หลังจากผจญภัยไปกับตลาดหุ้น 2014 กันมาทั้งปี ในที่สุดเราก็จะได้หยุดพักและฉลองปีใหม่กันในอีกไม่กี่วันแล้ว แต่ก่อนที่เราจะ Happy New Year กันนั้น วันนี้ผมได้สรุปเอาสถิติที่น่าสนใจในตลาดหุ้นปี 2014 มาฝากพวกเราทุกคน ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างปรากฎการณ์ในตลาดขึ้นด้วยกัน ว่าแล้วก็คลิ้กเข้ามาอ่านได้เลยครับ!
ภาพรวมของดัชนี SET Index 2014
ภาพที่ 1 : ภาพรวมของดัชนี SET Index ในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งให้ผลตอบแทนแบบไม่รวมปันผลที่ 16.3%
ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไรก็ตาม แต่ตลาดหุ้นไทยปีนี้นั้นถือได้ว่าสนุกและมีสีสรรมากเลยทีเดียว! โดยในปีนี้ตลาดหุ้นไทยของเราได้เริ่มต้นความมันส์กันตั้งแต่เปิดตลาดมาวันแรกของปีเลยก็ว่าได้ นั่นก็เพราะในวันที่ 2 มกราคม 2014 หรือวันเปิดตลาดวันแรกของปีนั้น ดัชนี SET Index ได้ทำการเขย่าขวัญนักลงทุนส่วนใหญ่ด้วยการดำดิ่งปิดตลาดปิดลบไปกว่า 5% เลยทีเดียว และนั่นทำให้บรรดานักลงทุนรวมถึงนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างพากันออกประมาณการในเชิงลบกันยกใหญ่พอสมควร (หากว่าใครยังพอๆจำกันได้นะครับ)
อย่างไรก็ตามกฎในตลาดหุ้นข้อหนึ่งนั้นก็มีอยู่ว่า “ตลาดจะวิ่งไปในทิศทางที่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องผิดหวังและเจ็บปวดเสมอ” โดยหลังจากที่ SET Index ได้เทกระจาดเขย่าของออกจากมือของแมงเม่าส่วนใหญ่ไปเรียบร้อยกันแล้ว ตลาดก็เริ่มวิ่งขึ้นอย่างเป็นแนวโน้มมาเรื่อยๆ (มีตะกุกตะกักเล็กๆน้อยๆบ้างระหว่างทาง) ส่งผลให้นักลงทุนหลายๆคนออกอาการเซียนกันอย่างเห็นได้ชัด จนมาถึงช่วงราวๆกลางเดือนธันวาคมนี้นี่เองที่ SET Index พึ่งจะมีการอ่อนแรงและยุบตัวลงอย่างรุนแรง และทำให้หลายคนขวัญผวากันไปพอสมควร อย่างไรเสีย … ผมคิดว่าการทรุดลงของตลาดในช่วงปลายปีก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดนัก แต่พวกมันได้เริ่มสูญเสียแรงเฉื่อยหรือ Momentum ในการวิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่มาสักพักหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษจิกายน และนั่นทำให้นักลงทุนที่ช่างสังเกตุพอที่จะค่อยๆทยอยลดพอร์ทกันจนไม่เจ็บตัวกันมาสักเท่าไหร่นัก
โดยสถิติที่น่าสนใจในปีนี้เกี่ยวกับ SET Index นั้นก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกันครับ ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่า SET Index จะได้ให้ผลตอบแทนที่ดีปานกลางราว 16.3% และมีสัดส่วนของวันที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึงกว่า 57.44% แต่มันก็เกิดอาการชักกระตุกแรงๆอยู่เป็นระยะจนทำให้ปีนี้ SET Index มีผลตอบแทนรายวัน (Daily Return) แบบสุดโต่งไปในทางลบอยู่ค่อนข้างสูง (สังเกตจากผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเส้นประ 95% VAR ในภาพด้านล่าง) มิหนำซ้ำในวันที่ 15-12-2014 ที่พึ่งผ่านมา มันก็ยังได้สร้างสถิติ Maximum Intraday Drawdown ให้หลายๆคนได้เจ็บปวดเป็นอันดับที่ 9 นับตั้งแต่ตลาดเปิดมาเสียด้วย (ใครอยากดูรายละเอียดชัดๆคลิ้กอ่านบทความได้ที่นี่ครับ)
