fbpx
วิธีการเล่นหุ้นและวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค

กับดักของรายละเอียดในตลาดหุ้น

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

หลังจากที่ผมเคยได้พูดอยู่บ่อยๆรวมถึงได้เขียนบทความ “เหตุใดระบบการลงทุนของคุณจึงควรง่ายเข้าไว้?” ผ่านมาสัก 2 ปีเห็นจะได้ หลังๆมานี้ก็เห็นหลายๆคนเริ่มมีความเข้าใจถึงข้อดีของความง่ายของระบบกันมากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ยังมีคนที่สงสัยและติดใจว่าเราไม่จำเป็นต้องสนใจปัจจัยอื่นๆอีกมากมายด้วยจริงๆหรือ? วันนี้เลยขอกลับมาเขียนภาคต่อของบทความนี้ เพื่อให้หลายๆคนที่ยังไม่คุ้นกับการวิจัยตลาด หรือทดสอบระบบการลงทุนได้เห็นภาพกันชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

ความเดิมตอนที่แล้ว

ในบทความภาคแรกนั้นผมได้พยายามชี้ให้เห็นไปแล้วว่าสูตรวิเคราะห์ที่พิสดารหรือการเพิ่ม Indicator เป็นกระบุงเข้าไปในระบบของคุณเพื่อการ Confirm นั้นมักไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาสักเท่าไหร่ นั่นก็เพราะสิ่งที่คุณทำเป็นเพียงการจับรายละเอียดของราคาหุ้นมากจนเกินไป (Overfitting) จนทำให้ผลกำไรที่ได้มาจากการทดสอบระบบเป็นเพียงภาพลวงตาที่เกิดขึ้นจากการที่ระบบบังเอิญไปลงรอยกับรายละเอียดปลีกย่อยหรือ Noise ในข้อมูล ซึ่งไม่มีคุณค่าในการพยากรณ์ถึงการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจริงๆออกมา

ผมเองเชื่อว่าสำหรับคนที่เคยได้ทำการวิจัยตลาดหรือ Backtest ระบบมาแล้วอย่างโชกโชนคงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจหรือเข้าใจได้ยากอะไรนัก อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่พึ่งเริ่มศึกษาการสร้างและทดสอบระบบการลงทุน รวมถึงคนที่ยังไม่เคยได้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับกระบวนการตรงนี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ … แต่ยังไม่เห็นภาพกันอย่างชัดเจนสักเท่าไหร่นัก ดังนั้นในวันนี้ผมจะแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างและผลกระทบจากการที่คุณมัวแต่ไปจับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของราคาหุ้นกันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

สถานการณ์สมมติ

เพื่อที่จะแสดงตัวอย่างให้พวกเราได้เห็นภาพกันอย่างชัดเจนนั้น ผมจะขอสมมติสถานการณ์สุดฮิตต่อจากในบทความที่แล้ว ซึ่งถือเป็นตัวแทนของความเม่าและหลงผิดในการทำการ Backtesting ขึ้นมาสักเล็กน้อย

โดยสมมติว่าหลังจากในบทความที่แล้วนั้นนายเม่าได้กลับไปศึกษาหลักการวิเคราะห์ทางเทคนิคเพิ่มเติมมาอีกสักพักหนึ่ง เขาได้เรียนรู้รูปแบบการเคลื่อนไหวของราคา (Price Pattern) รวมถึง Indicator ต่างๆมาเพิ่มเติมอีกพอสมควร เขาได้ค้นพบจากคำแนะนำว่าการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น (Price Action) คือสิ่งที่มีการตอบสนองอย่างไวที่สุดต่อการเคลื่อนไหวของตลาด แต่ต้องใช้ Indicator ต่างๆช่วยยืนยัน และการใช้ Idicator ต่างๆนั้นจะใช้แบบมั่วๆก็ไม่ได้ เพราะ Indicator แต่ละประเภทแต่ละตัวนั้นจะมีประโยชน์ที่แตกต่างกันไป การใช้ Indicator ซ้ำซ้อนกันก็อาจไม่ช่วยอะไร ดังนั้นเขาจึงควรที่จะเลือกใช้ Indicator แต่ละชนิดประกอบกันเพื่อทำให้การวิเคราะห์นั้นสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น

