ผมเองเห็นนักเล่นหุ้นหลายต่อหลายคน พยายามที่จะดิ้นรนหาระบบการลงทุน หรือสูตรการวิเคราะห์ที่พิสดารกันมามากมายนักต่อนัก ด้วยความที่พวกเขาเชื่อว่า มันจะช่วยนำพาพวกเขาไปสู่ความแม่นยำในการวิเคราะห์ที่มากขึ้น หรือช่วยให้พวกเขาเกิดมีผลกำไรเพิ่มขึ้นมากที่สุด แต่นี่เป็นทางเดินที่ถูกต้องจริงๆอย่างนั้นหรือไม่-มากน้อยแค่ไหน? นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมได้ยกมาพูดถึงในงาน meeting ที่ผ่านมาครับ
วังวนของนักเล่นหุ้น
พวกเราส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ตกเป็นทาสของอคติ ในการวิเคราะห์และประเมิณข้อมูลข่าวสารกันอย่างไม่รู้ตัว เมื่อคุณลองนึกถึงวิถีชีวิตของนักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เริ่มต้นจากนายเม่าได้ก้าวเข้ามาในตลาดหุ้นเป็นครั้งแรก นายเม่าเริ่มต้นวิเคราะห์หุ้นด้วยตัวแปรที่จำกัดง่ายๆเพียง 1-2 ตัว (ยกตัวอย่างว่าเป็นเส้นค่าเฉลี่ย Moving Average) หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป หลักการวิเคราะห์จากตัวแปรไม่กี่ตัวนั้นได้เริ่มเกิดเป็นผลกำไรงอกเงยขึ้นมา สิ่งที่ตามมาก็คือนายเม่าอาจเริ่มที่คิดว่า ในเมื่อตัวแปรไม่กี่ตัวทำให้เกิดกำไรได้แล้ว ถ้ามีตัวแปรในการวิเคราะห์เพิ่มมากขึ้น มันก็ยิ่งน่าจะทำให้ผลการลงทุนดียิ่งขึ้นไปอีก
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ นายเม่ารีบตรงดิ่งไปยังกราฟหุ้นที่เขาใช้อยู่ แล้วลากเมาส์กวาดตาดูกราฟย้อนหลังไปสักช่วงหนึ่ง เขาพบว่าหากเขาใช้เส้นค่าเฉลี่ย Moving Average ร่วมกับ Indicator ยอดนิยมอย่าง RSI (Relative Strength Index) ในการช้อนซื้อหุ้น มันก็น่าจะช่วยให้เขาซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำ ในขณะที่หุ้นอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นได้ เขาจึงรีบทำการทดสอบระบบการลงทุนนั้นทันที และพบว่ามันให้ผลกำไรที่มากขึ้นกว่าเดิมอย่างที่คิดไว้ หลังจากนั้นการเพิ่มตัวแปรก็กลายเป็นทางเลือกใหม่ในความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรที่มากขึ้นของเขา เขาจึงเริ่มเพิ่มข้อแม้ต่างๆมากขึ้นๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ … จนในที่สุดการเพิ่มตัวแปรมากขึ้นเรื่อยๆนั้น ก็ได้ช่วยให้ระบบการลงทุนของเขาสามารถจับการเคลื่อนไหวของตลาดได้แทบจะสมบูรณ์แบบ และมันก็ยังช่วยทำให้เกิดมีกำไรได้อย่างมหาศาลอีกด้วย เมื่อผลที่เกิดขึ้นเป็นเช่นนี้ เขาจึงรีบนำระบบการลงทุนที่เขาเชื่อว่ามันคือ holy grail ในการเล่นหุ้นมาใช้อย่างไม่รีรอด้วยความหวังที่เต็มเปี่ยม …
เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ สิ่งที่มักจะตามมากับนักเล่นหุ้นไฟแรงอย่างนายเม่า … ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “โศกนาตรกรรมในตลาดหุ้น” ที่เขาไม่เคยได้คิดมาก่อน!!
ทำไมผลการลงทุนจึงกลายเป็นเช่นนั้น?
เหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผลการลงทุนของคุณเม่านั้นกลับตาลปัตร จากผลการทดสอบของเขาก็เนื่องมาจากว่า สิ่งที่เขาได้ทำนั้นคือกระบวนการที่อันตายมากๆอย่างหนึ่งในการสร้างระบบการลงทุน ซึ่งเรียกกันว่าการ “Curve Fiting หรือ Over Fitting” ซึ่งก็คือการเพิ่มตัวแปรในระบบการลงทุน เพื่อที่จะจับเอารายละเอียดปลีกย่อยของข้อมูลในอดีต (Noise) ให้มันลงรอยกันจนมากเกินพอดีไปนั่นเอง การกระทำเช่นนี้มักจะทำให้ระบบการลงทุนนั้นขาดความยืดหยุ่นต่อฐานข้อมูลชุดอื่นๆที่ไม่ได้นำมาทำการทดสอบ (ราคาหุ้นในอนาคต) และสูญเสียความสามารถที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือฐานข้อมูลที่แตกต่างออกไป
และนี่เองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบการลงทุนของนายเม่า (หรือคนส่วนใหญ่) ต้องพังทลายลง เนื่องจากถึงแม้ว่าตลาดมักที่จะซ้ำรอย (History repeat it self) แต่มันก็มักที่จะซ้ำรอยในรายละเอียดที่แตกต่างกันไปนั่นเอง
เหตุใดระบบการลงทุนของคุณจึงควรจะง่ายเข้าไว้?
