fbpx
ถอดรหัสเซียนหุ้น กุญแจแห่งการเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์

ถอดรหัสเซียนหุ้น กุญแจแห่งการเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์ – บทที่ 7 : กำไรสามล้านดอลลาร์

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

เกริ่นนำ

หนังสือ “ถอดรหัสเซียนหุ้น : กุญแจแห่งการเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์” เล่มนี้นั้น แปลจากต้นฉบับหนังสือ How to trade in stocks by Jesse L. Livermore Duel, Sloan & Pearce, 1940 Original โดยที่ผม มนสิช จันทนปุ่ม (มด แมงเม่าคลับ) ขออนุญาติสงวนลิขสิทธิ์ในการดัดแปลงแก้ไข และใช้งานเพื่อการค้าต่างๆตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านสามารถทำการแชร์และแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้อ่านได้โดยสะดวกทั่วกัน

โดยที่ซีรี่ส์บทความ “ถอดรหัสเซียนหุ้น กุญแจแห่งการเก็งกำไรของลิเวอร์มอร์” ในครั้งนี้นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากผมเองได้พบว่ามีนักแปลและสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ได้นำเอางานแปลของผมไปดัดแปลงเพื่อทำประโยชน์ทางการค้าโดยมิได้ขออนุญาติกับผมก่อน ตามรายละเอียดในลิงค์นี้

คำชี้แจงเกี่ยวกับหนังสือ How to Trade in Stocks ของ Jesse Livermore ที่ผมเคยได้แปลไว้…

Publiée par แมงเม่าคลับ แบ่งปันความรู้ในการเล่นหุ้น sur Jeudi 20 juin 2019

 

Update : เรื่องการโดนนำเนื้อหาการแปลหนังสือ How to Trade in Stocks ที่ผมได้เคยแปลไว้ไปดัดแปลงพิมพ์จำหน่าย…

Publiée par แมงเม่าคลับ แบ่งปันความรู้ในการเล่นหุ้น sur Mardi 9 juillet 2019

 

ผมจึงได้ตัดสินใจที่จะนำงานแปลต้นฉบับของผมทั้งหมดลงไว้ในเว็บไซต์แมงเม่าคลับแห่งนี้ เพื่อเป็นการส่งมอบความรู้ให้กับทุกท่านโดยสาธารณะ (แต่ขออนุญาติสงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผมก่อนนะครับ)

หวังว่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนทุกท่านครับ :D

บทที่ 7 : กำไรสามล้านดอลลาร์

ในบทที่แล้วผมได้กล่าวถึงความผิดพลาดซึ่งทำให้ผมสูญเสียโอกาสในการทำกำไรไปอย่างมโหฬารด้วยการไม่มีความอดทนอดกลั้นที่เพียงพอมาแล้ว ในขณะนี้จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ผมจะได้อธิบายและแสดงตัวอย่างถึงวิธีการทำกำไรของผมรวมไปถึงผลของการเฝ้ารอคอยต่อช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนทางจิตวิทยาในตลาดหุ้น

ในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1924 นั้น ตลาดข้าวสาลีได้วิ่งไปถึงระดับราคาที่ผมเรียกมันว่าจุดหมุนขึ้น ด้วยเหตุนี้เองผมจึงได้เข้าไปข้องเกี่ยวอยู่กับมันด้วยการเข้าซื้อมันในครั้งแรกเป็นจำนวนห้าล้านบุชเชล โดยในช่วงเวลานั้นตลาดข้าวสาลีถือได้ว่าเป็นตลาดที่ใหญ่โตมากๆเลยทีเดียว ดังนั้นการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายในปริมาณมากขนาดนี้จึงไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับราคาของมันสักเท่าไหร่ และเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการซื้อขายในหุ้นตัวหนึ่งๆแล้วมันจะมีปริมาณพอๆกับคำสั่งซื้อขายหุ้นเพียงคราวละ 50,000 หุ้นเท่านั้น

