เรื่องของ “แนวโน้ม” โดย Ed Seykota
วันนี้ผมนำเอาบทความหุ้นชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นบทความในดวงใจผมตอนหนึ่งเลยทีเดียว โดยบทความนี้ถูกเขียนไว้โดย Ed Seykota เซียนหุ้นระดับโลกที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดีแล้ว โดยเขาได้พูดถึงคำว่า “แนวโน้ม” ที่เราทุกคนมักใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ว่าจริงๆแล้วมันคืออะไร และมันมีสิ่งที่เรียกว่า “แนวโน้ม ณ ขณะนี้” จริงๆหรือ? ซึ่งผมคิดว่าน่าจะช่วยให้เราตระหนักถึงการใช้มันได้อย่างเข้าใจได้มากยิ่งขึ้นครับ อยากให้ค่อยๆลองอ่านกันครับ ถ้าไม่เข้าใจอย่างไรก็ลองถามหรือจะพูดคุยกันเข้ามาได้นะครับ
“แนวโน้มคือเพื่อนของคุณ ยกเว้นแต่เมื่อมันวกกลับและจบลง”
นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่นั้นมีความเห็นตรงกันว่า พวกเขาชอบที่จะซื้อหุ้นที่แข็งแกร่ง แต่พวกเขากลับให้ความหมายของคำว่า “แข็งแกร่ง” ไม่ตรงกันเท่าไหร่นัก โดยการอ้างอิงจากเว็บไซท์ (พจนานุกรม) ต่างๆนั้นได้ให้ความหมายของมันไว้ดังนี้
– มีความแข็งแรง หรือมีพลังมากกว่าทั่วไป หรือมากกว่าที่ได้คาดเอาไว้
– มีศักยภาพ หรือมีอำนาจ หรืออำนาจที่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ
– มีความเหนียวแน่น สามารถที่จะทนทานต่อการถูกกระทำจากสิ่งต่างๆ
เราจะเห็นได้ว่า จากคำจำกัดความที่นำมาอ้างอิงเหล่านี้นั้น ไม่มีข้อใดเลยที่ดูเหมือนว่าจะเหมาะสมกับเรื่องของตลาดหุ้น, พันธบัตรหรือสัญญาล่วงหน้าต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมสักเท่าไรนัก เนื่องจากตราสารทางการเงินต่างๆนั้นไม่ได้มีกล้ามเนื้อ หรืออำนาจ หรือแม้กระทั่งมีสรีระที่สามารถจับต้องได้ ดังนั้น เมื่อนักเล่นหุ้นพูดถึงความ “แข็งแกร่ง” นั้น พวกเขาอาจกำลังหมายถึงมันในความหมายอื่น โดยสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้และเหมาะสมกับความหมายนั้นก็คือคำว่า “แนวโน้มที่เพิ่มขึ้น” นั่นเอง
การที่เรามักจะชอบใช้คำว่า “แข็งแกร่ง” มากกว่าคำว่า “แนวโน้ม” นั้น บางทีอาจเป็นผลมาจากความรู้สึกคุ้นเคยกับคำว่า “แข็งแกร่ง” จากสิ่งต่างๆมากกว่า แทนที่จะใช้คำว่า “แนวโน้ม” ซึ่งมันช่างดูจะเลือนรางและคลุมเครือเมื่อต้องนึกถึงมัน
“แนวโน้ม” คือ ความเบี่ยงเบน หรือความโน้มเอียงของข้อมูลในกลุ่มข้อมูลหนึ่ง โดยในการที่เราจะวัด “แนวโน้ม” ในทุกๆสิ่งๆทุกๆอย่างนั้น มันคือการอ่านค่า หรือนำเอาข้อมูลล่าสุดหรือปัจจุบัน (Current reading) และข้อมูลที่เป็นอดีตกว่า (Historical reading) มาทำการเปรียบเทียบกัน
ซึ่งหากว่าข้อมูลที่เป็นปัจจุบันกว่านั้น มีค่ามากกว่าข้อมูลในอดีต เราก็จะสามารถสรุปได้ว่า “แนวโน้ม” นั้นกำลังอยู่ในขาขึ้น (Up-Trend) แต่หากมันมีค่าน้อยกว่าเราจะสามารถสรุปได้ว่า “แนวโน้ม” นั้นกำลังอยู่ในขาลง (Down-Trend) แต่หากว่ามันมีค่าใกล้เคียงหรือเท่าๆกัน (ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้ยาก) เราก็จะสามารถสรุปได้ว่า “แนวโน้ม” กำลังอยู่ในภาวะเคลื่อนไหวออกด้านข้างนั่นเอง (Sideway)
