หลังจากที่ผมได้มีโอกาสไปช่วยบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนกับผู้เข้าแข่งขัน The Stock Master ทั้ง 28 คนมา 2 ครั้ง ในช่วงเดือนกว่าๆที่ผ่านมานั้น นี่คือข้อผิดพลาดบางอย่างซึ่งเกิดขึ้นกับกับผู้เข้าแข่งขันบางส่วนซึ่งผมคิดว่ามีประโยชน์กับพวกเราทุกๆคนครับ (ผมไม่ได้จะว่าใครไม่ดีหรือไม่เก่งนะครับ หลายๆท่านเก่งกว่าผมเยอะครับ ^_^ อิอิ)
กติกาการแข่งขันและเกณฑ์การตัดสินของรายการ The Stock Master (ฉบับย่อ)
- ผู้สมัคร ที่ได้รับคัดเลือกให้มีสิทธิเข้าแข่งขันในโครงการจะต้องเปิดบัญชีซื้อขาย หลักทรัพย์กับบริษัท ประเภท Cash Balance โดยซื้อขายผ่านระบบ Internet Trading
- 100,000 บาท โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง และโอนเงินเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อนวันปฐมนิเทศ
- ทุกหลักทรัพย์ใน SET, MAI, Warrant รวมถึง ETF หน่วยลงทุน และ DW
- ห้ามลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกินกว่า 30% ของมูลค่าพอร์ตที่มีอยู่ในขณะนั้น
- ผู้เข้าแข่งขันต้องมีการลงทุนในหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 50% ของเงินทุนโดยรวมโดยรวม เฉลี่ยทุกวัน ตลอดระยะเวลาดำเนินการ
- สำหรับผู้เข้าแข่งขัน The Stock Master ตัดสินจากมูลค่าพอร์ตรวมของผู้เข้าแข่งขัน ณ เวลาปิดตลาดของวันแข่งขันวันสุดท้าย ทั้งนี้การคิดมูลค่าพอร์ตรวมให้คำนวณรวมถึงมูลค่าหุ้นปันผล และเงินปันผลด้วย (ถ้ามี โดยจะต้องโอนเงินปันผลเข้ามาในพอร์ต) หากผู้เข้าแข่งขันมีมูลค่าพอร์ตรวมเท่ากัน ให้ตัดสินจากคะแนนรวมของการเข้าร่วมกิจกรรม weekly coaching ในแต่ละสัปดาห์
อ่านฉบับเต็มและติดตามการแข่งขันได้ตามลิงค์นี้ครับ https://apps.facebook.com/thestockmaster/
กดดันตัวเองเกินไป
หลายๆคนคงคาดการณ์ไว้ว่าปัญหาหลักๆสำหรับผู้เข้าแข่งขันส่วนใหญ่นั้นน่าจะอยู่ที่เรื่องของการวิเคราะห์ (เพราะหลายๆคนไม่ได้มี Profile ด้านการลงทุนยาวนานเท่าไหร่นัก) แต่กลับกันโดยสิ้นเชิงครับ หลายๆคนมีความรู้ในการวิเคราะห์หุ้นที่ดีเอามากๆเลยทีเดียว!! … อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมพบก็คือส่วนใหญ่แล้วมันกลับมาจากจิตใจเสียเป็นหลัก นั่นก็เพราะพวกเขาเหล่านี้ต่างก็ต้องการที่จะเป็นผู้ชนะและทำกำไรให้ได้สูงสุดตามกฏเกณฑ์การตัดสิน (ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรกับเกมนี้เนอะ ^_^) แต่นั่นจึงนำมาสู่พฤติกรรมการลงทุนยอดนิยมเหล่านี้ครับ
- กระโดดไปมาและ Cut Loss เร็วเกินไป
- รีบชิงทำกำไรเร็วเกินไป
กระโดดไปมาและ Cut Loss เร็วเกินไป
เมื่อ Track ดูผลการเทรดของผู้แข่ง Stock Master ส่วนใหญ่แล้ว ผมเองไม่ค่อยเห็นว่าพวกเขาจะซื้อหุ้นที่อยู่ในขาลงหรือพื้นฐานไม่ดีกันซักเท่าไหร่นัก กลับกันแล้วหุ้นส่วนใหญ่ดูจะเป็นขาขึ้นหรือกิจการกำลังเดินไปได้ดีเสียด้วยซ้ำ … ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมควรจะทำกำไรได้ดีพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา (เพราะตลาดเป็นขาขึ้น) อย่างไรก็ตามเมื่อเห็นตัวเลข Profit/Loss แล้วก็ค่อนข้างแปลกใจเนื่องจากส่วนใหญ่มันดันกลายเป็นการขาดทุนเสียนี่กะไร!