ทันทีหลังจากที่คำสั่งซื้อของผมได้ถูกจับคู่เรียบร้อยแล้ว ตลาดก็เริ่มหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้นเป็นเวลาสองถึงสามวันแต่ราคาของมันก็ไม่ได้พักตัวลงมาต่ำกว่าจุดหมุนเลย หลังจากนั้นตลาดก็เริ่มวิ่งกลับขึ้นไปอีกครั้งและได้วิ่งขึ้นไปจนสูงกว่าจุดสูงสุดในครั้งที่แล้วราวสองถึงสามเซนต์ (วัดจากจุดที่มันเริ่มเกิดการพักตัวตามธรรมชาติและนิ่งเฉยอยู่เป็นเวลาสองสามวันก่อนจะวิ่งขึ้นไปอีกครั้ง)

โดยเมื่อราคาของมันได้วิ่งทะลุผ่านจุดหมุนไปแล้ว ผมก็ได้ส่งคำซื้อเข้าไปในตลาดอีกครั้งเป็นจำนวนห้าล้านบุชเชลเช่นเดิม มันได้ถูกจับคู่ในราคาเฉลี่ยที่สูงกว่าจุดหมุนอยู่ประมาณ 1½ เซนต์ และนั่นก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตลาดกำลังมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ทำไมน่ะหรือ? นั่นก็เพราะมันเป็นการยากกว่าเดิมมากๆที่ผมจะสามารถเข้าซื้อหุ้นห้าล้านบุชเชลได้ครั้งที่สองนั่นเอง

ในวันถัดมานั้น แทนที่ตลาดจะเกิดการพักตัวลงมาเหมือนในคราวที่แล้วแต่มันก็กลับวิ่งขึ้นไปอีก 3 เซนต์ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นพฤติกรรมที่มันควรจะเป็นไปหากว่าการวิเคราะห์ตลาดของผมมีความถูกต้อง หลังจากนั้นเป็นต้นมาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของมันก็ค่อยๆพัฒนาไปสู่สภาวะที่เราอาจเรียกมันว่าตลาดกระทิงก็เป็นได้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการที่ตลาดจะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างยาวนานนั่นเอง และจากการคำนวณของผมนั้นมันอาจที่จะยืดยาวต่อไปเป็นเวลาอีกหลายเดือนได้เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นผมเองก็ยังไม่สามารถที่จะตระหนักถึงศักยภาพของมันได้อย่างเต็มที่ นั่นทำให้เมื่อผมมีกำไรขึ้นมาราวๆ 25 เซนต์ต่อบุชเชลแล้ว ผมจึงรีบขายมันเพื่อทำกำไรออกมาและได้แต่นั่งดูตลาดวิ่งขึ้นไปต่อถึงอีก 20 เซนต์ภายในเวลาไม่กี่วันเท่านั้น

ในช่วงเวลานั้นเองที่ผมเริ่มตระหนักได้ว่าผมได้ทำความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงขึ้นแล้ว มันมีเหตุผลอะไรที่ผมจะต้องกลัวกับการสูญเสียบางสิ่งที่ผมไม่เคยมีมาก่อนไปด้วยหรือ? ผมวิตกกังวลกับการเปลี่ยนกำไรทางบัญชีให้กลายเป็นเงินสดมากจนเกินไปทั้งๆที่ในช่วงเวลานั้นผมควรจะอดทนอดกลั้นและมีความกล้าที่จะอยู่กับมันจนกว่าทุกอย่างจะจบลง

ดังนั้นแล้วผมจึงตัดสินใจที่จะกลับเข้าไปในตลาดอีกครั้ง ซึ่งในคราวนี้ต้นทุนการซื้อโดยเฉลี่ยของผมจึงสูงกว่าราคาที่เคยได้ขายออกไปอยู่ถึง 25 เซนต์ และนั่นทำให้ผมมีความกล้าที่จะซื้อมันกลับเข้ามาแค่เพียงไม้เดียวเท่านั้นและนั่นคิดเป็นปริมาณเพียง 50% จากที่ผมเคยได้ขายมันออกไป อย่างไรก็ตาม จากนั้นเป็นต้นมาผมก็อยู่กับมันจนสัญญาณอันตรายได้เกิดขึ้น โดยต่อมาในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1925 นั้น ถึงแม้ว่าสัญญาข้าวสาลีในเดือนพฤษภาคม (May Wheat) จะถูกซื้อขายกันในราคาสูงสุดที่ $2.05 ต่อบุชเชล แต่ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์มันก็เกิดการพักตัวลงไปถึงราคา $1.77½ ต่อบุชเชลเลยทีเดียว

