fbpx
บทสัมภาษณ์เซียนหุ้น

บทสัมภาษณ์ Mark Douglas : Wining Mindset(3)

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

บทสัมภาษณ์ MarK Douglas ทัศนคติแห่งการเก็งกำไร (ตอนที่ 3)

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

Mark douglas วันนี้ต่อเป็นตอนที่ 3 ของบทสัมภาษณ์ Mark Douglas เซียนหุ้นระดับโลกกันอีกครั้งนะครับ เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆกับแง่มุมทางจิตวิทยาการลงทุนของเขา เชิญคลิก! เข้าไปอ่านได้เลยครับ

 

Q: คุณกำลังจะบอกว่า ผลลัพธ์ของการซื้อขาย หรือลงทุนทุกครั้งนั้น มันเหมือนกับการโยนเหรียญงั้นหรือ?

A: ใช่ครับ! และนี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับมัน ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะไม่มีปัญหาต่างๆในการเก็งกำไร หรือลงทุนของเขาอย่างที่เป็นอยู่เลยครับ

Q: ซึ่งถ้าหากว่าผลลัพธ์ของมันเหมือนกับการโยนเหรียญแล้วล่ะก็ เมื่อคุณเกิดแพ้ติดกันขึ้นมาหลายๆครั้ง มันจึงง่ายมากที่จะเริ่มรู้สึกหวั่นไหว ในการที่จะเสี่ยงครั้งต่อไปใช่ไหมครับ?

A: แน่นอนครับ และนี่คือสิ่งที่แยกนักเก็งกำไร หรือนักลงทุนชั้นยอด ออกจากคนทั่วๆไป เพราะพวกเขานั้นเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การลงทุนซื้อ-ขาย แต่ละครั้งนั้น ผลลัพธ์ของมันไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายครั้งที่ผ่านๆมาเลย ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาสามารถทำสิ่งต่างๆได้อย่างเหมาะสมครับ

ซึ่งในทางกลับกันแล้ว คนทั่วๆไปนั้นมักจะคาดหวังถึงผลลัพธ์ของการซื้อ-ขายครั้งต่อไป จากผลลัพธ์ในครั้งที่ผ่านๆมานั่นเอง นั่นหมายความว่า ถ้าคราวที่แล้ว หรือ สองสามครั้งที่แล้วพวกเขาขาดทุนล่ะก็ พวกเขาก็มักจะมองเห็นแต่ความเสี่ยง ในการลงทุนซื้อ-ขายครั้งต่อไปครับ แต่หากว่าครั้งที่ผ่านๆมา พวกเขามีกำไรล่ะก็ พวกเขาก็มักจะตกอยู่ในความรู้สึกเคลิบเคลิ้มไปกับกำไรของพวกเขา และแทบจะไม่ได้มองเห็นถึงความเสี่ยงของพวกเขาเลย ซึ่งนั่นจะทำให้เขาอาจเริ่มขุดหลุมฝังตัวเองขึ้นมา จากการที่พวกเขานั้นจะเริ่มเสี่ยงมากไป หรือซื้อ-ขายมากเกินไป(Over trade) เพราะพวกเขาเริ่มเชื่อว่า การลงทุนซื้อ-ขายครั้งต่อไปของพวกเขาจะไม่ขาดทุนนั่นเองครับ

 

Q: ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาทั้งหลาย จึงต้องมีระบบการลงทุน(Trading System)เข้ามาช่วยใช่ไหมครับ?

A: แน่นอน พวกเขาต้องการหนทางบางอย่าง ที่จะช่วยในการระบุอย่างชัดเจนว่า สิ่งไหนที่ได้ผลหรือไม่ได้ผลครับ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ พวกเขายังต้องมีทัศนคติที่เหมาะสม เพื่อที่จะนำระบบการลงทุนต่างๆ มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดด้วยครับ ซึ่งถ้าหากพวกเขาไม่มีทัศนคติที่เหมาะสมแล้วล่ะก็ พวกเขาก็จะทำสิ่งต่างๆอย่างสะเปะสะปะ หรือมั่วไปหมด และนี่คือสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ในการที่จะได้มาซึ่งกำไรอย่างสม่ำเสมอ จริงไหมครับ?

Q: เอ้ะ!? ใครกำลังเป็นคนสัมภาษณ์ใครกันแน่ ?

