fbpx
วิธีการเล่นหุ้นและวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค

Buffett’s Alpha : เผยความลับในการเอาชนะตลาดหุ้นของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

Buffett’s alpha : วอร์เรน บัฟเฟตต์ สามารถสร้างผลตอบแทนของเขาได้อย่างไร!?

อะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สามารถเอาชนะตลาดหุ้นมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี และผลตอบแทนของเขามาจากการเป็นนักลงทุนผู้เก่งกาจ หรือความเป็นนักธุรกิจที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถกันแน่!?

ในวันนี้เราจะมาหาคำตอบกันจากสุดยอดผลงานวิจัยที่ชื่อว่า Buffett’s Alpha กัน ซึ่งมันจะเปิดเผยให้เราเห็นถึงความลับต่างๆในการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์จับต้องได้กันครับ!!

Buffett’s Alpha บทพิสูจน์กลยุทธ์การลงทุนของบัฟเฟตต์

แน่นอนครับว่าในอดีตที่ผ่านมามีหนังสือและบทความมากมายที่พยายามจะถอดรหัสวิธีการลงทุนของบัฟเฟตต์เอาไว้กันมานักต่อนัก อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปส่วนใหญ่ของพวกมันมักเกิดขึ้นจากวิจารณญาณส่วนตัว, ข้อสังเกตส่วนบุคคล หรือความเชื่อเกี่ยวกับบัฟเฟตต์ที่ถ่ายทอดต่อๆกันมากันแทบทั้งสิ้น นั่นจึงทำให้เราขาดหลักฐานที่จะชี้ชัดได้ว่าบัฟเฟตต์ทำมันได้อย่างไรอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้

ข่าวดีก็คือ … ในที่สุดเมื่อปลายปี 2013 ที่ผ่านมานั้น นักวิชาการและนักลงทุนเชิงปริมาณหรือที่เรามักเรียกกันว่า Quants นำโดยคุณ Andrea Frazzini, David Kabiller และ Lasse Heje Pederson ได้พยายามที่จะหาคำตอบและสามารถพิสูจน์มันออกมา ด้วยการเก็บข้อมูลและทำการจำลองรวมถึงวิเคราะห์ผลทางสถิติย้อนหลังออกมาจนๆได้ในที่สุด!

โดยนอกจากที่งานวิจัยชิ้นนี้จะได้ให้คำตอบกับเราว่าอะไรคือตัวแปรสำคัญที่สามารถช่วยอธิบายถึงลักษณะผลตอบแทนและราคาหุ้นของบัฟเฟตต์ได้แล้วนั้น มันยังช่วยให้เราได้ทราบอย่างชัดเจนว่าเขามีเคล็ดลับอย่างไรในการเร่งการเติบโตของกลยุทธ์การลงทุน (ที่ดีอยู่แล้ว) ให้เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็วขึ้นไปอีก นอกจากนั้นแล้ว มันก็ยังได้ทำการพิสูจน์เปรียบเทียบออกมาอีกด้วยว่าอะไรคือความสามารถหลักที่ทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นตำนานเช่นนี้ออกมาได้อย่างยั่งยืนและยาวนานอีกด้วย

และสิ่งที่ทุกคนกำลังจะได้อ่านกันต่อไปนี้ก็คือเนื้อหาที่ผมได้พยายามสรุปออกมาให้กระชับและได้ใจความที่สุด จากงานวิจัยที่ชื่อว่า Buffett’s Alpha ครับ ส่วนใครอยากอ่านงานวิจัยชิ้นนี้เต็มๆ สามารถเลื่อนลงไปดู PDF ฉบับเต็มได้ที่เนื้อหาด้านล่างสุดของบทความเลยครับ!

Andrea Frazzini

ภาพ : แอนเดีย ฟราซซินี่ (Andrea Frazzini) นักลงทุนเชิง Quant จากกองทุน AQR Capital Management ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย Buffett’s Alpha ที่เราจะได้อ่านกัน (ปล. ผมไม่ได้ตั้งใจตัดผมตามเฮียแกนะครับ ฮ่าๆ)

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผลตอบแทนของบัฟเฟตต์ จากผลงานวิจัยชิ้นนี้