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือภายในช่วงเวลาที่ราคาข้าวสาลีกำลังพุ่งขึ้นเป็นอย่างมากนั้น ยังมีสินค้าโภคภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่ได้วิ่งขึ้นมาอย่างรุนแรงไม่แพ้กับตลาดข้าวสาลีเลย และมันก็คือข้าวไรย์ (Rye) นั่นเอง อย่างไรก็ตามตลาดข้าวไรย์นั้นถือเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็กมากๆเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดข้าวสาลี ดังนั้นการส่งคำสั่งซื้อไม้เล็กๆเข้าไปไม่กี่ไม้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มันพุ่งขึ้นไปได้อย่างรุนแรง

แน่นอนว่าในระหว่างที่ผมกำลังเก็งกำไรอยู่ในขณะนั้น ผมมักที่จะเข้าทำการซื้อขายแต่ละครั้งในปริมาณที่มากมายเอาการเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามมันก็ยังมีนักเก็งกำไรคนอื่นๆซึ่งมักซื้อขายในปริมาณที่มากพอๆกับผมอยู่เช่นกัน โดยหนึ่งในนั้นก็คือนักเก็งกำไรผู้ที่หลายๆคนเชื่อกันว่านอกจากสัญญาข้าวสาลีที่เขามีอยู่เป็นล้านๆบุชเชลแล้ว เขาก็ยังได้กวาดซื้อตราสารอนุพันธ์ล่วงหน้าของข้าวไรย์เอาไว้เป็นจำนวนอีกหลายล้านบุชเชลด้วยเช่นกัน และมันก็เป็นไปเพื่อที่จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับการเก็งกำไรในตลาดข้าวสาลีของเขานั่นเอง นอกจากนี้แล้ว มันยังเป็นที่ร่ำลือกันอีกด้วยว่า เขานั้นชอบที่จะใช้ตลาดข้าวไรย์ดันอารมณ์ของตลาดในขณะที่ตลาดข้าวสาลีกำลังเริ่มแกว่งตัวด้วยการวางคำสั่งซื้อข้าวไรย์เป็นจำนวนมากอีกด้วย

อย่างที่ผมได้เคยกล่าวไปแล้ว ตลาดข้าวไรย์นั้นถือเป็นตลาดที่เล็กมากๆเมื่อเปรียบเทียบกัน การจับคู่ของคำสั่งซื้อในปริมาณมากๆมีผลที่จะทำให้มันพุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วในทันที อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของมันที่มีต่อราคาของข้าวสาลีนั้นย่อมถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อไหร่ที่วิธีการเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ในตลาดแล้วล่ะก็ ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักที่จะแห่เข้าไปแย่งซื้อข้าวสาลีจนทำให้ราคาของมันพุ่งทำจุดสูงสุดใหม่ขึ้นไปได้อีกครั้ง

กระบวนการทำราคาเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆจนในที่สุดมันก็มาถึงจุดจบของมัน ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วงเวลานั้นเมื่อราคาของข้าวสาลีเริ่มเกิดการพักตัวลงมาราคาของข้าวไรย์ก็จะปรับตัวอย่างสอดคล้องกันไปด้วย แต่ในวันที่ 28 มกราคา ค.ศ. 1925 หลังจากที่ตลาดข้าวไรย์ได้พักตัวลงมาจากราคาสูงสุดของมันที่ $1.82¼ ไปยังราคา $1.54 ซึ่งคิดเป็นระยะทางเท่ากับ 28¼ เซนต์ ราคาของตลาดข้าวสาลีก็ได้ตกลงมาประมาณ 28⅜ เซนต์เช่นกัน อย่างไรก็ตามในวันที่ 2 มีนาคมนั้น ในขณะที่ราคาของข้าวสาลีได้ได้ฟื้นตัวขึ้นไปอยู่ใต้จุดสูงสุดเดิมของมันราวๆ 3⅞ เซนต์นั้น ราคาของข้าวไรย์ก็กลับไม่เกิดการฟื้นตัวขึ้นเช่นนั้นและมันสามารถวิ่งขึ้นมาได้ถึงที่ราคา $1.70⅛ เท่านั้น ซึ่งนี่ถือว่าราคาของมันอยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิมอยู่ถึง 12⅛ เซนต์เลยทีเดียว

