การจัดการความเสี่ยง โดย Ed Seykota (ตอนที่ 2)
หลังจากที่เริ่มมีเพื่อนๆบางท่านที่สนใจและอีเมล์มาคุยเรื่อง Money Management กับผมโดยอยากให้ทำการอัพเดทบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะขึ้น ผมจึงขอนำบทความต่อเนื่องในเรื่องของ Risk Management ตอนที่สองและตอนต่อๆไปมาทยอยลงต่อกันนะครับ หากใครชอบหรือสนใจก็เข้ามาอ่านกันต่อได้เลย สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรก คลิ้กเข้าไปที่ Feature Article หรือดูบทความที่เกี่ยวข้องกันที่ด้านล่างของบทความได้เลยครับ :)
หุ้น บริหารความเสี่ยง Money Management การบริหารเงินทุน
ขนาดของการเดิมพันที่เหมาะสม (Optimal Betting)
จากตัวอย่างของเกมโยนเหรียญที่ผ่านมา เราได้อนุมานว่าเรามีโชคสม่ำเสมอที่ 50% (โยนออกหัว-ก้อยอย่างละครึ่ง) และเรามีอัตราจ่าย หรืออัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยง(Payoff)อยู่ที่ 2:1 โดยที่เราทำการเดิมพันการออกหัวของเหรียญทุกครั้ง โดยหากเราต้องการที่จะจัดการความเสี่ยงให้เหมาะสมนั้น เราต้องเรียนรู้วิธีที่จะบริหารเงินทุนหรือขนาดของการเดิมพันที่เหมาะสมเสียก่อน ซึ่งนี่เป็นปัญหาแบบเดียวกับที่ผู้จัดการกองทุนทั้งหลายต้องพบเจอเช่นกัน ผู้บริหารที่ดีนั้นจะตระหนักเป็นอย่างดีว่า เขาไม่สามารถทำอะไรได้มากมายเกี่ยวกับโชค(Luck)ที่จะเกิดขึ้นกับเขา หรืออัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยง(Payoff)ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เขาจะจัดการเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ได้จริงๆคือการควบคุมเงินเดิมพันในแต่ละครั้งนั่นเอง โดยต่อไปนี้เราจะเริ่มต้นเกมจำลองของเราด้วยเงิน 1000 ดอลลาร์
บริหารความเสี่ยง Money Management การบริหารเงินทุน หุ้น
ลางสังหรณ์ และ ระบบการลงทุน (Hunches and Systems)
วิธีหนึ่งในการที่เราจะตัดสินใจเกี่ยวกับขนาดการเดิมพัน(Bet Size)ในแต่ละครั้งได้นั่นก็คือการใช้ลางสังหรณ์ ยกตัวอย่างเช่นเราอาจใช้ลางสังหรณ์ของเราแล้วเดิมพันลงไปด้วยเงิน 100 ดอลลาร์
ถึงแม้ว่าการตัดสินใจโดยอิงจากลางสังหรณ์ของเราเองนั้นจะเป็นที่นิยมโดยทั่วไป และเป็นสิ่งที่นักพนันส่วนใหญ่ในวงการชอบใช้มัน แต่มันกลับมีปัญหาในการนำมาใช้อยู่หลายอย่าง เช่น ในการตัดสินใจเกี่ยวกับขนาดของการเดิมพันแต่ละครั้งนั้น จะต้องอาศัยความใส่ใจของผู้เล่นในการที่จะได้มาซึ่งลางสังหรณ์ที่ถูกต้อง แล้วจึงนำมาแปลงเป็นขนาดการเดิมพันขึ้นมา และมันก็ยังอิงจากอารมณ์หรือความรู้สึกในขณะนั้นของผู้เล่นมากกว่าที่จะได้มาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ในการที่เราจะก้าวพ้นปัญหาจากการตัดสินใจโดยใช้ลางสังหรณ์ออกมาได้นั้น เราจึงอาจเลือกใช้การตัดสินใจหาขนาดการเดิมพันด้วยระบบแทน(Betting System) โดยคำว่าระบบนั้น ก็คือกระบวนการที่มีตรรกะที่ชัดเจนในการระบุถึงขนาดการเดิมพันที่แน่นอนในทุกๆครั้งออกมา