Indicators Types

ภาพที่ 1: ชนิดของ Indicator แบ่งตามลักษณะของการวัด (Credit-Futuresmag.com)

สำหรับเรื่องของ Indicator นั้น นายเม่าได้เรียนรู้มาว่า Indicator นั้นมีอยู่ 4 ชนิดใหญ่ๆ แต่ละชนิดประกอบไปด้วย Indicator เป็นร้อยๆตัว เขาจึงตัดสินใจที่จะนำ Indicator ยอดฮิตที่ดูจะมี Logic ในการออกแบบที่ดูเข้าท่ามาอย่างละตัวสองตัว เพื่อที่จะใช้ประกอบการวิเคราะห์ราคาหุ้นของเขา

ทฤษฎีของนายเม่า

หลังจากที่เขาได้คาดการณ์ถึงชุดรวม Frame work ของ Indicator ที่น่าจะตอบโจทย์การหาจังหวะในการซื้อขายหุ้นของเขาได้แล้วนั้น นายเม่าได้ทำการบ้านอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ความคิดของเขาโดยการเปิดกราฟหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงๆแต่ละตัวเพื่อสังเกตุออกมาว่าก่อนที่มันจะวิ่งขึ้นไปนั้น Indicator ต่างๆนั้นมีลักษณะการอย่างไรกัน (ในสถานการณ์นี้ผมจะสมมติว่านายเม่าพยายามจะใช้กราฟช่วยหาจังหวะและเลือกหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนสูงๆ) และในที่สุดหลังจากการนั่งมองกราฟหุ้นตัวจี้ดๆแทบจะทั้งตลาดเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว เขาก็ได้จดบันทึกสิ่งต่างๆที่น่าจะเป็นปัจจัยร่วมของพวกมันไว้ แล้วก็ได้ข้อสรุปคร่าวๆออกมาดังนี้

Rules&Filter Buy Signal
Trigger
ราคาสูงสุดระหว่างวัน (High) ทะลุแนวต้าน 50 วันที่ผ่านมา
Trend
เส้น MA 20 วันต้องอยู่เหนือเส้น MA 100 วัน
Momentum
หุ้นต้องมีค่า ADX(14) มากกว่า 30 ขึ้นไป
RSI(14) ต้องมีค่าน้อยกว่า 75 เพื่อป้องกันการเข้าซื้อหุ้นในเขต Overbought
Volatility
ความผันผวนในวันที่เกิดสัญญาณ ATR(1) ต้องน้อยกว่า 3 เท่าของความผันผวนเฉลี่ยใน 20 วันที่ผ่านมา
Volume
ปริมาณการซื้อขายในวันที่เกิดสัญญาณต้องสูงขึ้นมากกว่าตลอดช่วง 50 วันที่ผ่านมา
ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยภายใน 10 วันต้องมากกว่าปริมาณการซื้อขายใน 20 วันที่ผ่านมา 
Liquidity
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันย้อนหลัง 20 วัน (1 เดือน) ต้องมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป
Universe
หุ้นต้องอยู่ใน SET100 index เท่านั้นเพื่อที่จะให้หุ้นมีพื้นฐานในระดับหนึ่ง
Rules&Filter Buy Signal
Trigger
ราคาต่ำสุดระหว่างวัน (Low) ทะลุแนวรับ 20 วันที่ผ่านมา

ภาพในด้านล่างนี้ก็คือหุ้นหนึ่งในดวงใจตัวหนึ่งที่นายเม่าเชื่อว่า Character ของมันสามารถที่จะนำไปสู่หุ้นที่จะให้ผลตอบแทนสุดยอดๆตัวต่อไปได้อีกเรื่อยๆ

CK

ภาพที่ 2 : หุ้นในดวงใจจากการค้นคว้าสังเกตุกราฟราคาและ Indicator ต่างๆย้อนหลังในช่วงที่พึ่งผ่านมา

(ความซับซ้อนของระบบอยู่ในระดับปานกลาง สังเกตจากที่คุณจะรู้สึกว่าดูกราฟแล้วไม่ปวดตับเท่าไหร่)

ผลลัพท์ของความพยายาม

ในคราวนี้เราจะมาดูกันต่อว่าหลังจากที่คุณเม่าได้สร้างสูตรเด็ดของเขาขึ้นมาเรียบร้อยแล้วนั้น ผลลัพธ์ของมันจะเป็นอย่างไรกันบ้าง โดยผมจะขอสมมติต่อไปอีกหน่อยว่าเขามีเพื่อนชื่อนายเมพ ซึ่งพอที่จะทำการ Backtesting เป็นบ้างแบบงูๆปลาๆแต่ก็มีน้ำใจเพียงพอที่จะช่วยเพื่อนโดยไม่คิดอะไร และนี่ก็คือผลลัพธ์การ Backtest ที่นายเมพทดสอบให้กับนายเม่าย้อนหลังไปประมาณ 1 ปี (ผมขอสมมติระยะเวลาเพียงเท่านี้เพื่อให้คล้ายกับสถานการณ์จริงที่หลายๆคนยังทำการ Backtesting ไม่ค่อยเป็น ดังนั้นจึงต้องกะจากความรู้สึกหรือทำบัญชีย้อนหลังด้วยมือตัวเอง)

image


System Profits CAR MaxSysDD CAR/MDD %Win %Loss #Trades
Mao’s Theoty 514411.12
(51.44%)
51.61% -117271.20
(-7.20%)
7.16 13
(86.67%)
2
(13.33%)
15
SET Returns 373526.06
(37.47%)
37.47% 112031.44
(-7.97%)
4.7 N/A N/A N/A

ภาพที่ 3 : ลักษณะการเติบโตของเงินทุนและค่าอัตราส่วนสำคัญของระบบ

ระหว่าง 1/6/2012 – 1/6/2013 (In-Sample Performance)

ในที่สุดแล้วเมื่อผลการ Backtest ออกมานายเม่าก็ต้องถึงกับตะโกนออกมาว่า What a Crap!! นั่นก็เพราะผลลัพธ์ของมันดูเป็นที่น่าพอใจสำหรับนายเม่าเป็นอย่างมาก และมันยังสามารถเอาชนะผลตอบแทนจากดัชนี SET Index ที่่ 37.47% ได้อย่างขาดลอย โดยเขาพบว่าจากสัญญาณซื้อขายที่เขาได้ค้นคว้ามานั้น หากเทรดคราวละ 10% ของพอร์ท (แบ่งเงินเป็น 10 กอง) จะให้ผลกำไรในปีที่ผ่านมาถึงกว่า 51% โดยมี Maximum Drawdown เพียง –7.2% เท่านั้น นี่คิดเป็นค่า Reward to Risk (MAR Ratio) ที่กว่า 7.16 เท่าเลยทีเดียว นอกจากนี้อัตราความแม่นยำหรือ %Win ยังสูงมากๆถึง 86.67% อีกด้วย ตัวเลขเหล่านี้ทำให้นายเม่ามีความสุขและภูมิใจกับผลการค้นคว้าของเขาเอามากๆ เพราะนี่หมายถึงว่าความ โค-ตะ-ระ รวยกำลังจะตกอยู่ในมือของเขาในไม่ช้า!

กับดักของรายละเอียดในตลาดหุ้น (Overfitting Effect)

คำถามก็คือคุณคิดว่าผลการลงทุนของนายเม่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร, เขาจะสามารถร่ำรวยจากระบบการลงทุนของเขาอย่างมหาศาลได้หรือไม่, และระบบการลงทุนที่เขาออกแบบนั้นมีประสิทธิภาพสักแค่ไหน?

คำถามเหล่านี้สามารถตอบสั้นๆคำเดียวได้เลยครับว่า เขามีโอกาสสูงมากๆที่จะต้องผิดหวังจากความคาดหวังที่สูงจนเกินไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงผลจากการพยายามสร้างเงื่อนไขบางอย่างขึ้นกับข้อมูล In-Sample Data ที่คุณได้เห็นรายละเอียดของมันไปแล้ว … ซึ่งมันก็คือสิ่งที่เรียกว่ากับดักของรายละเอียดหรือ Overfitting Effect นั่นเอง