จากการที่ผมได้เฝ้าติดตามตลาดอย่างใกล้ชิดในช่วงเวลานั้น มันทำให้ผมต้องประหลาดใจกับความจริงที่เกิดขึ้นว่ามีบางอย่างกำลังผิดแปลกออกไป เพราะตั้งแต่ที่ตลาดเริ่มกลายเป็นภาวะกระทิงขึ้นมา ราคาของข้าวไรย์ก็มักที่จะเคลื่อนไหวนำราคาของข้าวสาลีอยู่เสมอ แต่ในขณะนี้นั้นแทนที่มันจะยังคงเป็นผู้นำในกลุ่มของตลาดสินค้าธัญพืชอยู่เช่นเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่าทั้งๆที่ราคาของข้าวสาลีได้ฟื้นตัวกลับมาจนเกือบเท่าจุดสูงสุดเดิมแล้ว ราคาของข้าวไรย์ก็ยังคงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้และมันก็ยังอยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิมถึง 12 เซนต์ต่อบุชเชลเลยทีเดียวซึ่งนี่ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่แปลกประหลาดไปจากเดิมเป็นอย่างมาก

จากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เอง ผมจึงได้ทำการวิเคราห์เจาะลึกลงไปว่าเหตุใดราคาของข้าวไรย์จึงไม่สามารถที่จะฟื้นกลับมาได้อย่างสอดคล้องกับราคาของข้าวสาลีเหมือนเช่นเคย ไม่นานนักเหตุผลต่างๆก็ค่อยๆปรากฏออกมา และนั่นก็เป็นเพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่บรรดาสาธารณชนส่วนใหญ่ต้องการก็คือข้าวสาลีไม่ใช่ข้าวไรย์นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ผมเองก็สงสัยขึ้นมาว่าถ้าตลาดไรย์นั้นเป็นตลาดของเขา (ผู้ทำราคา) คนเดียวอยู่แล้ว แล้วด้วยเหตุผลใดจึงทำให้เขาไม่แยแสต่อมันในทันทีเช่นนั้นล่ะ? ซึ่งในที่สุดผมก็ได้ข้อสรุปส่วนตัวออกมาว่าเขาอาจจะไม่มีความสนใจในตลาดข้าวไรย์อีกต่อไปแล้วและอาจทำการขายมันทิ้งออกไปแล้วก็เป็นได้ หรือในอีกกรณีหนึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าเขานั้นพัวพันอยู่กับตลาดทั้งสองแห่งจนมากเกินไปจนเขาไม่เหลือเงินทุนที่จะทำอะไรอีกต่อไปแล้ว

ผมนั้นตัดสินใจได้อย่างทันทีเลยว่า ไม่ว่าเขาจะได้ขายข้าวไรย์ออกไปแล้วหรือไม่ในที่สุดแล้วผลของมันก็คงจะไม่ต่างกัน และนั่นทำให้ผมตัดสินใจที่จะลองทดสอบทฤษฎีของผมในตลาดขึ้นมา

ในขณะนั้นราคาซื้อขายล่าสุดของตลาดข้าวไรย์ได้ตั้งซื้อ (Bid) กันอยู่ที่ $1.69¾ และจากความตั้งใจของผมที่จะรู้ให้ได้ว่าสภาวะที่แท้จริงของตลาดข้าวไรย์เป็นอย่างไร ผมจึงได้สั่งขายชอร์ทมันไป 200,000 บุชเชลด้วยคำสั่งแบบ “ราคาตลาด” (At The Market) โดยก่อนที่คำสั่งขายของผมจะถูกจับคู่จนหมดลงนั้นราคาของข้าวไรย์ก็ได้ตกลงไปราวๆ 3 เซนต์ต่อบุชเชล แต่ภายหลังจากที่คำสั่งของผมถูกจับคู่ได้ประมาณสองนาทีนั้นราคาของข้าวไรย์ก็ได้ฟื้นตัวขึ้นมาที่ $1.68¾ อีกครั้ง

ผมได้ค้นพบข้อเท็จจริงจากผลกระทบของคำสั่งขายชอร์ทของผมว่า ตลาดนั้นไม่มีคำสั่งซื้อรองรับอยู่ด้านล่างมากสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่าจะตลาดจะมีปฎิกิริยาออกมาเช่นไรอีก ผมจึงได้ส่งคำสั่งขายชอร์ทเข้าไปอีก 200,000 บุชเชลซึ่งผลของมันก็ออกมาในรูปแบบเดิม นั่นก็คือราคาของมันร่วงลงไปอีก 3 เซนต์ก่อนที่คำสั่งขายของผมจะถูกจับคู่ได้หมด แต่สิ่งที่แตกต่างไปก็คือหลังจากคำสั่งขายในครั้งนี้เสร็จสิ้นลงก็คือตลาดได้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาแค่เพียง 1 เซนต์เท่านั้น (จากในคราวก่อนที่วิ่งขึ้นมา 2 เซนต์)

