เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมขอนำ slide ในตอนที่ 2 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของ Money Management มาคุยกันต่อเลยดีกว่า แต่ในเรื่องของ Money Management นั้นผมจะต้องอธิบายละเอียดสักหน่อยเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากที่สุด โดยผมจะค่อยๆไล่ไปเรื่อยๆในบทความเป็นตอนๆไปนะครับ
The impact of money management : ผลกระทบจากขนาดของการลงทุน
ผมเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงระบบการลงทุนที่ชาวแมงเม่าคลับรู้จักดีกันอยู่แล้ว นั่นก็คือระบบ Turtle Trading : System 2 ซึ่งจะทำการเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาเกิดการ breakout ทะลุแนวต้าน 55 วันขึ้นไป และขายทิ้งออกไปเมื่อราคาหลุดแนวรับที่ 20 วันของมัน ผมได้นำระบบนี้มาทำการ Backtest ในรูปแบบของ Portfolio test (เล่นหุ้นทั้งตลาดเหมือนชีวิตจริง) กับหุ้นในตลาดย้อนหลังไป 20 ปี และได้คิดค่า Commission & Slipage รวมถึงจำกัด Position size ในแต่ละครั้งของการลงทุนไม่ให้เกิน 5% ของ Volume การเทรดในวันที่เข้าซื้อ เพื่อให้เกิดความสมจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยได้เริ่มต้นทำการลงทุนด้วยเงิน 1,000,000 บาท
และนี่ก็คือผลกำไรสุทธิระบบ Turtle system 2 ที่เกิดขึ้นภายในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา …
ในภาพที่เราเห็นนั้น แกน x แสดงให้เห็นถึงการกำหนดขนาดการลงทุนครั้งละ x% ไล่ไปเรื่อยๆตั้งแต่ 5% ไปถึง 100% ในการเทรดแต่ละครั้ง ส่วนแกน y คือผลกำไรสุทธิที่เกิดขึ้น โดยเราจะเห็นได้ว่าผลกำไรสุทธิจะค่อยๆลดลงและตกฮวบไปเมื่อเรากำหนดขนาดการลงทุนมาเกินกว่าครั้งละ 15% ของ Portfolio
คำถามก็คือ … ทำไมและเหตุใดที่ผลกำไรสุทธิจึงแตกต่างกัน และมันยังลดลงเรื่อยๆแทนที่จะเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงที่เราเดิมพันลงไป?
คำตอบอยู่ใน Slide ต่อมา …
เหตุผลที่ระบบการลงทุนเดียวกันกลับให้ผลกำไรสุทธิต่างกันออกไป ก็เนื่องมาจากการที่ขนาดการลงทุนหรือ Position Size ที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้งนั้น จะมีผลทำให้เมื่อระบบเจอกับการขาดทุน มันจะเกิด Drawdown ที่แตกต่างกันออกไปตามขนาดของการลงทุนที่เราได้กำหนดเอาไว้นั่นเอง
โดยในภาพจะแสดงให้เห็นถึงค่า Maximum System % Drawdown ของ Open equity ที่เกิดขึ้นในขณะการลงทุน คุณจะสามารถนึกภาพง่ายๆได้ว่า ที่กำไรสุทธินั้นน้อยลงเรื่อยๆก็เพราะเมื่อคุณเจอกับการขาดทุน ยิ่งคุณเสี่ยงต่อครั้งมากเท่าไหร่ คุณจะตกหลุมลึกขึ้นเท่านั้น แต่ในทางกลับการ การเสี่ยงอย่างพอดีและเหมาะสม จะช่วยให้หลุมที่คุณตกไม่ลึกจนเกินไปและสามารถกลับมายังที่เดิมได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
นี่เป็นคำถามข้อหนึ่งที่อยากให้หลายๆคนได้คิด มันใช่กันอย่างที่เราเชื่อกันโดยทั่วไปหรือไม่? และถ้าใช่ มันเป็นความจริงที่อยู่ในแง่ไหน? และมันใช่ความจริงที่ว่ายิ่งคุณเดิมพันหนักขึ้นแล้ว ในระยะยาวคุณจะยิ่งมีกำไรมากขึ้นอย่างนั้นหรือ?
สำหรับสิ่งที่ผมได้เจอนั้น กำไรที่มากที่สุดกลับมาจากสิ่งที่เรียกว่า “Optimum Risk, High Return” เสียมากกว่า …
ดังนั้นคำแนะนำที่น่าจะเหมาะสมกับคนส่วนใหญ่ก็คือ “จงเดิมพันให้น้อยกว่าที่คุณคิดอยู่เสมอ … อยู่ให้รอดเสียก่อนแล้วค่อยทำกำไร” อย่างที่ George Soros ได้เคยพูดเอาไว้นั่นเองครับ