“ริเน็น” คำสั้นๆอันยิ่งใหญ่ ซึ่งได้ช่วยผลักดันให้บริษัทกว่า 3,113 บริษัทในประเทศญี่ปุ่นสามารถที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องเป็น 100 ปี จนกลายเป็นประเทศซึ่งมีธุรกิจอายุยืนยาวนานมากที่สุดในโลก! โดยในวันนี้ผมจะขอถ่ายทอดแนวคิดของ “ริเน็น” จากคำแนะนำของ อ. เกตุวดี Marumura เพื่อให้พวกเราได้นำมาปรับใช้ในการทำธุรกิจและการลงทุนกันครับ
“ริเน็น” ขุมพลังแห่งความยั่งยืน
คุณมีทางเลือกง่ายๆอยู่สองทางในการสร้างธุรกิจหรือองค์กรของคุณ นั่นก็คือคุณจะทำให้มันเป็นต้นไผ่ หรือคุณจะทำให้มันกลายเป็นต้นสน?
นี่คือคำถามแรกที่ผมได้รับจากการอ่านหนังสือ “ริเน็น” และการชี้แนะจากการบรรยายของ อ. เกตุวดี Marumura (ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ด็อกเตอร์ด้านการตลาดรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งได้เรียนรู้และคลุกคลีอยู่กับแวดวงธุรกิจของประเทศญี่ปุ่นมาเป็นเวลาหลายปี
โดยที่บริษัทแบบต้นไผ่นั้น จะเน้นสร้างการเติบโต “อย่างรวดเร็ว” ของตัวเลขในเชิงธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากบริษัทแบบต้นสน ซึ่งมุ่งเน้นสร้างการเติบโต “อย่างยั่งยืน” ด้วยการสร้างคุณค่าให้กับสังคม ตามอุดมการณ์ในการก่อตั้งธุรกิจอยู่เสมอเป็นอันดับแรก
แน่นอนว่าหลายคนคงบอกว่าตัวเลขต้องมาก่อน อย่ามาฝันหวานเพ้อเจ้อ! อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาและได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นของ อ. เกตุ แล้ว การให้คุณค่ากับ เจตนารมย์, อุดมการณ์ และค่านิยม ซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณของบริษัทนั้น กลับกลายเป็นความลับที่ซ่อนเร้นของนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ในการสร้างองค์กรให้สามารถเติบโตยั่งยืนในระยะยาวเป็นร้อยๆปีเลยก็ว่าได้!
ในวันนี้ผมจึงอยากที่จะเขียนบทความนี้เพื่อช่วยแพร่กระจายแนวคิดที่ อ. เกตุ พยายามจะถ่ายทอดให้กับนักธุรกิจ, นักลงทุน หรือนักการตลาดในประเทศไทย ได้นำเอาหลักปรัชญาแบบ “ริเน็น” ไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนอย่างกว้างขวางกันครับ
“ริเน็น” ปรัชญารากฐานแห่งการดำเนินธุรกิจ
“ริเน็น” คืออะไร?
หากจะแปลตามที่ อ. เกตุ ได้ให้คำนิยามไว้ในหนังสือนั้น “ริเน็น” เกิดขึ้นจากคำว่า “ริ” ซึ่งแปลว่าเหตุผล และคำว่า “เน็น” ซึ่งแปลว่าสติ โดยสามารถแปลความโดยรวมว่า “เหตุผลซึ่งเกิดจากสติ” หรือ “ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว “ริเน็น” คืออุดมการณ์และจิตวิญญาณซึ่งถือเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจนั้นๆ (Purpose) มันคือคำที่มีความหมายมากกว่าแค่เพียงตัวหนังสือ ซึ่งได้ครอบคลุมถึงแนวคิดและทิศทางในเรื่องของ พันธกิจ (Mission), วิศัยทัศน์ (Vision) และค่านิยมขององค์กร (Values) เอาไว้ให้สอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียว
โดยที่ “ริเน็น” จะทำหน้าที่เป็นเหมือนสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของทุกคนทั้ง “ภายใน” และ “ภายนอก” องค์กรเข้าไว้ด้วยกัน จนทำให้เกิดความรู้สึกของความเป็น “พวกพ้อง” ซึ่งมีความเชื่อเดียวกัน และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นในทางจิตใจมากกว่าเพียงแค่ “ราคา” หรือ “คุณประโยชน์” ของสินค้าต่างๆที่ทางบริษัทได้ประชาสัมพันธ์เอาไว้