ณ เวลานั้นผมเองยังคงไม่ค่อยแน่ใจกับความถูกต้องในการวิเคราะห์ตลาดของผมสักเท่าไหร่อยู่ดี ผมจึงลองส่งคำสั่งขายชอร์ทไปอีกเป็นครั้งที่สามจำนวน 200,000 บุชเชล และแน่นอนว่าตลาดก็ร่วงลงไปอีกครั้ง ผลของมันยังคงออกมาเช่นเดิม แต่ในคราวนี้ราคาของมันไม่ฟื้นตัวกลับขึ้นมาอีกเลยและมันยังคงจมดิ่งลงไปเรื่อยๆด้วยแรงเฉื่อยของตัวมันเอง

นี่คือสัญญาณที่ผมกำลังมองหาและเฝ้ารอคอยอยู่ นั่นก็เพราะหากว่ามีใครบางคนกำลังถือข้าวสาลีอยู่เป็นจำนวนมากในตลาด แต่กลับไม่พยายามที่จะปกป้องตลาดข้าวไรย์ด้วยเหตุผลบางอย่างแล้ว (และแน่นอนว่าผมไม่สนใจหรอกว่าเหตุผลของเขาจะเป็นอย่างไร) ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างมากว่าเขาจะไม่พยายามดันตลาดหรือไม่สามารถที่จะดันตลาดข้าวสาลีต่อไปด้วยอีกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองผมจึงรีบสั่งขายสัญญาข้าวสาลีในเดือนเมษายนที่ “ราคาตลาด” เป็นจำนวน 5,000,000 บุชเชลในทันที มันได้ถูกขายลงไปตั้งแต่ราคา $2.01 ถึง $1.99 ต่อมาในคืนนั้นราคาปิดตลาดของมันก็หยุดที่ประมาณ $1.97 ส่วนราคาของข้าวไรย์นั้นปิดลงที่ $1.65 ผมยินดีที่เห็นคำสั่งขายในส่วนสุดท้ายถูกจับคู่ลงไปในราคาที่ต่ำกว่า $2.00 เป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ระดับราคา $2.00 นั้นคือจุดหมุนของมันเองและตลาดก็แสดงให้เห็นว่ามันได้หลุดทะลุจุดหมุนตรงนั้นลงไปเรียบร้อยแล้ว และนั่นทำให้ผมไม่มีความวิตกกังวลใดๆหลงเหลืออยู่เลยในการเทขายครั้งนั้น

ไม่กี่วันต่อมาผมก็ได้ทำการซื้อคืนสัญญาข้าวไรย์กลับมา (หลังจากที่ได้ขายชอร์ทมันไปเพื่อทดสอบถึงสภาวะของตลาดข้าวสาลี) และผมก็ได้ทำกำไรออกมาราวๆ $250,000 จากการขายชอร์ทข้าวไรย์ในคราวนั้น

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้นผมเองยังคงทยอยขายชอร์ทข้าวสาลีต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดแล้วมันทำให้ผมมีสัญญาขายชอร์ทข้าวสาลีถึง 15,000,000 บุชเชลเลยทีเดียว โดยต่อมาในวันที่ 16 มีนาคมนั้น สัญญาข้าวสาลีได้ทำราคาปิดอยู่ที่ $1.64½ และในช่วงเช้าวันต่อมาที่ตลาดในเมืองลิเวอร์พูลนั้นมันก็ได้เปิดกระโดดลงมาอีกราว 3 เซนต์ซึ่งน่าจะทำให้ราคาเปิดของตลาดที่นี่อยู่ที่ราวๆ $1.61

