อะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อคุณมีอคติในการที่จะต้อง “ถูกต้อง” อยู่เสมอ?
เมื่อคุณต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอนั้น สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ คุณจะรีบขายทำกำไรอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคุณกำลังเริ่มมีกำไรจากการลงทุนของคุณ ราคาของมันได้วิ่งขึ้นติดกันถึง 3 วันแล้ว และนี่ทำให้คุณมีกำไรขึ้นมาถึง 500 ดอลลาร์ในทันที แต่เมื่อเข้าสู่วันที่ 4 นั้น กำไรของคุณกลับลดลงไปประมาณ 150 ดอลลาร์ หรือเท่ากับว่าในขณะนี้ คุณมีกำไรเหลืออยู่เพียง 350 ดอลลาร์เท่านั้น คุณจึงเริ่มบอกกับตัวเองว่า “ฉันน่าจะรีบขายมันซะ เพราะราคาของมันอาจจะร่วงลงไป และนั่นจะทำให้ฉันไม่เหลือกำไรอีกเลยก็ได้” — คุณกำลังทำอะไรอยู่น่ะหรือ? สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คุณกำลัง “ตัดกำไรอย่างรวดเร็ว” ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับกฏทองของการลงทุน ซึ่งบอกให้คุณ “ปล่อยให้กำไรวิ่งต่อไป” นั่นเอง
เอาล่ะ ในคราวนี้ เราลองมาดูสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในทางตรงกันข้ามกันบ้าง สมมุติว่าคุณเข้าซื้อหุ้นราคา 50 ดอลลาร์เป็นจำนวน 100 หุ้น และคุณเป็นนักเล่นหุ้นที่ดี คุณจึงตัดสินใจที่จะตัดขาดทุน หากราคาของมันร่วงลงมาถึง 45 ดอลลาร์/หุ้น ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คุณยอมเสี่ยงเงิน 500 ดอลลาร์จากเงิน 5,000 ดอลลาร์ที่คุณทำการลงทุนไปนั่นเอง
แล้วอะไรคือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อราคาของหุ้นตกลงไปที่ 45 ดอลลาร์/หุ้นนะหรือ? คุณก็มักที่จะคิดขึ้นมาว่า “ถ้าฉันขายมันในตอนนี้ มันอาจจะวิ่งขึ้นในวันถัดไปก็ได้ นั่นจะทำให้ฉันเสียเงิน 500 ดอลลาร์ไปฟรีๆ ฉันน่าจะรอไปอีกสักวันสองวัน เผื่อว่าหุ้นจะวิ่งกลับขึ้นไปดีกว่า” แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นในอีกวันสองวันต่อมาก็คือ ราคาของหุ้นกลับร่วงลงไปอีกที่ 41 ดอลลาร์/หุ้น และนั่นทำให้คุณเกิดการขาดทุนขึ้นทั้งหมดถึง 900 ดอลลาร์เลยทีเดียว และหากว่าการตัดขาดทุนที่ 500 ดอลลาร์ในครั้งแรกถือเป็นเรื่องยากสำหรับคุณแล้วล่ะก็ มันก็มักที่จะยากกว่ามากมาย ในการที่คุณจะต้องตัดขาดทุนถึง 900 ดอลลาร์ในครั้งที่สอง แล้วอะไรที่มักจะเกิดขึ้นต่อไปกับคุณล่ะ? คุณก็มักที่จะพูดกับตัวเองว่า “ฉันว่านี่จะต้องเป็นช่วงราคาที่ต่ำที่สุดของมันแน่ๆ จริงๆแล้วฉันน่าที่จะซื้อมันที่ราคา 41 ดอลลาร์แทนที่จะเป็นที่ราคา 50 ดอลลาร์ในวันก่อน และคนอื่นก็คงจะรู้อย่างนี้ด้วยเช่นกัน ฉันไม่ควรขายมันแล้วล่ะ” และนี่ทำให้คุณตัดสินใจที่จะไม่ขายมันทิ้งไปนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในอาทิตย์ต่อมานั้น ราคาหุ้นก็กลับตกลงไปอีกถึงราคา 29 ดอลลาร์/หุ้น แล้วอะไรคือสิ่งที่คุณมักจะทำล่ะ? ในขณะนี้คุณขาดทุนถึง 2,100 ดอลลาร์แล้ว และหากว่ามันยากสำหรับคุณในการที่จะตัดขาดทุนที่ 500 ดอลลาร์ มันก็มักที่จะยากกว่าอีกมากมายในการที่จะตัดขาดทุนที่ 2,100 ดอลลาร์เช่นกัน หรือพูดอีกอย่างก็คือ เป็นไปไม่ได้เลยนั่นเอง และนี่อาจทำให้คุณพูดกับตัวเองอีกครั้งว่า “มันไกล้จะจบแล้วล่ะ เดี๋ยวราคาก็คงวิ่งกลับขึ้นไป ฉันน่าจะปล่อยมันไว้ตรงนี้สักปีสองปีดีกว่า อีกอย่าง ราคาหุ้นที่ 29 ดอลลาร์ตรงนี้มันถูกมากๆ ฉันน่าจะปล่อยมันเอาไว้ แล้วถือยาวเสียเลย”
หลังจากนั้นอีก 3 ปีต่อมา ราคาหุ้นของคุณกลับซื้อ-ขายกันอยู่ที่ราคาเพียงแค่ 25 เซนท์/หุ้นเท่านั้น นี่ทำให้คุณขาดทุนถึง 4,975 ดอลลาร์เลยทีเดียว เหตุเพียงเพราะคุณกลายเป็นนักลงทุน “จำเป็น” โดยเฝ้าหวังและรอคอยว่าสักวันหนึ่ง สิ่งที่คุณคิดจะกลับกลายมาเป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง” นั่นเอง
ทำไมความที่จะต้อง “ถูกต้อง” จึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญเหลือเกิน?