ทิศทางของแนวโน้มที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราเลือกใช้ในการวัดและเปรียบเทียบด้วยเช่นกัน โดยในความเป็นจริงแล้ว ตราสารต่างๆนั้นมีการเคลื่อนไหวของมูลค่าอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่รายนาที รายวัน หรือแม้กระทั่งรายปี ผลก็คือ เราจึงเกิดจุดอ้างอิงในอดีตอย่างไม่จำกัดในการที่จะทำการเปรียบเทียบเพื่อหา “แนวโน้ม” ออกมา ดังนั้น เราจึงสามารถที่จะระบุถึง “แนวโน้ม” ที่เกิดขึ้น และทิศทางของมันได้อย่างไม่จำกัดเท่าที่เราต้องการเช่นกัน
ดังนี้แล้ว คำว่าแนวโน้ม (ที่เป็นมาตรฐาน) จึงไม่ได้มีอยู่จริง เนื่องจากมันมี “แนวโน้ม” อยู่มากมายนับไม่ถ้วน โดยขึ้นอยู่กับว่า เราใช้วิธีการอย่างไรในการที่จะวัดและเปรียบเทียบ “แนวโน้ม” นั้นออกมา โดยคนส่วนใหญ่นั้นก็มักที่จะเลือกวิธีการวัดและเปรียบเทียบที่ตนเองถนัดและเหมาะสมกับตนเอง หรือตรงกับความเชื่อของเขานั่นเอง
จะเห็นได้ว่า วิธีการต่างๆในการที่จะใช้เพื่อระบุถึง “แนวโน้ม” ออกมานั้น คือการเปรียบเทียบจากจุดที่เราต้องการจะอ้างอิงในอดีต ดังนั้น ทุกๆ “แนวโน้ม” ที่เราวัดได้นั้นจึงเป็นเพียง “อดีต” เท่านั้น และไม่มีสิ่งที่เป็น “ปัจจุบัน” และ เรานั้นไม่มีทางที่จะหา “แนวโน้ม” ที่เป็นปัจจุบันออกมาได้ หรือแม้กระทั่งระบุและให้ความหมายว่า “แนวโน้มปัจจุบัน” (Current Trend) คืออะไร ที่เราทำได้ก็เพียงแค่หา “แนวโน้มของอดีต” (Historical Trend) เท่านั้น
หนทางเดียวที่เราพอจะสามารถวัดเอา “แนวโน้ม ณ จุดเวลาของปัจจุบัน” (Now Trend) ออกมาได้นั้น คือการนำข้อมูลสองชนิด ซึ่งอยู่ในจุดเวลาเดียวกัน มาหาความแตกต่างระหว่างกันออกมา และเราจะเห็นได้ว่า “การเคลื่อนไหว” (Motion), อัตราความเร็ว (Velocity) และแนวโน้มต่างๆนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน เพราะพวกมันไม่สามารถวัดได้จากจุดอ้างอิงเพียงจุดเดียวนั่นเอง เราจึงสามารถสรุปได้ว่า “แนวโน้ม” ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีอยู่จริงในช่วงขณะของปัจจุบัน และคำว่า “แนวโน้ม” (The Trend) ที่เราพูดถึงกันทั่วๆไปนั้น ไม่ได้มีอยู่จริงๆเลย เพราะเมื่อเราพูดถึงคำว่า “แนวโน้ม” ขึ้นมานั้น เรากำลังพูดจากการที่เรามองย้อนกลับไปในอดีตนั่นเอง
จำไว้ให้ดีว่า “แนวโน้มปัจจุบัน” (Current Trend) นั้น ไม่ได้มีอยู่จริง และเมื่อเราพูดถึง “แนวโน้ม” ที่เกิดขึ้น เรากำลังพูดจากการวัดและการนิยามความหมายของมันจากตัวของเราเอง
เมื่อคุณได้เข้าใจมันแล้วว่า “แนวโน้ม” คืออะไร เราจึงจะสามารถที่จะพูดถึงวิธีการที่จะนำมาใช้ระบุหรือคำนวณ และใช้ประโยชน์จาก “แนวโน้ม” ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง