fbpx
วิธีการเล่นหุ้นและวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค

ตัดขาดทุนอย่างไรดี : How to cut your losses?

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

เมื่อวานพึ่งจะนำเอาหนังสือของ Breet N Steenbager มารีวิวใน แมงเม่าคลับ.คอม วันนี้จำได้ว่ามีบทความสั้นๆเลยนำลงมาให้อ่านกันครับ น่าสนใจดีทีเดียว สำหรับคนทำใจตัดขาดทุนอย่างเด็ดขาดไม่ได้ซักที

ตัดขาดทุนอย่างไรดี? โดย Dr.Brett N Steenbager

BrettTeach มีหนังสืออยู่หลายเล่ม ที่เขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องของการทำเงินในตลาดหุ้น ซึ่งบางเล่มถูกเขียนด้วยมือของเซียนหุ้นตัวจริงเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่คุณมักจะไม่ค่อยเห็นก็คือ หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องจะทำอย่างไรกับการขาดทุน และคำพูดที่ติดปากกันโดยทั่วไปก็คือ คุณต้องรู้จัก “ตัดขาดทุนให้เร็ว และปล่อยให้หุ้นวิ่งทำกำไร”

แต่คุณจะรู้ได้อย่างไรล่ะครับ ว่าเราได้วิเคราะห์ผิดไปแล้ว? ..สิ่งที่น่าตกใจก็คือ นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ที่ผมเห็นนั้น ไม่ได้คิดถึงมันก่อนจะเข้าซื้อด้วยซ้ำ พวกเขาคิดแต่เรื่องการเข้าซื้อ แต่ไม่มีแผนการตัดขาดทุนที่ชัดเจนเอาเสียเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่ามันจะทำให้พวกเขาต้องขาดทุนครับ

จากความเชื่อของผมแล้ว สาเหตุจริงๆของปัญหานี้ก็คือ มันยากในการที่จะแยกการขาดทุน ออกจากความรู้สึกว่าพวกเขาได้พ่ายแพ้แก่ตลาดนั่นเอง ณ จุดหนึ่งนั้น นักเล่นหุ้นมักจะมองว่าการขาดทุนก็คือการพ่ายแพ้ของเขา และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกสับสน หดหู่ และวิตกจริต หรือพูดง่ายๆก็คือ มันจะกลายเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการตัดสินใจของพวกเขาในวันข้างหน้านั่นเอง ซึ่งนี่ก็เป็นเพราะเหตุที่ว่า ตัวเลขที่แสดงผลกำไร-ขาดทุนของพวกเขานั้น มันทำให้เขาหมดความมั่นใจในตัวเองไปนั่นเองครับ และเมื่อไหร่ที่นักเล่นหุ้นเริ่มฟุ้งซ่านกับตัวเอง มากกว่าสนใจตลาดล่ะก็ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่ความสามารถในการตัดสินใจของเขาจะลดลงไป

ในตอนหนึ่ง ของหนังสือหุ้นระดับคลาสสิคอย่าง Reminiscence of Stock Operator ได้เคยเขียนถึงวิธีการเข้าซื้อหุ้นของ Jesse Livermore เซียนหุ้นระดับตำนานเอาไว้ว่า เขาจะขายหุ้นออกมามากๆจำนวนหนึ่ง เพื่อที่จะดูว่าตลาดนั้นมีปฏิกิริยาอย่างไร หลังจากนั้นเขาก็จะทำอย่างเดิมซ้ำๆอีก เพื่อทดสอบแรงซื้อของตลาดเป็นช่วงๆไป โดยหากว่าการขายของเขา ไม่สามารถกดให้ตลาดตกลงไปได้ เขาจะกลับเข้าไปซื้อเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีก เพื่อที่จะทำกำไรครับ

สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับวิธีการนี้ก็คือ การขาดทุนของ Livermore นั้น คือส่วนหนึ่งของแผนการที่ใหญ่กว่า! เขาไม่ได้ขาดทุนไปเปล่าๆสักหน่อย แต่เขาจ่ายมันไปเป็นค่าข้อมูลข่าวสารของเขา ผมขอยกตัวอย่างเช่น หากว่าระดับ “ขนาดการลงทุน” ที่เหมาะสมของผมนั้น อยู่ที่ไม่เกิน 10 สัญญาการซื้อขาย ในตลาดล่วงหน้า(Future) โดยที่ผมลองเข้าซื้อที่จุดสูงสุดใหม่ของหุ้น เป็นจำนวน 1 สัญญา โดยคาดหวังไว้ว่ามันจะทำการ Breakout ขึ้นไปนั่นเอง และนี่คือการที่ผมลองทดสอบตลาดดู ซึ่งถึงแม้ว่าผมจะไม่มีศักย์ภาพที่จะเขย่าตลาดขนาดที่ Livermore ทำก็ตาม แต่ก็ถือว่าผมได้ทำการทดสอบตลาด โดยโยนหินถามทางเช่นเดียวกันกับเขาครับ หลังจากนั้น ผมก็จะสังเกตอย่างละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง?, คนอื่นทำอย่างไรกันบ้างในขณะที่หุ้นอยู่ที่จุดสูงสุดของกรอบการเคลื่อนไหว? หรือตลาดยังแน่นดีหรือไม่ ณ จุดนั้น? ผมจะทำตัวเหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ ที่คอยเก็บข้อมูลและตรวจสอบอยู่เสมอว่า สมมุติฐานของผมนั้นเป็นจริงหรือไม่ครับ

สมมุติต่อมาว่าตลาดนั้นไม่สามารถทำ Breakout และยืนอยู่บนจุดสูงสุดได้ และมันก็ร่วงตกลงมาด้วยแรงเคาะขายจำนวนหนึ่ง ผมก็จะทำการตัดขาดทุนออกมาครับ แล้วสิ่งที่ผมได้จากมันล่ะ?