A: แน่นอน คุณไงครับ! แต่ผมอยากจะบอกคุณว่าผมกล้าพนันกับคุณเลย ว่าถ้าคุณลองไปถามนักเก็งกำไรส่วนใหญ่ ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการคืออะไร พวกเขาจะตอบคุณว่าพวกเขาต้องการได้กำไรอย่างสม่ำเสมอ เพราะพวกเขามักมองเห็นโอกาสในการทำกำไรอยู่ในทุกนาทีๆ หรือในทุกๆวันอยู่แล้ว และสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆก็คือ การเติบโตของเงินทุนอย่างสม่ำเสมอ นั่นเองครับ

แต่เนื่องจากว่าพวกเขานั้น มักลงทุนซื้อ-ขายตามอำเภอใจอย่างไร้แผนการ และลืมคิดไปว่าหากพวกเขาไม่ทุ่มเท และใส่ใจในการพิจารณาว่าสิ่งไหนใช้ได้ หรือไม่ได้แล้วล่ะก็ มันก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย สิ่งที่เขาจะได้รับกลับมาก็คือ เงินทุนที่มักจะเพิ่มๆลดๆ เหมือนกับฟันปลาขึ้นมาแทนครับ

Q: นั่นก็หมายความว่า นักเก็งกำไรหรือนักลงทุน มักสร้างผลลัพธ์ที่เขาไม่ต้องการขึ้นมา จากตัวของพวกเขาเองใช่ใหมครับ? นี่มันทำให้ผมคิดถึงสิ่งที่คุณได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ The Discipline Trader ของคุณ เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า ความกลัวจะมีผลทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่เราไม่ต้องการขึ้นมาได้อย่างไร จริงๆครับ

A: สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่ได้ให้ความสนใจ เมื่อพวกเขาเริ่มต้นเข้ามาเก็งกำไรหรือลงทุนนั่นก็คือ พวกเขาไม่ได้คิดว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตใจ มากแค่ไหนนั่นเองครับ จริงๆแล้วตลาดนั้นไม่สามารถที่จะบังคับหรือไม่มีผลต่อคุณ ในการกำหนดมุมมองการรับรู้ หรือแปลความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดของตัวคุณเองเลย แต่มันเกิดขึ้นมาจากกลไกทางจิตวิทยาในตัวคุณ ซึ่งจะคอยควบคุมการรับรู้ และแปลผลของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในตัวของคุณเองครับ

และในฐานะที่คุณเป็นนักเก็งกำไร หรือนักลงทุนก็ตาม ถ้าหากว่าคุณต้องการที่จะทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอแล้วล่ะก็ สิ่งที่คุณจะต้องทำเพื่อให้เกิดกำไรที่สม่ำเสมอขึ้นมาก็คือ การควบคุมกระบวนการในการรับรู้ และแปลความหมายของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ในทางที่คุณจะสามารถทำสิ่งต่างๆได้อย่างเหมาะสม และไร้ความวิตกกังวลนั่นเองครับ

 

Q: ไร้ความวิตกกังวลงั้นหรือ? คุณจะสามารถไร้ความวิตกกังวล ในขณะที่เก็งกำไร หรือลงทุนหน่อยได้จริงๆหรือครับ?

A: ผมหมายถึงการไร้ความวิตกกังวล ในความหมายที่ว่า คุณนั้นรู้สึกสงบผ่อนคลายครับ เพราะถ้าหากจิตใจของคุณไม่สงบ หรือผ่อนคลายล่ะก็ คุณจะไม่สามารถมีสมาธิกับสิ่งต่างๆได้เต็มที่ครับ ไม่เช่นนั้นคุณจะก็จะเริ่มเสียสมาธิ และทำสิ่งที่ผิดพลาดต่างๆครับ

 

Q: ในมุมมองของคุณแล้ว มันมีตัวการหลักๆที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการเก็งกำไร หรือลงทุนขึ้นมาไหมครับ?

A: สิ่งที่เป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ “ความกลัว” นั่นเองครับ เนื่องจากจิตใจของเรานั้นถูกออกแบบมาให้หลักเลี่ยงจากความเจ็บปวด จากกลไกทางจิตวิทยาที่อยู่ทั้งใต้จิตสำนึกของเรา และจิตสำนักของเราเอง และนี่คือตัวการใหญ่ตัวหนึ่งที่พวกเรามักจะมองข้ามมันไปครับ

Q: ยังไงครับ?