เพื่อที่จะให้คุณได้เห็นถึงความหมายของสิ่งที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นั้น ในภาพและตารางด้านล่างนี้คือผลลัพธ์เมื่อผมเอาระบบของนายเม่าไปทำการทดสอบกับฐานข้อมูลที่อยู่นอกเหนือจากฐานข้อมูลเดิม (Out of Sample) โดยในคราวนี้ผมจะใช้ฐานข้อมูลในช่วงที่ไม่ซ้อนทับกับช่วงเวลาที่พึ่งผ่านมา นั่นก็คือตั้งแต่วันที่ 1/6/2000 – 1/6/2012 ซึ่งกินเวลา 12 ปีโดยประมาณ และนี่ก็คือผลลัพธ์ที่ออกมาครับ

image


System Profits CAR MaxSysDD CAR/MDD %Win %Loss #Trades
Mao’s Theoty 2078775.57
(207.88%)
9.83% 604234.84
(-22.54%)
0.44 55 (43.31%) 72 (56.69%) 127
SET Returns 1091124.14
(109.11%)
6.34% 1082721.46
(-58.02%)
0.11 N/A N/A N/A

ภาพที่ 4 : ลักษณะการเติบโตของเงินทุนและค่าอัตราส่วนสำคัญของระบบ

ระหว่าง 1/1/2000 – 1/1/2012 Out of Sample Performance

จากภาพที่เห็นนั้น สำหรับคนทั่วๆไปแล้วในแว่บแรกก็อาจจะรู้สึกว่า … “ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรนี่นา! เพราะผลตอบแทนก็ยังชนะ SET Index อยู่ดี” แต่นี่แหละครับที่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมจึงเรียกมันว่า “กับดัก” นั่นก็เพราะมันมักจะหลอกตาคนที่เข้าใจผลลัพธ์ของมันอย่างผิวเผินเสมอ

หากคุณสังเกตให้ดีคุณจะพบว่าผลลัพธ์การ Backtest ระบบในส่วนที่อยู่นอกเหนือข้อมูลเดิมนั้น (Out of Sample) มีความผิดเพี้ยนไปจากผลลัพธ์จากผลการทดสอบในฐานข้อมูลที่ใช้วิจัยอยู่พอสมควร (In-Sample Data) โดยในกรณีนี้ในเบื้องต้นเราจะพบว่าอย่างน้อยที่สุดแล้ว ผลกำไรต่อปีหรือ CAR กลับลดลงเหลือแค่เพียงที่ 9.83% จากเดิมที่ 51.61% ต่อปี ส่วนค่า %Win ของระบบก็กลับลดลงมาเหลืออยู่ที่ 43.31% จากเดิมที่ 86.67% เท่านั้น

อันที่จริงแล้วสาเหตุที่ทำให้ผลลัพธ์จากระบบในข้อมูล Out of Sample นั้นผิดเพี้ยนไปจากข้อมูลใน In-Sample Data ที่เราใช้ทดสอบในคราวแรกนั้นมีมาได้จากหลายประการ (เช่น Data Mining Bias, Crime of Small Numbers, Backtesting Time Window, System Complexity … etc. ซึ่งวันหลังมีโอกาสจะเขียนให้อ่านแบบละเอียดๆอีกทีครับ) อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นนี้ เราจะสังเกตได้เลยว่านายเม่านั้นตกเป็นเหยื่อของตลาดด้วยสาเหตุหลักๆก็คือ

1. ความหลงผิดจากจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่น้อยเกินไป (Crime of Small Numbers) ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าผลลัพธ์จากการ Backtest ใน In-Sample Data รอบแรกนั้น เขามีจำนวนผลการเทรดอยู่เพียง 15 ครั้งเท่านั้นจากการที่มีเงื่อนไขในการ Entry เข้มงวดเกินไปรวมถึงกำหนดระยะเวลาในการ Backtest สั้นเกินไป ซึ่งในทางสถิติแล้วจำนวนการเทรดที่เขามีนั้นถือว่าน้อยเกินไปเป็นอย่างมากในการที่จะสามารถสรุปผลลัพธ์ของระบบในอนาคตได้ (น้อยเกินไปที่เราจะสรุปลักษณะของ Population จาก Sample ที่เรามี)

2. ความหลงผิดจากสภาวะตลาดในช่วงที่ทำการ Backtest (Backtesting Time Window) โดยเราจะเห็นได้ว่านายเม่ามีสายตาที่สั้นจนเกินไป เขาหลงผิดโดยการนำเอาผลลัพธ์จากเฉพาะช่วยเวลาที่ตลาดเป็นขาขึ้นมาสรุปผล ซึ่งผลการทดสอบไม่ได้ครอบคลุมไปถึงช่วงเวลาที่ตลาดเป็นช่วงออกข้าง (Sideway) และเป็นขาลง เข้ามาอยู่ในการทดสอบ

3. ความหลงผิดจากการจับรายละเอียดของตลาดมากจนเกินไป (Overfitting) ในข้อสุดท้ายนี้ผมกำลังจะทำให้พวกเราได้เห็นว่าด้วยความเชื่อของนายเม่าที่ว่ายิ่งระบบซับซ้อนมากเท่าไหร่ หรือยิ่ง Indicator ต่างๆยืนยันกันมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ก็น่าที่จะดีขึ้นเท่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่จริงเสมอไป! โดยขอให้พิจารณาจากภาพและตารางด้านล่างนี้อีกครั้งหนึ่ง

image


System Filters Exclude #Entry Rules Profits CAR MaxSysDD CAR/MDD %Win %Loss #Trades
Mao’s Theoty All 9 207.88% 9.83% -22.54% 0.44 43.31% 56.69% 127
System 1 No
Volume,
Volatility
6 1187.35% 23.74% -26.46% 0.9 46.87% 53.13% 335
System 2 No Volume,
Volatility,
Momentum
4 2038.48% 29.09% -24.09% 1.21 48.66% 51.34% 374
System 3 No Volume,
Volatility,Momentum,
Trend,Universe
2 689.61% 18.80% -39.38% 0.64 43.50% 56.50% 469
SET Returns None N/A 109.11% 6.34% -58.02% 0.11 N/A N/A N/A

ภาพที่ 4 : เปรียบเทียบลักษณะการเติบโตของเงินทุนและค่าอัตราส่วนสำคัญของระบบต่างๆ

ระหว่าง 1/1/2000 – 1/1/2012 Out of Sample Performance

จากภาพและตารางด้านบนนั้น คุณจะเห็นได้ว่าความเชื่อของนายเม่ารวมถึงคนส่วนใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่จริงเสมอไป และในหลายๆกรณีแล้วถือเป็นสิ่งที่ผิดได้เลยด้วยซ้ำ! เราจะเห็นได้ว่าระบบผลจากการตัดเงื่อนไขตัวแปรหรือ Indicator ต่างๆทิ้งไปบ้างนั้นส่งผลอย่าง … มหาศาล!!

จากตัวอย่างที่ผมได้ทำการทดสอบระบบในข้อมูล Out of Sample ให้ดูนั้น คุณจะเห็นว่าการลดระดับเงื่อนไขหรือระดับความเรื่องมากในการเข้าซื้อจาก 9 กฏลงมาเหลือเพียงแค่ 4 กฏนั้น (# Entry Rules) ส่งผลให้ผลตอบแทน CAR, Max System Drawdown และค่า MAR Ratio (CAR/MDD) จากระบบอยู่ในระดับที่ดีที่สุด นั่นก็เพราะมันเพียงพอแล้วกับการจับภาพใหญ่หรือคุณลักษณะร่วมที่แท้จริงของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น โดยที่ไม่ไปเข้มงวดจนเบียดเบียนให้ประสิทธิภาพของระบบลดลงนั่นเอง

คุณต้องเข้าใจว่าถึงแม้ตลาดหุ้นนั้นมักที่จะซ้ำรอยในภาพใหญ่ แต่ตลาดนั้นมักมีรายละเอียดปลีกย่อยหรือ “เปลือก” ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ระบบหรือกลยุทธ์การลงทุนที่ใส่ใจในรายละเอียดหยุมหยิมเล็กน้อยมากเกินไปมักที่จะทำให้คุณหลงผิดจับเอา Noise ของราคาหุ้นมาอยู่ในระบบและแผนการของคุณเอาไว้ สิ่งนี้เองส่งผลให้เมื่อตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดของมันไปตามช่วงเวลา ระบบซึ่งมีกฏเข้มงวดมากเกินไปจะไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ และจะค่อยๆตายลงหากว่ามันไม่มีกฏที่สามารถจะจับเอาแก่นสารของตลาดเอาไว้ได้จริงๆ

ในทางกลับกันแล้วคุณจะเห็นได้ว่าระบบที่ไม่เข้มงวดเลยนั้นก็อาจส่งผลเสียให้กับคุณได้เช่นกัน โดยในกรณีนี้นั้นคุณจะพบว่าเมื่อตัดเงื่อนไขการ Entry เข้าทำเหลือเพียง 2 ตัว ระบบ System 3 กลับให้ Performance ที่ลดลงจาก System 2 นั่นก็เพราะมันได้ทำการตัดเอากฏซึ่งสำคัญกับระบบออกไป โดยตัดเอาส่วนของ Long Term Trend Filter ซึ่งก็คือการที่เส้น MA 20 วันต้องอยู่เหนือเส้น MA 100 วัน เพื่อให้ระบบเล่นเฉพาะสัญญาณที่เกิดขึ้นในแนวโน้มขาขึ้นใหญ่เท่านั้น นอกจากนี้แล้วระบบยังตัดส่วนของการเลือกสรรค์ Trading Universe หรือตะกร้ากรองหุ้นของระบบออกไปอีกด้วย

image

ภาพที่ 5 : เปรียบเทียบค่า MAR Ratio (CAR/MDD) จากระบบต่างๆซึ่งทำให้เห็นผลลัพธ์ของการ Underfit, Optimal Fit และ Overfit ระบบการลงทุนกับฐานข้อมูล

อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าทุกระบบไม่ว่าจะ Underfit, Optimal Fit หรือ Overfit ก็ยังสามารถที่จะเอาชนะผลตอบแทนแบบ Buy & Hold ของ SET Index ซึ่งเป็น Benchmark เปรียบเทียบของเราได้อยู่พอสมควร สาเหตุก็เพราะอย่างน้อยที่สุดแล้ว ตัวแก่น Channel Breakout ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของระบบก็ยังมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะนำพาให้ทุกระบบสามารถทำกำไรชนะตลาดได้ นอกจากนี้แล้วข้อสังเกตที่ผมอยากจะฝากเอาไว้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเข้าใจที่ว่า “สุดท้ายแล้วตลาดหุ้นจะขึ้นในระยะยาว” ก็อาจไม่ใช่สุภาษิตแบบ Safe Heaven อย่างที่หลายคนคิด เพราะสิ่งที่ค่า MAR Ratio ได้บอกกับเราก็คือคุณต้องแบกรับต้นทุนความเสี่ยงของ Drawdown เพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนที่สูงมากๆอยู่ที่ 0.11 เท่าหรือพูดง่ายๆก็คือหากคุณดันเข้ามาติดอยู่บนยอดดอยพอดี คุณอาจต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยถึง 7 ปีในการที่จะกลับมาคืนทุนเลยทีเดียว ดังนั้นแล้วคำว่าระยะยาวจึงอาจจะยาวนานมากกว่าที่คุณคิด และนั่นก็มักจะทำให้หลายๆคนทนไม่ไหวยอมแพ้ไปเลยเสียด้วยซ้ำ

ความเรียบง่ายคือคำตอบในเชิงปฏิบัติ

เอาล่ะครับสำหรับวันนี้ผมก็ขอจบบทความเพียงเท่านี้ก่อนที่จะยาวเกินไป แถมท้ายสำหรับคนที่สงสัยว่าแล้วเราจะพอมีวิธีไหมในการที่จะทดสอบความเสถียรและความ Overfit ของระบบการลงทุน? คำตอบสั้นๆก็คือมี! ด้วยการทำ Robustness Test เพียงแต่อาจต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ, เวลา, ความพยายาม และการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมบางอย่างเพิ่มเติมอีกสักหน่อยก็จะสามารถทำได้ครับ (วันหลังเดี๋ยวจะเขียนให้อ่านต่อครับ)  แต่ในเบื้องต้นนี้ก็หวังว่าทุกคนจะได้เข้าใจและเห็นภาพว่าอัตรายของการ Overfitting ระบบเป็นอย่างไร และทำไมความเรียบง่ายจึงมีเสน่ห์ของมันในตลาดหุ้นที่มีรายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา อย่าหลงผิดติดกับดักของการที่ว่าคุณต้องรอให้ทุกอย่างมันยืนยันกันเสมอ เพราะสุดท้ายแล้วคำตอบของคุณจะตกอยู่กับเงื่อนไขที่เกิดขึ้นได้ช้าและยากที่สุดแต่อาจไม่จำเป็นที่สุดก็ได้

