fbpx
วิธีการเล่นหุ้นและวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค

ถ้าไม่เจ๋งจริงอย่าเล่นสั้น!

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

day-traders-stock-trading-1

ช่วงนี้ตลาดหุ้นกลับเป็นขาลง กลยุทธ์หรือระบบการลงทุนในระยะกลาง-ยาวมักจะเริ่มเข้าสู่ช่วงของ Drawdown กันเสียเป็นส่วนใหญ่ เหตุนี้เองจึงทำให้ผมได้รับคำถามมาว่าในช่วงขาลงแบบนี้เราควรจะเปลี่ยนมาเล่นสั้นๆกินแนวโน้มเล็กๆดีกว่าหรือไม่ … มองเผินๆแล้วมันก็อาจจะ Make Sense ดีนะครับผมว่า แต่ก็ต้องบอกว่ามันไม่หมูเลย และต่อไปนี้ก็คือเหตุผลของผมครับ (ค่อยๆอ่านนะครับถ้าไม่เข้าใจในบางข้อ)

1. การเล่นสั้นเปรียบเสมือนดาบสองคม

ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของคนส่วนใหญ่ก็คือพวกเขามักจะคิดว่ายิ่งเล่นสั้นๆลงมาจะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงและช่วงปิดประตูเจ๊งได้ … นี่เป็นความเข้าใจที่ผิดถนัดครับ นั่นก็เพราะจุดเด่นและเอกลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งของการเล่นสั้นก็คือเรื่องของการถือหุ้นในช่วงเวลาสั้นๆซึ่งนำไปสู่ “อัตราการทบรอบ” หรือการวนรอบของเม็ดเงินในการลงทุนที่สูงมากๆ

อัตราการทบรอบตรงนี้เองที่เป็นเสมือนกับดาบสองคมเนื่องจากว่า หากกลยุทธ์หรือระบบการลงทุนของคุณมีประสิทธิภาพมันก็จะช่วยให้การเติบโตของเงินทุนสูงและ Smooth มากๆ แต่หากว่ากลยุทธ์ของคุณไม่ดีเพียงพอแล้วล่ะก็ อัตราการทบรอบที่สูงมากๆจากกลยุทธ์แบบนี้จะกลายเป็นตัวเร่งให้คุณเกิดการขาดทุนอย่างรวดเร็วแบบคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

2. การสร้างกำไรกำไรคาดหวังที่เป็นบวก (Positive Expectancy) จากระบบการลงทุนระยะสั้นนั้นยากมากๆสำหรับนักลงทุนรายย่อยโดยทั่วไป

กลยุทธ์ที่ให้กำไรคาดหวังที่เป็นบวก คือเงื่อนไขแรกที่สุดที่คุณจำเป็นจะต้องมีเสียก่อนที่จะทำการเก็งกำไร (ใครพึ่งมาอ่านเวบผมแล้วไม่รู้ว่ามันคืออะไรให้ย้อนไปอ่านบทความนี้ครับ Expectancy ) ซึ่งแน่นอนว่ามันประกอบไปด้วยตัวแปรหลักๆสองตัวก็คือ

1. ความแม่นยำ (Accuracy)

2. แต้มต่อเวลาได้กำไรและขาดทุน (Pay-off Ratio)

การเล่นสั้นๆนั้นมีจุดอ่อนที่ต้องระวังก็คือเรื่องของ Pay-off Ratio ที่ค่อนข้างจะต่ำมากๆ และนั่นทำให้คุณไม่มี Margin of Error เผื่อความผิดพลาดของคุณสักเท่าไหร่นัก ระบบการเล่นสั้นๆนั้นมักที่จะให้ Pay-off Ratio ที่ต่ำกว่า 1 เท่าเสียเป็นส่วนใหญ่ พวกมันจึงต้องพึ่งพาระดับความแม่นยำของการเทรดที่สูงมากกว่า 50% แทบทั้งสิ้น และสิ่งนี้เองที่ทำการสร้างกำไรคาดหวังที่เป็นบวกยากมากกกกกกกก

3. การเล่นสั้นมีสัดส่วนของต้นทุนคือค่า Commision และ Slippage ที่สูงมากๆ

เรามักจะพบว่ากลยุทธ์การเล่นสั้นๆนั้นจะได้ผลดีเป็นอย่างมากสำหรับพวก Proprietary Trader (Prop Trade)  หรือพวกที่เป็นนักเก็งกำไรให้กับบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ นั่นก็เพราะพวกเขาแบกรับต้นทุนการซื้อขายที่เท่ากับ 0 หรือต่ำมากๆ แต่สำหรับนักลงทุนรอบนอกอย่างพวกเราแล้วถือได้ว่าเสียเปรียบพวกเขาอย่างเต็มประตู

