ชั้นเชิงและกลยุทธ์ในการซื้อ-ขายหุ้น Tactics of Turtle Traders
ต่อกันกับวิธีการเล่นหุ้นแบบเซียนเต่า The Turtle Traders ในตอนที่ 9 กันครับ วันนี้จะพูดถึงในเรื่องของชั้นเชิง และกลยุทธ์ในการซื้อ-ขายของเหล่า Turtle Traders เมื่อต้องเจอกับสภาพตลาดในรูปแบบต่างๆกันครับ
เกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับแนวทางการเล่นหุ้นแบบเซียนเต่า Turtle Traders
Mies van der Rohe สถาปนิกชื่อดังของโลกได้เคยกล่าวเอาไว้ เมื่อพูดถึงการออกแบบของเขาว่า “พระเจ้านั้นทรงอยู่ในรายละเอียด” และนี่ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องเกี่ยวกับการระบบการลงทุนด้วยเช่นกัน
การส่งคำสั่งการซื้อขาย
อย่างที่เราได้เคยกล่าวเอาไว้แล้ว Richard Dennis และ William Eckhardt ได้แนะนำเหล่า Turtle Traders ไว้ว่า พวกเราไม่ควรที่จะตั้งคำสั่งการซื้อ-ขายเอาไว้ล่วงหน้า เราได้รับการแนะนำให้จ้องมองตลาด และให้ส่งคำสั่งการซื้อ-ขายในขณะที่ตลาดวิ่งถึงจุดที่เราได้กำหนดเอาไว้ทันที
พวกเรายังได้รับคำแนะนำอีกด้วยว่า โดยทั่วไปแล้ว มันเป็นการดีกว่าที่เราจะใช้คำสั่ง Limit Order แทนที่จะใช้คำสั่ง Market Order เนื่องจากว่าคำสั่งแบบ Limit Order นั้น จะช่วยให้เราได้ราคาที่ดีกว่า และลด Slippage(การคลาดเคลื่อนของราคาที่เราต้องการซื้อ-ขาย)ได้ดีกว่าคำสั่งแบบ Market Order
ในตลาดทุกๆตลาดนั้น จะมีฝั่งซื้อ(Bid) และฝั่งขาย(Ask)อยู่ตลอดเวลา โดยราคา Bid คือราคาที่ผู้ซื้อนั้นต้องการที่จะจ่าย และราคา Ask คือราคาที่ผู้ขายต้องการที่จะขาย หากเมื่อไหร่ที่ผู้ซื้อยอมที่จะจ่ายแพงกว่าราคาที่ต้องการขาย เมื่อนั้นก็จะเกิดการซื้อ-ขายขึ้น โดยการใช้คำสั่งแบบ Market Order นั้นจะทำให้เราได้ทุกราคาที่ตั้ง Bid หรือ Ask เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ปริมาณการซื้อ-ขายนั้นมีน้อยมากๆ และในบางครั้งมันทำให้เราได้ราคาที่แย่ที่สุดที่เราต้องการหากเราสั่งซื้อ-ขาย เป็นปริมาณจำนวนมากนั่นเอง
ตามปกติแล้ว ตลาดนั้นจะมีช่วงเวลาที่จะตลาดจะเคลื่อนไหวอย่างไร้เหตุผลขึ้นมา ซึ่งบางครั้งเราเรียกมันว่าการกระเพื่อมของราคา และแนวคิดภายใต้การใช้คำสั่งซื้อ-ขายแบบ Limit Order นั้นก็เพื่อที่จะวางคำสั่งซื้อไว้ในราคาที่ต่ำกว่าการกระเพื่อมขึ้นมา แทนที่จะส่งคำสั่งการซื้อขายแบบ Market Order นั่นเอง ซึ่งการใช้คำสั่งซื้อ-ขายแบบ Limit Order นี้ หากเราซื้อในปริมาณที่น้อย มันจะช่วยไม่ให้การซื้อ-ขายของเรากระทบต่อราคาของตลาด และหากเราซื้อในปริมาณที่มาก มันจะช่วยให้มันกระทบต่อตลาดน้อยที่สุด
แน่นอนว่ามันต้องใช้ทักษะพอสมควรในการที่จะสามารถตัดสินใจได้ว่า ราคาไหนคือราคาที่ดีที่สุดในการใช้คำสั่งซื้อ-ขายแบบ Limit Order แต่ด้วยการฝึกฝนบ่อยๆนั้น คุณน่าที่จะได้ราคาที่ดีกว่าโดยการใช้ Limit Order แทนคำสั่งซื้อ-ขายแบบ Market Order ครับ
ตลาดที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
ในบางครั้ง ตลาดนั้นจะเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็วมากๆ ซึ่งเป็นผลจากคำสั่งซื้อ-ขายที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว และหากคุณใช้คำสั่งซื้อ-ขายแบบ Limit Order อยู่นั้น คุณก็จะไม่สามารถที่จะซื้อ-ขายได้ทัน ซึ่งหากว่าตลาดอยู่ในช่วงที่มันเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วแล้วล่ะก็ ตลาดนั้นอาจจะเคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็วมากๆในช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
โดยในช่วงขณะที่ตลาดเคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็วนั้น เหล่า Turtle Traders ได้ถูกสอนที่จะไม่ให้ตื่นตระหนกไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น และให้รู้จักรอเวลาที่ตลาดจะเริ่มหยุดนิ่ง ก่อนที่จะส่งคำสั่งซื้อ-ขายเข้าไป