โดยที่ภาพและตารางด้านล่างต่อไปนี้ก็คือสถิติและสีสันเล็กๆน้อยของดัชนี SET Index ในปีนี้ที่ผมอยากจะนำมาให้อ่านกันก่อนที่เราจะไปพูดถึงเรื่องอื่นๆกันต่อครับ
ภาพที่ 2 : การกระจายตัวของผลตอบแทนรายวันของดัชนี SET Index ในปี ค.ศ. 2014 ที่มีวันที่ดัชนีติดลบแรงๆอยู่บ่อยครั้ง
ตารางที่ 1 : ตารางสถิติโดยรวมคร่าวๆของดัชนี SET Index ในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งแสดงให้เห็นค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนรายวันนั้นเป็นบวก ไม่ว่าจะมองจากค่าเฉลี่ยแบบ Median หรือ Mean ก็ตาม และนั่นทำให้ตลาดหุ้นในปีนี้ค่อนข้างที่จะ “เล่นง่าย” สำหรับนักลงทุนหลายๆคน
ภาพรวมของผลตอบแทนและความเสี่ยง ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมในปี 2014
หลังจากที่ได้ส่องดูดัชนี SET Index แบบคร่าวๆไปแล้วนั้น ตอนนี้เราจะมามองเจาะไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยในแต่ละกลุ่มกันดูบ้าง โดยเราจะพบว่าสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มาแรงทั้งปีในปีนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ ก็คือกลุ่มบริการเฉพาะกิจหรือ PROF ซึ่งบวกไปกว่า 170% โดยได้อานิสงค์จากหุ้นสุด Hot เพียงไม่กี่ตัวในกลุ่มนั่นก็คือ BWG และ GENCO ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมยอดแย่ในปีนี้อย่างชัดเจนมากๆก็คือกลุ่มปิโตรและเคมีภัณฑ์ PETRO ซึ่งติดลบไปกว่า 23% โดยที่ไม่ว่าดัชนี SET Index จะวิ่งขึ้นวิ่งลงอย่างไร แต่โดยรวมแล้วหุ้นกลุ่ม PETRO ในปีนี้ได้จองคิวลงยาวท่าเดียวมาตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียวครับ (ยกเว้นแต่หุ้น WG ซึ่งค่อยๆวิ่งขึ้นมาเรื่อยๆจนทำกำไรไปกว่า 40% แบบไม่สนใจเพื่อนในกลุ่มเลย)
และเมื่อมองไปยังภาพรวมของดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมตามกลุ่มต่างๆใน SET Index นั้น เราจะพบว่า ปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างดีกับกลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เนื่องจากมีกลุ่มอุตสาหกรรมเพียง 3 กลุ่มเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนที่ติดลบ ซึ่งก็คือกลุ่ม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF-REIT), กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) และ กลุ่มปิโตรและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ซึ่งติดลบอยู่ที่ –0.089%, –0.98% และ –23.02% ตามลำดับ (ใครถืออยู่แค่ 3 กลุ่มนี้ถือว่าซวยสุดๆครับ ^^)
อย่างไรก็ตาม หากเราจะมองตามความเป็นจริงแล้วมีกลุ่มอุตสาหกรรมเพียง 17 ใน 28 กลุ่ม หรือราว 60% เท่านั้นที่สามารถจะให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกชนะดัชนี SET Index ได้ ดังนั้นแล้วถึงแม้ว่าในปีนี้นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่จะมีกำไร แต่ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะสามารถทำกำไรเอาชนะตลาดได้โดยง่ายเกินไปเช่นกัน ซึ่งนี่ก็ถือเป็นสีสันและอุปสรรค์เล็กๆน้อยสำหรับตลาดในปีนี้นั่นเองครับ
