fbpx
ถอดรหัสเซียนหุ้น กุญแจแห่งการเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์

ถอดรหัสเซียนหุ้น กุญแจแห่งการเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์ – บทที่ 0 : ปฐมบทและประวัติโดยย่อของลิเวอร์มอร์

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

หนังสือ “ถอดรหัสเซียนหุ้น : กุญแจแห่งการเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์” เล่มนี้นั้น แปลจากต้นฉบับหนังสือ How to trade in stocks by Jesse L. Livermore Duel, Sloan & Pearce, 1940 Original โดยที่ผม มนสิช จันทนปุ่ม (มด แมงเม่าคลับ) ขออนุญาติสงวนลิขสิทธิ์ในการดัดแปลงแก้ไข และใช้งานเพื่อการค้าต่างๆตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านสามารถทำการแชร์และแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้อ่านได้โดยสะดวกทั่วกัน

โดยที่ซีรี่ส์บทความ “ถอดรหัสเซียนหุ้น กุญแจแห่งการเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์” ในครั้งนี้นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากผมเองได้พบว่ามีนักแปลและสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ได้นำเอางานแปลของผมไปดัดแปลงเพื่อทำประโยชน์ทางการค้าโดยมิได้ขออนุญาติกับผมก่อน ตามรายละเอียดในลิงค์นี้

คำชี้แจงเกี่ยวกับหนังสือ How to Trade in Stocks ของ Jesse Livermore ที่ผมเคยได้แปลไว้…

Publiée par แมงเม่าคลับ แบ่งปันความรู้ในการเล่นหุ้น sur Jeudi 20 juin 2019

 

Update : เรื่องการโดนนำเนื้อหาการแปลหนังสือ How to Trade in Stocks ที่ผมได้เคยแปลไว้ไปดัดแปลงพิมพ์จำหน่าย…

Publiée par แมงเม่าคลับ แบ่งปันความรู้ในการเล่นหุ้น sur Mardi 9 juillet 2019

 

ผมจึงได้ตัดสินใจที่จะนำงานแปลต้นฉบับของผมทั้งหมดลงไว้ในเว็บไซต์แมงเม่าคลับแห่งนี้ เพื่อเป็นการส่งมอบความรู้ให้กับทุกท่านโดยสาธารณะ (แต่ขออนุญาติสงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผมก่อนนะครับ)

หวังว่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนทุกท่านครับ :D


คำนำผู้แปล (มด แมงเม่าคลับ)

นับตั้งแต่วันแรกที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ผมเคยสงสัยอยู่เสมอว่าเหตุใดมันจึงไม่ถูกแปลและตีพิมพ์ออกมาให้นักเล่นหุ้นทุกคนได้อ่านในวงกว้างกันบ้าง เพราะเมื่อคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้อยู่นั้น คุณจะรู้สึกเหมือนกับว่าคุณกำลังได้รับการสั่งสอน, ตักเตือน และตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นจริงของการเก็งกำไรจากโคตรเซียนหุ้นอย่างลิเวอร์มอร์ชนิดที่ว่าต้องนึกขำและย้อนมองตัวเองไปด้วยทั้งเล่มเลยทีเดียว

เหตุผลของมันก็อาจเป็นเพราะเขาได้เขียนหนังสือเล่มนี้ในขณะที่เขากำลังอยู่ในจุดที่อิ่มตัวของชีวิตการเป็นนักเก็งกำไรของเขาก็เป็นได้ นั่นทำให้มันมีทั้งความกระชับฉับไวและตรงประเด็นเป็นอย่างมาก รวมถึงมันยังครอบคลุมเนื้อหาในด้านต่างๆที่จำเป็นต่อการเก็งกำไรเอาไว้ได้อย่างมีสีสันอีกด้วย และถึงแม้ว่ามันจะเป็นเวลาล่วงเลยมากว่า 70 ปีแล้วที่หนังสือเล่มนี้ได้ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรก แต่คำแนวคิดต่างๆของเขาก็ยังมีความทันสมัยและเป็นจริงอยู่ไม่เสื่อมคลาย

ผมขอขอบคุณท่านปรมาจารย์ เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ อีกครั้งหนึ่ง สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์และปรัชญาด้านการลงทุน ที่ทำให้ผมและโลกการลงทุนได้รู้จักกับหลักการเก็งกำไรตามแนวโน้ม (Trend Following) รวมถึงกลไกของหุ้นนำตลาด (Leading Stock) และหลักการบริหารความเสี่ยง (Money & Risk Management) ที่ได้ช่วยให้นักลงทุนและกองทุนอีกมากมายในยุคหลัง สามารถสร้างความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืนในตลาดหุ้นกันทั่วโลก