นักเล่นหุ้นธรรมดาๆ มักจะพูดด้วยความสับสนว่า “ทำไมราคาที่ผมซื้อ ถึงได้กลายเป็นจุดสูงสุดตลอดเลย?, ผมไม่อยากจะเชื่อว่ารายใหญ่พวกนั้นจะทุบมันลงมาจริงๆ, หรือหุ้นตัวนี้มันเล่นไม่ได้หรอก!” และด้วยความที่พวกเขานั้นกำลังสับสน และมัวแต่นึกถึงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง จึงทำให้พวกเขาพลาดข้อมูลที่สำคัญบางอย่างไปครับ

enhancing ในโลกของ Jesse Livermore หรือเหล่าเซียนหุ้นนั้น เขาจะมองว่าการขาดทุนจากเพียงสัญญาๆเดียวนั้น คือส่วนหนึ่งของแผนการที่ใหญ่กว่า โดยถ้าหากว่าหุ้นนั้น Breakout ไปอย่างสวยงาม พวกเขาก็เตรียมที่จะตามน้ำ เข้าซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อทำกำไรให้มากกว่าเดิมครับ แต่หากว่า เงินส่วนหนึ่งที่เขาได้ลองเข้าซื้อไปนั้นขาดทุน เขาจะถือว่ามันเป็นการจ่ายค่าข้อมูลข่าวสารไป ซึ่งอย่างน้อย ก็จะทำให้พวกเขารู้ว่านี่เป็นตลาดไซด์เวย์แคบๆ เพื่อที่จะหาโอกาสขายชอร์ตหุ้น เพื่อทำกำไรอีกทีนั่นเอง

ลองนึกดูอย่างนี้สิครับ ถึงแม้ว่าคุณจะเข้าซื้อหุ้นที่ดูแล้วมีความน่าจะเป็นที่จะทำกำไรได้ แต่มันกลับขาดทุนก็ตาม นั่นถือว่าคุณได้จ่ายค่าข้อมูลข่าวสารที่สำคัญอย่างหนึ่งไป นั่นก็คือ ตลาดไม่ได้ทำตัวอย่างที่มันควรทำ อย่างที่มันเคยเป็น เช่นหากว่าข่าวดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ที่เคยทำให้ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นไปอย่างที่เคยเป็น กลับทำให้คุณขาดทุนล่ะก็ นั่นแปลว่าคุณเพิ่งจะได้ซื้อข้อมูลที่สำคัญอย่างหนึ่งมาครับ นั่นก็คือ มันไม่มีความต้องการในตลาดเลยนั่นเอง และข้อมูลนี้ อาจเป็นประโยชน์ในการทำกำไรที่คุณจะได้มา มากกว่าที่พึ่งเสียไปก็ได้นะครับ

ผมนั้นพึ่งจะได้รับบทความจากนิตยสาร Future Trader ที่เขียนโดยนักเซียนหุ้นที่ได้วางมือไปแล้วชื่อว่า Everett Klipp ฉายาของเขาก็คือ Babe Ruth แห่งตลาด CBOT(ตลาด Commodities ของอเมริกา) เขานั้นไม่เพียงได้สร้างผลงานไว้จากการเป็นเซียนหุ้นที่โชกโชนในสังเวียนกว่า 50 ปี แต่เขายังเป็นผู้ที่ปลุกปั้นนักเล่นหุ้นดีๆกว่า 100 คนอีกด้วยครับ โดยเมื่อกล่าวถึงการเล่นหุ้นในระยะสั้นของเขา เขาได้พูดว่า “คุณจะต้องชอบตัดขาดทุน มากกว่าชอบหวังทำกำไร ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ ซึ่งนั่นขัดกับสัญชาติญาณของคนเราโดยสิ้นเชิง และคุณต้องอยู่เหนือสัญชาติญาณของมนุษย์ให้ได้”

เพราะระบบการเล่นหุ้นของ Klipp นั้น นั้นเป็นระบบการเล่นที่มักจะรีบขายอย่างรวดเร็ว (ไม่ชอบทำกำไรก้อนใหญ่) แต่ในทางกลับกัน เขาจะตัดขาดทุนเร็วยิ่งกว่าทำกำไรเสียอีก(ชอบตัดขาดทุน) โดยแทนที่เขาจะมองการขาดทุนเป็นอุปสรรค เขากลับมองว่ามันเป็นส่วนสำคัญในการเล่นหุ้นของเขา เขาเชื่อว่าการตัดขาดทุนอย่างรวดเร็วนั้น จะช่วยฝึกให้นักเล่นหุ้นมีวินัย แทนที่จะมองว่ามันเป็นความล้มเหลวนั่นเอง

และนี่คือคำถามที่ผมอยากจะฝากไว้ให้กับนักเล่นหุ้น ที่คิดว่าตัวเองเข้าซื้อหุ้นเพราะคิดว่ามันน่าจะทำกำไรได้บ่อยๆ ได้ถามตัวเองเอาไว้ครับ นั่นก็คือ

“อะไรจะบอกให้ผมรู้ว่า ผมคิดผิดไป, และผมจะใช้ข้อมูลนั้น มาช่วยในการทำกำไรได้อย่างไร?” จำไว้ว่าหากคุณเล่นหุ้นได้อย่างถูกต้องล่ะก็ มันไม่มีหรอกครับการเล่นที่ขาดทุน มันมีแต่การเล่นที่ได้กำไร และการเล่นที่จะช่วยให้เราได้กำไรในครั้งต่อไปครับ แล้วเจอกันใหม่ที่ แมงเม่าคลับ.คอม ครับ

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)