เรื่องของความเชื่อกับการลงทุน!
บทความนี้ผมขอพูดถึงเรื่องของ “ความเชื่อ” โดยทั่วๆไปที่อยู่ในตัวเรา ว่ามันจะมีผลอย่างไรกับการเล่นหุ้น และเราควรจะจัดการกับความเชื่อเหล่านี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์กับเรามากที่สุดกันครับ
สิ่งที่คุณเห็นหรือรู้สึกจากตลาดหุ้น คือผลผลิตจากความเชื่อของคุณเอง
จากที่ผมเคยได้เล่าให้ฟังกันไปบ้างแล้ว เกี่ยวกับว่าแท้จริงนั้นระบบการลงทุนหรือสัญญาณการซื้อ-ขายที่เกิดขึ้นคืออะไร โดยหากยังจำกันได้ … จริงๆแล้วระบบหรือสัญญาณต่างๆที่เกิดขึ้น เป็นเพียง “สมมุติฐาน” ที่เราตั้งขึ้นมาเท่านั้น! ผลการซื้อ-ขายในแต่ละครั้งก็อิงอยู่กับความน่าจะเป็นแทบทั้งสิ้น มันไม่ใช่ Anatomy ของตลาดอย่างแท้จริงเลย เพราะตลาดมันก็จะวิ่งขึ้นลงๆกระเพื่อมไปมาอย่างที่มันอยากจะเป็นไปเท่านั้น (เปรียบเทียบแล้วระบบก็คล้ายกรอบรูป ตลาดก็เหมือนกับรูปภาพ ถ้าระบบ (กรอบ) ลงรอยกับตลาด (รูป) ในช่วงขณะนั้น มันก็จะให้ค่าความคาดหวังที่เป็นบวกและคายกำไรออกมาให้เรา)
นี่รวมไปถึงเรื่องของแนวโน้มต่างๆที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ว่ามันไม่มีแนวโน้มที่เป็น “มาตรฐาน” เพราะแนวโน้มเกิดจาก “สมมุติฐาน” ในการวัดหรือเปรียบเทียบแนวโน้มของเราออกมาเป็นรายบุคคล ดังนั้นแล้ว เมื่อมองข้ามผ่านภาพลวงตาเข้าไปได้ เราจะพบว่าเรากำลังซื้อ-ขายอยู่กับ “ความเชื่อ” ของเราอยู่ต่างหากนั่นเอง
จงทำให้ระบบการลงทุนและความเชื่อของคุณ ลงรอยกันซะ!
เมื่อคุณได้เข้าใจแล้วว่า จริงๆแล้วเรากำลังเล่นอยู่กับความเชื่อของเราแทนที่จะเป็นการเล่นกับตลาด ผมเชื่อว่าหลายๆคนก็น่าจะเริ่มที่จะพอจิตนาการกันออกแล้วว่า ถ้าระบบการลงทุนที่เราใช้อยู่มันตรงข้ามกับความเชื่อของเราอย่างมากนั้นอะไรจะเกิดขึ้น (อย่างน้อยคุณคงต้องทรมานกับการใช้มันแน่ๆ) โดยสิ่งหนึ่งที่คุณจะต้องจำเอาไว้ให้ดีก็คือ เราจะสามารถทำการซื้อ-ขายได้อย่างลื่นไหลที่สุด ก็ต่อเมื่อระบบนั้นตรงกับความเชื่อของเราเท่านั้น และนี่เองเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม ระบบการลงทุนของเราจึงควรจะดำเนินไปภายใต้แก่นแท้จากความเชื่อของเรา หรืออย่างน้อยมันก็ควรที่จะสะท้อนถึงตัวตนของเราออกมา ซึ่งจะทำให้เรามีความน่าจะเป็นที่มากกว่าในการที่จะสามารถใช้ระบบการลงทุนใดๆได้สม่ำเสมอเป็นอย่างดีในระยะยาวครับ
