จากประสบการณ์ของผมนั้น ในทุกๆครั้งที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงๆขึ้นมาเมื่อไหร่ มันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีแมงเม่าหน้าใหม่ๆติดดอยและทำใจตัดขาดทุนไม่ลงอยู่เรื่อยไป ดังนั้นในโพสท์นี้ผมจะขอนำเอาสถิติของ SET Index เมื่อตลาดเป็น “ขาลง” มาเล่าให้ฟังกัน เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเพิ่มเติม ซึ่งรับรองว่าคุณจะยังไม่เคยอ่านจากที่ไหนแน่ๆครับ!
-138 จุดที่คุณจะต้องจดจำ
ก่อนที่เราจะเข้าเรื่องกัน ไม่ว่าคุณจะรู้สึกเจ็บปวดหรือเจ็บใจจากการขาดทุนอยู่หรือไม่นั้น ผมอยากจะบอกว่าส่วนหนึ่งแล้วคุณก็ควรจะดีใจที่ได้สัมผัสกับตลาดอยู่ในช่วงนี้กันนะครับ
ถามว่าทำไมน่ะหรือครับ?
คำตอบก็เพราะการดิ่งลงของดัชนี SET Index ในอาทิตย์นี้นั้นมีความสำคัญและความ “ผันผวน” อย่างเป็นประวัติกาล จนทำให้มันติดอยู่ในเหตุการณ์ Classic อันดับต้นๆของตลาดเลยทีเดียวนั่นเองครับ โดยสาเหตุก็เนื่องมาจาก …
อันดับแรก ก็คือความลึกในการดิ่งลงไปในระหว่างวันหรือ % Intraday Drawdown ที่ดิ่งลงไปกว่า –138.96 จุดจากราคาปิดในวันก่อนหน้า จนกลายเป็นหางยาวๆที่ภาษาของนักแท่งเทียนเรียกว่า “Super Hammer Pattern” นั่นเอง! โดยที่เราจะสังเกตได้ในภาพที่ 1 ด้านล่างนี้ว่า Intraday Drawdown ที่คำนวณจากการนำเอาจุดต่ำสุด (Intraday Low) หารด้วยราคาปิดของวันก่อนหน้า (Previous Close) นั้นมีความรุนแรงถึง -9.17% ซึ่งถือได้ว่ามันมีความรุนแรงมากที่สุดในปี 2014 นี้เลยทีเดียว นอกจากนั้นแล้วเรายังถือได้ว่า % Intraday Drawdown ที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงเป็นอันดับที่ 9 นับตั้งแต่ตลาดหุ้นไทยเปิดมาเลยก็ว่าได้ นี่จึงทำให้พวกเรารู้สึกระทึกไปตามๆกันๆเลยทีเดียวครับ
ส่วนเหตุผลที่สอง ที่ทำให้การดิ่งลงของ SET Index ในรอบนี้ผันผวนและ “ดราม่า” สุดๆนั่นก็เพราะ หากเราจะลองทำการเปรียบเทียบ “ระยะส่วนต่าง” (Spread) ระหว่างจุดต่ำสุดระหว่างวัน (Intraday Low) และราคาปิดในวันนั้น (Close) เราก็จะพบว่าพวกมันมีระยะห่างที่กว้างมากๆจนติดอยู่ในอันดับที่ 13 นับตั้งแต่ตลาดหุ้นไทยเคยเปิดมาอีกด้วย ดังนั้นแล้วมันจึงไม่น่าแปลกเลยที่เราจะได้เห็นนักลงทุนหลายคนต้องร้องโอดโอยเพราะการขาดทุน หรือเสียดายที่ Cut Loss กันไปในระหว่างวันนั่นเองครับ (อย่างไรก็ตามการตัดขาดทุน หรือการขายตามระบบก็ยังคงเป็นสิ่งที่ดีในระยะยาวนะครับ)