นักเก็งกำไรมือใหม่หลายๆคนมักจะพบว่า นี่เป็นสิ่งที่ยากยิ่งที่จะปฏิบัติ พวกเขามักจะตื่นตระหนกไปกับมัน และใช้คำสั่งซื้อ-ขายแบบ Market Order ในทันที และพวกเขามักจะทำอย่างนั้นในช่วงเวลาที่แย่ที่สุดเช่นกัน และนั่นทำให้มันมักจะจบลงด้วยการที่พวกเขาได้ราคาที่ต่ำที่สุด หรือสูงที่สุดของวันนั่นเอง
ในตลาดที่เคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็วนั้น จะมีช่วงเวลาที่สภาพคล่องของปริมาณการซื้อขายเบาบางลงอย่างรวดเร็ว โดยในกรณีที่ตลาดเคลื่อนขึ้นไปอย่างรวดเร็วนั้น ผู้ขายมักที่จะหยุดขายและรอขายในราคาที่สูงกว่าเดิม และพวกเขาจะไม่กลับมาเริ่มขายอีกครั้งจนกว่าราคาของมันจะเริ่มหยุดนิ่ง ซึ่งในกรณีนี้นั้น ฝั่งราคาขาย(Ask)จะยกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นผลทำให้ช่วงห่างระหว่างราคาซื้อ-ขายนั้นกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในขณะนี้นั้นฝั่งผู้ซื้อนั้น ก็จะเหมือนกับถูกบังคับให้จ่ายในราคาที่สูงขึ้น จากการที่ผู้ขาย(Ask)ยังคงเรียกราคาที่สูงขึ้นไปกว่าเดิมเรื่อยๆ โดยราคาจะวิ่งขึ้นไปเรื่อยๆอย่างรวดเร็วจนกว่าที่จะเริ่มมีผู้ที่เริ่มขายลงมา และนั่นจะทำให้ตลาดเริ่มชะลอ และหยุดนิ่ง โดยสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การวกกลับของราคาอย่างรวดเร็วกลับลงมาในระดับหนึ่ง
การใช้คำสั่งซื้อ-ขายแบบ Market Order ในตลาดที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วนั้น มักจะจบลงด้วยการที่เราได้ราคาที่สูงที่สุดเมื่อตลาดนั้นวิ่งขึ้น ณ จุดที่ราคาเริ่มจะไปหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้นจากการที่ผู้ขายเริ่มเข้ามาขายอีกครั้ง
สำหรับเหล่า Turtle Traders นั้น พวกเราจะรอจนกว่าจะมีบางอย่างบ่งชี้ให้เห็นว่า เกิดการวกกลับลงมาของราคา(ถึงแม้จะเป็นเพียงระยะเวลาชั่วคราวเท่านั้น) ซึ่งนี่จะทำให้เราสามารถได้ราคาที่ดีกว่า แทนที่จะใช้คำสั่งซื้อ-ขายแบบ Market Order นั่นเอง ถึงแม้ว่านั่นจะทำให้ราคาได้เคลื่อนที่ผ่านจุดตัดขาดทุนของเราไปไกลแล้วก็ตาม พวกเราก็จะขายและออกจากตลาด แต่เราจะไม่ตื่นตระหนกกับมันโดยเด็ดขาด
การเกิดสัญญาณซื้อ-ขายหลายๆสัญญาณขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
ในการเป็นนักเก็งกำไรนั้น หลายต่อหลายวันตลาดอาจจะผันผวนแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งน้อยเกินกว่าที่เราจะทำอะไรไป นอกจากเพียงแค่หันไปมองหน่วยลงทุนที่มีอยู่เท่านั้น พวกเราอาจจะต้องอยู่เฉยๆเป็นเวลาหลายวันโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ในบางวันเราอาจจะต้องยุ่งวุ่นวายเป็นอย่างมาก จากการที่เกิดสัญญาณขึ้นพร้อมๆกันหลายๆสัญญาณภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น โดยในกรณีนี้ สิ่งที่พวกเราต้องทำก็คือทำการซื้อ-ขายเมื่อเกิดสัญญาณขึ้น จนกว่าที่เราจะถึงจำนวนหน่วยลงทุนที่เราจำกัดไว้(Position Limit)ในแต่ละตลาด
ในบางครั้ง มีบางวันที่ดูเหมือนว่าทุกๆอย่างดูจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้จากการที่พวกเราไม่มีหน่วยลงทุน(Position)แม้เพียงสักหน่วยเดียวนั้น กลับกลายเป็นว่าพวกเราได้ทำการซื้อเข้ามาจนเต็มจำนวนภายในเวลาเพียงแค่วันถึงสองวันเท่านั้น ซึ่งบ่อยครั้ง สัญญาณเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆกันอย่างรวดเร็วมากๆในตลาดที่มีความเกี่ยวโยงกัน (Correlated) อีกด้วย
และนี่คือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อตลาดต่างๆวิ่งกระโดดเปิด Gap ข้ามสัญญาณการซื้อของเราไป โดยที่คุณอาจจะเจอกับการที่ตลาดน้ำมันดิบ(Crude Oil), Heating Oil และ Unleaded Gas นั้นเกิดสัญญาณขึ้นภายในวันเดียวกันก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(Future Contract)นั้น มันมักที่จะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นบ่อยๆเป็นประจำภายในช่วงเวลาพร้อมๆกันอีกด้วย
วันนี้จบแค่นี้ครับ เดี๋ยวมาต่อกันในตอนต่อไปวันหลังนะครับ ขอให้มีกำไรกันถ้วนหน้านะครับ แล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้มาอ่านเรื่องหุ้นดีๆกันต่อที่นี่ แมงเม่าคลับ.คอม ครับ