ตามการคาดเดา (มั่วๆ) ของผมนั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะความกดดันจากกรอบเวลาที่ตัดสินกันแค่ภายใน 2 เดือนเท่านั้น นั่นจึงทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะรีบขายหุ้นที่ไม่วิ่งออกไปอย่างรวดเร็วเกินไป ก่อนที่จะเกิดสัญญาณขายที่บ่งชี้ว่าหุ้นเป็นขาลงแล้วจริงๆ (เพราะกลัวเสียเวลาที่จะทำกำไร)
อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนี้แล้วส่วนใหญ่มักที่จะทำให้ %Win Ratio ต่ำลงและกลายเป็นการเพิ่ม Cost ด้วยการขาดทุนโดยไม่จำเป็น และส่งผลให้พอร์ทในหลายๆช่วงเวลาย่ำแย่กว่าตลาดพอสมควร
รีบชิงทำกำไรเร็วเกินไป
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งจาก Profit/Loss Distribution Chart ของเหล่าผู้เข้าแข่งขัน Stock Master ก็คือน้ำหนักของกำไรและการขาดทุนมักไม่ต่างกันสักเท่าไหร่นัก (Pay-off ราว 1:1 – 2:1)
นี่ก็น่าจะมาจากสาเหตุที่ว่า พวกเขาต้องการรีบคว้ากำไรเอาไว้เสียก่อนที่มันจะหลุดหายไปและทำให้อันดับของพวกเขาตกลงไปนั่นเอง แต่การทำเช่นนี้นั้นกลายเป็นการทำให้พอร์ทโตยากขึ้นไปอีก (โดยเฉพาะในระยะยาวๆ) เพราะนั่นหมายความว่าคุณกำลังให้ Pay-off Ratio ลดต่ำลงไปและทำให้การเติบโตในระยะยาวต้องพึ่งพา %Win ที่สูงขึ้นเป็นหลัก … ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นงานที่ยากมากกว่าการสร้าง Pay-off Ratio มากๆเลยทีเดียว
ขาดการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม
สิ่งที่สังเกตุได้อีกอย่างหนึ่งและดูจะเป็นปรากฏการณ์ยอดฮิตก็คือ การขาดทุนจากหุ้นไม่กี่ตัวหรือไม่กี่ครั้งก็กลับทำให้พอร์ททรุดลงไปมากกว่าที่ควรจะเป็น และมันก็มักที่จะฉุดให้พอร์ทของผู้แข่ง The Stock Master ที่เจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ให้ผลตอบแทนที่แย่กว่า SET Index
หลายคนอาจมองว่านั่นเพราะพวกเขาจำเป็นต้องเลือกหุ้นที่มีความผันผวนที่สูงมากๆเพื่อทำกำไรแข่งกัน แต่ว่ากันตรงๆแล้ว ผมคิดว่าตรงนี้ถ้าไม่ซวยจริงๆเราจะไปโทษในเรื่องความผันผวนของตัวหุ้นเสียอย่างเดียวก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะความผันผวนของหุ้นก็คือความผันผวนของหุ้น ส่วนความเสี่ยงหรือความผันผวนของพอร์ทโดยรวมของเรานั้นสามารถที่จะควบคุมได้โดยการใช้ Risk Mangement และ Money Management ให้เหมาะสมนั่นเอง ซึ่งเมื่อทำได้อย่างเหมาะสมแล้วการขาดทุนหุ้นรายตัวจะส่งผลกระทบที่น้อยมากๆกับภาพรวมของพอร์ทหลักครับ (ยกเว้นขาดทุนพร้อมกันหมด)
พอร์ทที่ผมชอบที่สุด
เมื่อมองไปที่ Equity Curve แล้ว พอร์ทที่ผมชอบที่สุดในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 3 – 4 พอร์ทนั่นก็คือ (พอร์ทอื่นก็ชอบนะครับไม่ได้ไม่ชอบ เพียงแต่ขอหยิบมายกตัวอย่างเท่านั้นเอง ^o^)
M10: สุวรรณ ภคพงศ์พันธุ์ (หลำ)
M5: ธนกฤต จินตวร (มะเดื่อ)
M20: พจน์ ตั้งงามจิตต์ (พจน์)
M7: ปวรา กิตติพงศ์โกศล (ต้าร์)
สาเหตุหลักๆก็เนื่องมาจากว่า Equity Curve ของพวกมันวิ่งล้ออยู่เหนือผลตอบแทนของ SET Index มาอย่างสม่ำเสมอนั่นเองครับ ซึ่งถึงแม้ว่าในรายของ M7 นั้นในช่วงแรกจะแพ้ตลาดอยู่ก็ตามแต่มันได้แสดงให้เห็นถึงการค่อยๆเติบโตขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน
การจะสร้างพอร์ทให้มี Equity Curve ในลักษณะแบบนี้ได้นั้นไม่เกี่ยวกับความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นขั้นเทพเท่าไหร่ แต่มันต้องใช้ควบคุมความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเป็นหลัก!!
