fbpx
จิตวิทยาการลงทุน

โลกในมุมมองของนักเล่นหุ้นตามแนวโนวโน้ม : Inside the Counterintuitive World of Trend Follower by Charles Faulkner (Part 3)

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

หุ้น จิตวิทยาการลงทุน เซียนหุ้น Charles faulkner 6 โลกในมุมมองของนักเล่นหุ้นตามแนวโนวโน้ม (ตอนจบ)

ส่งท้ายในวันศุกร์ ก็มาถึงตอนสุดท้ายของบทความหุ้นชิ้นนี้กันแล้วนะครับ มีความเห็นหรือข้อแนะนำอะไรที่อยากจะแบ่งปันกันไว้ก็คอมเมนท์กันไว้ได้ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆคนที่ผ่านมา หรือถ้าจะคอมเมนท์สั้นๆให้กำลังใจผมแปลต่อเรื่อยๆก็ยินดีนะครับ ทำบล็อกเนี่ยไม่มีอะไรมากหรอก ส่วนหนึ่งมันเป็นความสุขทางใจครับ อิอิ ยังไงขอให้มีความสุขกับการพักผ่อนในวันหยุดทุกๆคน และโชคดีกับการลงทุนในอาทิตย์ต่อไปล่วงหน้าเลยแล้วกัน แล้วพบกันอีกในบทความหุ้นใหม่ๆในตอนหน้าครับ :D

ราคาหุ้นเคลื่อนขึ้น, ลง หรือออกด้านข้างได้เพียงเท่านั้น

ถึงแม้ว่าโปรแกรมช่วยในการซื้อขายหุ้นในสมัยนี้นั้น จะมีประสิทธิภาพที่สูงมาก จนทำให้นักเก็งกำไรสามารถที่จะสร้างระบบการลงทุนที่ซับซ้อน จนในบางครั้งเกินกว่าความเข้าใจด้วยสามัญสำนึกได้ก็ตาม แต่ถึงกระนั้น ความชัดเจนและความเรียบง่ายของระบบการลงทุน ก็ยังคงเป็นเสมือน “ตราสัญลักษณ์” ของระบบการลงทุนแบบ Trend Following ที่ดีอยู่เช่นเดิม นักเล่นหุ้นหรือนักเก็งกำไรในรูปแบบของ Trend Following นั้น รู้เป็นอย่างดีว่า ไม่ว่าความคิดของใครจะลึกซึ้งหรือซับซ้อนแค่ไหนก็ตามในการเก็งกำไร แต่สิ่งที่เป็นข้อมูลในการนำมาประมวลผลของระบบการลงทุนเหล่านั้น ก็ประกอบไปได้เพียง 3 หนทาง นั่นก็คือ ราคาที่เปลี่ยนแปลงขึ้น, ลง หรือไม่เปลี่ยนแปลง และสุดท้ายแล้ว สิ่งที่กลับออกมาจากการประมวลผลของระบบการลงทุนต่างๆนั้นก็เป็นไปได้เพียงแค่ 3 หนทางเช่นกัน นั่นก็คือ ซื้อ, ขาย หรือไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เพียงเท่านั้นเอง

การสูญเสีย (ขาดทุน) เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

เซียนหุ้น Gerald Loeb ในหนังสือการเก็งกำไรที่เก่าแก่อย่าง “The Battle For Investment Survival” นั้น Gerald Loeb ได้เขียนเอาไว้ว่า “การยอมรับต่อการขาดทุน คือสิ่งที่เปรียบเสมือนเครื่องมือที่สำคัญที่สุด ในการที่จะปกป้องเงินทุนของคุณเอาไว้ และมันคือการกระทำที่นักเก็งกำไรส่วนใหญ่ไม่เข้าใจมากที่สุด และเป็นสิ่งที่ปฎิบัติได้ยากที่สุดสำหรับพวกเขา” นี่ถือเป็นคำพูดที่ควรจะก้องอยู่ในหัวของนักเก็งกำไรทุกคนเลยทีเดียว และมันก็ช่างมีความหมายที่สำคัญยิ่งต่อเหล่า Trend Follower ด้วยเช่นกัน

