ในบางครั้งแล้วการพยายามวิ่งไปในทิศทางเดิมๆนั้นก็อาจไม่เป็นประโยชน์เท่ากับการเปลี่ยนแปลงทิศทางการวิ่งของคุณก็เป็นได้ กระบวนการทางความคิดเช่นนี้คือสิ่งที่นักเล่นหุ้นที่ดีควรจะพัฒนามันไว้อยู่เสมอ เพราะพลังของมันนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงผลการลงทุนของคุณได้อย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียวครับ
กระบวนการทางความคิดและการแก้ไขปัญหาของคนส่วนใหญ่
โดยปกติแล้วพวกเราส่วนใหญ่โดยเฉพาะบรรดานักเล่นหุ้นหลายๆคนมักที่จะคุ้นชินกับการแก้ปัญหาด้วยการใช้ “การคิดในแนวตั้ง” (Vertical Thinking) กับการลงทุนของเราอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม กระบวนการคิดในลักษณะนี้ยังคงทำให้เราต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายๆอย่างซึ่งเกิดจากทิศทางที่เรากำลังมุ่งแก้ปัญหาไปอยู่ดี นี่เป็นสิ่งที่ทำให้หลายๆคนต้องถอดใจและพยายามยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่เต็มใจสักเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตาม หากเราลองนั่งพิจารณาดูปัญหาต่างๆที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้แล้วล่ะก็ เราจะพบว่าในที่สุดแล้วปัญหาหลายๆอย่างก็มักที่จะถูกแก้ไขคลายปมออกไปได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
… ใช่แล้วครับ “ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” และนั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่ากระบวน “การคิดในแนวข้าง” (Lateral Thinking) หรือการคิดนอกกรอบนั่นเอง
กระบวนการคิดในแนวตั้ง VS. กระบวนการคิดในแนวข้าง
เพื่อที่จะอธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างของมันได้อย่างง่ายที่สุดนั้น ผมจะขอยกตัวอย่างถึงความแตกต่างของกระบวนการทางความคิดทั้งสองแบบเปรียบเทียบให้ลองอ่านกันดูก่อนนะครับ
ความคิดแนวตั้ง | ความคิดแนวข้าง |
เลือกสรรค์ (ทำตามขั้นตอน) | สร้างสรรค์ |
มองหาความถูกต้อง | มองหาความเป็นไปได้ |
เคลื่อนไหวเมื่อมีทิศทางให้เคลื่อนไหว | เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดทิศทาง |
คิดในเชิงวิเคราะห์ | คิดเพื่อกระตุ้นมุมมองใหม่ๆ |
ทำตามขั้นตอน | ไม่จำเป็นต้องทำตามขั้นตอน |
ใช้มุมมองเชิงลบเพื่อตัดตัวเลือก | ไม่ใช้มุมมองในเชิงลบ |
ตัดสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป | ยอมรับได้กับทุกสิ่ง |
จัดประเภทอย่างแน่ชัด | ไม่มีประเภทที่ตายตัว |
เคลื่อนไหวไปตามสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นไปที่สุด | เคลื่อนไหวไปตามสิ่งที่คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด |
เป็นกระบวนการที่มีขอบเขตแน่ชัด | เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปบนความน่าจะเป็นอยู่เสมอ |
จากความแตกต่างทั้งหมด 10 ประการที่ได้กล่าวมานั้น คุณคงเริ่มที่จะเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า โดยเนื้อแท้ของกระบวนการคิดในแนวข้างนั้น มันก็คือกระบวนการคิดเพื่อสร้างความคิดและมุมมองใหม่ๆที่แตกต่างไปจากเดิม
นี่คือเหตุผลที่ว่าเหตุใดมันจึงสำคัญนักหนากับชีวิตของเรา นั่นเพราะกระบวนการใช้ความคิดในแนวตั้งนั้นจะเกี่ยวข้องอยู่กับการประมวลผล, คิดคำนวณและมุ่งที่จะนำแนวคิดต่างๆที่ได้มาไปปฏิบัติใช้ ส่วนความคิดในแนวข้างนั้นจะช่วยเราในการสร้างทางเลือกและวิธีการที่จะใช้ในการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่เรามี มันคือการเปลี่ยนมิติในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นแล้ว กระบวนการคิดในแนวตั้งของเราจึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการคิดในแนวข้างเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางที่มีประสิทธิภาพเสียก่อน!