เราจะสังเกตุได้ว่าพอร์ทของพวกเขาไม่ได้โตขึ้นทุกวัน แต่พวกมันสามารถที่จะพยุงตัวไม่ให้ทรุดลงมาหนักๆได้เมื่อ Bad Day มาถึง และนี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมพอร์ทของพวกเขาจึงให้ผลตอบแทนที่อยู่เหนือ SET มาได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ นั่นก็เพราะเมื่อ Good Day มาถึง แม้ว่า Equity จะไม่ได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว (เหมือน Stock Master บางคน) แต่พวกมันก็ไม่จำเป็นต้องคลืบคลานขึ้นมาจากหลุมที่ขาดทุนจนหนักเกินไปก่อนหน้านี้ และจึงค่อยๆทยอยบวกขึ้นมาได้แบบเนียนๆ
นี่แหละครับคือจุดมุ่งหมายของ Risk Mangement และ Money Management นั่นก็คืออยู่ให้รอดเพื่อรอให้ถึงวันรวยของเรา … แม้ว่าเราอาจไม่สามารถรู้ได้ว่าจะรวยวันไหน แต่อย่างน้อยเราก็รู้ได้ว่าเราพร้อมจะรวยทุกเมื่อเมื่อโอกาสมาถึงเพราะเงินทุนเรายังอยู่ครบนั่นเองครับ
พอร์ทไร้ใจ Systematic Trading
คราวนี้ลองมาดูพอร์ทไร้ใจ Turtle Trading System 2 แบบ Simplify สไตล์แมงเม่าคลับกันบ้าง ระบบนี้ไม่มีอะไรมากแค่จับเอาการ Break แนวต้าน-แนวรับที่ 55-20 วันแล้วใส่ Filter กรองสภาพคล่องและสภาพตลาดอีกนิดหน่อยเท่านั้น ผลที่ออกมาแม้จะไม่สามารถทำกำไรได้เป็น 100% ในช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมา แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึง Possibility ในการลงทุนด้วยระบบเป็นอย่างดี
ภาพด้านล่างที่ผมทำไว้ตัดจบผลทดสอบ ณ วันที่ 5/10/12 ซึ่งเป็นวันที่ผมต้องส่ง Slide ล่วงหน้าไปครับ
Symbol | Trade | Date | Price | Ex. date | Ex. Price | % chg | Profit |
GOLD | Long | 3/9/2012 | 8.35 | 11/9/2012 | 5.8 | -30.54% | -1809.76 |
GL | Open Long | 3/9/2012 | 44.25 | 5/10/2012 | 54.75 | 23.73% | 1025.25 |
KTC | Open Long | 3/9/2012 | 24.9 | 5/10/2012 | 27.25 | 9.44% | 665.89 |
OGC | Open Long | 3/9/2012 | 38 | 5/10/2012 | 52 | 36.84% | 1377.5 |
DTC | Open Long | 3/9/2012 | 40 | 5/10/2012 | 46.75 | 16.88% | 653.31 |
RPC | Open Long | 3/9/2012 | 1.18 | 5/10/2012 | 1.4 | 18.64% | 939.62 |
SMT | Open Long | 3/9/2012 | 9.55 | 5/10/2012 | 12.2 | 27.75% | 2595.62 |
GLAND | Open Long | 3/9/2012 | 2.86 | 5/10/2012 | 4.42 | 54.55% | 7246.46 |
TMB | Open Long | 3/9/2012 | 1.72 | 5/10/2012 | 1.79 | 4.07% | 416.33 |
STEC | Open Long | 3/9/2012 | 17.2 | 5/10/2012 | 19.9 | 15.70% | 1564.35 |
PREB | Open Long | 3/9/2012 | 6.1 | 5/10/2012 | 7.1 | 16.39% | 1643.9 |
IFS | Open Long | 3/9/2012 | 1.98 | 5/10/2012 | 2.78 | 40.40% | 2758.35 |
SITHAI | Open Long | 4/9/2012 | 21.7 | 5/10/2012 | 26.5 | 22.12% | 1403.85 |
TH | Open Long | 26/9/2012 | 6.75 | 5/10/2012 | 5.8 | -14.07% | -588.83 |
สิ่งที่น่าสนใจจากพอร์ท Systematic Trading ก็คือมัน Beat the Market ยกตัวเหนือผลตอบแทนของ SET ได้อย่างสม่ำเสมอ และสามารถสร้าง Reward-to-Risk Ratio ที่สูงราวๆ 10 เท่าเลยทีเดียวในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น (Profits:19.89%, MaxDD.=-1.85%) นี่คือจุดแข็งของการมีแผนการลงทุนที่ดีและวินัยการลงทุนนั่นเอง (อย่างไรก็ตามเมื่อขาลงมาถึง MaxDD. จะรุนแรงกว่านี้อย่างแน่นอนครับ)
*** สังเกตุดูให้ดีจะเห็นว่าระบบโดน Max Loss เข้าไปถึงราว –30% สำหรับ Gold และ -14% สำหรับ TH แต่ด้วยการใช้ Money Management ควบคุมเอาไว้อย่างเหมาะสม พอร์ทโดยรวมจึงเสียหายจากสองตัวนี้ราว 2% เท่านั้นซึ่งแทบไม่มีผลทำให้พอร์ท Crash ลงมาเลยเนื่องจากถูกผลกำไรจากตัวอื่นอุ้มเอาไว้ได้
บทเรียนจากเกมการแข่งขัน The Stock Master
สิ่งสุดท้ายที่ผมคิดว่าเป็นบทเรียนสำคัญก็คือ … การอยู่ร่วมกับแนวโน้มใหญ่ในตลาดหุ้นให้เป็น!!
