง่ายๆซึ่งออกแบบมาให้เล่นกับอัตราส่วนเหล่านี้ในรูปแบบหนึ่ง โดยมันได้ถูกสร้างมาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในตลาด (ดังรูปที่แสดงไว้) แทนที่จะเป็นเพียงความเชื่อเดิมๆที่เราเคยฟังต่อๆกันมาครับ

ระบบแมงเม่า Retracement 1

ระบบแมงเม่า Retracement 1.0 : ระบบเทรดด้วยเงินเริ่มต้น 1 ล้านกับหุ้นในตลาดทั้งหมดตั้งแต่ 3/1/1991 – 23/3/2012 ถึงแม้ว่าผลตอบแทนของระบบอาจไม่ได้สูงในระยะยาวเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆที่ผมเคยลงเอาไว้ อย่างไรก็ตามข้อดีของการเล่นระบบแบบ Counter Trend คือเรื่องของความสม่ำเสมอของผลตอบแทน %win และ Drawdown ที่เกิดขึ้น โดยที่มันให้ MaxDD ตลอด 21 ปีที่ผ่านมาเพียง 18% เท่านั้นและไม่มี Lossing Year เลยแม้แต่ปีเดียว

แมงเม่าคลับ.คอม หนังสือหุ้นน่าอ่าน, วิธีการเล่นหุ้น, การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค, จิตวิทยาการลงทุน และการบริหารเงินทุน Money Management

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)