ณ อัตราค่าคอมมิสชั่นที่ระดับราวๆ 0.15% – 0.25% ต่อการซื้อหรือขายแต่ละครั้งนั้นดูเหมือนกับว่าจะไม่มากมายอะไรนัก อย่างไรก็ตามหากคุณใช้กลยุทธ์การซื้อมาขายไปแบบถี่มากๆแล้วล่ะก็พวกมันจะกลายเป็นต้นทุนที่หนักมากๆขึ้นมาในทันทีนั่นก็เพราะกำไรเฉลี่ยโดยส่วนใหญ่ของกลยุทธ์การเล่นสั้นนั้นมักจะไม่สูงกว่า 5% ต่อรอบ นี่จึงเป็นสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว Slippage ซึ่งเกิดมาจากความล่าช้าในการส่งคำสั่งการซื้อขายหรือความใหญ่ของ Order ที่คุณเทรดก็จะยิ่งกลายเป็นไขมันส่วนเกินชิ้นใหญ่ของพอร์ทโฟลิโออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

image

ตัวอย่างผลตอบแทนทบต้นหรือ CAGR ของระบบการลงทุนระยะสั้นระหว่างค่าคอมที่ 0% VS. 0.25% ตั้งแต่ปี 2000 – ปัจจุบัน อยู่ที่ 45.09% และ 37.91% ซึ่งส่วนต่างไม่กี่ % ต่อปีตรงนี้ทำให้เกิดความแตกต่างของผลกำไรจากระบบที่มีประสิทธิภาพสูงระบบหนึ่งถึงราว 40 ล้านบาทเลยทีเดียว และแน่นอนว่าหากระบบการลงทุนในระยะสั้นของคุณไม่ได้มีประสิทธิภาพที่สูงมากแล้วล่ะก็ มันอาจสามารถเปลี่ยนกำไรคาดหวังที่เป็นบวกของระบบให้กลายเป็นติดลบได้ง่ายๆ

4. การเล่นสั้นไม่ลงรอยกับ Statistical Returns Distribution ของตลาดหุ้น

ผมเคยพูดไปแล้วในบทความเก่าๆว่าสำหรับนักลงทุนธรรมดาๆนั้น การพยายามใช้กลยุทธ์หรือระบบการลงทุนที่เน้นการกินกำไรก้อนใหญ่ๆแบบพวก Super Trend นั้นจะเป็นหนทางทำกำไรอย่างยั่งยืนที่ง่ายกว่าสำหรับพวกเราในระยะยาว โดยเหตุผลหลักๆของมันเพราะวิธีการเหล่านี้คือวิธีการที่ไม่ฝืนธรรมชาติในการคายผลตอบแทนของตลาดออกมา รูปแบบการคายผลตอบแทนของหุ้นในตลาดตรงนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Statistical Returns Distribution แปลเป็นไทยได้ประมาณว่ามันคือการกระจายตัวของผลตอบแทนของหุ้นในตลาดนั่นเอง โดยตารางด้านล่างต่อไปนี้เป็นตาราง Returns Distribution ที่ผมได้เก็บข้อมูลขึ้นมาจากผลตอบแทนของหุ้นทุกตัวที่อยู่ในตลาดทั้งหมดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 – ปัจจุบัน ในแต่ละคาบเวลาออกมา

ผมขอให้สังเกตุผลการกระจายตัวของหุ้นรายวัน, รายสัปดาห์, รายเดือนและรายปีเปรียบเทียบกันดู เราจะเห็นได้ว่าในระยะรายสัปดาห์และรายเดือนหรือมากกว่านั้น Return Distribution จะค่อยๆมีลักษณะเป็นแบบ Long Tail อย่างชัดเจนขึ้นมา

(* Long Tail หรือหางยาวๆด้านขวาของกราฟ Return Distribution คือสิ่งที่ช่วยให้เราได้กำไรก้อนใหญ่ไปกลบการขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการเทรดหากเรารู้จักตัดขาดทุน)

image

image

image

image

เมื่อคุณมอง Returns Distribution เปรียบเทียบกันในแต่ละช่วง คุณจะสังเกตุได้ว่าการกระจายตัวของผลการขาดทุน หรือแท่งตั้งแต่ค่า 0% ลงมานั้นจะค่อยๆมี % Cumulative Distribution ลดลงเรื่อยๆ โดยในคาบ Daily Returns จะมี CD ของการขาดทุนอยู่ที่ 70.02% ส่วนในคาบ Yearly Returns จะมี CD ของการขาดทุนลดลงเหลือเพียง 49.66% เท่านั้น สิ่งนี้หมายความว่าคาบเวลาในระยะยาวนั้นหุ้นในตลาดส่วนใหญ่จะมี Bias ไปในเชิงบวกมากกว่าในระยะสั้นๆซึ่งมี Bias ในเชิงลบสูงมากๆ ดังนั้นการที่เราวางกลยุทธ์หรือระบบการลงทุนในคาบระยะเวลาที่ไม่สั้นจนเกินไปจึงทำให้เราไม่ต้องฝืนกับธรรมชาติการคายผลตอบแทนของตลาดหุ้นนั่นเอง