ภาพที่ 3 : ลักษณะการเติบโตแบบ Cumulative Return ของผลตอบแทนจากแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมในตลาดหุ้นไทยปี ค.ศ. 2014 โดยเส้นสีส้มด้านบนขวาสุดก็คือกลุ่ม PROF ส่วนเส้นสีเขียนล่างขวาสุดก็คือกลุ่ม PETRO นั่นเอง
ตารางที่ 2 : ลำดับ % ร้อยละผลตอบแทนและความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยตามกลุ่มอุตสาหกรรมในปี ค.ศ. 2014 โดยที่ดัชนีตลาดหรือ SET Index นั้นถือได้ว่าอยู่ในอันดับที่ 18 ของดัชนีต่างๆในตลาด
หุ้นยอดเยี่ยมประจำปี 2014
ในคราวนี้เรามาดูหุ้นยอดเยี่ยมประจำปีกันบ้าง เผื่อว่าใครอยากจะเก็บเอาไปศึกษาเป็นการบ้านเชิงลึกเพื่อช่วยในการหาหุ้นทำกำไรในปีต่อไปกัน โดยที่ในปีนี้เราต้องถือว่าตลาดนั้นค่อนข้างที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากๆกับหุ้นตัวเล็ก-กลาง และหุ้นยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งของปีนี้โดยวัดจากผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปีก็คือ บริษัท แอสเซท ไบร์ท จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ABC ในดวงใจของหลายๆคนนั่นเองครับ! โดยที่ผลตอบแทนจากราคาหุ้นเมื่อต้นปีถึงปลายปีในขณะนี้นั้นให้ผลกำไรสูงถึง 28.88 เท่าหรือกว่า 2888% เลยทีเดียว (ผลตอบแทนสูงมากในเวลาอันรวดเร็วติด Top 5% ตลอดกาลของตลาดหุ้นไทยไปเรียบร้อยแล้ว) เรียกได้ว่าใครหลับตาจิ้มหุ้นตัวนี้แล้วนอนกอดเอาไว้ทั้งปีก็คงจะฝันหวานกันไปอีกหลายเดือนเลยทีเดียว โดยที่หุ้นตัวอื่นๆในอันดับสุดยอดหุ้น Top 10 นั้นผมก็ได้บันทึกไว้ในตารางด้านล่างเรียบร้อยแล้วครับ
ตารางที่ 3 : อันดับหุ้นยอดเยี่ยมประจำปี ค.ศ. 2014 เมื่อคิดจากผลตอบแทนจากราคาหุ้นในหนึ่งปีหรือ 1 Year % Cumulative Return
ภาพที่ 4-6 : ตัวอย่างกราฟราคาของหุ้นยอดเยี่ยมในตลาดหุ้นไทยปี ค.ศ. 2014 โดยได้แก่หุ้น ABC, PAF และ DIMET
หุ้นยอดแย่ประจำปี 2014
ดูหุ้นดีๆเยี่ยมๆกันไปแล้วคราวนี้มาดูหุ้นแย่ๆในปีนี้กันบ้างดีกว่าครับ โดยหุ้นที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดก็คือ บริษัท กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอ็มเอฟซี-อะเมซิ่ง อะลา อันดามัน หรือหุ้น M-AAA โดยให้ผลตอบแทนจากราคาหุ้นติดลบถึงราว 91.25% เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม สาเหตุของมันมาจากการที่ มันได้ทำการปิดกองทุนและจ่ายเงินทั้งเงินต้นและเงินปันผลรวมถึงกำไรจากการบริหารคืนผู้ถือหน่วยแล้วเพื่อเตรียม delist ออกจากตลาดในต้นปีหน้า ดังนั้นจึงอาจถือได้ว่าผลตอบแทนที่ติดลบทางราคานั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดวิสัย มันจึงอาจไม่คู่ควรนักกับหุ้นยอดแย่ในปีนี้นัก
ดังนั้นเมื่อมองลงไปในลำดับถัดมานั้นผมจึงจะขอยกความดีความชอบให้กับหุ้นจาก บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) SLC ที่โด่งดังแทน โดยที่ในปีนี้มันได้มุ่งมุ่นที่จะดำดิ่งลงมาเรื่อยๆตั้งแต่ต้นปี จนทำให้ผลตอบแทนจากราคาหุ้นนั้นติดลบถึง -85% และทำให้แมงเม่าหลายๆคนต้องติดดอยไปตามๆกัน นั่นจึงทำให้มันได้ครองตำแหน่งหุ้นยอดแย่ในปีนี้ไปโดยเอกฉันท์! โดยที่ด้านล่างนี้คือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากราคาหุ้นที่ย่ำแย่ที่สุดในปีนี้ 10 อันดับแรกครับ