ประโยชน์ของการหาขนาดการเดิมพันด้วยระบบที่เหนือกว่าการใช้ลางสังหรณ์นั้นมีอยู่หลายปัจจัย เช่น
1)เราไม่จำเป็นต้องใช้ความสามารถของผู้เล่น
2)ขนาดการเดิมพันทุกๆครั้งจะมีสัดส่วนเท่าๆกัน สามารถคาดการณ์ได้และมีความสม่ำเสมอ
3)สำคัญที่สุดก็คือ.. เราสามารถที่จะทำการทดสอบย้อนหลัง(Historical Simulation)ด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับปรุงระบบในการหาขนาดการเดิมพันที่ดีที่สุดออกมาได้นั่นเอง
แต่ถึงแม้ว่ามันจะเป็นที่ยอมรับกันโดยกว้างขวางว่าการใช้ระบบนั้น มีข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าการใช้ลางสังหรณ์อยู่หลายประการก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้จัดการกองทุนน้อยคนนัก ที่สามารถที่จะระบุแนวทางในการจัดการความเสี่ยงได้อย่างชัดเจนจนสามารถที่จะใช้คอมพิวเตอร์ในการทดสอบผลย้อนหลังขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเกมโยนเหรียญของเรานั้น มันเป็นเกมที่มีความเรียบง่ายพอที่เราจะสามารถนึกภาพตาม และหาระบบการเดิมพันที่เหมาะสมกับมันได้โดยไม่ยากเกินไป และที่มากไปกว่านั้นก็คือ เราสามารถที่จะทดสอบระบบของเรา และทำการปรับปรุงตัวแปรของเราเพื่อหาการจัดการความเสี่ยงที่ดีที่สุดออกมาได้อีกด้วย
บริหารความเสี่ยง Money Management การบริหารเงินทุน หุ้น
ขนาดการเดิมพันแบบคงที่(Fixed Bet) และขนาดการเดิมพันแบบสัดส่วนคงที่(Fixed-Fraction Bet)
ระบบการเดิมพันของเรานั้น จะต้องช่วยเราในการหาขนาดการเดิมพันออกมาได้ โดยวิธีหนึ่งที่จะระบุถึงขนาดของมันออกมาให้เป็นรูปธรรมก็คือ การกำหนดขนาดของเงินเท่าๆกันทุกครั้ง เช่น คราวละ 10 ดอลลาร์ ไม่ว่าที่ผ่านมาเราจะมีกำไรหรือขาดทุนมากเท่าไหร่ก็ตาม และนี่คือรูปแบบที่เรียกว่า “ขนาดการเดิมพันแบบคงที่ หรือ Fixed Bet System”
โดยหากว่าเราเลือกที่จะใช้รูปแบบ Fixed Bet System นั้น เงินทุน 1,000 ดอลลาร์ของเรานั้น อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ขนาดการลงทุนแบบ Fixed Bet ของเรานั้นกลายเป็นสัดส่วนที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไปกับเงินทุนของเราที่เหลืออยู่ของเราก็ได้
เพื่อการแก้ไขปัญหาของขนาดการเดิมพันที่อาจไม่เหมาะสมกับเงินทุนที่เหลืออยู่ของเรานั้น เราจึงอาจเลือกที่จะกำหนดขนาดการลงทุนด้วยรูปแบบ “ขนาดการเดิมพันแบบสัดส่วนคงที่ หรือ Fixed-Fraction Bet System” แทน ยกตัวอย่างเช่น หากเรากำหนดขนาดการเดิมพันด้วยรูปแบบ Fixed Fraction ที่ 1% ของเงินทุนนั้น ด้วยเงินทุน 1,000 ดอลลาร์ ขนาดการเดิมพันของเราจะเท่ากับ 10 ดอลลาร์นั่นเอง(1% ของ 1,000) โดยต่อมานั้น ถึงแม้ว่าเงินทุนของเราจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น ขนาดการเดิมพันของเราก็ยังคงที่จะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับเงินทุนที่เหลืออยู่ของเราเช่นเดิม