นักเก็งกำไรแบบ Trend Follower ที่ดีนั้น คือผู้ที่มักจะคอยระวังถึงความสำพันธ์ระหว่างขนาดของการขาดทุน และขนาดของกำไรที่พวกเขาได้รับอยู่เสมอ และอาจมากกว่านักเก็งกำไรประเภทก็เป็นได้ เนื่องจากพวกเขาตระหนักดีว่า การขาดทุนก้อนใหญ่นั้น จะมีผลต่อกำไรและพอร์ทการลงทุนของพวกเขาในระยะยาวนั่นเอง พวกเขายังตระหนักดีว่า การซื้อ-ขายที่น้อยลงนั้น จะช่วยลดจำนวนครั้งของการขาดทุนและค่าคอมมิสชั่นของพวกเขาลงได้ และมันก็คือแนวทางหนึ่งในการรักษาเงินทุนของพวกเขาเอาไว้เช่นกัน

โดยเมื่อพูดถึงสิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเก็งกำไรที่ดีนั้น Ed Seykota ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“1)ตัดขาดทุน

2)ตัดขาดทุน

3)ตัดขาดทุน

หากคุณสามารถทำตามกฏทั้ง 3 ข้อนี้ได้จริงๆล่ะก็ คุณก็อาจจะมีโอกาส (สำเร็จในการเก็งกำไร) ขึ้นมาบ้าง”

อย่างไรก็ตาม นักเล่นหุ้นแบบ Trend Follower น้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงสิ่งที่ Seykota ได้กล่าวเอาไว้จริงๆ เพราะแท้จริงแล้ว Seykota ได้กล่าวถึงการตัดขาดทุนจากการขาดทุนถึง 3 รูปแบบต่างหาก และ 2 อย่างแรกในการที่จะช่วยป้องกันการขาดทุนขนาดใหญ่ก็คือสิ่งที่ได้กล่าวเอาไว้แล้ว นั่นก็คือ “การควบคุมขนาดของการเดิมพัน (Position Sizing) และการลดจำนวนการซื้อ-ขายที่บ่อยครั้งจนเกินไปลงมา” แต่รูปแบบการตัดขาดทุนในข้อสุดท้ายนั้น อาจจะมีเพียงเหล่า Trend Follower เท่านั้นที่เข้าใจ และนี่คือสิ่งอ้างอิงที่ได้นำมาจากคำพูดของ John W. Henry สุดยอด Trend Follower ของโลกอีกคนหนึ่ง

“ความต้องการที่คุณพยายามจะลดขนาดของการขาดทุน โดยใช้การตัดขาดทุนที่แคบเกินไปนั้น แท้จริงแล้วมันคือสิ่งที่กลายเป็นต้นทุนอันมหาศาลของเหล่านักเก็งกำไรมาหลายทศวรรษแล้ว”

สิ่งสำคัญที่ Henry ต้องการจะบอกกับเราก็คือ การหลีกเลี่ยงที่จะใช้สัญญาณการตัดขาดทุนที่แคบจนเกินไป ซึ่งจะทำให้คุณขาดทุนบ่อยเกินไปในตลาดที่มีความผันผวนอย่างมากนั่นเอง และนี่ก็เป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เราได้เข้าใจว่า ถึงแม้ Trend Follower จะเก็งกำไรอยู่ในตลาดหุ้นแห่งเดียวกับทุกๆคน แต่พวกเขากลับใช้ชีวิตและทำสิ่งต่างๆที่แตกต่างออกไป และมีรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ลึกลงไปอยู่เสมอ

กฏการเก็งกำไรของ Ed Seykota กฏการเก็งกำไรของ Ed seykota เซียนหุ้น (Future) ระดับโลก

