เรามักที่จะเชื่อกันลึกๆว่ายิ่งเราพยายามที่จะเล่นแร่แปรธาตุกับตลาดหุ้นมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งที่จะมีโอกาศทำกำไรได้อย่างสมบูรณ์แบบมากเท่านั้น นี่เป็นความเชื่อผิดๆที่ทำให้ใครหลายต่อหลายคนที่ใช้เครื่องมือทางเทคนิค (ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็มีหลักคิดของ Trend Following เป็นพื้นฐาน) พยายามกระโดดไปมาอยู่ในตลาดหุ้นอยู่เสมอ และบ่อยครั้งมันก็มักที่จะทำให้เราต้องสูญเสียมากกว่าที่คิด ซึ่งนั่นก็เพียงเพราะเราเชื่อว่าความพยายามของเราจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นผลกำไรออกมา
ยิ่งเหนื่อยยิ่งกำไร?
ถึงแม้ว่าความสำเร็จหลายอย่างในชีวิตของคนเรานั้นมักที่จะเกิดขึ้นได้จากหยาดเหงื่อและความพยายาม แต่ตลาดหุ้นก็อาจเป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่ความพยายามของคนส่วนใหญ่ก็มักจะต้องกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าโดยเฉพาะเมื่อเราพยายามที่จะทำกำไรในขณะที่ตลาดไม่เอื้ออำนวย เหตุผลก็เนื่องจากตัวแปรหลักของผลกำไรที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ของผู้ที่ใช้กลยุทธ์ Trend Following หรือกลยุทธ์อีกหลายรูปแบบที่กินกำไรจากการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ๆของนั้น … แทบไม่ได้เกิดมาจากความพยายามของเราเลยสักนิดเดียว
ความจริงที่เจ็บปวดที่สุดอย่างหนึ่งในตลาดหุ้นที่คุณควรจะต้องจำเอาไว้ให้ดีก็คือ “ตลาดคือผู้ที่ตัดสินใจที่จะจ่ายกำไรให้คุณ” นั่นก็เพราะเมื่อตลาดย่ำแย่ หุ้นโดยส่วนใหญ่ก็มักที่จะย่ำแย่ตามไปด้วย และเมื่อตลาดดีมันก็มักจะพากันสดใสไปเกือบเสียทั้งหมด ผลก็คือไม่ว่าคุณจะซื้อหุ้นตัวไหนหรือคิดว่าหุ้นตัวนั้นๆดีสักเท่าไหร่ในตลาดขาลง มันก็มักจะไม่เกิดปาฏิหารย์ขึ้นมาสักเท่าไหร่นัก ในทางกลับกันไม่ว่าคุณจะซื้อหุ้นตัวไหนในตลาดขาขึ้นมันก็มักที่จะให้กำไรกับเราคืนมา นั่นจึงทำให้เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่ากำไรของคุณนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับมุมมองที่คนส่วนใหญ่มีต่อตลาด
ผลกำไรและสภาพตลาด
ตารางด้านบนคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่าตลาดคือผู้จ่ายผลกำไรให้คุณอย่างชัดเจน ผมได้นำเอาลักษณะของผลตอบแทนของ SET index (แท่งสีฟ้า) และผลตอบแทนจากระบบ Turtle System 2 (แท่งสีแดง) ซึ่งถือเป็นตัวแทนของระบบ Trend Following ในตลาดเนื่องจากความเป็นสากลของมัน โดยถึงแม้ว่าระบบ Turtle2 นี้จะสามารถทำกำไรทบต้นหรือ CAGR ตลอด 21 ปีที่ผ่านมาได้ถึงราวๆ 26% ต่อปี แต่คุณนั้นจะเห็นได้ว่าภายใน 21 ปีที่ผ่านมานั้น มีเพียง 4 ปีหรือคิดเป็นโอกาศราวๆ 1 ใน 5 เท่านั้นที่ผลกำไรของพวกมันวิ่งไปคนละทางกัน (ตลาดวิ่งลงระบบวิ่งขึ้น) นั่นแปลว่าไม่ว่าระบบส่วนใหญ่จะดีสักเท่าไหร่แต่ผลกำไรของมันก็ยังจะอิงอยู่กับสภาพตลาดในขณะนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
ถ้าเช่นนั้นจะใช้หลักการลงทุนแบบ Trend Follwing ไปเพื่ออะไร?
คำตอบที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ Magnitude หรือขนาดของผลกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นนั่นเอง โดยเราจะสังเกตุได้ว่าในปีที่ขาดทุนนั้นระบบจะให้ผลการขาดทุนหรือ Drawdown ที่น้อยกว่าตลาด แต่ในขณะเดียวกันสำหรับปีที่ดัชนีตลาดมีผลตอบแทนเป็นบวกนั้นระบบก็จะให้ผลกำไรที่มากกว่าเช่นเดียวกัน นี่จึงทำให้ผลกำไรในระยะยาวของมันดีกว่าผลตอบแทนของตลาดนั่นเอง
ไม่มีจอกศักดิ์สิทธิ์ในตลาดหุ้น ยกเว้นก็แต่นิยายปรัมปรา (No Holy Grail But A Fairy Tale!)
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ก็คือตลาดหุ้นนั้นมักจะมีเรื่องเล่าอยู่มากมาย และส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคำกล่าวที่เกินจริง โดยถึงแม้ว่าผมมักจะเป็นคนที่สนับสนุนการเล่นหุ้นอย่างเป็นระบบ (โดยเฉพาะในรูปแบบของ Trend Following) แต่ผมก็ไม่อยากที่จะให้หลายๆคนนั้นคาดหวังถึงลักษณะของผลตอบแทนที่เกินกว่าความเป็นจริงไปสักเท่าไหร่นัก ซึ่งแน่นอนว่าผลตอบแทนขั้นเทพเหล่านั้นมันก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่นั่นก็เป็นความน่าจะเป็นเพียงส่วนน้อยและเกิดขึ้นไม่บ่อยสักเท่าไหร่นัก และผมก็เชื่อว่าหน้าที่ของนักเล่นหุ้นอย่างหนึ่งก็คือการคาดหวังในสิ่งที่เลวร้ายเอาไว้อยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ข่าวดีอย่างหนึ่งก็คือถึงแม้ว่าเราอาจไม่สามารถที่จะใช้ความพยายามของเราเพื่อบังคับให้ตลาดคายผลกำไรที่มหาศาลในทุกๆปีตามที่เราต้องการออกมาได้สักเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถที่จะปรับตัวให้สอดคล้องไปกับมันได้อยู่เช่นกัน และนั่นก็คือเหตุผลที่หลักการของ Trend Following ยังสามารถยืนหยัดอยู่มาได้จนถึงปัจจุบันนั่นเอง
จำไว้ว่าการทำกำไรเป็น 100% ทุกๆปีอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่คุณก็ควรต้องอยู่กับความเป็นจริงด้วยเช่นกัน นั่นก็คือการยอมรับต่อผลกำไรที่เกิดขึ้นตามจังหวะที่มันเป็นไปและอยู่รอดให้ได้ในช่วงที่ตลาดไม่เอื้ออำนวยนั่นเอง ขอให้โชคดีและคาดหวังในสิ่งที่เป็นจริงของตลาดหุ้นครับ