A: อย่างแรกเลยก็คือ ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าความกลัวนั้น นอกจากจะทำให้จิตใจของเราอ่อนแอลงไป แต่มันทำให้มุมมอง หรือวิสัยทัศน์ของเราย่ำแย่ลงไปด้วย ความกลัวนั้นจะทำให้มุมมองของเราแคบลงไป ซึ่งจะมีผลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เข้ามาในทุกๆช่วงขณะเวลานั่นเอง โดยความกลัวนั้น จะทำให้มุมของเราแคบลง และเพิ่งไปสู่สิ่งที่เรากลัวอยู่แต่เพียงอย่างเดียวครับ

จริงๆแล้วความกลัวของเรา คือกลไกทางธรรมชาติที่จะช่วยเตือนให้เรารู้ว่า มีความเป็นไปได้ที่เราจะต้องพบเจอกับความเจ็บปวด และเมื่อเราต้องการหลีกเลี่ยงจากความเจ็บปวดนั้น สิ่งที่เราจะทำคืออะไรล่ะ? มันก็คือการ จดจ่อไปกับการหาหนทางที่จะหลีกเลี่ยงจากความเจ็บปวดนั้นเอง เพื่อที่จะปกป้องตัวของเราครับ

Q: และนั่นจะทำให้กลไกการปกป้องตนเองของเรา เข้ามาควบคุมจิตใจของเราใช่ไหมครับ?

A: ถูกต้องครับ! ยิ่งในเรื่องของการเก็งกำไร หรือการลงทุนแล้ว มันยิ่งเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของเราเองขึ้นอีกครับ เนื่องจากจริงๆแล้วตลาดนั้น ไม่ได้สร้างข้อมูลที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้นมาด้วยตัวของมันเองเลย สิ่งที่มันสร้างขึ้นมาคือข้อมูลดิบ ซึ่งสามารถทำให้เรารับรู้มัน ในแนวทางที่เจ็บปวดขึ้นมา หรือในแนวทางที่พึงพอใจขึ้นมาควบคู่กันไป อยู่ตลอดเวลาครับ

Q: ซึ่งนั่นจะหมายความว่า?

A: นั่นก็จะหมายความว่า ทุกครั้งที่ตลาดขยับขึ้นมา มันสามารถสร้างความเจ็บปวดขึ้น หรือสร้างความพึงพอใจขึ้นมาก็ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าผมอาจเข้าซื้อไป และตลาดเคลื่อนที่สวนทางกับผมลงมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตลาดไม่ได้เคลื่อนที่สวนทางกับผมตลอดเวลา บางช่วงมันก็จะขยับไปในทิศทางที่ผมพอใจ หรือหวังเอาไว้ แต่ภาพรวมที่เกิดขึ้นก็คือ ตลาดนั้นอาจเคลื่อนที่สวนทางกับผม 4 ช่วงราคา ก่อนที่มันจะเด้งขึ้นมา 1 ช่วงราคานั่นเองครับ

Q: ซึ่งในสถานการณ์นี้ คุณกำลังถือหุ้นอยู่..

A: ใช่ครับ สมมุติว่าผมได้เขาซื้อไป แต่ภาพของตลาดโดยรวมนั้นกลับกลายเป็นขาลงขึ้นมา และโชคร้ายเหลือเกินที่การเด้งขึ้นมาในแต่ละครั้ง มันทำให้ผมตัดสินใจถือมันต่อไป เพราะช่วงที่ตลาดเด้งสวนขึ้นมานั้น ทำให้เกิดความหวังขึ้นมานั่นเองครับ และจุดนี้เองที่ความกลัวของผม จะเข้ามามีผลทำให้ผมจดจ่อความสนใจไปที่การเด้งขึ้นมาของตลาดแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากผมได้ให้ความสำคัญกับการเด้งขึ้นมาของตลาดมากกว่าอย่าอื่น และทำให้ผมจะพยายามทำทุกสิ่งที่ทำได้ ที่จะบอกกับตัวเองว่าผมจะไม่เป็นอะไรครับ

Q: และนั่นจะทำให้คุณมองไม่เห็นความเป็นจริงใช่ไหมครับ?

A: ถูกต้องครับ เพราะผมมัวแต่จดจ่อไปกับการเด้งขึ้นมาของตลาด และถึงแม้ว่าตลาดยังจะเคลื่อนที่เป็นขาลงต่อไป ผมก็จะไม่อยากรับรู้มัน ว่ามันกำลังอยู่ในช่วงขาลงต่อไป ซึ่งในทางกลับกันแล้ว ผมกลับจะมอง หรือหวังว่าการเด้งขึ้นมาในแต่ละครั้งของตลาด จะกลายเป็นจุดต่ำสุดของมันครับ นั่นก็คือผมจะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดในทางที่ว่า มันกำลังที่จะเปลี่ยนแนวโน้มกลับขึ้นมาแล้วนั่นเองครับ

เอาล่ะครับเดี๋ยวพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อว่า เขาจะสอนอะไรกับเรากันต่อไปนะครับ แล้วเจอกันใหม่ที่ แมงเม่าคลับ.คอม นะครับ

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)