แต่หลังจากนั้นผมก็ได้ทำในสิ่งที่ประสบการณ์ของผมได้สอนว่าจงอย่าทำมันลงไป นั่นคือการส่งคำสั่งซื้อโดยกำหนดราคาเอาไว้ล่วงหน้าก่อนที่ตลาดจะเปิดทำการซื้อขายขึ้น แต่แล้วในที่สุดอำนาจของตลาดก็ได้อยู่เหนือการตัดสินใจที่ดีของผมไป และผมก็ได้วางคำสั่งซื้อคืนลงไปเป็นจำนวนห้าล้านบุชเชลที่ราคา $1.61 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าราคาปิดตลาดในคืนที่แล้วอยู่ 3½เซนต์ ผลก็คือตลาดได้เปิดอยู่ในช่วงราคา $1.61 ถึง $1.54 นั่นทำให้ในตอนนั้นผมถึงกับบ่นกับตัวเองว่า “ทุกอย่างกำลังไปได้สวยจนแกแหกกฎที่แกไม่ควรแหกเลย” แต่มันก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สัญชาติญาณดิบของคนเราได้อยู่เหนือการตัดสินใจที่ดีไป ผมเองได้คาดการณ์เอาไว้ว่าคำสั่งซื้อของผมคงจะถูกจับคู่ในราคาที่ได้กำหนดเอาไว้ที่ $1.61 ซึ่งถือเป็นระยะสูงสุดของราคาเปิดอย่างแน่นอน

ต่อจากนั้นเมื่อผมเห็นว่าราคาของมันตกลงไปอยู่ที่ $1.54 ผมก็ได้ทำการสั่งซื้อคืนมาอีกห้าล้านบุชเชล และไม่นานนักผมก็ได้รับใบรายงานกลับมาว่า “ซื้อสัญญาข้าวสาลีเดือนพฤษภาคมที่ราคา $1.53”

หลังจากนั้นผมก็ยังสั่งซื้อมันคืนมาอีกห้าล้านบุชเชล และในอีกไม่ถึงนาทีต่อมาใบรายงานก็แจ้งว่า “ซื้อห้าล้านบุชเชลที่ราคา $1.53” มันเป็นราคาที่ผมได้คาดเอาไว้แล้วว่าคำสั่งซื้อครั้งที่สามของผมน่าจะจับคู่ได้ในราคานี้ หลังจากนั้นผมก็ได้ขอใบรายงานของคำสั่งซื้อแรกของผมออกมา และนี่ก็คือสิ่งที่ผมได้รับกลับมา :

“รายงานการซื้อห้าล้านบุชเชลในครั้งแรก คือรายงานการจับคู่ของคำสั่งซื้อครั้งแรกของคุณ”

“รายงานการซื้อห้าล้านบุชเชลในครั้งที่สอง คือรายงานการจับคู่ของคำสั่งซื้อในครั้งที่สองของคุณ”

“สำหรับรายงานการสั่งซื้อในครั้งที่สามของคุณเป็นดังนี้ :

3½ ล้านบุชเชลที่ราคา 1.53

1 ล้านบุชเชลที่ราคา 1.53⅛

500,000 บุชเชลที่ราคา 1.53¼ ”

ภายในวันนั้นราคาข้าวสาลีได้ทำจุดต่ำสุดของมันที่ราคา $1.51 โดยที่ในวันต่อราคาของมันก็ได้วิ่งกลับไปที่ราคา $1.64 และนั่นถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ผมเคยจับคู่คำสั่งได้ในราคาที่ดีมากๆจากการใช้คำสั่งซื้อแบบ “ระบุราคา” (Limit Order) อีกด้วย เพราะทั้งๆที่ผมได้ส่งคำสั่งซื้อข้าวสาลีไปถึงห้าล้านบุชเชลที่ราคาเปิด $1.61 โดยตลาดก็ได้ทำราคาเปิดในราคาที่ผมได้ตั้งซื้อไว้ที่ $1.61 และมันก็ได้ไหลลงมาถึงอีก 7 เซนต์ที่ราคา $1.54 แต่ผมก็ยังจับคู่ได้ที่ราคา $1.53 ซึ่งนั่นหมายถึงความแตกต่างของกำไรเป็นจำนวน $350,000 เลยทีเดียว