มด แมงเม่าคลับ

“แด่ นีน่า”

เจสซี่ ลิเวอร์มอร์

คำนิยม (EDWARD JEROME DIES)

ความสำเร็จของลิเวอร์มอร์ (Jesse L. Livermore) นั้นถือเป็นสิ่งที่เจิดจรัสอยู่ในวงการเก็งกำไรเสมอมา เขาได้ตกอยู่ในความสนใจของสาธารณชนในฐานะของผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนับตั้งแต่เมื่อเขายังอยู่ในวัยหนุ่มราวกับดาวหางที่สว่างวาบขึ้นบนท้องฟ้าแห่งการเก็งกำไรและเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ไอ้หนุ่มเงินล้านผู้บ้าระห่ำ[1]” (Millionaire Boy Plunger)

เขายังคงเป็นนักเก็งกำไรที่กล้าได้กล้าเสียอยู่เสมอมา และในบางครั้งแล้ว เม็ดเงินของเขานั้นยังมีปริมาณมหาศาลเพียงพอที่จะเขย่าให้คนทั้งตลาดหุ้นถึงกับต้องตกตะลึงด้วยความประหลาดใจ อย่างไรก็ตาม การโหมกระหน่ำโจมตีใส่ตลาดหุ้นของเขานั้นไม่เคยที่จะเกิดขึ้นและเป็นไปด้วยความบังเอิญใดๆทั้งสิ้น พวกมันล้วนแล้วแต่ถูกกระทำลงไปด้วยความเป็นอัจฉริยะในตัวของเขาซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับตลาดหุ้นมาอย่างหนัก รวมไปถึงความอดทนอดกลั้นที่หนักแน่นราวกับกรีเซลด้า[2] (Gri-selda) ของเขาอีกด้วย

เป็นเวลากว่าสี่สิบปีมาแล้วที่ลิเวอร์มอร์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับทั้งเศรษฐกิจมหาภาคและจุลภาคอย่างเข้มข้นด้วยความคลั่งไคล้ของเขา และในช่วงเวลากว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ เขายังได้ทำการศึกษา, พูดคุย, ใฝ่ฝัน และมีชีวิตอยู่กับการซื้อขายในตลาดแห่งการเก็งกำไรไปพร้อมๆกันอีกด้วย โลกของเขานั้นก็คือโลกแห่งการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น และศาสตร์ที่เขาได้ทำการค้นคว้ามาอย่างยาวนานก็มีไว้เพื่อที่จะคาดการณ์ถึงการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เป็นโชคอันดีเหลือเกินสำหรับตัวของผมที่ได้มีโอกาสรู้จักมักจี่กับนักเก็งกำไรผู้ยิ่งใหญ่หลายๆคนในยุคของเราอยู่บ้าง และจากการที่ผมได้เฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดถึงสิ่งต่างๆที่พวกเขาได้ทำในการเก็งกำไรนั้น เมื่อต้องพูดถึงเรื่องของความรอบรู้และความสามารถแล้ว ผมคงจะต้องกล่าวว่าลิเวอร์มอร์นั้นถือเป็นสุดยอดของนักเก็งกำไรและนักวิเคราะห์หุ้นที่เคยมีมาในศตวรรษนี้เลยทีเดียว โดยในหนังสือเล่มหนึ่งของผมนั้น ผมเองก็เคยได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับตัวของเขาเอาไว้ว่า ถึงแม้ว่าเขาอาจจะต้องหมดตัวจนไม่เหลือเงินสักแดงเดียว แต่หากเขาได้รับเครดิตจากโบรคเกอร์ของเขาและปิดประตูล็อกกุญแจห้องเอาไว้โดยให้เหลืออยู่แต่เพียงเครื่องแสดงราคาหุ้น ภายในเวลาไม่นานนักหลังจากที่ตลาดหุ้นกลับมาคึกคักเขาก็ยังจะสามารถกลับมาร่ำรวยได้อยู่เช่นเดิม และนี่ก็คือความเป็นอัจฉริยะในตัวของเขานั่นเอง