    • หากคุณลงทุนกับ บัฟเฟตต์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 ด้วยเงิน 1 เหรียญ ในปี ค.ศ. 2011 คุณจะมีเงินถึง 1,500 เหรียญ เลยทีเดียว
    • ผลตอบแทนส่วนเกินจาก T-Bill โดยเฉลี่ย ของบัฟเฟตต์อยู่ที่ราว 19% ต่อปี
    • ผลตอบแทนส่วนเกินจากตลาดหุ้นโดยเฉลี่ย ของบัฟเฟตต์อยู่ที่ราว 6.1% ต่อปี
    • ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงหรือ Sharpe Ratio ของบัฟเฟตต์อยู่ที่ 0.76 เท่า ซึ่งดีกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นอเมริกาที่ 0.36 เกือบ 2 เท่า
    • เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนของหุ้น Berkshire ของบัฟเฟตต์ กับหุ้นทุกตัวในตลาด รวมไปถึงกองทุนรวมของอเมริกาที่มีอายุยาวนานกว่า 30 ขึ้นไปจะพบว่า หุ้น Berkshire ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด และถ้าย้อนเวลาได้มันก็คือหุ้นที่คุณควรกลับไปซื้อที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย
    • บัฟเฟตต์เคยแพ้ตลาดเช่นกัน โดยมีส่วนต่างที่กว้างถึงกว่า 76% เมื่อหุ้นของเขาให้ผลตอบแทนติดลบราว 44% ในขณะที่ตลาดหุ้นวิ่งขึ้นไปกว่า 32% ในช่วงปี ค.ศ. 1998-2000 ดังนั้นคุณจึงไม่ใช่คนเดียวที่เคยแพ้ตลาดในระยะสั้นๆอย่างแน่นอน และนี่ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าทำไมคุณจึงควรยึดมั่นในกลยุทธ์การลงทุนของคุณให้ได้อย่างยาวนานมากที่สุดนั่นเองครับ

วอร์เรน บัฟเฟตต์ คือหนามยอกอกของทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ

สำหรับเนื้อหาหลักๆในงานวิจัยชิ้นนี้นั้น ประเด็นแรกเลยที่งานวิจัยชิ้นนี้ได้เน้นย้ำออกมาก็คือ “ตลาดนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา” และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ไม่ใช่นักลงทุนผู้โชคดีเพียงคนเดียว เพราะสิ่งที่เขาทำได้นั้นไม่ใช่เรื่องบัญเอิญที่เกิดขึ้นกับเขาคนเดียวเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นกับนักลงทุนเชิงคุณค่าอีกหลายคน (Value Investor) รวมไปถึงผลตอบแทนของระบบการลงทุนเชิงคุณค่าที่ได้ลอกเลียนแบบสไตล์การลงทุนของ บัฟเฟตต์ อีกด้วย! โดยที่งานวิจัยได้พยายามชี้ให้เห็นว่า

  • กลุ่มของนักลงทุนที่สามารถทำตามคำสอนและกลยุทธ์ของ เบนจามิน เกรแฮม และ เดวิด ดอดจ์ (อาจารย์ของ บัฟเฟตต์) ได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอนั้น ก็สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่มีลักษณะคล้ายกับบัฟเฟตต์ออกมาได้เช่นเดียวกัน
  • หุ้นที่มีลักษณะ (Characteristic) ไปในทางเดียวกันกับหุ้นที่บัฟเฟตต์เลือกซื้อนั้น โดยเฉลี่ยแล้วก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่หุ้นที่ บัฟเฟตต์ เลือกซื้อเท่านั้น
  • ลักษณะของผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากระบบการลงทุน (Quantitative Investing System) ที่ลอกเลียนแบบสไตล์การลงทุนของ บัฟเฟตต์ สามารถที่จะเอาชนะตลาดหุ้นได้เช่นกัน และยังให้ลักษณะของผลตอบแทนที่คล้ายกับบัฟเฟตต์ออกมาด้วย
  • ผลตอบแทนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ คือหลักฐานเชิงประจักษ์ชั้นดีว่ากลยุทธ์ที่ เกรแฮม และ ดอดจ์ ได้เผยแพร่ออกมานั้น เป็นสิ่งที่ใช้ได้จริงเหนือกาลเวลา ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ดูดีแค่ในกระดาษจากผลการค้นคว้าหรือทดสอบย้อนหลังในฐานข้อมูลเดิมๆของพวกเขาเท่านั้น (Out-of-Sample Result) ซึ่งตรงกับคำพูดของ บัฟเฟตต์ที่ว่า