“ริเน็น” คือเหตุผลที่ว่าทำไมบริษัทญี่ปุ่นหลายๆแห่งจึงสามารถที่จะสร้างความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และดำรงค์อยู่มาได้อย่างยาวนานเป็นเวลากว่าร้อยๆปี แม้ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ต่างๆ อาทิเช่น
บริษัท โทคุตาเกะ
ซึ่งแม้จะผลิตเพียงแค่รองเท้า แต่กลับได้รับทั้งผลกำไรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจดหมายซึ่งเขียนมาชื่นชมในสิ่งที่พวกเขาทำปีละกว่าพันฉบับ ด้วยการผลิตรองเท้าเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ จากการที่ได้รับการติดต่อจากเพื่อนของเขาให้ช่วยทำรองเท้าให้คนแก่ในบ้านพักคนชรา ซึ่งมักมีปัญหาในการลื่นล้มบ่อยๆ และยังมีปัญหาในการที่ขนาดของเท้าแต่ละข้างไม่เท่ากัน จนทำให้เขายอมที่จะแบกการขาดทุนเป็นแรมปีโดยการขายรองเท้าแบบแยกข้าง และออกแบบรองเท้าขึ้นใหม่โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ โดยที่พนักงานทุกคนจะต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลาว่า มันอาจเป็น “รองเท้าคู่สุดท้าย” ของคุณตาคุณยายที่จะสวมใส่ก็เป็นได้
บริษัทริวเก็ทซึ
ร้านขายขนมซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 100 ปี และมักได้รับรางวัลการทำขนมระดับประเทศญี่ปุ่นมาได้อยู่เสมอ โดยก่อกำเนิดจากแรงบันดาลใจในขณะที่ผู้ก่อตั้งได้นั่งรถไฟหลังกลับจากการไปรบที่ประเทศจีน ซึ่งเมื่อได้เห็นเด็กที่งอแงไม่หยุดจากความเบียดเสียดในรถไฟ กลับหยุดร้องให้และยิ้มเริงร่าจากการได้รับลูกอมลูกเล็กๆเท่านั้น จนเกิดเป็นความมุ่งมั่นในการทำขนม เพื่อการสานสายสัมพันธ์ของทุกคนในครอบครัว และเชื่อมโยงหัวใจของคนเข้าด้วยกันผ่านขนมของเขา
บริษัทชูโอะ แท้กซี่
ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้พนักงานขับรถหาลูกค้า แต่จะมีคนโทรจองจนเต็มตลอด ด้วยการหล่อหลอมทัศนคติของพนักงาน ให้อยู่เพื่อรับใช้คนจังหวัดนากาโนะให้มีชีวิตที่สะดวกสบาย ตลอดจนเป็นคนสำคัญต่อผู้ที่เดินทางเองได้ยากลำบาก เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ เพื่อเป็นที่พึ่งพิงของพวกเขา โดยที่ผมเองก็เคยได้มีประสบการณ์ตรงจากการใช้บริการในประเทศญี่ปุ่นในขณะที่หิมะกำลังตกหนัก ซึ่งพนักงานขับแท็กซี่ของชูโอะก็ได้เดินกางร่มมาส่งผมถึงหน้าโรงแรม และยังทิ้งร่มไว้ให้เผื่อใช้งาน โดยบอกว่าจะมารับร่มคืนที่โรงแรมเองในภายหลัง
จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมานี้ เราจะเห็นได้ว่าบริษัทต่างๆเหล่านี้ (และบริษัทที่ยั่งยืนอื่นๆอีกมากมายกว่า 3,113 บริษัทในประเทศญี่ปุ่น) ต่างก็ได้นำเอา “ริเน็น” ของตนเอง ไปปรับใช้ในแง่มุมต่างๆของบริษัทให้สอดคล้องกัน จนก่อให้เกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งคอยช่วยค้ำจุนให้บริษัทสามารถอยู่รอดและเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนเป็นเวลากว่าร้อยๆปี ตามวิถีแห่งการทำธุรกิจของชาวญี่ปุ่นนั่นเอง
“ริเน็น” กับการลงทุน
“ผมไม่ถนัดกับสภาวะตลาดแบบนี้ และผมไม่อยากทำลายผลการลงทุนที่ยอดเยี่ยมของผม ด้วยการพยายามเล่นในเกมที่ผมไม่เข้าใจ เพียงเพราะหวังว่าท้ายที่สุดแล้วผมอาจจะกลายเป็นฮีโร่ก็ได้”
– คำพูดของ วอเรนน์ บัฟเฟตต์ ก่อนปิดกองทุนกองแรกของเขาในช่วง ค.ศ. 1969 ที่ตลาดหุ้นบูมสุดขีด
แล้ว “ริเน็น” สำคัญกับการลงทุนอย่างไร?