คุณอาจถามว่า “นี่เป็นสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาตัดขาดทุนได้ง่ายขึ้นหรือไม่?” คำตอบก็คือ “ใช่ หรือ อาจไม่ใช่” ก็ได้ มันเป็นคำตอบที่ “ใช่” ในความหมายที่ Trend Follower รู้ดีว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะทำนายสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่มันก็ยังมีโอกาสในการทำกำไรจากความได้เปรียบทางสถิติบางอย่าง สำหรับผู้ที่รู้จักวิธีที่จะใช้มันเช่นกัน นี่เอง เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องกระทำต่อสัญญาณ (โอกาส) ทุกๆสัญญาณที่เกิดขึ้น และพวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะปกป้องเงินทุนของพวกเขาเอาไว้ ในการที่จะเก็งกำไรต่อไปในระยะยาว ทั้งนี้ พวกเขาจะทำการทดสอบสมมุติฐานของพวกเขาจากข้อมูลย้อนหลัง (Back Test) จนกว่าที่พวกเขาจะสามารถเชื่อได้ว่า มันสามารถใช้ได้จริงๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้นำมันมาสร้างเป็นระบบการลงทุนของพวกเขาเอง และทำตามระบบในทุกๆครั้งที่เกิดสัญญาณขึ้นมา

แต่มันก็เป็นคำตอบที่ “ไม่ใช่” ในความหมายที่ว่า เหล่า Trend Follower นั้นก็เป็นเพียงมนุษย์ปถุชนคนหนึ่ง และพวกเขาก็เกลียดการที่จะต้องสูญเสียบางอย่างที่มีคุณค่าไปเช่นกัน การที่ต้องท่องถึงคำกล่าวที่ว่า “ตัดขาดทุน, ตัดขาดทุน, ตัดขาดทุน” นั้น ก็เปรียบเสมือนการที่ต้องพยายามท่องจำถึงบัญญัติสิบประการ (Ten Commandments) ของพระเจ้าเช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่า พวกเราอาจไม่จำเป็นต้องถูกสั่งสอนหรือฝึกฝน ในสิ่งที่เป็นธรรมชาติหรือพื้นฐานของพวกเรา แต่ในการที่จะทำสิ่งที่ขัดหรือฝืนกับธรรมชาติของเรานั้น (การเล่นหุ้นไปตามแนวโน้ม) แน่นอนว่ามันต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอตลอดชั่วชีวิต และนี่คือสิ่งที่ทำให้เหล่า Trend Follower สามารถทำเงินจากการเก็งกำไรออกมาได้นั่นเอง

แล้วสำหรับคนทั่วๆไปอย่างพวกเราล่ะ?

จากการค้นคว้าและวิจัยนั้น มนุษย์อย่างพวกเรา มีความสามารถที่จำกัดในการที่จะรับรู้ และประมวลผลข้อมูลในระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อเราต้องพบกับการตัดสินใจบางอย่าง พวกเราจะพยายามตัดสินใจจากกฏที่ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ในขณะนั้น โดยเราจะอ้างอิงจากสิ่งที่พอเพียงในแก้ปัญหาให้ผ่านไปเพียงเท่านั้น และจะค่อยๆทบทวนหรือตรวจสอบผลลัพท์ที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ในแนวทางที่ใช้ความพยายามที่น้อยที่สุด

ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า พวกเราส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มที่อาจจะไม่ได้มีคุณสมบัติเพียงพอ ในการที่จะเป็นนักเก็งกำไรในรูปแบบของ Trend Following ก็เป็นได้ พูดอีกอย่างก็คือ ช่องว่างหรือความแตกต่างของสิ่งนี้ (คุณสมบัติในการเก็งกำไร) อาจเกิดจากแรงขับเคลื่อน, ความสนใจ, หรือทัศนคติบางอย่างของแต่ละคน เช่น ความกล้าที่จะเผชิญกับความจริง หรือความชอบในการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์ หรือวิชาสถิติและความน่าจะเป็นต่างๆ