ประโยชน์ของกระบวนการคิดแนวข้างที่มีต่อการลงทุนของคุณ
อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่าความคิดแนวข้างนั้นมีใว้เพื่อสร้างความคิดและมุมมองใหม่ๆที่แตกต่างไปจากเดิม มันจึงมักที่จะนำเราไปสู่ประโยชน์หลักๆในการลงทุนดังนี้
แนวคิดในการลงทุนใหม่ๆซึ่งแตกต่างไปจากเดิม – นี่เป็นสิ่งที่การคิดในแนวตั้งไม่สามารถที่จะให้คุณได้ เพราะมันจะทำให้คุณยังคงติดอยู่ในกรอบของเหตุและผลแบบเดิมๆอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น เพื่อที่จะได้กำไรจากตลาดนั้น คนส่วนใหญ่พยายามที่จะพัฒนาความสามารถหรือแนวทางการวิเคราะห์หุ้นให้มีความละเอียดและแม่นยำขึ้นมากกว่าเดิม (เพราะเขาเชื่อว่าความแม่นยำ = กำไร) แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจแก้ปัญหานี้ด้วยการมองหาโอกาสที่ให้ Pay-off สูงมากๆเพื่อชดเชยกับความแม่นยำในการวิเคราะห์หุ้นของพวกเขาแทน
แนวทางในการแก้ปัญหาซึ่งเกิดจากกระบวนการลงทุนในรูปแบบเดิม – จากในกรณีที่แล้วนั้นปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับระบบการลงทุนที่เน้นกิน Pay-off คำใหญ่ๆแทนความแม่นยำก็คือขนาดของ Drawdown และระยะเวลาของ Drawdown ที่มักจะเกิดขึ้นอย่างยาวนาน คนส่วนใหญ่อาจพยายามที่จะพัฒนาสัญญาณการขายทำกำไรในขณะที่หุ้นกำลังวิ่งขึ้นไป แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น เราก็อาจที่จะเพียงแค่เพิ่ม Universe ของหุ้นหรือตราสารที่เราจะทำการซื้อขายให้มากขึ้น หรือคัดเลือกกลุ่มสัญญาณที่มีความผันผวนต่ำเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ลงแทนก็เป็นได้ (และก็มักที่จะได้ผลดีเสียด้วย)
มุมมองหรือทัศนคติซึ่งแตกต่างออกไป – นี่มักเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางการลงทุนที่แตกต่างไปจากหลักการเดิมแทบทั้งสิ้น นักลงทุนพื้นฐานอย่าง Value Investor เลือกที่จะมองข้ามการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นหรือการพยายามที่จะพยากรณ์การเคลื่อนไหวของมันด้วยการโฟกัสไปยังพื้นฐานของกิจการในระยะยาวแทน ในขณะที่นักเก็งกำไรแบบ System Trader ยังเลือกที่จะเล่นอยู่กับการเคลื่อนไหวของราคาแต่เป็นไปในเชิงของการทำกำไรในจากผลการซื้อขายโดยรวมของพวกเขาจากความได้เปรียบทางสถิติที่เขามี แทนที่จะมองผลของการซื้อขายเป็นครั้งๆไปอย่างที่คนส่วนใหญ่ทำ
นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และระบบการลงทุนใหม่ๆ – เมื่อมุมมองหรือทัศนคติที่มีต่อการลงทุนได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มันมักที่จะนำไปสู่ระบบหรือกลยุทธ์การลงทุนในรูปแบบใหม่ๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราคงจะไม่ได้เห็นการเติบโตของแนวทางการลงทุนใหม่ๆอย่าง Growth Investing, Momentum Investing หรือแม้กระทั่ง Model ทางคณิตศาสตร์ขั้นสูงในปัจจุบัน หากว่าไม่มีใครสักคนที่ลุกขึ้นมาพูดว่า “ผมว่าเราน่าจะมีวิธีการบางอย่างที่แตกต่างออกไปและมีประสิทธิภาพกว่านี้นะ” และนี่ก็คือประโยชน์และตัวอย่างของพลังจากกระบวนการคิดในแนวข้างบางประการนั่นเองครับ
แล้วเราจะนำกระบวนการคิดแนวข้างมาปรับใช้กับการลงทุนได้อย่างไรบ้าง?
ความจริงแล้วมีวิธีคิดหลายๆอย่างซึ่งเราสามารถที่จะนำการคิดแนวข้างมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนของพวกเราได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เราสามารถที่จะพอสรุปถึงหลักพื้นฐานของการใช้การคิดแนวข้างได้ 3 ข้อดังนี้
สร้างทางเลือกใหม่ๆให้ตัวเองอยู่เสมอ – แทนที่เราจะพยายามที่จะแก้ปัญหาแบบเป็นเส้นตรงแนวตั้งในเชิงลึกลงไปเรื่อยๆในหนทางเดิมนั้น การเปิดใจและใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อหาทางเลือกใหม่ๆอยู่เสมออาจทำให้เราพบกับหนทางใหม่ๆในการลงทุนของเราก็เป็นได้ มันอาจที่จะมีประสิทธิภาพกว่าหนทางที่เคยเป็นมา ความบังเอิญที่เกิดขึ้นจากความคิดใหม่ๆของเรามักกลายเป็นทางเลือกให้เราได้อยู่เสมอ
ท้าทายสมมติฐานเดิมๆ – โดยปกติแล้วคนเรามักที่จะมีสมมติฐานว่าความคิดเดิมของเรานั้นดีหรือถูกต้องอยู่แล้ว นั่นทำให้มันกลายเป็นกำแพงหรือกรอบความคิดที่คับแคบลงไปเรื่อยๆ พวกมันมักทำให้เรามักพบกับทางตันที่เราจำเป็นต้องจำยอมอยู่เรื่อยไป ซึ่งถ้าหากว่าคุณกำลังคิดว่าแนวทางการลงทุนของเรานั้นดีหรือถูกต้องที่สุดแล้วล่ะก็ คุณก็คงกำลังปิดกั้นตนเองจากสมมติฐานใหม่ๆไปอย่างน่าเสียดาย
อย่ารีบด่วนตัดสินอะไรนัก – การใช้ความคิดในแนวตั้งนั้นมักที่จะบีบบังคับให้เราเลือกเส้นทางตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อเจาะลึกในรายละเอียดลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่หากคุณรู้จักที่จะใช้การคิดในแนวข้างจนเป็นนิสัยแล้ว มันจะทำให้คุณชะลอการตัดสินใจลง แล้วมองหาทางเลือกใหม่ๆที่อาจมีประสิทธิภาพกว่าอยู่เสมอ อย่างที่ Edward De Bono ผู้เป็นเจ้าของแนวคิดการใช้กระบวนความคิดแนวข้างได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า
“คุณไม่สามารถที่จะขุดหลุมอื่นๆต่อไปได้ ถ้าคุณยังคงหมกมุ่นอยู่กับการขุดหลุมเดิมๆให้ลึกลงไปเรื่อยๆ”
ตัวอย่างง่ายๆของการใช้การคิดในแนวข้างกับการสร้างระบบการลงทุน
ในตัวอย่างนี้ผมจะขอยกเอาแนวคิดการใช้ RSI Indicator ที่เคยเขียนไว้นานมากๆแล้วมาให้ดูกัน โดยจากเดิมที่คนส่วนใหญ่นั้นเชื่อกันว่าสัญญาณซื้อของมันจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อค่าของ RSI นั้นหลุดลงไปในระดับที่ต่ำมากๆ (Oversold) และสัญญาณขายของมันก็จะเกิดขึ้นเมื่อค่าของ RSI นั้นสูงมากๆ (Overbought)
จากความคิดตั้งต้น (การเลือกสรรค์) เช่นนี้เองทำให้สิ่งที่พวกเขามักจะทำต่อไปก็คือการพยายามพัฒนาแนวคิดนี้ให้ลึกลงไปในรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการพยายาม Optimize หาค่า Parameter ที่ดีที่สุดออกมาหรือการพยายามที่จะเพิ่มตัวแปรที่ใช้ในการยืนยันต่างๆมากขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามขึ้นสักแค่ไหน ในที่สุดแล้วมันก็มักจะทำให้ต้องพบกับทางตันบางอย่างอันเนื่องจากการปรับแต่งระบบจนเกินพอดีขึ้นมา (Over-fit) และนั่นก็ทำให้เขาไม่สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนจากการใช้ RSI Indicator ได้มากขึ้นสักเท่าไหร่นัก (ซึ่งในกรณีส่วนใหญ่ระบบมักขาดทุนเลยทีเดียว)
เมื่อมาถึงจุดนี้ คนบางกลุ่มอาจเริ่มตัดสินว่ามันไม่ใช่แนวทางที่ได้ผลและละทิ้งมันไปพร้อมอคติในเชิงลบอย่างสิ้นเชิง นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการใช้กระบวนการคิดในแนวตั้งเพียงอย่างเดียวได้อย่างชัดเจนมากๆ
ในทางกลับกันแล้ว ในขณะเดียวกันก็อาจมีบางคนบางกลุ่มซึ่งมองเห็นแต่แรกแล้วว่าแนวคิดของการซื้อเมื่อ Oversold และขายเมื่อ Overbought อาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดเพียงหนทางเดียวเท่านั้น โดยแทนที่พวกเขาจะฝังใจอยู่แต่เพียงหลักการซื้อเมื่อหุ้นอ่อนตัวลงมา พวกเขากลับกล้าที่จะลองท้าทายสมมติฐานในกรอบความเชื่อเดิมๆแล้วพยายามพิสูจน์มันออกมา
กระบวนการคิดใน “แนวข้าง” เช่นนี้เองที่กลายเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับพวกเขา การรู้จักที่จะจัดระเบียบและแปรผลต่อข้อมูลที่มีอยู่เดิมในมุมมองและทัศนคติใหม่ๆๆนั้นทำให้พวกเขาได้ค้นพบกับทางเลือกที่มากขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้วก็ทำให้พวกเขาได้ค้นพบว่า เพียงแค่การเปลี่ยนจากวิธีการซื้อหุ้นเมื่ออ่อนตัวเป็นการซื้อเมื่อแข็งแกร่งนั้น กลับทำให้ผลลัพท์ของการลงทุนแตกต่างไปจากเดิมได้อย่างสิ้นเชิง (โดยที่ยังไม่ต้องลงรายละเอียดเพิ่มขึ้น – การคิดในแนวตั้ง)
พลังของการคิดแนวข้างและการปรับใช้ร่วมกับการคิดแนวตั้ง
ภาพและตารางด้านล่างนี้คือผลการเติบโตของเงินทุน (Log Scale) จากการลงทุนที่ใช้ค่า RSI เป็นตัวแปรเพียงอย่างเดียวโดยที่
RSI OverSold = ซื้อเมื่อ RSI (14) หลุดลงไปต่ำกว่า 30 และขายออกเมื่อมันสูงกว่า 70
RSI Overbought = ซื้อเมื่อ RSI (14) ทะลุขึ้นไปสูงกว่า 70 และขายออกเมื่อมันต่ำกว่า 30
RSI Optimize = นำระบบ RSI OB (14) มาปรับแต่งหาค่า Parameter ที่เหมาะสมที่สุดออกมา
ทุกระบบได้ทำการเข้าซื้อหุ้นครั้งละ 10% ของมูลค่าเงินทุนในขณะนั้น โดยจะซื้อหุ้นที่เกิดสัญญาณจนกว่าที่เงินจะหมดลง เริ่มต้นด้วยเงินทุน 1 ล้านบาทตั้งแต่ 3/1/2001 – 10/4/2012 กับหุ้นในตลาดหุ้นไทย โดยเป็นการลงทุนทบต้น Reinvestment ไปเรื่อยๆ และนี่ก็คือผลเปรียบเทียบของมันครับ
ระบบ | Net Profit | CAGR | Max. Sys % DD | % of Winners | Avg Bars Held |
RSI OS | -654,984.93 | -9.01 | -84.07 | 52.19 | 121.22 |
RSI OB | 12,677,532.31 | 26.11 | -48.32 | 42.15 | 139.68 |
RSI OPT | 94,180,859.78 | 49.79 | -35.51 | 34.71 | 12.64 |
ในตอนนี้ผมเชื่อว่าคุณน่าจะเรื่มเห็นถึงพลังของการใช้ความคิดแนวข้างอย่างเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นแล้ว คุณคงจะสังเกตุถึงผลตอบแทนที่เปลี่ยนไปเป็นอย่างมากเพียงแค่มุมมองในการใช้ RSI ของเรานั้นเปลี่ยนไป (ระบบ RSI OB นั้นเปรียบเสมือนตัวอย่างของการใช้การคิดในแนวข้าง ส่วนระบบ RSI Opt. นั้นคือตัวอย่างของการใช้พลังของแนวคิดในแนวตั้งและแนวข้างร่วมกัน) นอกจากนี้แล้วคุณยังจะเห็นได้อีกว่าค่า %Win หรือ Avg Bars Held นั้นกลับสวนทางกับผลตอบแทนรวมถึงความเชื่อที่คนส่วนใหญ่เข้าใจด้วยเช่นกัน การมีกระบวนความคิดในแนวข้างจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับนักลงทุนในการที่จะคิดและยอมรับในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม
ความเป็นไปได้นั้นมีอยู่เสมอ อย่ามัวแต่ปิดใจหรือฝังใจอยู่แต่กับสิ่งเดิมๆ … ลองคิด “นอกกรอบ” ในมุมมองใหม่ๆกันดูบ้าง เผื่อว่าสักวันหนึ่งแล้วเราอาจจะค้นพบอะไรที่น่าสนใจในการลงทุนของเรามากยิ่งขึ้นก็ได้ครับ