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง จากการใช้รูปแบบ Fixed-Fraction Betting นั้นก็คือ เมื่อเราขนาดการเดิมพันของเรานั้นเป็นสัดส่วนที่คงที่กับเงินทุนที่เหลืออยู่ของเราตลอดเวลา ในทางทฤษฎีนั้น มันจึงไม่มีความเป็นไปได้ที่เราจะขาดทุนจนหมดตัวไม่เหลือแม้แต่แดงเดียว ดังนั้น เราจึงอาจพูดได้ว่า “ความเสี่ยงของการหมดตัว หรือ Risk of Ruin” ของเรานั้นจึงไม่มีเลย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น ความล้มเหลวอย่างย่อยยับในการลงทุนของเรานั้น มักมีผลมาจากปัจจัยทางจิตวิทยา นั่นก็คือจากระดับความสามารถในการทนต่อการขาดทุนของเราเอง(Uncle Point)เสียมากกว่า
บริหารความเสี่ยง Money Management การบริหารเงินทุน หุ้น
การจำลองและทดสอบขนาดของการเดิมพัน
ในการที่เราจะทำการทดสอบระบบของการเดิมพันของเรานั้น เราสามารถที่จะทดสอบมันได้จากข้อมูลของผลที่เกิดขึ้นในอดีต ยกตัวอย่างเช่น เราได้ทำการโยนเหรียญทั้งหมด 10 ครั้ง และผลที่ออกมาคือ ออกหัว 5 ครั้ง และออกก้อยอีก 5 ครั้ง เราจะสามารถสร้างตารางเปรียบเทียบดังตารางตารางข้างล่างนี้
หุ้น บริหารความเสี่ยง Money Management การบริหารเงินทุน
รูปที่ 2: ผลการทดสอบเปรียบเทียบรูปแบบ Fixed Bet กับรูปแบบ Fixed-Fraction
หุ้น บริหารความเสี่ยง Money Management การบริหารเงินทุน
คุณจะสังเกตได้ว่า ระบบทั้งสองนั้นเกิดกำไรขึ้น 20 ดอลลาร์ในการโยนเหรียญครั้งแรกซึ่งออกหัว โดยในครั้งที่สองนั้นรูปแบบ Fixed bet ขาดทุนไป 10 ดอลลาร์ ในขณะที่รูปแบบ Fixed-Fraction ขาดทุนไปทั้งหมด 1% ของเงินทุน 1,020 ดอลลาร์ หรือเท่ากับ 10.20 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้เหลือเงินทุนอยู่เท่ากับ 1,009.80 ดอลลาร์
และคุณจะเห็นได้อีกว่าผลกำไรของระบบทั้งสองแบบนี้มีความเท่ากันโดยประมาณ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราทำการโยนเหรียญต่อไปเรื่อยๆ รูปแบบ Fixed-Fraction นั้นจะเกิดการเติบโตของเงินทุนในลักษณะของกราฟแบบกระทะหงาย(Exponential) และวิ่งสูงขึ้นไปได้มากกว่ารูปแบบ Fixed Bet ซึ่งมีการเติบโตของเงินทุนในลักษณะเส้นตรง(Linear)อย่างมาก
ข้อสังเกตสุดท้ายก็คือผลการเติบโตของเงินทุนเมื่อจบลงนั้น จะขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของการเกิดหัว-ก้อย โดยไม่เกี่ยวกับว่าลำดับของการเกิดหัว-ก้อยจะเป็นอย่างไร โดยคุณสามารถทำการพิสูจน์มันได้โดยทำการเรียงลำดับใหม่ในกระดาษทดสอบของคุณเอง
บริหารความเสี่ยง Money Management การบริหารเงินทุน หุ้น
สำหรับตอนที่ 2 ของ Risk Management โดย Ed Seykota ก็จบเพียงเท่านี้ครับ จะทยอยลงเรื่อยๆซักอาทิตย์ละครั้งนะครับจะได้ไม่เบื่อกัน เพราะพอเข้าใจดีกว่าเรื่องพวกนี้มันอาจค่อนข้างจะ Dry สักหน่อย แต่หากคิดว่าชอบหรือไม่ชอบ อยากอ่านหรือไม่อยากอ่านต่ออย่างไรก็ฝากความเห็นไว้ได้ครับ ขอบคุณครับแล้วเจอกันใหม่ที่ แมงเม่าคลับ.คอม ครับ :)