ตารางที่ 4 : อันดับหุ้นยอดแย่ประจำปี ค.ศ. 2014 เมื่อคิดจากผลตอบแทนจากราคาหุ้นในหนึ่งปีหรือ 1 Year % Cumulative Return
ภาพที่ 7-10 : ตัวอย่างกราฟราคาของหุ้นยอดแย่ในตลาดหุ้นไทยปี ค.ศ. 2014 โดยได้แก่หุ้น M-AAA, SLC และ AS
หุ้นสุดผันผวนประจำปี 2014
ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับสุดยอดหุ้นในปีนี้ก็คือหุ้นที่ผันผวนที่สุดในตลาด (โดยวัดจากค่า Annualized Standard Deviation – Ann.Stdev) โดยหุ้นที่ถือว่ามีความผันผวนกระชากใจแมงเม่าไทยมากที่สุดในปีนี้ก็คือหุ้น บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น IEC นั่นเอง อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่นัก เมื่อดูจากมูลค่าราคาหุ้นของมันซึ่งอยู่ที่ราวๆ 0.05 บาท/หุ้น เท่านั้น เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วหุ้นสุดผันผวนในตาราง Top 10 Annualized Standard Deviation ก็มักจะเป็นหุ้นที่ราคาต่ำกว่า 1 บาทแทบทั้งสิ้น นั่นก็เพราะหุ้นที่มีราคาต่ำมากๆมักจะมีช่วงราคาที่กว้างเมื่อคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ และยังมีความผันผวนจากการเก็งกำไรในตัวอยู่แล้วครับ
ตารางที่ 5 : อันดับหุ้นสุดผันผวนประจำปี ค.ศ. 2014 เมื่อคิดจากค่า % Annualtized Standard Deviation ของราคาหุ้น
ภาพที่ 7-10 : ตัวอย่างกราฟราคาของหุ้นสุดผันผวนในตลาดหุ้นไทยปี ค.ศ. 2014 โดยได้แก่หุ้น IEC, TIES และ RWI
แล้วตลาดในปี 2015 ล่ะ จะเป็นยังไง?
สุดท้ายนี้หลายคนมักสงสัยว่าแล้วตลาดในปีหน้าจะเป็นอย่างไรกันล่ะ? แน่นอนว่ามันเป็นคำถามที่ผมไม่สามารถจะตอบได้แบบชัวร์ๆหรอกครับ (ถ้าตอบได้ก็ไม่ต้องมานั่งเล่นหุ้นตามระบบหรือหลักสถิติแบบทุกวันนี้ 55)
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการปิดท้ายบทความอย่างสวยงามนั้น ผมจะขอทิ้งท้ายไว้ด้วยการประมาณการณ์ตลาดหุ้นด้วยเทคนิคพิเศษจากวิชา Time Series Analysis ที่เรียกว่า Random Walk Forcasting ให้ลุ้นสนุกๆกันสักเล็กน้อย (จริงๆแล้วไม่พิเศษหรอกครับ แต่เป็นระดับเบสิคของวิชานี้ 55) โดยที่มันจะช่วยให้เราประมาณการณ์ถึงขอบเขตของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในอนาคตที่ยังไม่ถีง ตามสมมติฐานที่ว่าตลาดนั้นเคลื่อนไหวแบบสุ่ม ภายใต้ขอบเขตของความมั่นใจในระดับหนึ่งครับ (95% Confidence Level Band)
และนี่ก็คือทั้งหมดของบทความทิ้งท้ายในปี 2014 นี้ แล้วเจอกันใหม่ในตลาดหุ้นปีหน้า 2015 ขอให้เที่ยวให้สนุกและมีความสุขกันเยอะๆทุกคนนะครับผม! ^^
ภาพที่ 11 : กราฟประมาณการขอบเขตการเคลื่อนไหวของดัชนี SET Index ในอีก 25 วันทำการถัดไป ด้วยระดับความเชื่อมั่นที่ 95% โดยการใช้ฐานข้อมูลในการคำนวณจากดัชนีในปี 2014 ที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่ามันมีโอกาสราวๆ 95% ที่ในอีก 25 วันทำวันการหรือราว 1 เดือนข้างหน้า ดัชนี SET Index มีโอกาสที่จะเคลื่อนที่อยู่ในระหว่างช่วงราคาประมาณ 1430-1649 จุด ภายใต้สมมติฐานของ Random Walk