(** ความลับเล็กๆน้อยๆจากตารางนี้ก็คือเราจะเห็นได้ว่าระยะเวลาการถือหุ้นหรือ Holding Period โดยเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่ที่จะสามารถทำกำไรจากตลาดออกมาได้ก็คือช่วงราวๆตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป เราจึงมักที่จะเห็นว่าคนที่สามารถทำกำไรอย่างยั่งยืนจากตลาดได้มักจะเป็นนักลงทุนระยกลาง-ยาว)

5. กลยุทธ์หรือระบบการลงทุนระยะสั้นมักมีอายุที่จำกัดและขาดความยั่งยืน

สิ่งหนึ่งที่ต้องทำใจสำหรับ Short Term Trader ก็คือระบบการลงทุนส่วนใหญ่มักขาดความยั่งยืนในระยะยาว เนื่องมันฝืน Returns Distribution ของตลาด นอกจากนี้แล้วคนส่วนใหญ่ก็มักที่จะพยายามวิ่งไปสู่ระบบที่ให้ผลตอบแทนในช่วงสั้นๆที่ผ่านมาสูงที่สุดอยู่เสมอ และเมื่อทุกคนพยายามวิ่งเข้าสู่ระบบระยะสั้นที่ให้กำไรสูงที่สุดในช่วงนั้นๆ สภาวะการแข่งขันและแย่งชิงความได้เปรียบจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรง สิ่งนี้เองที่ทำให้ความไร้ประสิทธิภาพของตลาด (Market Inefficiancy) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของผลกำไรจากระบบการลงทุนระยะสั้นนั้นมีช่วงชีวิตที่สั้นมากกว่าระบบการลงทุนในระยะยาว

(*** ระบบการลงทุนระยะกลาง-ยาวมักมีความยั่งยืนสูงกว่าเนื่องจากพวกมันมักมีกลไกปกป้องตนเองจากคนส่วนใหญ่ด้วยอัตรา Drawdown ที่ค่อนข้างสูงและยาวนานมากๆของระบบ นี่จึงทำให้ระบบเหล่านี้มักถูกมองข้ามหรือฝืนจิตใจของคนส่วนใหญ่มากเกินไป)

6. การเล่นสั้นๆต้องการสภาวะทางจิตใจและร่างกายที่สมบูรณ์ค่อนข้างมาก

นี่ถือเป็นปัจจัยหินๆปัจจัยสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงในบทความนี้ ผมอยากบอกว่าไม่ว่าคุณจะรู้สึกว่าการเล่นสั้นๆแล้วทำกำไรออกมารายวันรายสัปดาห์ได้นั้นมันจะดูเท่ห์สักแค่ไหนก็ตาม แต่คุณต้องระลึกไว้อยู่เสมอว่ากลยุทธ์แบบนี้ต้องการความ “ฟิต” อย่างสูงที่สุด!

เบื้องหลังของความสำเร็จของบุคคลที่สามารถจะเก็งกำไรในระยะสั้นได้สำเร็จนั้น คือความพยายามและวินัยที่สูงมากๆ นี่คือเหตุผลที่ผมไม่เคยด่า Prop Trader สักคนถึงแม้ว่าเขาจะได้เปรียบในด้านต้นทุนการเทรดกว่าพวกเรา (นอกจากนี้ยังมีกฏระบบในการเทรดอีกเยอะแยะ) คนพวกนี้คือคนที่มีความฟิตและวินัยที่สุดยอดมากๆ คนที่เล่นสั้นเก่งๆจะต้องมีความนิ่ง, สมาธิและการตัดสินใจที่เยี่ยมยอด ซึ่งหากว่าคุณไม่ได้มีทั้งเวลาและคุณสมบัติเหล่านี้แล้วล่ะก็ผมขอแนะนำให้อยู่เฉยๆจะดีกว่า เพราะบางทีแล้วการไม่ไปยุ่งกับตลาดในช่วงสั้นๆอาจจะช่วยลด Drawdown ที่เกิดขึ้นในการลงทุนของคุณได้มากกว่าก็เป็นได้ …

และนี่ก็คือทั้งหมดของบทความนี้ ส่วนถ้าจะถามว่าแล้วคนเล่นหุ้นที่ใช้กลยุทธ์หรือระบบระยะกลาง-ยาวควรทำอย่างไรในช่วงนี้?

คำตอบของผมก็คือทำใจครับ Drawdown ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ทำตามวินัยตามระบบไปซะ สัญญาณซื้อก็ซื้อขายก็ขาย ไม่มีหุ้นเกิดสัญญาณเข้ามาให้เล่นก็ไม่ต้องเล่น พักผ่อนบ้างก็สบายดีอีกแบบนะครับ ^_^

แมงเม่าคลับ.คอม หนังสือหุ้นน่าอ่าน, วิธีการเล่นหุ้น, การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค, จิตวิทยาการลงทุน และการบริหารเงินทุน Money Management

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)