เขาได้สร้างความตื่นเต้นและน่าประหลาดใจขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุได้เพียงสิบห้าปีเท่านั้น โดยบุคคลที่ต้องประหลาดใจที่สุดในคราวนั้นก็คือแม่ของเขาเอง นั่นก็เพราะเขาได้นำธนบัตรใบละห้าดอลลาร์เป็นปึกๆวางลงไปบนตักแม่ของเขารวมเป็นเงินถึงห้าพันดอลลาร์เลยทีเดียว และมันก็เกิดขึ้นมาจากผลกำไรที่เขาได้เก็บสะสมออกมาจากตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว เขายังได้สร้างความน่าประหลาดใจขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งในช่วงเวลานั้น นั่นก็คือเขาสามารถที่จะเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้เวลาเรียนทั้งหมดถึงสี่ปีภายในเวลาแค่เพียงปีเดียวในระหว่างที่เขายังต้องทำงานเป็นเด็กเขียนกระดานในห้องค้าหุ้นอีกด้วย

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ลิเวอร์มอร์ก็ยังคงที่จะสร้างเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นให้กับทุกๆคนได้อยู่เสมอ โดยสำหรับหนังสือเล่มนี้นั้น หากว่ามันไม่ใช่สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้ที่สนใจในศาสตร์แห่งการเก็งกำไรแล้วล่ะก็ อย่างน้อยมันก็น่าจะสร้างความประหลาดใจให้กับคนส่วนใหญ่ได้ไม่น้อยเช่นกัน

เหตุผลที่ชัดเจนของมันก็คือ เนื่องจากตามปกติแล้วบรรดานักเก็งกำไรผู้ยิ่งใหญ่ทุกๆคนนั้น พวกเขาล้วนแล้วแต่มีวิธีการเก็งกำไรเป็นของตนเองและทุกคนต่างก็มีแนวทางในการวิเคราะห์ถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะนำมาเป็นบทสรุปของพวกเขาเองว่า พวกเขาจะต้องการที่จะนำเงินจำนวนมหาศาลที่มีอยู่มาเสี่ยงหรือไม่ และแน่นอนว่าวิธีการเหล่านั้นย่อมเป็นสิ่งที่จะต้องถูกปกปิดเป็นความลับอย่างสูงสุด จนในบางครั้งแล้วมันอาจดูเป็นเหมือนความหยิ่งยโสโอหังหรือความหวาดระแวงจนเกินไป แต่นั่นก็เป็นเพราะเหตุผลต่างๆที่ผมได้กล่าวถึงเหล่านี้

ดังนั้นแล้ว เมื่อลิเวอร์มอร์ผู้ซึ่งมีบุคลิกที่ตรงไปตรงมาได้ตัดสินใจที่จะทำการรูดม่านและเปิดเผยถึงกฎในการเก็งกำไรเขาออกมา โดยที่กฎเหล่านี้เป็นกฎที่ได้นำเอาองค์ประกอบทางด้านของจังหวะเวลามาวิเคราะห์ร่วมกับพฤติกรรมของราคาหุ้นเอาไว้ และพวกมันก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้แสง-สปอตไลท์ได้สาดส่องลงมาที่ตัวเขามากกว่านักเก็งกำไรชั้นเยี่ยมคนอื่นๆในยุคเดียวกันอีกด้วย หนังสือเล่มนี้จึงเปรียบได้กับการที่เขากำลังหยิบยื่นดอกผลจากการศึกษาถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในการเก็งกำไรมาอย่างยาวนานกว่าสี่สิบปีให้กับผู้อ่านทุกๆคนเลยทีเดียว

และนี่ก็คืองานเขียนชิ้นใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันมีสีสันของสุดยอดนักเก็งกำไรผู้เจิดจรัสอย่างไม่ต้องสงสัยเลยทีเดียว

เอ็ดเวอร์ด เจอร์โรม ไดซ์ (EDWARD JEROME DIES)

[1] Boy Plunger นั้นอาจตีความว่าเป็นการชอบทุบหุ้นอย่างรุนแรงได้เช่นกัน

[2] ตัวละครที่เป็นตัวแทนของความอดทนอดกลั้นจากนิทานพื้นบ้านของชาวยุโรปในยุคกลาง (Middle Ages)

ประวัติโดยย่อของลิเวอร์มอร์

ลิเวอร์มอร์เกิดและเติบโตขึ้นในเมืองชีวส์เบอรรี่รัฐแมสซาชูเซตส์ เขาได้เริ่มต้นอาชีพการเป็นนักเก็งกำไรเมื่อวัยเพียงสิบสี่ปี โดยการที่เขาได้เดินทางออกจากบ้านเกิดด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของการเป็นเกษตรกรที่พ่อของเขาได้ตั้งใจให้เขาสานต่อเอาไว้ หลังจากนั้นเขาก็ได้เข้าทำงานเป็นเด็กเขียนกระดานหุ้นในห้องค้าของบริษัทเพนเวบเบอร์ (Paine Webber) ที่เมืองบอสตัน