ภายในเวลาหลังจากนั้นไม่นานนัก ผมก็ได้มีโอกาสได้เดินทางไปยังเมืองชิคาโกและได้สอบถามกับชายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับคู่คำสั่งซื้อของผมว่าเหตุใดผมจึงสามารถที่จะจับคู่ราคาได้ดีขนาดนั้นจากคำสั่งซื้อแบบ “ระบุราคา” ในคำสั่งแรก เขาได้บอกกับผมว่าเขานั้นบังเอิญรู้มาก่อนหน้านั้นว่าจะมีคำสั่งขายเข้ามาเป็นจำนวนมากถึงสามสิบห้าล้านบุชเชลที่ “ราคาตลาด” และด้วยเหตุผลนี้เองเขาจึงตระหนักได้ว่าถึงแม้ข้าวสาลีจะมีราคาเปิดที่ต่ำสักเท่าไหร่ แต่มันก็ยังจะมีคำสั่งขายเข้ามาในราคาที่ต่ำกว่าราคาเปิดอยู่ดี เขาจึงนั่งคอยให้ตลาดทำระยะของราคาเปิดเสียก่อนแล้วจึงค่อยส่งคำสั่งซื้อของผมเข้าไปที่ “ราคาตลาด” หลังจากนั้น

เขายังกล่าวต่ออีกว่าในวันนั้นหากไม่มีคำสั่งซื้อของผมเข้ามายังห้องค้าแล้วล่ะก็ ตลาดก็คงจะหล่นกระแทกลงไปอย่างแรงมากกว่าเดิมอีกด้วย

ในที่สุดแล้วผลลัพธ์ของการซื้อขายในครั้งนี้ก็ได้ทำกำไรให้กับผมถึงกว่า $3,000,000 เลยทีเดียว นอกจากนั้นแล้ว เรื่องนี้ก็ยังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของคำสั่งขายชอร์ทในตลาดที่มีการเก็งกำไรกันอย่างสูงเป็นอย่างดีอีกด้วย เนื่องจากในที่สุดแล้วคำสั่งขายชอร์ทที่เปิดอยู่ในตลาดก็ต้องกลายมาเป็นการซื้อกลับคืน และแรงซื้อกลับคืนมานี้เองที่จะช่วยทำให้เกิดความมีสเถียรภาพขึ้นในตลาดในขณะที่ตลาดเกิดแตกตื่นขึ้นมานั่นเอง

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้การกระทำในลักษณะที่กล่าวมานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากคณะกรรมการกำกับการซื้อขายของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities Exchange Aministration) ได้ทำการจำกัดปริมาณการซื้อขายในตลาดธัญพืช (Grain Market) ของบัญชีส่วนบุคคลเอาไว้ไม่ให้เกินสองล้านบุชเชลต่อคนเท่านั้น และถึงแม้ว่ามันจะไม่มีกฎที่จำกัดปริมาณการซื้อของแต่ละบุคคลในตลาดหุ้นเอาไว้เช่นนั้น แต่มันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในตลาดหุ้นพอๆกัน เนื่องจากคงไม่มีใครที่จะสามารถทำการสะสมสัญญาชอรท์หุ้นเอาไว้มากขนาดนั้นได้ ซึ่งมันก็เป็นผลมาจากกฎที่ควบคุมการขายชอร์ทหุ้นอยู่นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้เองผมจึงมีความเชื่ออย่างยิ่งว่ายุคทองของนักเก็งกำไรในยุคเก่าๆนั้นได้จบลงไปแล้ว อนาจักรของพวกเขาจะถูกยึดครองโดยเหล่านักเก็งกำไรกึ่งนักลงทุนไป (นักเก็งกำไรระยะกลาง) เพราะบุคคลเหล่านี้คือผู้ที่ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทำเงินก้อนใหญ่จากตลาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็จะสามารถทำกำไรและรักษามันเอาไว้ได้ดีกว่าในระยะยาว นอกจากนี้แล้วผมก็ยังก็ยังเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าอีกด้วยว่า นักเก็งกำไรกึ่งนักลงทุนในอนาคตที่จะมาถึงนั้น จะเป็นผู้ที่ทำการซื้อขายลงไปในช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนทางจิตวิทยาในตลาดเพียงเท่านั้น และในที่สุดแล้วพวกเขาก็จะสามารถทำกำไรออกไปจากตลาดได้มากกว่าผู้ที่มัวแต่จดจ่ออยู่กับเก็งกำไรในระยะสั้นเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

จบบทที่ 7 รอติดตามบทที่ 8 ได้ในบทความต่อไปเร็วๆนี้ หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถ Comment เพื่อสอบถามและพูดคุยกับผมได้เลยนะครับผม

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)