ภาพที่ 1-2 : แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนรายวันหรือ Closed Daily Return (เส้นสีดำ) และ Intraday Drawdown (เส้นสีแดง) โดยในภาพแรกเป็นการ Zoom In เข้ามาเฉพาะในปี ค.ศ. 2014 เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันเป็น Intraday Drawdown ที่หนักหน่วงเกินห้ามใจในปีนี้ ส่วนในภาพที่ 2 นั้นเป็นการ Zoom Out ถอยไปมองในภาพใหญ่ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่าความจริงแล้วเหตุการณ์ลักษณะนี้มักเกิดขึ้นเป็นช่วงๆอยู่เสมอ ดังนั้นแล้วเราจึงควรที่จะเตรียมพร้อมเพื่อเจอกับมันอีกอย่างแน่นอนในอนาคต
ตารางที่ 1 : อันดับ Top 10 %Intraday Drawdown ที่เคยเกิดขึ้นกับดัชนี SET Index นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 – 2014 โดยที่ในวันประกาศมาตรการกันสำรองของหม่อมอุ๋ยในปี ค.ศ. 2006 นั้นถือได้ว่าโหดร้ายและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนวันแดงเดือดที่ผันผวนกว่า –138.96 จุดในขณะนี้นั้นอยู่ในอันดับที่ 9 จากสถิติที่ผ่านมาของตลาด
แนวโน้มของ SET Index และข้อมูลดิบใน “ขาลง” ที่ผมเก็บออกมา
เอาล่ะครับ! ทีนี้เรามาเริ่มพูดกันถึงเนื้อหาจริงๆในบทความนี้กันดีกว่าครับ ซึ่งแน่นอนครับว่าในช่วงอาทิตย์ที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ แม้ว่า SET Index อาจจะมีการ Rebound กลับมาได้สักประมาณหนึ่ง แต่ในภาพรวมแล้วเราก็คงจะต้องถือว่ามันอยู่ในช่วงของตลาดขาลงอย่างปฏิเสธไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับสถิติที่ผมเก็บออกมาจากแนวโน้มในขาลงของดัชนี SET Index นั้นคืออะไร ผมจำเป็นที่จะต้องให้ความหมายหรือนิยาม “แนวโน้ม” ของ SET Index กันให้ชัดเจนเสียก่อนเล็กน้อย โดยในบทความนี้นั้น ผมจะขอใช้แนวโน้มของ SET Index ที่ทำการบ่งชี้จากกรอบของราคา ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการ Breakout จุดสูงจุดหรือ Breakdown จุดต่ำสุดภายใน 20 วันที่ผ่านมา หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “20 Days Donchian Price Channel” ซึ่งจะมีลักษณะของแนวโน้มตามภาพด้านล่างนี้ครับ
ภาพที่ 3 : ลักษณะแนวโน้มของ SET Index ที่วัดจาก 20 Days Donchian Price Channel โดยขาขึ้นจะมีลักษณะแท่งเป็นสีเขียวและขาลงเป็นสีส้ม
สำหรับคนที่สงสัยว่าว่าทำไมผมจึงใช้ 20 Days Donchian Price Channel มาเป็นตัวบ่งชี้สำหรับความนี้?
คำตอบก็คือผมคิดว่ามันให้ภาพของตลาดในระยะกลางได้ดีระดับหนึ่ง และมันก็เป็นการวัดหาแนวโน้มของ SET Index ที่มีประสิทธิภาพพอสมควร และมันยังเป็นสิ่งที่ผมได้นำมาใช้อธิบายแนวโน้มของตลาดอย่างนมนาน ตั้งแต่ผมเริ่มเขียนบทความในเว็บแมงเม่าคลับมานั่นเองครับ ซึ่งสำหรับในบทความนี้นั้น ผมจะใช้แนวโน้มจากเจ้า Donchian Channel ตัวนี้ ทำการเก็บข้อมูลบางอย่างที่เกิดขึ้นในขณะที่ตลาดเป็นขาลงออกมา ซึ่งเดี๋ยวผมจะค่อยๆเล่าให้ฟังกันไปทีละเรื่องนะครับ
สถิติใน “ขาลง” ของ SET Index
อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าผมได้เก็บเอาสถิติบางอย่างเมื่อ SET เป็นขาลงออกมา ซึ่งได้แก่ ระยะเวลาของขาลง (Bars Duration), ระยะเวลาในการดิ่งลงไปสู่จุดต่ำสุดของขาลงรอบนั้น (Bars to Bottom), ระยะเวลาในการฟื้นตัววิ่งจากจุดต่ำสุดจนกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง (Bars to Recovery) และ % ความลึกที่มากที่สุดของการลงในรอบนั้นโดยวัดจากวันแรกที่ตลาดกลายเป็นขาลง (Downs Trend Depth) ซึ่งในจากสถิติในภาพรวมนั้น พวกมันได้ให้ผลลัพท์ที่ชัดเจนออกมาดังภาพที่ 3 และตารางที่ 2 ด้านล่างนี้ โดยหากว่าคุณไม่คุ้นเคยกับภาพและตารางทางสถิติเท่าไหร่นั้น ผมก็ขอให้ใจเย็นๆกันเสียก่อนนครับ เพราะเดี๋ยวผมจะช่วยอธิบายในย่อหน้าถัดไปให้ได้เข้าใจกันต่อไปนะครับ
ภาพที่ 4 : ภาพตาราง Multi-Correlation Chart แสดงให้เห็นถึงลักษณะการกระจายตัวของข้อมูลต่างๆ (Histogram), กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลตัวแปร 4 ชนิด (Scatter Chart) และค่าสหสัมพันธ์หรือค่า Correlation ที่ได้เก็บออกมาในขณะที่ SET Index เป็นขาลง
ตารางที่ 2 : ภาพรวมของสถิติต่างๆที่ได้จากการเก็บข้อมูลในขณะที่ดัชนี SET Index อยู่ในขาลงจำนวนทั้งสิ้น 110 เหตุการณ์ (n=110)
โดยจากภาพที่ 4 และตารางที่ 2 ด้านบนนั้น ถึงแม้ว่ามันอาจจะดูลายตาสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยไปสักหน่อย แต่หากว่าเราค่อยๆเก็บรายละเอียดกันไปทีละอย่างนั้นเราจะพบว่า
1. เมื่อ SET Index เข้าสู่ช่วงขาลงนั้น พวกมันมักที่จะอยู่ในแนวโน้มขาลง (Bars Duration) เป็นระยะเวลาประมาณ 31 Bars หรือราวๆ 6 สัปดาห์นั่นเอง (5 Bars ต่อ 1 อาทิตย์ โดยในกรณีนี้ผมมองจากค่า Median นะครับเพราะคิดว่าเหมาะสมกว่าค่า Mean เนื่องจากการกระจายตัวของเหตุการณ์ส่วนใหญ่เป็นแบบไม่สมมาตรหรือ Skew เบ้ไปในทางใดทางหนึ่ง โดยที่เราจะเห็นได้ว่ากว่า 75% นั้น (สังเกต 1st Quantile) พวกมันมักจะต้องใช้เวลามากกว่า 21 Bars ก่อนที่จะกลับกลายเป็นแนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง นั่นทำให้เราพอที่จะคาดหวังได้ว่า อย่างไรเสีย ความน่าจะเป็นที่ SET Index จะกลับมาเป็นขาขึ้นได้อีกครั้งก็คือหลังปีใหม่ ค.ศ. 2015 นั่นเองครับ (ด้วยระดับความมั่นใจราว 75%)