เขาได้แต่งงานกับ Netit Jordan แห่งเมือง Indianapolis ซึ่งเป็นภรรยาคนแรกของเขาเมื่ออายุ 23 ปีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1990 หลังจากนั้นเพียงไม่ถึงหนึ่งปีเขาก็หมดตัวจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้น ต่อมาเขาได้ขอร้องให้ภรรยานำเอาชุดเครื่องเพชรที่เขาเคยได้ซื้อเอาไว้ให้เธอออกมาจำนำเพื่อเป็นเงินทุนในการตั้งต้นใหม่ แต่เธอก็ได้ตอบปฏิเสธกับเขาและนั่นทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ระหองระแหงกันเรื่อยมา หลังจากนั้นในที่สุดพวกเขาก็ได้หย่าร้างและแยกทางกันในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 โดยต่อมาเขาก็ได้แต่งงานเป็นครั้งที่สองกับ Dorthea Wendt และมีบุตรชายด้วยกันทั้งหมดสองคนซึ่งก็คือ Jesse Jr. และ Paul อย่างไรก็ตามเขาก็ยังได้มีภรรยาเป็นคนที่สามนั่นก็คือ Herriett Metz Noble ภายหลังจากนั้น

ในขณะที่เขาทำงานเป็นเด็กเขียนกระดานหุ้นอยู่นั้น ลิเวอร์มอร์มักที่จะทำการจดบันทึกลางสังหรณ์เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับราคาหุ้นในอนาคตเอาไว้อยู่เสมอเพื่อที่จะนำไปตรวจสอบถึงความแม่นยำของของเขาในเวลาต่อไป หลังจากนั้นเขาก็ได้ถูกชักชวนโดยเพื่อนของเขาให้นำเงินจริงๆมาเก็งกำไรเป็นครั้งแรกในบัคเก็ทช็อป[1] (Bucket Shop)

เมื่อเขาอายุได้เพียงสิบห้าปีนั้น เขาได้ทำกำไรจากการเก็งกำไรออกมาเป็นเงินราว $1,000 (คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันที่ประมาณ $20,000) หลังจากนั้นอีกหลายปีต่อมาเขาก็ยังคงที่จะเก็งกำไรและทำเงินออกมาจากบัคเก็ทช็อปได้อยู่เสมอ จนในที่สุดแล้วเขาต้องก็ถูกห้ามและขับไล่จากบัคเก็ทช็อปส่วนใหญ่ด้วยเหตุผลที่ว่าเขานั้นทำกำไรได้มากเกินไปจนทำให้บัคเกทช็อปเหล่านั้นต้องขาดทุนอย่างหนัก และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเดินทางไปยังนิวยอร์คเพื่อที่จะทำการเก็งกำไรอย่างถูกกฎหมายในตลาดหุ้นจริงๆเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพแวดล้อมในการเก็งกำไรที่แตกต่างไปจากบัคเก็ทช็อปเป็นอย่างมาก นั่นทำให้เขาต้องปรับเปลี่ยนกฎการเก็งกำไรของเขาให้เหมาะสมกับตลาดหุ้นจริงๆมากยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา

ในช่วงชีวิตของเขานั้นลิเวอร์มอร์ได้เคยทำกำไรและขาดทุนเป็นเงินหลายล้านเหรียญในตลาดหุ้นอยู่หลายต่อหลายครั้ง โดยช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตการเก็งกำไรของเขานั้น ก็คือในขณะที่เขาสามารถทำกำไรออกมาจากตลาดได้จนมีทรัพย์สินถึง 3 ล้านเหรียญและ 100 ล้านเหรียญภายหลังจากที่ตลาดหุ้นได้ถล่มลงมาอย่างรุนแรงในปี 1907 และ 1929 อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วเขาก็ต้องสูญเสียเงินเหล่านั้นไปทั้งหมดในเวลาต่อมา

นอกจากความสำเร็จในชีวิตการเป็นนักเก็งกำไรของเขาแล้ว เขายังเป็นผู้ที่วางรากฐานของแนวคิดในการที่จะทำการตัดขาดทุนอย่างรวดเร็ว และค่อยๆเพิ่มขนาดการลงทุนมากยิ่งขึ้นเมื่อผลของการเก็งกำไรได้เป็นไปอย่างที่เราคาดคิดเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ลิเวอร์มอร์ก็ไม่สามารถที่จะทำตามกฎในการเก็งกำไรของเขาได้อยู่เสมอ เขามักกล่าวอ้างอยู่เสมอว่า เหตุผลหลักๆที่ทำให้เขาต้องสูญเสียกำไรทั้งหมดที่ได้มาจากการเก็งกำไรในปี 1907 และ 1929  นั้น ก็คือการที่เขาไม่สามารถที่จะทำตามกฎของเขาได้นั่นเอง

[1] สถานที่สำหรับรับแทงหุ้นโดยไม่ต้องซื้อขายหุ้นในตลาดจริงๆ

ช่วงเวลาสำคัญต่างๆในชีวิตของลิเวอร์มอร์

ช่วงเวลา ช่วงอายุ เหตุการณ์สำคัญ
26 กรกฎาคม ค.ศ. 1887 0 ลิเวอร์มอร์เกิดทางตอนใต้ของย่านเมืองแอคตันรัฐแมสซาชูเซท
ค.ศ. 1891 14 เขาได้เข้าทำงานกับบริษัทค้าหุ้น Paine Webber ในฐานะของการเป็นเด็กเขียนกระดานหุ้น
15 ทำกำไรได้ $3.12 ต่อหุ้น จากการเก็งกำไรกับเพื่อนของเขาเป็นครั้งแรกในชีวิตกับหุ้น Burlington
15 มีกำไรสะสมถึง $1,000 เป็นครั้งแรกหลังจากที่เขาได้ทำการเก็งกำไรอยู่ในบัคเก็ทช็อปมาสักพักหนึ่ง
ค.ศ. 1893 16 Paine Weber แจ้งให้เขาทราบว่าเขาต้องเลิกเก็งกำไรในบัคเก็ทช็อปหรือไม่เช่นนั้นเขาก็ต้องออกจากงาน หลังจากนั้นลิเวอร์มอร์ก็ตัดสินใจที่จะลาออกมา
20 มีกำไรสะสมเป็น $10,000 ได้เป็นครั้งแรกจากการเก็งกำไรในบัคเก็ทช็อป
21 เดินทางไปยังนิวยอร์คเพื่อทำการซื้อขายหุ้นจริงๆในตลาด NYSE กับโบรคเกอร์ที่ถูกกฎหมายทรัพย์สินของเขาลดลงเหลือแค่เพียง $2,500 จากการขาดทุนในการซื้อขายหุ้นจริงๆในตลาด
22 สูญเสียเงินทั้งหมดของเขาไปจากการพยายามเก็งกำไรในตลาด NYSE โดยเขาได้ให้เหตุผลว่ามันเป็นเพราะการจับคู่คำสั่งซื้อขายในตลาดจริงที่ล่าช้ากว่าในบัคเก็ทช็อปหลังจากนั้นเขาได้ขอยืมเงิน $500 จากเพื่อนของเขาและเดินทางไปยังเมืองเซนต์หลุยส์เพื่อเก็งกำไรในบัคเก็ทช็อป อีกครั้ง หลังจากนั้นเขาก็ได้เดินทางกลับมายังนิวยอร์คพร้อมกับใช้หนี้คืนทั้งหมด รวมถึงทำการเก็งกำไรในตลาดหุ้นจริงๆและบัคเก็ทช็อปไปพร้อมๆกัน
พฤษภาคมค.ศ. 1901 23 ลิเวอร์มอร์ขาดทุนจนหมดตัวจากเงินทุนราว $50,000เขาได้กล่าวว่า “ผมพ่ายแพ้เพราะตัวแสดงราคาหุ้นนั้นล่าช้าไปจากความเป็นจริงอย่างมาก ความแตกต่างของราคาที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆและราคาที่ถูกพิมพ์ออกมานั้นทำให้ผมต้องขาดทุนอย่างหนัก”
ค.ศ. 1901 24 ลิเวอร์มอร์กลับไปทำการเก็งกำไรในบัคเก็ทช็อปและไวร์เฮาส์อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเขาต้องการเงินทุนก้อนใหม่เพื่อที่จะกลับไปซื้อขายหุ้นจริงๆในตลาดหลักทรัพย์ไวร์เฮาส์พยายามที่จะโกงเงินของลิเวอร์มอร์แต่เขาตอบกลับด้วยการปั่นราคาของหุ้นตัวเล็กๆในตลาด NYSE เพื่อที่จะเอาคืนโดยทำกำไรก้อนใหญ่จากไวร์เฮาส์
1902 24 ภายหลังจากที่เขาประสบความสำเร็จจากการเก็งกำไรในไวร์เฮาส์มาได้สักพัก ลิเวอร์มอร์ก็สามารถที่จะรวบรวมเงินทุนจนเพียงพอในการซื้อรถยนต์และใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ในคราวนี้เขาได้เดินทางกลับไปที่นิวยอรค์เป็นครั้งที่สามด้วยเงินที่มากในจำนวนหนึ่ง
ฤดูใบไม้ผลิในปี ค.ศ. 1906 28 เขาทำกำไรได้ถึง $250,000 ด้วยการขายชอร์ทหุ้นจากลางสังหรณ์แปลกๆก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในซานฟรานซิสโก
ฤดูร้อนในปี  ค.ศ. 1906 29 เขาสูญเสียเงินไป $40,000 เหรียญจากการซื้อหุ้นเด็ดตามคำแนะนำของ Ed Harding
24 ตุลาคม ค.ศ. 1907 30 ลิเวอร์มอร์ทำกำไรได้ถึง 1 ล้านเหรียญจากการขายชอร์หุ้นในขณะที่ตลาดกำลังร่วงหล่นอย่างรุนแรง
ช่วงท้ายปี ค.. 1907 30 เขาซื้อเรือยอร์ชส่วนตัว อย่างไรก็ตามเขาต้องสูญเสียเงินกว่า $200,000 จากการเก็งกำไรในตลาดฝ้าย
.. 1908 30 – 31 ลิเวอร์มอร์แหกกฎของเขาเอง โดยการหลงเชื่อคำแนะนำของกูรูตลาดโภคภัณฑ์ชื่อว่า Percy Thomas หลังจากนั้นตลาดก็ย่ำแย่ลงและเขาก็ได้แหกกฎของเขาอีกครั้งด้วยการถัวเฉลี่ยการขาดทุนที่เกิดขึ้นในตลาดฝ้ายพร้อมทั้งชิงขายทำกำไรสัญญาข้าวสาลีที่เขามีกำไรไป หลังจากนั้นเขาก็ขาดทุนจนหมดตัวเขาเดินทางออกจากนิวยอร์คเพื่อไปติดต่อธุระยังเมืองชิคาโก ด้วยเหตุผลเนื่องจากบริษัทค้าหุ้นที่นั่นตระหนักถึงความสามารถของเขา และยินยอมที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินกับตัวของลิเวอร์มอร์ในการเก็งกำไร