และนี่คือสิ่งที่เรามักจะพบเห็น จากประวัติพื้นฐานของนักเก็งกำไรระดับโลกหลายๆคน ยกตัวอย่างเช่น Bill Dunn และ Ed Seykota นั้น เป็นผู้ที่จบการศึกษาในสาขาฟิสิกส์และวิศวกรรม ส่วน John W. Henry นั้น เริ่มมีความสนใจเกี่ยวกับสมมุติฐาน (ความน่าจะเป็น) ของเขา ในขณะที่เขายังเป็นนักศึกษา และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการหากลยุทธ์ในการที่จะเอาชนะความไม่แน่นอนในเกมแบล็คแจ็ค หรือพูดง่ายๆนั่นก็คือเรื่องของ “ความน่าจะเป็น” นั่นเอง

ความจริงแล้ว นักเก็งกำไรระดับโลกหลายๆคนที่เคยได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ The Market Wizard ของ Jack Schwager หลายๆคนซึ่งเคยเป็นเป็นนักพนันมืออาชีพมาก่อน สามารถที่จะบอกได้ว่าไพ่ในมือที่เหลืออยู่ของคุณนั้นคืออะไร และนี่ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าใจได้ เช่นเดียวกันกับนักเก็งกำไรที่ได้พบเจอกับสิ่งที่เรียกว่า “ความน่าจะเป็น” อย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น จะเริ่มเข้าใจว่าพวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องหยั่งรู้ถึงอนาคตในการที่จะเอาชนะตลาดและทำกำไรออกมา เพราะพวกเขาจะสามารถตระหนักได้ถึงโอกาส และความน่าจะเป็นที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆตลอดเวลานั่นเอง

การเล่นหุ้นและความน่าจะเป็นหากว่าในตอนนี้ คุณกำลังคิดว่าผมพยายามชักชวนคุณเข้าไปเล่นในวงไพ่อย่าง Poker แล้วล่ะก็ คุณกำลังเข้าใจผิดอยู่มากเลยทีเดียว แต่หากว่าคุณกำลังคิดอย่างนั้น ผมก็ขอให้คุณจำไว้เสมอว่า ในขณะที่คุณเก็งกำไรอยู่นี้ มันก็เปรียบเสมือนกับว่าคุณกำลังนั่งอยู่ที่ “โต๊ะ (พนัน) หรือวงไพ่” เพื่อที่จะฝึกฝนศาสตร์ของความน่าจะเป็นอยู่เช่นกัน โดยขอให้คุณแน่ใจว่า เงินเดิมพันของคุณนั้นไม่มากจนเกินไปจนทำให้คุณต้องประสาทเสีย แทนที่จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคุณนั่นเอง

อีกหนทางหนึ่งในการที่จะฝึกฝนตัวของคุณเพื่อการเก็งกำไรนั้นก็คือ การพยายามที่จะเผชิญกับโลกแห่งความจริง และสิ่งที่เป็น “ปัจจุบัน” อย่างตรงไปตรงมา… การวิเคราะห์ในรูปแบบของ Fractal market analysis, Behavior finance, Heuristic หรือรูปแบบใหม่ๆนั้น ต่างเริ่มต้นจากการที่มีคนบางคน สังเกตุพบกับปรากฏการบางอย่างที่เกิดขึ้นภายในโลก ที่ทุกๆคนคิดไปเองว่าพวกเขาได้เข้าใจมันหมดแล้ว ซึ่งรวมไปถึงแนวคิดในการเก็งกำไรทั้งหลายด้วย ทั้งนี้ เหล่า Trend Follower นั้นจะไม่ไว้ใจ ในการตัดสินใจจากความรู้สึกหรือสัญชาติญาณของพวกเขา พวกเขาจะทำสิ่งต่างๆให้กลายเป็นตัวเลขในเชิงปริมาณ หรือความน่าจะเป็นที่สามารถวัดได้ และนั่นก็เป็นสิ่งที่พวกเราควรทำเช่นกัน

แมงเม่าคลับ.คอม หนังสือหุ้นน่าอ่าน, วิธีการเล่นหุ้น, การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค, จิตวิทยาการลงทุน และการบริหารเงินทุน Money Management

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)