หนทางหนึ่งที่ง่ายที่สุดในการที่จะทำความเข้าใจหรือระบุความเชื่อของคุณออกมาได้นั้น ก็คือการฝึกเขียนมันออกมาทีละรายการๆไปเรื่อยนั่นเอง (ตรงนี้เป็นข้อดีของคนที่สามารถเขียนระบบด้วยตนเองบ่อยๆ) ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเชื่อว่าตลาดมีช่วงเวลาที่เป็นแนวโน้มอย่างชัดเจนอยู่ และคุณสามารถที่จะทำเงินก้อนใหญ่ได้จากมัน ก็เขียนมันออกมา หรือหากยังเชื่อว่าแนวโน้มที่ดีควรจะประกอบไปด้วยสภาวะ A, B, C, D ก็ค่อยๆเขียนมันออกมา ดังเช่นตัวอย่างด้านล่างนี้
{Entry}
1. เชื่อว่าตลาดต้องมีแนวโน้มใหญ่เกิดขึ้นอยู่เป็นพักๆ
2. เชื่อว่าเงินไม่ได้หายไปไหน แต่หมุนวนอยู่เป็นวัฐจักร จากกลุ่มนี้ไปกลุ่มนั้น หรือหมุนออกไปนอกตลาด
3. เชื่อว่าการสะท้อนถึงเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในหุ้นแต่ละกลุ่มแต่ละตัว จะสามารถสังเกตเห็นได้จาก A , B, C, D …etc. ไปเรื่อยๆ
{Exit}
4. เชื่อว่าแนวโน้มไม่ได้เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ต้องจบลงสักวัน
5. เชื่อว่าเม็ดเงินที่ไหลออกไปนั้น จะสะท้อนให้เราเห็นได้จาก E, F, G, H … etc. ไปเรื่อยๆ
{Money Management}
6. เชื่อว่าผลของการเทรดแต่ละครั้งคือความน่าจะเป็น
7. เชื่อว่าน้ำหนักการลงทุน (Position Size) ที่เหมาะสมในแต่ละครั้งที่เกิดสัญญาณควรจะเท่ากับ xyz% ของพอร์ทโดยรวม
8. xytafdas ……
เมื่อคุณได้เขียนมันออกมาเป็นข้อๆเหมือนกับตัวอย่างด้านบนแล้ว สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณระลึกและรู้ได้อย่างชัดเจนว่า ความเชื่อของคุณคืออะไร? และคุณควรที่จะใช้ระบบการลงทุนในรูปแบบไหน? และใช้มันอย่างไร? (เช่นถ้าเชื่อว่าแนวโน้มจะดำเนินไป จนกว่ามันจะหยุดหรือเปลี่ยนทิศ คุณก็ควรจะใช้กลยุทธ์แบบตามแนวโน้ม หรือ Trend Following แต่ถ้าเชื่อว่าเมื่อราคาวิ่งลงมากเกินไปจากจุดที่มันควรเป็น มันก็ควรจะต้องวิ่งกลับขึ้นมา คุณก็ควรที่จะใช้กลยุทธ์แบบชาวสวนหรือ Anti-Trend) รายละเอียดเหล่านี้จะมีผลเป็นอย่างมากกับทักษะและความลื่นไหลในการเล่นหุ้นหรือลงทุนของคุณ รวมไปถึงการนำความเชื่อเหล่านี้ไปทดสอบว่ามันสามารถใช้ได้ผลจริงๆหรือไม่ ดังนั้น คุณควรต้องเริ่มถามตัวเองอย่างจริงจังได้แล้วว่า …
จริงๆแล้วคุณเชื่อว่าตลาดหุ้นนี้เป็นอย่างไร? และความเชื่อของคุณเหล่านี้มันให้ผลตอบแทนคาดหวังที่เป็นบวกได้จริงๆหรือไม่ … อย่างไร … มากแค่ไหน … และตรงกับเป้าหมายที่คุณต้องการหรือไม่?
ดังนั้นก่อนที่จะมองหาระบบการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด หรือวิ่งตามหาเลียนแบบระบบเซียนคนโน้นคนนี อย่าลืมที่จะ “รู้เรา” ให้ดีก่อนเมื่ออยู่ในตลาดหุ้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน สำหรับวันนี้ขอจบเท่านี้ก่อน สวัสดีครับ