นี่คือสิ่งที่เคยเป็นข้อผิดพลาดในปีแรกๆในการลงทุนของผมเช่นเดียวกัน คุณต้องจำเอาไว้ให้ดีว่าเมื่อภาพของตลาดโดยรวมหรือ SET Index เป็นขาขึ้นนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการ “อยู่เฉยๆเมื่อหุ้นของคุณยังเป็นขาขึ้น” เพราะนี่คือช่วงเวลาที่เอื้อนวยที่สุดในการ Let Profits Run แล้วนั่นเอง
จำไว้ให้ดีว่าเราจะสามารถทำกำไรด้วยการกระโดดเข้าๆออกเมื่อหุ้นเป็นแนวโน้มขาขึ้นได้ในกรณีเดียว นั่นก็คือกรณีที่คุณคาดการณ์จุดสูงสุดและต่ำสุดไม่ผิดเลย!! (ไม่งั้นเราจะขายหมูเปล่าๆ) ซึ่งถือเป็นเรื่องยากมากๆและเป็นเหตุผลว่าทำไมการ “ซื้อแล้วถือในขาขึ้น” จึงเป็นสิ่งที่ง่ายและเหมาะสมที่สุด ซึ่งสำหรับเรื่องนี้กระทั่งสุดยอดเซียนหุ้นอย่าง Jesse Livermore ก็เคยได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า
“Men who can both be right and sit tight are uncommon.”
Jesse Livermore
สรุปว่านักลงทุนที่สามารถอยู่เฉยๆเมื่อตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถทำกำไรก้อนใหญ่จากตลาดได้จริงๆ!! และนี่ก็คือความลับที่ทำให้ Trading System ของเราเอาชนะตลาดขาขึ้นได้อย่างสวยงามเพราะมัน “นั่งนิ่ง” ได้อย่างไร้ใจนั่นเองครับ
สุดท้ายนี้สำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้ร่วมแข่งขัน ผมคิดว่าในหลายๆครั้งที่เราพยายามจะเอาชนะตลาดหรือเอาชนะผลตอบแทนของผู้อื่น ความพยายามเหล่านี้ก็มักจะกลายเป็นหอกกลับมาทิ่มแทงเราเสียเองอยู่เสมอ นักลงทุนที่ดีต้องรู้จักขีดจำกัดของตนเอง อย่าพยายามรีดเลือดจากปูมากจนนิ้วเราดันเจ็บเอง เพราะสิ่งที่เราพอจะควบคุมได้จริงๆนั้นไม่ใช่ตลาดหรือผลตอบแทน แต่เป็นความเสี่ยงที่เรากำลังแบกรับเอาไว้อยู่ต่างหาก ดังนั้นพยายามทำสิ่งที่เราควรทำให้ดีที่สุดเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องพยายามมากเกินความจำเป็น แล้วสุดท้ายเมื่อโอกาสดีๆมาถึงพอร์ทของคุณก็จะค่อยๆเติบโตไปอย่างยั่งยืนครับ ^_^
ปล1. ขอบคุณพี่แบงค์ที่อุตส่าห์แวะมาเจอผมและมาช่วยเป็นวิทยากรในงานด้วยครับ
ปล2. ไว้คราวหลังถ้าแข่งจบแล้วทางบัวหลวงและผู้เข้าแข่งขันยอมให้ผมรีวิวกลุ่ม Winner หรือกลุ่ม Losser ออกมาได้ ผมจะลองนำพอร์ทมาวิเคราะห์ให้ดูกันอีกที ซึ่งน่าจะทำให้เราเห็นถึงพฤติกรรมที่ดีและผิดพลาดอีกหลายๆอย่างพอสมควร ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากๆเลยครับ ^_^