ลิเวอร์มอร์ได้รับเงินทุนเพื่อเดินทางกลับมายังนิวยอร์คอีกครั้งจาก Dan Williamson เจ้าของบริษัทค้าหุ้น

Dan Williamson ได้มอบเงินจำนวน $25,000 ให้กับลิเวอร์มอร์เพื่อใช้ในการเก็งกำไรของเขาอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากนั้นเพียงสามอาทิตย์ลิเวอร์มอร์ก็สามารถที่จะทำกำไรได้ถึง $120,000 อย่างไรก็ตาม Willamson ก็เริ่มที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเก็งกำไรของเขาโดยทำการซื้อขายผ่านบัญชีของลิเวอร์มอร์จนนำไปสู่การขาดทุนอย่างหนัก และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาจบลง

.. 1914 36 เป็นเวลาหลายปีที่ตลาดเคลื่อนที่อยู่ในกรอบแคบๆและหนทางในการทำกำไรก้อนใหญ่ก็ได้ถูกปิดลง นั่นจึงทำให้หนี้สินของลิเวอร์มอร์บานปลายขึ้นถึง 1 ล้านเหรียญเขาได้กลายเป็นบุคคลล้มละลายในเวลาต่อมา โดยหลังจากนั้นเขาได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ในขณะนี้จิตใจของผมว่างเปล่าและเหมาะสมในการที่จะทำเงินจากการเก็งกำไรอีกครั้ง สิ่งต่อไปที่ผมต้องทำก็คือการหาเงินทุนก้อนใหม่เพื่อใช้ในการเก็งกำไรของผม”
เดือนกุมภาพันธ์ ค.. 1915 37 ลิเวอร์มอร์กลับไปขอร้องให้ Dan Williamson ช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง ในคราวนี้ Williamson ได้มอบโอกาสให้เขาทำการเก็งกำไรอีกครั้งหนึ่งแต่เป็นเงินเล็กน้อยเพื่อที่จะซื้อหุ้นได้เพียง 500 หุ้นเท่านั้น นั่นทำให้ลิเวอร์มอร์นั่งอ่านการเคลื่อนไหวของราคาอยู่เป็นเวลาถึงหกอาทิตย์ก่อนที่จะทำการซื้อขายจริงๆ เนื่องจากเขาจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ได้อย่างถูกต้อง 100%เขาได้เข้าทำการซื้อหุ้น Bethlehem Steel ด้วยมาร์จินที่สูงมากๆที่ราคา $98 เป็นโชคดีของเขาที่ราคาของเหล็กนั้นได้วิ่งขึ้นไปเนื่องจากความต้องการเหล็กที่เกิดขึ้นจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1