เหตุผลหลักๆเลยที่ระบบการลงทุนของคุณควรที่จะง่ายเข้าไว้ก็เนื่องมาจากว่า ความง่ายนั้นจะทำให้ระบบการลงทุนของคุณมีความคงทนและยั่งยืนได้อย่างง่ายดายขึ้น!! ลองคิดถึงสิ่งมีชีวิตที่อยู่มาได้อย่างยาวนานที่สุดดูสิครับ คุณจะพบว่าพวกมันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีความสลับซับซ้อนสักเท่าไหร่เลย ยกตัวอย่างเช่น แบคทีเรีย, อมีบา, ไวรัสต่างๆ โครงสร้างความเรียบง่ายของพวกมันนี่แหละ คือกุญแจสำคัญที่ทำให้พวกมันมีความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วจนอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้
ระบบการลงทุนก็เช่นกัน เมื่อพวกมันเริ่มเกิดความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จากเพียงตัวแปรเดียวไปเป็น 2, 3, 4… 100 ตัวแปร โครงสร้างของมันจะเริ่มเกิดความหนักและละเอียดอ่อนขึ้นเป็นอย่างมาก ยิ่งมันต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรและข้อยกเว้นที่มากขึ้นเท่าไหร่ ระบบการลงทุนก็จะยิ่งเปราะบางลงเท่านั้น
Shape of the test space : รูปร่างของผลการทดสอบค่าต่างๆของตัวแปรจากระบบการลงทุน
สำหรับแนวทางหนึ่งง่ายๆในการสังเกตุถึงระบบการลงทุนที่มีความสเถียรและคงทนนั้น สามารถทำได้ง่ายๆจากการสังเกตุไปที่รูปร่างจากผลการทดสอบของระบบ ตามค่าที่แตกต่างกันไปของตัวแปรที่ระบบใช้ โดยระบบการลงทุนที่ดีนั้น ควรจะแสดงออกถึงรูปร่าง (Shape of the test space) ที่มีลักษณะค่อยๆไล่เรียงไปอย่างราบรื่น มากกว่าที่จะเป็นรูปร่างแบบฟันปลาผลุบๆโผล่ๆ เนื่องจากมันคือสิ่งที่จะช่วยยืนยันกับเราได้ว่า ระบบมีความยืดหยุ่นและสามารถรับมือกับค่าของตัวแปรที่แตกต่างออกไปได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เมื่อระบบต้องเจอกับสภาพของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆนั้น มันก็จะเป็นเหมือนสิ่งที่จะช่วยรับประกันในระดับหนึ่งได้ว่า ระบบจะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
รูปร่างในลักษณะที่มีความไล่เรียงไปคล้ายๆกับเนินเขา (Round hill) เช่นนี้นั้น มักที่จะเกิดขึ้นกับระบบการลงทุนที่มีตัวแปรน้อยตัวและไม่ซับซ้อนจนเกินไป โดยรูปร่างของมันจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นยอดแหลม (Pole) ผลุบๆโผล่ๆไปมา เมื่อเราค่อยๆเพิ่มตัวแปรหรือข้อยกเว้นต่างๆเข้าไปเรื่อยๆนั่นเอง
และนี่ก็เป็นเหตุผลบางประการที่ว่า ทำไมคุณจึงควรทำให้ระบบการลงทุนของคุณง่ายลงและใช้ตัวแปร (หรือข้อยกเว้นต่างๆ) ให้น้อยลงเสีย เพราะเมื่อพูดถึงการออกแบบระบบการลงทุนที่ดีนั้น คำว่า “less is more” คือสิ่งที่ควรต้องจำใส่ใจเอาไว้ให้ดี
แล้ววันหลังค่อยมาลงรายละเอียดกันเพิ่มเติมต่อกันนะครับ วันนี้เขียนเท่านี้ก่อนเพราะคนเขียนเริ่มจะมึนตัวเองแล้วครับ 55
—————————————————————————————————————————-
ตัวอย่างภาพแสดงตัวอย่างของระบบที่มีความเสถียร : ระบบ CANSLIM (ด้าน Technical ที่ได้กล่าวถึงในบทความที่แล้ว) เข้าซื้อเมื่อราคาทะลุแนวต้านใหญ่ 100 – 500 วัน โดยขายออกเมื่อราคาหลุดเส้นค่าเฉลี่ย EMA ที่ 50 วัน ภายในเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นถึงความไล่เรียงของระดับผลตอบแทนทบต้น (CAR) โดยไม่เกิด spike ขึ้นในผลการทดสอบตามค่าของตัวแปรแนวต้านที่เปลี่ยนไปสักเท่าไหร่
ระบบ CANSLIM โดยทำการ Optimize สลับตัวแปร 2 ตัว : คือแนวต้านสำคัญและค่าของเส้น EMA สิ่งที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า เราจะเห็นรูปร่าง 3D ของผลการทดสอบ (Shape of the test space) ที่มีลักษณะเป็นเนินไล่เรียงกันไปเรื่อยๆ