เบน เกรแฮม ได้สอนผมมากว่า 45 ปีที่แล้วว่า ในการลงทุนนั้นคุณไม่จำเป็นที่จะต้องทำสิ่งที่พิเศษ เพื่อที่จะสร้างผลตอบที่สุดวิเศษออกมาเลย – วอร์เรน บัฟเฟตต์

ความปลอดภัย, ราคาที่ถูก และกิจการที่ดี คือตัวแปรหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนผลตอบแทนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

เป็นที่รู้กันดีว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ นั้นสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ชนะตลาดมาได้อย่างยาวนาน ซึ่งมันช่างขัดแย้งกับทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ (EMH) เหลือเกิน! นอกจากนี้แล้วตัวแปรต่างๆที่บรรดานักวิชาการสาย EMH พยายามนำมาใช้อธิบายผลตอบแทนของหุ้นต่างๆในตลาดก็ไม่สามารถที่จะอธิบายลักษณะผลตอบแทนของ บัฟเฟตต์ ได้เช่นเดียวกันด้วย

ซึ่งจากข้อมูลในงานวิจัยนั้น พวกเขาได้พบว่าตัวแปรมาตรฐานต่างๆที่มักถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายการเคลื่อนไหวและผลตอบแทนของราคาหุ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ขนาดกิจการ (Size), มูลค่า (Value) และแนวโน้ม (Momentum) ของหุ้นตัวนั้นๆ ก็ยังไม่สามารถที่จะอธิบายผลตอบแทนของบัฟเฟตต์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติได้ดีสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขาได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลลัพธ์กับตัวแปรอื่นต่างๆเพิ่มเติมนั้น พวกเขาได้พบว่าตัวแปรสำคัญที่สามารถจะอธิบายถึงลักษณะผลตอบแทนของ บัฟเฟตต์ ออกมาก็คือ

    • Safe : ความปลอดภัย หรือความผันผวนของหุ้นที่ต่ำกว่าตลาด โดยพวกเขาได้พบว่า บัฟเฟตต์ มักเลือกซื้อหุ้นที่มีความผันผวนที่ต่ำกว่าตลาดอยู่เสมอ (เช่น Low Volatility or Low Beta)
    • Cheap : ราคาที่ถูก หรือ ส่วนต่างของราคากับมูลค่าของหุ้นในขณะนั้น โดยพวกเขาได้พบว่า มักเลือกซื้อหุ้นในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าอยู่เสมอ (เช่น Low Value or Low Price-to-Book Ratio)
    • Quality : กิจการที่ดี หรือ ความสม่ำเสมอของผลกำไร อัตราการเติบโต และอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูง (Payout Ratio) โดยพวกเขาได้พบว่า บัฟเฟตต์ มักเลือกซื้อหุ้นที่มีคุณภาพของกิจการที่ดีอยู่เสมอ

นอกจากนี้แล้วสิ่งที่น่าสนใจก็คืองานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า บัฟเฟตต์ มักซื้อหุ้นที่มีขนาดเล็กในอดีต แต่ซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งเหตุผลก็น่าจะเกิดขึ้นจากเม็ดเงินในการลงทุนที่มากขึ้น (Portfolio Size) โดยมีผลทำให้ความสามารถในการทำกำไรของเขาลดลงตามลำดับ (พอร์ทใหญ่เกิน) และเมื่อดูที่ผลจากค่าสถิติจากตัวแปรเรื่อง Momentum แล้วเราจะพบว่า บัฟเฟตต์ นั้นซื้อหุ้นโดยไม่สนใจแนวโน้มของตลาดเลยจริงๆ และนั่นหมายความว่า ไม่ว่าหุ้นจะลงหรือแม้แต่กำลังวิ่งขึ้นไปมากสักเท่าไหร่ เขาก็ไม่สนใจหากว่าเขาคิดว่าราคาของมันยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนรายย่อยหลายๆคนอาจไม่สามารถทำอย่าง บัฟเฟตต์ ได้เลย เนื่องการกระทำเช่นนี้ได้นั้นมักจะขัดกับความรู้สึกจนเกินไปนั่นเอง

สูตรลับเร่งผลตอบแทนสไตล์ วอร์เรน บัฟเฟตต์

เมื่อพูดถึงสไตล์การลงทุนของ บัฟเฟตต์ นั้น ถึงแม้จะเป็นที่รู้กันดีว่ากลยุทธ์การทำกำไรของ บัฟเฟตต์ นั้นจะเอนเอียงไปในรูปแบบของการลงทุนเน้นคุณค่าที่เน้นความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม บัฟเฟตต์ ก็สามารถหาหนทางที่จะเพิ่มระดับของผลตอบแทนขึ้นมาได้ด้วยการใช้ Leverage หรือในภาษาชาวบ้านก็คือการกู้ยืมเงินมาลงทุนเพิ่มนั่นเอง โดยที่ผลงานวิจัยพบว่า บัฟเฟตต์ ใช้ Leverage โดยเฉลี่ยในการลงทุนของเขาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมากว่า 1.6 เท่า ของเงินทุนเลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุที่เขาสามารถทำมันได้ก็เนื่องมาจากการเข้าถือหุ้นของ Berkshire Hathaway และธุรกิจต่างๆนอกตลาดหุ้นของเขา!

โดยจากการเก็บข้อมูลย้อนหลังนั้นพบว่า บัฟเฟตต์ ใช้ประโยชน์จากสภาพคล่องหรือเงินกู้ยืมล่วงหน้าที่ได้จากธุรกิจประกันของ Berkshire Hathaway รวมถึงธุรกิจนอกตลาดอื่นๆมาใช้เป็น Leverage ในการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือเมื่อมองย้อนกลับไปนั้น เขาได้ค่อยๆเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัทนอกตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากราว 20% ในช่วงปี ค.ศ. 1980 กลายเป็นกว่า 80% ในปี ค.ศ 2011 ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยในการถือหุ้นนอกตลาดที่ราว 63% เลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วสิ่งที่นักลงทุนหลายๆคนไม่รู้ก็คือ เขาสามารถสร้างรายได้จากการขายสัญญาอนุพันธ์ต่างๆที่เกียวข้องกับหุ้น Berkshire ได้อย่างสม่ำเสมออีกด้วย

สิ่งต่างๆเหล่านี้คือสูตรลับฉบับ บัฟเฟตต์ ในการเริ่งผลตอบแทนให้มากขึ้นอย่างที่ยากจะมีใครสามารถทำได้เหมือน เพราะน้อยคนนักที่จะมีขีดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการกู้ยืมเพื่อมาลงทุนในตลาดเพิ่มเติมอย่างเขาได้ มิหนำซ้ำแล้วมันก็ยังไม่มีใครที่จะสามารถยืนหยัดอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการกองทุน จากการแบกรับความเสี่ยงและความผันผวนขนาดนี้ได้อย่างยาวนานอีกด้วย (ส่วนใหญ่แล้วหากมูลค่ากองทุนลดลง หรือพอร์ทการลงทุนไม่เติบโตสักปีสองปีแล้วล่ะก็ พวกเขาก็มักที่จะโดนไล่ออกหรือเปลี่ยนตำแหน่งไปก่อนแล้ว)

ซึ่งด้วยชื่อเสี่ยงส่วนตัวของ บัฟเฟตต์ เอง, โครงสร้างทางธุรกิจ และโครงสร้างการบริหารการลงทุนในลักษณะนี้จึงทำให้ เขาสามารถที่จะดำเนินกลยุทธ์การลงทุนของเขาภายใต้การใช้ Leverage ที่สูงโดยเฉลี่ยถึงราวๆ 1.6 เท่า มาได้อย่างยาวนานถึงกว่า 40 ปี จนสามารถกลายเป็นมหาเศรษฐีของโลกได้นั่นเอง

วอร์เรน บัฟเฟตต์ คือนักวิเคราะห์หุ้นชั้นเซียน

สำหรับคำถามที่ว่าเขาคือนักวิเคราะห์หุ้นชั้นเซียนหรือนักธุรกิจขั้นเทพนั้น งานวิจัยได้ใช้วิธีการเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่าง พอร์ทหุ้นจำลองที่อยู่ในตลาด (Public Companies) ซึ่งเป็นตัวแทนของความสามารถในการเลือกหุ้น และพอร์ทหุ้นจำลองที่เป็นหุ้นนอกตลาด (Private Companies) ซึ่งเป็นตัวแทนของความสามารถในการบริหารของ บัฟเฟตต์ ออกมา

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือแม้ว่าพอร์ทจำลองทั้งสองจะสามารถเอาชนะตลาดได้เป็นอย่างดี แต่พอร์ทที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก็คือพอร์ทจำลองของบรรดาหุ้นที่เขาถืออยู่ในตลาดนั่นเองครับ โดยข้อมูลที่เกิดขึ้นนี้ได้ช่วยให้พวกเราสรุปได้ประมาณหนึ่งว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ นั้นถือได้ว่าเป็นนักวิเคราะห์หุ้นชั้นเซียนคนหนึ่งอย่างไม่ต้องเถียง และมันก็คือความสามารถหลักที่ช่วยให้เขาสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมหาศาลเช่นในทุกวันนี้ออกมา

ความอัจฉริยะของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

สำหรับประเด็นสำคัญสุดท้ายที่งานวิจัยชิ้นนี้ได้พยายามกล่าวถึงก็คือ ถึงแม้ว่าจากการเก็บสถิติและวิเคราะห์ผลลัพธ์ต่างๆย้อนหลังนั้น เราจะพบว่าปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนผลตอบแทนของ บัฟเฟตต์ นั้นเป็นสิ่งที่เรียบง่ายและไม่ได้มีความซับซ้อนจนเกินมนุษย์แต่อย่างใด (อาทิเช่น ความผันผวนที่ต่ำ, ราคาที่ถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง และคุณภาพของกิจการ) แต่เราต้องไม่ลืมว่าหลักการเหล่านี้นั้นเป็นสิ่งที่ บัฟเฟตต์ ได้ค้นพบ, เรียนรู้ และมองออกได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่ามันเป็นสิ่งที่จะใช้การได้ต่อไปอีกยาวนานตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว และเขาก็ยังสามารถที่จะยึดมั่นอยู่ในหลักการลงทุนรวมไปถึงการที่จะสามารถรักษาวินัยในการลงทุนเหล่านี้ไว้ได้มาอย่างสม่ำเสมอตลอดมา นี่จึงเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นความ “อัจฉริยะ” อย่างแท้จริงของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ยากจะหาใครเทียบได้นั่นเอง

และทั้งหมดนี้ก็คือ Buffett’s Alpha ฉบับพกพาย่อกระชับที่สุดที่ผมพยายามกลั่นออกมาให้พวกเราได้อ่านกันครับ สำหรับใครที่อยากศึกษางานวิจัยชิ้นนี้อย่างละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถที่จะนั่งอ่านต่อได้จากไฟล์ PDF ฉบับเต็มด้านล่างนี้ สำหรับวันนี้ก่อนจบผมก็ขอฝากภาพและตารางเปรียบเทียบผลตอบแทนของหุ้น Birkshire Hathaway (BRK-A) กับดัชนี Dow Jones (DJIA) ตั้งแต่ปี 1980 – ปัจจุบัน ให้ดูกันไว้แล้วกันนะครับว่า ลักษณะผลตอบแทนของ บัฟเฟตต์ เมื่อเปรียบเทียบกับ DJIA นั้นเป็นอย่างไร (ตัวเลขอาจต่างจากในบทวิจัยเพราะคำนวณคนละช่วงเวลากัน) แล้วพบกันใหม่บทความหน้า ถ้าชอบบทความแนวนี้ก็อย่าลืมกดไลค์กดแชร์ หรือคอมเมนท์บอกกันให้รู้ด้วยนะครับ ผมจะได้เก็บไว้เป็น Feedback ในการเขียนบทความต่อๆไปครับ :D

plot of chunk unnamed-chunk-4

  BRKA DJIA
Cumulative Profits 70708.28 49684.65
Annualized Return 20.31 4.94
Annualized Standard Deviation 23.39 17.35
Annualized Sharpe (Rf=4%) 0.67 0.05
Max.DD -51.47 -89.19
Longest.DD (Months) -68.00 -84.40

ภาพและตาราง : แสดงผลตอบแทนเปรียบเทียบระหว่างหุ้น BRK-A กับดัชนี Dow Jones Industrial Average (DJIA) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 – ปัจจุบัน โดยที่หุ้น BRK-A นั้นเติบโตกว่า 70,708% หรือราว 707 เท่า และมีผลตอบแทนทบต้นที่ราว 20.31% ต่อปี อย่างไรก็ตามหุ้น BRK-A ก็มี Maximum Drawdown หรือการลดลงของมูลค่าสูงสุดที่สูงราว -51.47% และเคยเจอกับช่วงเวลาที่พอร์ทไม่เติบโตกว่า 68 เดือน หรือ 5 ปีกว่าๆเลยทีเดียวในช่วงปี ค.ศ. 1998 – 2003 อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ยังดีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับดัชนี DJIA อยู่พอสมควรเลยทีเดียว

Buffett’s Alpha ฉบับเต็ม

Download (PDF, Unknown)

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)