แม้ว่าดูผิวเผินแล้ว “ริเน็น” อาจเป็นสิ่งสำคัญในเชิงธุรกิจเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วผมคิดว่ามันยังเป็นสิ่งที่สำคัญกับการลงทุนมากๆเช่นเดียวกัน
สาเหตุก็เพราะอันที่จริงแล้ว แม้ว่าเราจะอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีด้านการลงทุนต่างๆก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก แต่อุดมการณ์และความเชื่อที่แรงกล้าในหลักการลงทุนที่ถูกต้องของคุณนั้น ก็ยังคงถือได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง ในการที่จะตัดสินว่าคุณจะสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้หรือไม่
โดยไม่ว่าคุณจะทำการลงทุนด้วยวิธีการหรือเทคโนโลยีใดๆก็ตามนั้น ท้ายที่สุดแล้ว กลยุทธ์การลงทุนทุกรูปแบบก็ยังย่อมที่จะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่เลวร้ายกันทั้งสิ้น! (Underperformance Period) และคุณเองก็จะไม่สามารถปฎิบัติตามระบบหรือหลักการลงทุนของคุณอย่างเคร่งครัดในระยะยาวได้เลย หากว่าคุณไม่เข้าใจถึงหลักการลงทุนของคุณอย่างลึกซึ้ง รวมถึงขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ซึ่งก็คือ “ศรัทธา” หรือ “ความเชื่อ” อย่างแรงกล้าต่อหลักการลงทุนของคุณไป (ต่อให้คุณลงทุนโดยหุ่นยนต์ แต่อย่าลืมว่าเมื่อถึงเวลาสิ้นวันหรือสิ้นเดือนหรือสิ้นปี คุณยังเป็นคนที่จะต้องพิจารณาผลการลงทุนของคุณเองอยู่ดี)
ซึ่งหากจะลองสังเกตดูให้ดีนั้น คุณจะพบว่าไม่มีเซียนหุ้นหรือสุดยอดผู้จัดการกองทุนคนไหน ที่ไม่เชื่อมั่นหรือศรัทธาในหลักการลงทุนของพวกเขาอย่างแรงกล้า จนเปลี่ยนสไตล์การลงทุนไปมาเลยแม้แต่น้อย ยกตัวอย่างเช่น
ทำไม วอเรนน์ บัฟเฟตต์ จึงมีวินัยและยึดมั่นในหลักการลงทุนของเขามาได้ทั้งชีวิต? และทำไมเขาจึงสามารถเผชิญต่อการขาดทุนโดยมี Drawdown สูงถึงกว่า 50% ได้โดยไม่สูญเสียวินัยในการลงทุนไป? หรือแม้แต่ว่าทำไมเขาจึงเลือกที่จะหยุดบริหารกองทุนของเขา และคืนเงินให้กับนักลงทุนในช่วงปี ค.ศ. 1969 ในขณะที่ตลาดเป็นขาขึ้นอย่างรุนแรง จนเขาไม่สามารถหาหุ้นที่ดีในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าจนเขาพึงพอใจได้?
สำหรับผมแล้วคำตอบก็คือ บัฟเฟตต์ มีสิ่งที่เรียกว่า “ริเน็น” หรือปรัชญาการลงทุนของเขาอยู่ในใจเสมอและเขาเลือกที่จะยึดมั่นในการปฏิบัติตามหลักการของเขาอย่างเคร่งครัด แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานกว่า 40 ปีแล้วก็ตาม (แม้เขาอาจไม่เคยได้ยินคำๆนี้เลยด้วยซ้ำ)
ดังนั้นแล้วการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ริเน็น” ในการลงทุนของคุณนั้น จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากๆต่อความสำเร็จในการลงทุนของคุณ มิเช่นนั้นแล้ว คุณก็จะมีจิตใจโลเลและไร้วินัยจนมักเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนของคุณไปมา ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการที่นักธุรกิจมือใหม่ทั่วๆไปเอาแต่คอยตั้งคำถามว่า พวกเขาควรจะทำธุรกิจอะไรหรือขายอะไรดีถึงจะได้กำไรไปวันๆ ซึ่งไม่ได้สะท้อนถึงอุดมการณ์และการวางแผนอย่างมีกลยุทธ์ในระยะยาวของพวกเขาเลย
ประสบการณ์ “ริเน็น” ของผม
“ริเน็น” จะสามารถนำมาใช้กับการทำธุรกิจหรือการลงทุนในประเทศไทยได้จริงๆหรือ?
เนื่องจากมีหลายท่านอาจคิดว่าแนวคิดแบบ “ริเน็น” นั้นดูสวยงามในทางทฤษฎี แต่ยากที่จะปรับใช้ในประเทศไทยจากปัจจัยหลายๆอย่างนั้น เพื่อเป็นการลบล้างข้อกังขาในส่วนนี้ ผมเองมีตัวอย่างหนึ่งจากประสบการณ์จริงของผมกับทีมงาน SiamQuant ที่อยากจะเล่าให้ฟังด้วยความประทับใจ ซึ่งจะทำให้คุณได้เห็นว่าผลลัพธ์จาก “ริเน็น” ไม่ใช่เพียงสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่นเท่านั้น
โดยประสบการณ์ “ริเน็น” ของผมนั้น ได้เกิดขึ้นอย่างน่าชื่นใจในการจัดงาน SiamQuant Conferrence 2015 ในอดีตที่ผ่านมา (จริงๆยังมีอีกหลายครั้งครับ แต่ขอละไว้ก่อนละกันครับ :P) โดยเรามีจุดมุ่งหมายในการครั้งนั้นเพื่อ “Kickstarting The Quant Era” หรือการผลักดันให้แนวคิดในการลงทุนอย่างเป็นระบบนั้นแพร่หลายเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยในวงกว้าง จนในที่สุดแล้ว จากงานที่ตั้งเป้าหมายไว้เพียงเล็กๆเพียงไม่กี่ร้อยคน ก็ได้กลายเป็นงานบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนอย่างเป็นระบบเชิง Quantitative & Systematic Trading ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่ผมเคยรับรู้ในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
โดยพลังจาก “ริเน็น” ในครั้งนั้น ได้ช่วยให้ผมและทีมงาน SiamQuant สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆที่เรียกได้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลย โดยเราได้ใช้เวลาทั้งหมด นับตั้งแต่การผุดขึ้นของไอเดียอันเพ้อเจ้อของผม จนกระทั่งจบการจัดงานในเวลาราวๆแค่ 3 อาทิตย์เท่านั้น มิหนำซ้ามันยังเกิดขึ้นในช่วงที่เราไม่สามารถของบประมาณการสนับสนุนเงินทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆได้เลย เพราะเขาอยู่ในช่วงปิดงบกันไปแล้ว จนทำให้เรามีงบประมาณตั้งต้นเพียงไม่กี่หมื่นบาท พร้อมกับทีมงาน SiamQuant อีกเพียงแค่ 4 คน ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดงานสัมมนาครั้งใหญ่ใดๆขนาดนี้เลยด้วยซ้ำ!
อย่างไรก็ตาม “ริเน็น” ของความต้องการในการ “Kickstarting The Quant Era” เพื่อนักลงทุนไทยในครั้งนั้น ได้นำพาให้ผมและทีมงานทุกคนสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆจนได้เราพบกับ
- ผู้สนับสนุนในการจัดงาน ซึ่งก็คือทางโบรคเกอร์ SBITO และทางบริษัท VIO (บริษัท Asset5 ในปัจจุบัน) ซึ่งเชื่อมั่นใน Passion ของพวกเราเหนือกว่าประสบการณ์ในการจัดงานใดๆ
- วิทยากรและผู้ดำเนินรายการด้านการเงินที่มีชื่อเสียงอีก 9 คน ซึ่งหลายๆท่านเป็นบุคคลที่ผมไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก็ได้กรุณาตอบรับคำเชิญของผมด้วยความเต็มใจอย่างรวดเร็ว โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการบรรยายใดๆทั้งสิ้น
- ทีมงานอาสาสมัครกว่า 30 คน ซึ่งก็มีหน้าที่การงานที่ดีและยุ่งมากๆกันอยู่แล้ว ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือพวกเราในแง่มุมต่างๆในการจัดงาน โดยได้รับทราบข่าวสารจากการโพสท์ Facebook เปิดรับอาสาสมัครเพียงครั้งเดียวเท่านั้น (ที่น่าชื่อใจคืออาสาสมัครบางคนก็ยังได้กลายมาเป็นทีมงานตัวจริงของเราจนถึงทุกวันนี้ด้วยเช่นกัน :D)
- นักลงทุนที่ยอมเสียสละค่าใช้จ่ายในการจัดงานคนละ 500 บาท เป็นจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 900 คน จนเต็มโรงภาพยนตร์สกาล่า ซึ่งเรียกได้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยกับงานสัมมนาด้านการลงทุนซึ่งเป็นหัวข้อนอกกระแสในขณะนั้น แม้ว่าจะเป็นงานที่ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายก็ตาม!
- การที่ยังไม่ขาดทุนจากการจัดงาน ซึ่งทุกอย่าง Go So Big เกินกว่าที่ผมจะคาดคิดไว้! โดยผมสามารถจ่ายค่าใช้จ่ายในการเช่าสถานที่และบริการทั้งหมด รวมถึงจัดเลี้ยงทีมงานอาสาสมัครโดยยังคงไม่เข้าเนื้อพอดิบพอดี :D
สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากพวกเราไม่ได้มี “ริเน็น” ในการทำสิ่งที่มีความหมายต่อผู้อื่น ซึ่งเปรียบเสมือนกับแรงดึงดูดที่นำพาให้ทุกคนได้มาร่วมกันทำสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว มันก็ยังได้กลายเป็นแรงสนับสนุนให้ผมและทีมงาน SiamQuant ทุกคนยังคงสามารถดำเนินธุรกิจและทำตามความฝันในการ “วิจัยออกแบบระบบการลงทุน เพื่อเอาชนะตลาดหุ้นและสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับนักลงทุนไทย” ได้จนถึงทุกวันนี้นั่นเอง
“ริเน็น” กับ อ. เกตวดี Marumura
สุดท้ายนี้ ผมคงจะต้องขอขอบคุณ อ. เกตุวดี Marumura สำหรับการเขียนหนังสือ “ริเน็น” ออกมาให้คนไทยได้อ่านกัน ผมขอยืนยันกับเพื่อนผู้อ่านทุกคนว่า นี่ไม่ใช่ Sale Pitch หรือโฆษณาแฝงในการขายหนังสือที่ผมได้ตกลงไว้กับ อ. เกตุแต่อย่างใด (ผมไม่ได้เงินสักบาทจากทาง อ. เกตุ หรือสำนักพิมพ์ We Learn เลยนะครับ อินเนอร์ล้วนๆ 55) แต่มันเกิดขึ้นจากความประทับใจใน “ริเน็น” ของ อ. เกตุ ซึ่งต้องการถ่ายทอดความรู้ในการทำธุรกิจอย่างมีอุดมการณ์และปรัชญาให้กับคนไทย รวมถึงยังให้ความกรุณาช่วยเข้ามาบรรยายอบรมให้กับทางทีมงาน SiamQuant ทุกคนกันอีกด้วย
ดังนั้นแล้ว หากคุณเป็นคนหนึ่งซึ่งเชื่อว่าการทำธุรกิจในอุดมคติของคุณนั้น คือการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ด้วยการส่งมอบคุณค่าและความสุขให้กับทุกคน ทั้งในแง่ของพนักงาน, คู่ค้า, ลูกค้า และสังคมแล้วล่ะก็
ขอให้ลองเปิดใจหยิบหนังสือ “ริเน็น” ของ อ.เกตุ มาอ่าน (รวมทั้งหนังสือที่มีเนื้อหาในแนวทางเดียวกันที่ Ref ด้านล่าง) หรือลองติดต่อพูดคุยกับ อ. เกตุ กันดูนะครับ ผมเชื่อว่าธุรกิจของคุณจะกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายบนโลกใบนี้มากยิ่งขึ้นไปอีกอย่างแน่นอนครับ :D
“จงจำไว้ว่า เราเกิดมาเพื่อสร้างรอยประทับเอาไว้ในจักรวาล”
– Steve Jobs
Referrence Book :
– ริเน็น : สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น (理念) โดย ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ
– Start with Why : ทำไมต้องเริ่มด้วยทำไม โดย Simon Sinek
– Built to Last : Successful Habits of Visionary Companies by Jim Collins