มีเหตุผลเบื้องหลังหลักๆอยู่ 2 อย่าง ที่ทำให้เราให้ความสนใจอย่างมาก ไปที่ความต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อย่างแรกก็คือ เราถูกสั่งสอนและวางเงื่อนไข จากระบบการศึกษาตั้งแต่เด็ก ในระบบของการเรียนนั้น คุณจะถูกสอนว่ามีคำตอบที่ “ถูก” หรือ “ผิด” เท่านั้น… แล้วอะไรคือคำตอบที่ถูกต้องน่ะหรือ? คำตอบก็คือ หากคุณต้องการที่จะเอาตัวรอดในการเรียนแล้วล่ะก็ สิ่งที่ “ถูก” ก็คือสิ่งที่ตรงกับสิ่งที่ครูของคุณได้สอนเอาไว้นั่นเอง
นอกจากนี้ ผลการเรียนของคุณยังถูกวัดผลเป็นช่วงๆ จากการสอบโดยวิธีการที่ให้คุณเลือกว่าคำตอบไหน “ถูก” หรือ “ผิด” และหากคุณไม่สามารถเลือกคำตอบที่ “ถูก” ได้เกินกว่า 70% แล้วล่ะก็ คุณก็จะถูกระบุว่าสอบตก หรือเป็นนักเรียนที่ใช้ไม่ได้นั่นเอง ปมในใจเหล่านี้ของคุณ อาจกลายเป็นสิ่งที่ถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนก็เป็นได้ ถ้าไม่ใช่กับเพื่อนของคุณ ก็อาจจะเป็นในสักที่หนึ่ง หลังจากนั้น ผลการเรียนของคุณก็จะติดตัวคุณกลับบ้านไป ในรูปแบบของเกรดหรือระดับผลการศึกษา พร้อมกับคำติชมของอาจารย์ต่อท้าย เช่นว่า “Johnny เป็นคนเรียนรู้ได้ช้า (หรืออาจฉลาดแต่ไม่ขยัน)” และเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น มันก็มักที่จะมีคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และนั่นก็คือพ่อแม่ของคุณเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคุณจะเข้าใจระบบการเรียนเป็นอย่างดี และพยายามที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้คำตอบนั้น “ถูกต้อง” อยู่เสมอ แต่คุณก็อาจถูกมองว่าผลการเรียนของคุณยังไม่ดีนัก เพราะส่วนใหญ่แล้วคุณอาจต้องทำคะแนนถึง 94% เพื่อที่จะได้เกรดที่ยอดเยี่ยม แต่ลองคิดดูว่า มีเด็กกี่คนที่มักจะถูกพูดกลับมาจากพ่อแม่ของเขาว่า “แล้วทำไมไม่ทำให้ได้ 100% ไปเลยล่ะ?”
ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่นักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนส่วนใหญ่ จึงต้องการที่จะทำสิ่งต่างๆได้ “ถูกต้อง” อยู่ตลอดเวลา และความพยายามที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอนั้น ก็มักที่จะกลายเป็นต้นทุนที่แสนแพงสำหรับพวกเขาเหล่านี้ และไม่ว่าคุณจะใช้เวลาในชีวิตของการเรียนถึง 20 ปีเพื่อที่จะได้เกรดดีๆ หรือแม้ว่ามันจะน้อยกว่า 10 ปีก็ตาม แต่มันก็มักจะทำให้คุณถูกวางเงื่อนไข จากระบบการศึกษาที่บ่มเพราะให้คุณต้องการ “ถูก” อยู่เสมอนั่นเอง
เหตุผลประการที่สอง ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอก็เนื่องจากว่า เหล่าผู้ให้บริการต่างๆในวงการการเงินนั้น มักที่จะพยายามพูดถึง หรือให้ความสำคัญกับความแม่นยำหรือ “ถูกต้อง” อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น Software ต่างๆที่ช่วยในการเล่นหุ้นหรือลงทุนนั้น ก็มักที่จะถูกผลิตออกมาในรูปแบบที่ช่วยให้คุณสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการลงทุนของคุณได้อย่างมากมาย โดยที่แนวคิดก็คือ เมื่อคุณได้ปรับปรุงระบบการลงทุนของคุณ โดยการวางเส้นต่างๆไปบนกราฟราคาหุ้นแล้ว (ซึ่งจะช่วยบอกถึงจุดซื้อ-ขายของคุณ) มันสามารถที่จะช่วยให้คุณมีความแม่นยำในการซื้อ-ขายของคุณมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การพยายามปรับเปลี่ยนระบบไปเรื่อยๆของคุณเช่นนี้ ก็มักที่จะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ เมื่อถูกนำมาใช้จริงๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็ยังสามารถดึงความสนใจของผู้คนได้อย่างมากมาย เพราะมันสามารถตอบสนองความต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอของพวกเราได้นั่นเอง
ผมเคยทำการโฆษณาเกี่ยวกับคอร์สการอบรม เกี่ยวกับการสร้างระบบการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล (How To Develop a Trading System That Fits You) โดยมีแนวคิดมากจากการที่ว่า นักเก็งกำไรชั้นนำระดับโลกทุกคนนั้น สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นขึ้นมาได้ ก็เนื่องจากพวกเขาสามารถที่จะพัฒนาระบบการลงทุน ที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพและความเชื่อของพวกเขาออกมาได้ โดยที่การอบรมของเรานั้น ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสอนให้รู้ถึงวิธีการ ที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้… เอาล่ะ! คุณอาจจะคิดว่ามันน่าจะเป็นที่สนใจของหลายๆคน จริงไหม? แต่เมื่อมันถูกเปรียบเทียบกับหัวข้อการอบรมของใครบางคน ที่โฆษณาว่าเขาได้ทำการพัฒนาระบบการลงทุน ซึ่งสามารถให้ความแม่นยำกว่า 85% ออกมาได้ อะไรคือสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจกว่ากัน? — ระหว่างเข้าอบรมการพัฒนาระบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง หรือการเข้าอบรมการใช้ระบบการลงทุนซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า 85%? แน่นอนว่าสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว พวกเขามักที่จะสนใจกับระบบการลงทุนที่น่าเหลือเชื่อแบบนั้นมากกว่า ทำไมน่ะหรือ? เพราะคนส่วนใหญ่มีอคติ ที่ต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอ และระบบการลงทุนที่มีความแม่นยำสูงนั้น ก็สามารถที่จะช่วยตอบโจทย์พวกเขาได้เป็นอย่างดี
แนวทางการแก้ไข : การมองไปที่ “กำไรคาดหวัง หรือ Expectancy”
ในการที่คุณจะสามารถอยู่รอดในการเก็งกำไรต่างๆได้นั้น คุณต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงแนวคิดของ “กำไรคาดหวัง หรือ Expectancy” เป็นอย่างดี โดยที่แนวคิดก็คือ ในทุกๆการซื้อ-ขายของคุณนั้น ควรที่จะต้องมีจุดที่ถูกกำหนดเอาไว้เพื่อทำการขายตัดขาดทุน (จุดที่บอกกับคุณว่า คุณได้คิดผิดไป และสมควรที่จะถอยหลังออกมา) โดยที่เราจะกำหนดมันไว้ ว่ามันคือความเสี่ยง (Risk) ที่แย่ที่สุดที่เราอาจเจอ และเรียกมันสั้นๆว่าค่า “R” ยกตัวอย่างเช่น หากว่าคุณต้องทำการตัดขาดทุนออกมา ในกรณีแย่ที่สุดคุณจะเสียเงิน 100 ดอลลาร์ เราจะเรียกการขาดทุน 100 ดอลลาร์นี้ว่า “1R” นั่นเอง
เมื่อคุณเข้าใจแนวคิดนี้แล้ว (ค่า “R”) คุณก็สามารถที่จะนำผลกำไรขาดทุนทั้งหมด มาทำให้อยู่ในรูปแบบของค่า “R” ออกมาได้ โดยเราจะเรียกมันว่าค่าผลคูณจากความเสี่ยงเริ่มต้น หรือค่า “R-Multiple” นั่นเอง โดยในตารางที่ 1 คือผลของการนำผลกำไร-ขาดทุนที่เกิดขึ้น มาเปลี่ยนแปลงให้เป็นค่า R-Multiples
ตารางที่1: ผลกำไรขาดทุนในรูปแบบของ R-Multiples
ความเสี่ยงเริ่มต้น (Initial Risk) | ผลกำไร-ขาดทุน | R-Multiples |
$100 | -$100 | -1R |
$100 | -$100 | -1R |
$100 | -$100 | -1R |
$100 | -$100 | -1R |
$100 | -$100 | -1R |
$100 | -$100 | -1R |
$100 | -$100 | -1R |
$100 | -$100 | -1R |
$100 | -$100 | -1R |
$100 | +$2,000 | +20R |
ผลรวม | +$1,100 | +11R |
ค่าเฉลี่ย | +$110 per trade | +1.1R/Trade |
มีหลายสิ่งที่น่าสนใจในอยู่ในตารางนี้ อย่างแรกก็คือ 90% ของผลการซื้อ-ขายนั้นเกิดการขาดทุน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราควบคุมมันไว้ที่เพียงครั้งละ ดอลลาร์เท่านั้น อย่างที่สองก็คือ เราได้กำไรเพียงครั้งเดียว แต่เป็นกำไรถึง 2,000 ดอลลาร์ หรือเทียบเท่ากับ 20 เท่าของความเสี่ยงเริ่มต้นที่เรากำหนดเอาไว้ ผลรวมที่ออกมาจึงทำให้เราได้กำไรสุทธิ 1,100 ดอลลาร์ภายในการซื้อ-ขายทั้งหมด 10 ครั้ง ถึงแม้ว่าเราจะขาดทุนไปถึง 9 ครั้งก็ตาม
คุณจะสังเกตุได้ว่า เราสามารถที่จะแปลงผลกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้น ให้กลายเป็นผลคูณของค่าความเสี่ยงเริ่มต้น (R) ขึ้นมาได้ และเมื่อเราทำอย่างนั้น เราจะสังเกตุได้ว่า ผลกำไรโดยเฉลี่ยในการซื้อ-ขายทั้งหมด 10 ครั้งนั้น จะเท่ากับ 1.1R และนี่คือสิ่งที่เรียกว่าค่า “กำไรคาดหวัง หรือ Expectancy” จากระบบการลงทุนของเรา ซึ่งบอกกับเราว่า ถึงแม้ว่าเราจะขาดทุนถึง 90% ในการซื้อ-ขาย แต่เราก็ยังมี Expectancy ที่เป็นบวกอยู่นั่นเอง
ดังนั้น เมื่อคุณมองไปที่ระบบการลงทุนใดๆก็ตาม คุณควรที่จะมองผลกำไร-ขาดทุนที่เกิดขึ้นของมัน ในแง่ของค่า “R-Multiples” แทน ซึ่งเมื่อคุณสามารถทำได้อย่างนั้น จงถามตัวคุณเองว่า “ค่าเฉลี่ยของค่า R ที่เกิดขึ้นจากระบบนี้ (Expectancy) อยู่ที่เท่าไหร่?” โดยหากว่ามันมีค่าที่เป็นบวก นั่นแปลว่าระบบการลงทุนที่คุณกำลังวิเคราะห์อยู่นั้นอาจจะสามารถทำกำไรในระยะยาวให้คุณได้นั่นเอง และยิ่งหากว่ามันให้ค่า Expectancy ที่เป็นบวกมากๆ และให้สัญญาณบ่อยครั้งมากเท่าใด นี่จะเป็นสิ่งที่บอกว่า ระบบการลงทุนนั้นๆ จะให้ผลตอบแทนเป็นอย่างมากภายใต้การซื้อ-ขายเป็นจำนวนหนึ่ง (Large number of Trades) และนี่คือวิธีคิด ที่จะทำให้คุณหลุดออกมาจากอคติของความต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอนั่นเอง
สำหรับบทความนี้ก็จบเพียงเท่านี้นะครับ ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง หรือเคยย้อนมองดูตัวเองบ้างไหมว่า เราควบคุมการขาดทุนเอาไว้ที่กี่ “R” หรือเราสามารถควบคุมให้ค่า “R” ที่ออกมาในแต่ละครั้งออกมาไกล้เคียงกับที่เราวางแผนไว้ได้แค่ไหน? หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคนนะครับ :D