การพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมในการเก็งกำไร ตอนที่ 1
มักจะมีคำถามที่ว่า การควบคุมความเสี่ยง หรือการใช้ Money Management นั้นมีความสำคัญขนาดไหนในการลงทุน และมีหลายๆคนอยากรู้ว่าการใช้กับไม่ใช้นั้นให้ผลที่ต่างกันแค่ไหน วันนี้ผมนำบทความดีๆของ Ed Seykota และ Dave Druz มาฝากให้อ่านกันครับ คิดว่าน่าจะทำให้หลายๆคนหายข้องใจ และเริ่มสนใจในการใช้ Money Management อย่างจริงจังกันขึ้นมานะครับ
วิธีการเล่นหุ้น Money management การควบคุมความเสี่ยง การบริหารเงินทุน
นักเก็งกำไรมืออาชีพนั้น เป็นผู้ที่รู้ซึ้งถึงความสำคัญของการควบคุมความเสี่ยง(Risk Management)เป็นอย่างดี หากคุณเสี่ยงทีละน้อย คุณจะได้กำไรไม่มากเท่าไหร่ แต่หากคุณเสี่ยงมากเกินไป สุดท้ายคุณก็จะหมดตัวนั่นเอง ความเสี่ยงที่เหมาะสมนั้น แน่นอนว่ามันคือสิ่งที่อยู่ตรงกลางและพอดี โดยในบทความนี้ Ed Seykota และ Dave Druz ได้นำข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ เกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทนในการลงทุน ซึ่งพวกเขาเคยได้ใช้ในการอบรมและสัมนาต่างๆทั่วประเทศอเมริกามานำเสนอให้ทราบกันครับ
วิธีการเล่นหุ้น Money management การควบคุมความเสี่ยง การบริหารเงินทุน
การซื้อ-ขายหุ้นโดยมีการคำนวณถึงจุดตัดขาดทุนล่วงหน้านั้น สามารถเทียบได้กับลักษณะของการวางเดิมพันต่างๆ โดยการที่ยิ่งคุณเสี่ยงมากเท่าไหร่นั้น ก็จะมีผลทำให้เดิมพันของคุณ(จำนวนเงินที่วางลงไป)มากตามขึ้นไปด้วย การเดิมพันที่เน้นความปลอดภัยนั้น ก็จะให้ผลการเล่นที่ปลอดภัยและผลตอบแทนที่ไม่มากเท่าไหร่ แต่การเดิมพันที่บ้าระห่ำนั้น ก็จะนำไปซึ่งการหมดตัวในท้ายที่สุดนั่นเอง นักเก็งกำไรที่บ้าบิ่นนั้นมักจะเดิมพันเป็นเงินจำนวนมากและรู้สึกถึงความกดดัน ซึ่งในที่นี่เราจะเรียกว่า “ความร้อนระอุ(Heat)” ซึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนของเงินทุนในบัญชีของเรานั่นเอง
Portfolio ที่ร้อนระอุนั้นเป็นเพราะมันมีความเสี่ยงที่มากกว่าธรรมดา แต่ Portfolio Heat นั้นก็มักที่จะมีความเกี่ยวเนื่องมาจากบุคลิกนิสัยของนักเก็งกำไรคนนั้นๆเช่นกัน โดยนักเก็งกำไรที่บ้าบิ่นนั้น มักชอบและสามารถที่จะรับมือกับความร้อนระอุของ Portfolio ได้เป็นอย่างดี แต่ในทางตรงกันข้ามแล้ว นักเก็งกำไรที่ค่อนข้างมีความอนุรักษ์นิยม หรือเน้นความปลอดภัยส่วนใหญ่นั้น ก็มักที่จะพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้มันเกิดความร้อนระอุใน Portfolio ขึ้นมา
การบริหารเงินลงทุนใน Portfolio นั้น ก็คือการกระจายเงินเดิมพันไปตามสัดส่วน จากระดับความร้อน(Heat)สูงสุดที่ยอมรับได้ของ Portfolio นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น Portfolio ที่มีการกระจายความเสี่ยงไปตามหน่วยลงทุนต่างๆส่วนละ 2% เป็นจำนวน 5 ส่วนนั้น จะมีความร้อนระอุ หรือ Heat อยู่ที่ 10% นั่นเอง ซึ่งมันก็จะมี Heat ที่เทียบเท่าได้กับ Portfolio ซึ่งกระจายความเสี่ยงไปยังหน่วยลงทุน 2 ส่วน โดยมีความเสี่ยงส่วนละ 5% เช่นกัน
วิธีการเล่นหุ้น Money management การควบคุมความเสี่ยง การบริหารเงินทุน
ผลการศึกษาเกี่ยวกับระดับความร้อนระอุหรือ Heat นั้น ได้ทำให้เราพบว่า
1) ระบบการลงทุนต่างๆนั้น จะมีระดับของ Heat ที่เหมาะสมของตัวมันเอง
2) การควบคุมความร้อนระอุหรือ Heat นั้น มีความสำคัญกว่าการพยายามปรับปรุงสัญญาณการซื้อ-ขายเป็นอย่างมาก
3) นักเก็งกำไรหลายๆคนนั้น มักที่จะมองข้ามความสำคัญของตัวแปรทั้งสองข้อข้างบนไป
วิธีการเล่นหุ้น Money management การควบคุมความเสี่ยง การบริหารเงินทุน
การสุ่มโยนเหรียญ
