fbpx
จิตวิทยาการลงทุน

“One Way Road” ข้อเสียของการพยากรณ์

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

One way road จิตวิทยาการลงทุนนักเล่นหุ้นส่วนใหญ่มักตกเป็นเหยื่อของการพยากรณ์ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ พวกเรามักจะเชื่อมันอย่างโงหัวไม่ขึ้นเมื่อคำพยากรณ์นั้นยืนยันตรงกันในสิ่งที่เราต้องการได้ยิน นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดในตลาดหุ้นอย่างหนึ่งเลยทีเดียว และมันคือจุดอ่อนทางจิตวิทยาการลงทุนที่พวกเรา … สร้างขึ้นมาเอง

หลุมพรางขอการพยากรณ์

คงต้องขออกตัวก่อนว่า ในความเป็นจริงแล้ว ผมคิดว่าการพยากรณ์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือไม่ดีที่แบ่งแยกกันอย่างชัดเจนเหมือนสีขาวกับสีดำ และอันที่จริงคำพยากรณ์จากรอบตัวเรานั้น (หรือจากตัวเรา) ก็อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่อันตรายสักเท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่อันตรายเกี่ยวกับมันก็คือ ทัศนคติของพวกเราที่เป็นผู้ “เสพ” มันเองต่างหาก โดยเฉพาะเมื่อเราเชื่อมันเกินครึ่งใจไปแล้วนั้น สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในจิตใจของเรา ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “One “Way Road” นั่นเอง

“One Way Road” (To The Hell)

ความอันตรายของ “One Way Road” ในตลาดหุ้นนั้น เกิดขึ้นเมื่อคุณเชื่อมั่นในบางสิ่งอย่างมากโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเมื่อมันมาจากคนหลายๆคน และมาจากข้อมูลหลายๆแห่งซึ่งยืนยันตรงกัน จนมันทำให้คุณหลงลืมที่จะมองโลกในอีกมุมหนึ่งไปโดยสิ้นเชิง (ลองนึกถึงวันที่ Dow และดัชนี้ทั่วโลกตกหนักๆดู ว่าในขณะนั้นมีความคิดสักแว่บหนึ่งสวนทางกันโดยสิ้นเชิงขึ้นมาบ้างไหม?)

ยกตัวอย่างเช่น เรามักสังเกตุได้อยู่บ่อยครั้งว่า เมื่อตลาดหุ้นเกิดการซบเซาหรือตกลงหนักๆ สิ่งที่กลายเป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่คิดก็คือ พวกเขามักจะรอเพื่อเข้าซื้อในราคาที่ต่ำกว่าในปัจจุบัน … และหากว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้นไปในทางเดียวกับที่คิดเอาเพียงสักหน่อย นั่นก็จะกลายเป็นเพียงกลยุทธ์หลักอย่างเดียวที่พวกเขาได้เตรียมตัวเอาไว้ แต่ทันใดนั้นหากตลาดหุ้นดีดกลับขึ้นมาและวิ่งต่อไป … วิ่งต่อไป … และวิ่งต่อไปเรื่อยๆ จนได้แต่มองตาค้างแบบเสียดายสุดๆ กว่าที่พวกเขาจะรู้ตัว เขาก็กลายเป็นเหยื่อของมันไปเรียบร้อยแล้ว

มองโลกในแง่มุมที่ตรงข้ามกันอยู่เสมอ

คงไม่ต้องบอกว่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในตลาดหุ้น และมันจะยังคงเกิดขึ้นกับคุณต่อไป ตราบเท่าที่เรายังคงตกเป็นเหยื่อของ “One Way Road” ไม่เลิกรา ดังนั้นไม่ว่าคุณจะชอบฟังคำพยากรณ์จากนักวิเคราะห์, ชอบอ่านข่าวสารจากแหล่งข้อมูลใดๆ หรือแม้ว่าคุณจะยกย่องกูรูที่ออกมาฟันธงท่านใดสักแค่ไหน จงอย่าลืมที่จะเตรียม “แผนสำรอง” เผื่อเอาไว้ในอีกกรณีหนึ่งเสมอ

วิธีการเล่นหุ้น มองมุมกลับ

  • หากคุณคิดว่าหุ้นน่าจะลง … อย่าลืมคิดว่าถ้าไม่ตกแล้วจะทำอย่างไร วางแผนล่วงหน้ากับมันเอาไว้
  • หากคุณคิดว่าหุ้นน่าจะขึ้น … อย่าลืมคิดว่าถ้ามันตกแล้วจะทำอย่างไรเช่นกัน
  • และสุดท้าย อย่าลืมคิดว่าถ้ามันไม่ขึ้นและไม่ลง คุณจะทำอย่างไรกับมันด้วย

แผนการณ์ต่างๆเหล่านี้นั้น ควรที่จะถูกเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าและมีความชัดเจนในตัวของมันเอง มีลำดับขั้นตอนการปฎิบัติเอาไว้ในทุกกรณีที่ว่าไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว มันควรที่จะตอบคำถามของคำว่า “อย่างไร” ให้ได้อยู่เสมอ (เช่นหากดัชนี้และหุ้นวิ่งขึ้น ผมจะซื้อมันที่ราคา XX เป็นจำนวน YY หุ้น ที่ราคาเปิดของวันถัดไป แต่หากมันกลับดีดลง ผมก็จะขายมันออกไปที่ราคา XX เป็นจำนวน YY หุ้น ที่ราคาเปิดของวันถัดไปเช่นกัน แต่หากไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมจะทำตามเงื่อนไขข้อแม้ 1, 2 หรือ 3 ) นอกจากนี้แล้ว คุณก็ควรพยายามอยู่กับปัจจุบันและความเป็นจริงให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของ “One way road” จนบ่อยจนเกินไปด้วย

หากว่าคุณทำได้เช่นนี้แล้ว ผมก็เชื่อว่าคุณจะอ่านคำพยากรณ์ได้อย่างสนุก มีความสุขลุ้นระทึกไปกับมัน ไม่ต้องมีดราม่าเวลาหยิบมาคุยกัน และไม่ต้องกลายเป็นเหยื่อของกับดักที่เราสร้างมันขึ้นมาเองครับ

แมงเม่าคลับ.คอม หนังสือหุ้นน่าอ่าน, วิธีการเล่นหุ้น, การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค, จิตวิทยาการลงทุน และการบริหารเงินทุน Money Management

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)