หลังจากนั้นราคาของหุ้นก็ได้วิ่งขึ้นไปถึงที่ $115 อย่างที่เขาคาดการณ์ไว้ โดยเมื่อราคาของหุ้นวิ่งขึ้นไปถึง $145 เขาก็ได้ทำการซื้อหุ้นเพิ่มอีกครั้งหนึ่งและขายมันออกมาในวันถัดไป กำไรจากการซื้อหุ้นในคราวนี้ของเขาทำให้เขากลับมามีเงินทุนก้อนใหญ่ในการเก็งกำไรอีกครั้ง

ช่วงท้ายปี .. 1915 38 ภายหลังจากความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการเก็งกำไรของเขา ลิเวอร์มอร์ก็กลับมามีทรัพย์สินราว $145,000 ในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากนั้น
.. 1916 38 – 39 ลิเวอร์มอร์สามารถเก็งกำไรได้อย่างสมบูรณ์แบบในช่วงเวลานี้ เขาทำการซื้อหุ้นเมื่อตลาดอยู่ในภาวะกระทิงที่แข็งแกร่ง และขายชอร์ทหุ้นเมื่อตลาดกลับตัวกลายเป็นภาวะหมีขึ้นมา เขาสามารถที่จะทำกำไรจากตลาดได้ถึง 3 ล้านดอลาร์ก่อนที่จะเดินทางไปพักผ่อนในช่วงฤดูหนาวที่เมืองปาลม์บีช
.. 1917 40 เขาทำกำไรก้อนใหญ่ได้อีกสองครั้งเป็นเงิน 1.5 ล้านเหรียญและ 8 แสนเหรียญ และนั่นทำให้เขาสามารจ่ายหนี้ทั้งหมดที่ค้างอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1914 ได้เขาทำการซื้อพันธบัตรเอกภาพของอังกฤษเพื่อเป็นหลักประกันให้กับครอบครัวของเขาในกรณีที่เขาอาจพบกับการขาดทุนจนหมดตัวอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้แล้วเขาก็ยังนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปซื้อกองทุนให้กับภรรยาและลูกของเขา
.. 1922 44 / 45 ลิเวอร์มอร์ได้ให้สัมภาษณ์กับ Edwin Lefèvre เพื่อตีพิมพ์ลงเป็นบทความต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์ The Saturday Evening Post โดยหลังจากนั้นบทความต่างๆเหล่านี้ก็ได้ถูกรวบรวมกลายมาเป็นหนังสือหุ้นคลาสสิคตลอดการที่ชื่อว่า Reminiscences of aStock Operator
.. 1923 46 เขาย้ายสถานที่การเก็งกำไรไปยังห้องทำงานที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษของเขาในตึก Hecksher Building ที่ถนน Fifth Avenue เนื่องจากลิเวอร์มอร์ต้องการที่จะหลีกเลี่ยงจากความวุ่นวายของตลาดหุ้น Wallstreet และเพื่อที่จะรักษาความลับในการเก็งกำไรของเขา
.. 1925 48 ในปี 1925 ลิเวอร์มอร์ทำการซื้อสัญญาธัญพืชล่วงหน้า (Grain) เป็นจำนวน 5 ล้านบุชเชลในขณะที่มันกำลังวิ่งขึ้นไปโดยที่เขาสามารถขายมันออกมาได้แถวๆจุดสูงสุดของตลาด หลังจากนั้นเขาก็ทำการขายชอร์ทมันอีกครั้งหนึ่งเป็นจำนวน 50 ล้านบุชเชลส่งผลให้เขาได้กำไรกลับมาเป็นเงิน 10 ล้านเหรียญ
.. 1929 นี่คือช่วงเวลาที่เป็นจุดสุดยอดในชีวิตการเป็นนักเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์ เขาทำการขายชอร์ทตลาดหุ้นในขณะที่เกิดการถล่มทลายครั้งใหญ่ของตลาดลงมาในปี ค.ศ. 1929 และนั่นทำให้เขาได้กำไรกลับมาถึง 100 ล้านเหรียญ
.. 1933 56 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งว่าเขาหายตัวออกไปจากบ้าน อย่างไรก็ตามภายหลังจากนั้นสักพักหนึ่ง เขาก็ได้ปรากฏตัวอีกครั้งขึ้นที่บ้านของเขาโดยมีอาการเดินส่ายไปส่ายมา เขาได้กล่าวว่าก่อนหน้านี้คืนหนึ่งเขาได้นอนพักอยู่ในโรงแรมและตื่นขึ้นมาโดยจำอะไรไม่ได้เลย แต่เมื่อเขาได้อ่านพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการหายตัวไปของเขานั่นจึงทำให้เขาเริ่มนึกถึงสิ่งต่างๆขึ้นมาได้ ในภายหลังแพทย์ได้วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคความจำเสื่อมโดยฉับพลัน (Amnesia Nervous Breakdown)
.. 1934 56 ลิเวอร์มอร์ล้มละลายอีกครั้งหนึ่งจากการที่เขาได้ขาดทุนจนหมดตัวแต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุของมันเกิดขึ้นจากอะไร อย่างไรก็ตามเขาและครอบครัวก็ไม่ได้อยู่อย่างแร้นแค้นสักเท่าไหร่นักเนื่องจากเขายังได้รับผลตอบแทนจากพันธบัตรเอกภาพอังกฤษที่เขาได้เคยซื้อเอาไว้ หลังจากนั้นเขาและภรรยาก็ได้เดินทางไปยังยุโรปโดยเขาให้เหตุผลไว้ว่า “ผมต้องการที่จะผ่อนคลายจิตใจจากปัญหาที่เกิดขึ้นบางอย่าง”
.. 1939 62 ลิเวอร์มอร์เริ่มต้นการเขียนหนังสือ How to Trade in Stocks ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับผู้ที่สนใจจะเรียนรู้ถึงการเก็งกำไรในตลาดหุ้น
.. 1940 62 หนังสือ How to Trade in Stocks ได้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
28 พฤศจิกายน .. 1940 63 ลิเวอร์มอร์เสียชีวิตโดยการยิงตัวตายและกระสุนได้ระเบิดสมองของเขาด้วยมือของเขาเอง สาเหตุของมันนั้นเกิดจากการที่เขาได้รับความทุกข์ทรมานจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยเขาได้เขียนโน๊ตสั้นๆไว้ก่อนตายเกี่ยวกับชีวิตของเขาว่าเขาคือคนที่ “ล้มเหลว” ในชีวิต