วิธีหนึ่งในการที่จะช่วยในการทำความเข้าใจถึงเรื่องของ Portfolio Heat ก็คือ การจินตนาการถึงลำดับของการออกหัว-ก้อยในการโยนเหรียญ โดยการที่เมื่อเหรียญออกหัวคุณจะได้ 2 และเมื่อเหรียญออกก้อยคุณจะเสีย 1 นั้น ถือเป็นการเปรียบเทียบได้กับระบบการลงทุนที่ดีระบบหนึ่ง คำถามก็คือ ระดับความเสี่ยงคงที่ของเงินทุน หรือที่เรียกว่า Fixed Fraction ที่เหมาะสมในการเดิมพันกับการสุ่มโยนเหรียญหัว-ก้อยนี้คือเท่าไหร่? { Fixed Fraction คือการกำหนดระดับความเสี่ยงของเงินทุนเป็น % ร้อยละ ให้เท่ากันในทุกๆเทรดครับ}
ความจริงแล้วปริศนาข้อนี้ได้ถูกเปิดเผยมาแล้วหลายๆครั้งในการอบรมและสัมมนาต่างๆหลายๆที่ โดยที่มันมักที่จะถูกอธิบายออกมาในลักษณะที่ยากและซับซ้อนจนน่าตกใจ อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆที่มักจะสามารถสังเกตเห็นได้โดยง่าย จากการพยายามหาคำตอบของคำถามข้อนี้ก็คือ
1) ในระยะยาวแล้ว การออกหัวและการออกก้อยนั้นจะมีสัดส่วนๆเท่าๆกัน
2) ลำดับขั้นของการออกหัว-ก้อยนั้น ไม่มีผลทำให้จำนวนเงินที่เหลืออยู่ตอนสุดท้ายต่างกัน
3) ผลของการการออกหัว-ก้อย เป็นจำนวน N รอบนั้น มีค่าเทียบเท่ากับผลของการออกหัว-ก้อยหนึ่งรอบคุณด้วยจำนวน N {พูดง่ายๆว่า ไม่ว่าเราจะโยนสัก 100 รอบ หรือ 200 รอบนั้น ความน่าจะเป็นหรือ Probability ของมันก็จะมีค่าเท่าเดิมครับ}
ดังนั้น เราจึงสามารถที่จะตอบคำถามได้โดยง่าย จากการสร้างตารางผลสรุป จากการผลของการออกหัว-ก้อยเพียงรอบเดียวเท่านั้น
ในรูปที่ 1 นั้น แสดงให้เห็นผลของการทดสอบความร้อนระอุหรือ Heat ของ Portfolio ในระดับต่างๆ และมันแสดงให้เราเห็นว่าระดับความเสี่ยงหรือเดิมพันที่เหมาะสมนั้นอยู่ที่ 25% โดย ณ ระดับนี้นั้นการสุ่มโยนเหรียญ 1 รอบจะทำให้เกิดกำไร 12.5% ขึ้นมา ซึ่งเป็นผลจากการได้กำไร(ออกหัว)ครั้งแรกที่ 50% และขาดทุน(ออกก้อย)ในครั้งที่สองที่ 25% นั่นเอง โดยผลของการทดสอบระดับความร้อนระอุหรือ Heat Test โดยทั่วไปนั้นแสดงให้เห็นว่า ระดับของ Heat ที่ต่ำนั้น จะทำให้ผลการเติบโตของเงินทุน จะวิ่งขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรง(Linearly)ตามขนาดของเดิมพันที่เพิ่มขึ้น แต่หากระดับของ Heat นั้นมากเกินไป จะเป็นผลทำให้เงินทุนนั้นลดลง เนื่องจากการขาดทุนแต่ละครั้งนั้นส่งผลที่มากเกินไปนั่นเอง โดยในการที่จะนำระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมไปใช้ในการเก็งกำไรจริงๆนั้น นักเก็งกำไรอาจเลือกที่จะเดิมพันน้อยลงกว่าระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมหรือ Optimal Test ลงมา ยกตัวอย่างเช่น ลดลงมาเป็น 15% หรือ 20% แทน โดยการลดระดับความเสี่ยงลงมาก็เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความเครียดจากระดับการลดลงของเงินทุนหรือ Drawdown ที่มากเกินรับไหวนั่นเอง
การทำการทดสอบ Heat Test นั้น สามารถที่จะแสดงให้เราเห็นระดับของกำไรที่จะเกิดขึ้น และระดับความผันผวนตามความเสี่ยงในระดับที่ต่างๆกัน โดย Heat Test ยังสามารถที่จะช่วยให้นักเก็งกำไรสามารถที่จะอธิบายกับผู้ลงทุนของเขา เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และช่วยในการวางแผนระดับของเงินทุนในการเดิมพันก่อนที่จะเริ่มทำการซื้อ-ขาย มิเช่นนั้นแล้ว ผู้ลงทุนของเขาอาจจะรู้สึกไม่พอใจกับผลการลงทุนที่ให้กำไรน้อยเกินไปหรือมีความผันผวนที่มากเกินไปจากที่ได้คาดหวังเอาไว้นั่นเอง
วันนี้จบตอนแรกครับ เดี๋ยวพรุ่งนี้มาต่อกันในตอนที่ 2 ค่อยๆอ่าน ค่อยๆทำความเข้าใจไปนะครับ ผมคิดว่าบทความนี้อธิบายได้ชัดเจนและไม่ยากเกินไป ขอให้มีกำไรจากการลงทุนกันทุกคน แล้วพรุ่งนี้เจอกันใหม่ที่ แมงเม่าคลับ.คอม ครับ
อ่านตอนที่ 2 ต่อ Click!! การพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมในการเก็งกำไร ตอนที่ 2