คุณคงจะได้เห็นกันแล้วว่าความเรียบง่ายไม่ใช่เพียงแค่คำที่มีไว้พูดเท่ห์ๆเท่านั้น แต่มันคือคำตอบในเชิงปฏิบัติในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้แล้วผมยังอยากให้หลายๆคนลองคิดดูอีกมุมหนึ่งว่า ความจริงแล้วตัวแปรเงื่อนไขหรือ Indicator ที่เราใช้ในการตัดสินใจนั้น ยิ่งน้อยแล้วยิ่งได้ผลมากก็ยิ่งดี เพราะมันหมายถึงว่ามันมีประสิทธิภาพในตัวของมันเองจริงๆ ถ้าระบบของเราจะต้องใช้เงื่อนไขหรือ Indicator เยอะเป็นสิบๆตัวก็โยนมันทิ้งไปบ้างเถอะครับ เพราะนั่นแปลว่ามันแทบไม่มีมูลค่าอะไรเลยด้วยตัวของมันเองเลย มิหนำซ้ำยังอาจไปจับเอาพวกสัญญาณขยะหรือ Noise ใน Data Set  แล้วหลงผิดคิดว่าเป็นทองไปก็ได้ครับ!

ปล.1 ระบบต่างๆที่นำมาทดสอบมีจุดประสงค์เพียงเพื่ออธิบายถึง Overfitting Effect ในระดับจำนวนของกฏการลงทุนเท่านั้น ผมจึงตัดปัจจัยในเรื่องของการ Optimization และ Money Management ออกไป คุณจึงไม่ควรนำไปใช้โดยไม่รู้และเข้าใจ Profile ในเชิงลึกของระบบเด็ดขาด นอกจากนี้แล้วบางท่านอาจสงสัยว่าผมใช้ Universe เป็น SET100 จะเหมาะสมหรือไม่เพราะตัวหุ้นที่อยู่ใน SET100 เปลี่ยนไปทุกๆปี ในกรณีนี้นั้นผมต้องขอบอกว่าผมใช้เพื่อเป็นตัวอย่างง่ายๆเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงถึงแม้หุ้นใน SET100 จะวนไปวนมา แต่เราก็ควรที่จะมีเงื่อนไขบางอย่างที่กำหนดขึ้นมาเพื่อสร้าง Trading Universe ของเราเองครับ

ปล.2 หลายคนสงสัยว่าการ Curve-Fitting ต่างกับคำว่า Over-Fitting หรือไม่อย่างไร? คำตอบก็คือคำว่า Curve-Fitting นั้นเป็นศัพท์ที่มักใช้เกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองหรือสมการถดถอยที่ไม่เป็นเชิงเส้น (Non-linear Regression) เพื่อหา Series ที่ Fit กับ Data Points ในฐานข้อมูลที่สุด ส่วนคำว่า Over-fitting นั้นเป็นคำที่เกิดมาจากวิชาสถิติสาขา Machine Learning ซึ่งหมายความว่าระบบนั้นมีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์หาปัจจัยร่วมที่ค่อนข้างแย่ (Generalize Poorly) นอกจากนี้แล้วมันยังสามารถมีความหมายในทางตรงข้ามเช่น Underfitting และ Optimal fit หรือ Good fit ได้อีกด้วย ดังนั้นคำว่า Overfitting จึงเหมาะสมที่จะใช้กับการสร้างระบบการลงทุนมากกว่าคำว่า Curve-fitting นั่นเอง

แมงเม่าคลับ.คอม หนังสือหุ้นน่าอ่าน, วิธีการเล่นหุ้น, การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค, จิตวิทยาการลงทุน และการบริหารเงินทุน Money Management

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)