หมายเหตุที่ 1 : ไวร์เฮาส์ (Wire House) คือบริษัทนายหน้าค้าหุ้นซึ่งมีสาขาอยู่เป็นจำนวนมากเช่นบริษัทโบรค์เกอร์ข้ามชาติทั้งหลาย ไวร์เฮาส์มีลักษณะเป็นธุรกิจนายหน้าค้าหุ้นแบบครบวงจรทั้งการมีบทวิจัยหรือคำแนะนำในการซื้อหุ้น

หมายเหตุที่ 2 : ประวัติและช่วงเวลาต่างๆในชีวิตของเขาส่วนใหญ่ได้ถูกรวบรวมและเรียบเรียงมาจากเนื้อหาในหนังสือ Reminiscences of a Stock Operator โดย Edwin Lefèvre และหนังสือ How to Trade in Stocks ที่เขียนด้วยตัวของเขาเอง อย่างไรก็ตาม ความแม่นยำเกี่ยวกับช่วงเวลาที่สิ่งต่างๆเกิดขึ้นนั้นอาจเกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นได้เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับตัวของเขาในบางส่วนนั้นมีความเลือนลางอยู่พอสมควร

[ จบปฐมบท กรุณารอติดตามตอนต่อไปเร็วๆนี้ในบทความหน้าครับ หากอ่านแล้วมีข้อสงสัยประการใด สามารถ Comment เพื่อสอบถามและพูดคุยกับผมได้เลยนะครับ ด้วยความยินดีครับผม :D ]

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)