2. ระยะเวลาโดยเฉลี่ยที่ SET Index ใช้ในการวิ่งลงไปสู่จุดต่ำสุดในขาลงนั้น (Bars to Bottom) จะอยู่ที่ราวๆ 14 bars หรือ 3 อาทิตย์ อย่างไรก็ตามราวๆ 25% ของสถิติที่เหลือนั้น SET Index อาจใช้เวลาต่ำกว่า 5 วันในการวิ่งไปสู่จุดต่ำสุด ซึ่งในกรณีของเหตุการณ์ -138 จุดที่พึ่งเกิดขึ้นไปนี้ หากเราจะอิงจากมุมมองทางเทคนิคแบบ Hammer Candle Stick Pattern ที่ได้รับการกล่าวขานกันว่า มันมักจะเกิดขึ้น ณ จุดต่ำสุดของรอบนั้นๆแล้วล่ะก็ เราก็คงต้องมาคอยลุ้นและติดตามกันต่อไปว่า เจ้ากราฟ Super Hammer ตัวนี้มันจะเป็นจุดต่ำสุดของรอบนี้หรือไม่อย่างไร และจากสามารถหลุดเข้าไปอยู่ในสถิติ 25% ที่เหลือได้หรือไม่กันครับ
3. ระยะเวลาการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดจนไปถึงเวลาที่ตลาดเป็นขาขึ้น (Bars to Recovery) ของ SET Index นั้นโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ราวๆ 13 Bars หรือ 2 อาทิตย์กว่าๆ ซึ่งอาจมองในภาพรวมได้ว่าระยะเวลาในการลงและการฟื้นโดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาพอๆกัน
4. ความลึกของการลงนั้น (Down Trend Depth) โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ราวๆ -9.25% ซึ่งเมื่อมองจากเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นไปแล้วนั้น ผมพบว่าเรากำลังอยู่ที่จุดราวๆค่า Median ตรงนี้ หรือพูดง่ายๆก็คือเรายังมีโอกาสประมาณห้าสิบห้าสิบที่ SET Index ยังจะทำจุดต่ำสุดกว่าเดิมได้ในอนาคต แต่อย่าลืมว่าโอกาสแบบ Black Sworn หางแดงนั้นหรือการขาดทุนนั้นยังคงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และจากสถิติที่ผ่านมานั้นมีโอกาสถึงราวๆ 25% ที่ตลาดอาจวิ่งลงไปจนทำให้เกิด Down Trend Depth ที่มากกว่า -16.18% ก็เป็นได้เช่นกัน
5. นอกจากการพิจารณาถึงสถิติรายตัวแปรแล้ว เมื่อมองไปยังลักษณะความสัมพันธ์ของพวกมันแล้วเราจะพบว่า
– ระยะเวลาที่ใช้ในการวิ่งไปสู่จุดต่ำสุด (Bars to Bottom) และระยะเวลาในการเกิดแนวโน้มนั้น (Bars Duration) มีความสัมพันธ์ในทางเดียวกันที่สูงมากๆโดยให้ค่า Correlation ถึง 0.97
– ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้า Bars Duration และ Bars to Bottom กับความลึกของการดิ่งลงหรื Down Trend Depth นั้นมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างเข้มข้นถึง -0.68 เลยทีเดียว (ค่า Correlation ที่ติดลบมาจากการที่ค่าของ Down Trend Depth มีค่าติดลบ) นั่นจึงทำให้เราได้เข้าใจว่าในภาพรวมนั้นยิ่งแนวโน้มขาลงทอดยาวออกไปเท่าไหร่ อัตราการการดำดิ่งตกต่ำลงของ SET Index ก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้นด้วยเช่นเดียวกัน
– ข้อสุดท้ายที่ผมอยากจะ *** เอาไว้สักสามดอกก็คือ จากสถิติที่ผ่านมานั้น เราจะเห็นว่าตัวแปรที่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กับตัวแปรอื่นๆสักเท่าไหร่เลยก็คือ ระยะเวลาในการฟื้นตัวจนกลับมาเป็นแนวโน้มขาขึ้นหรือ Bars to Recovery โดยมันมีค่า Correlation กับ Bars to Duration, Bars to Bottom และ Down Trend Depth ที่ 0.11, -0.12, -0.06 ตามลำดับเท่านั้น ดังนั้นใครที่พยายามจะประเมิณความเร็วในการกลับตัวจากจุดต่ำสุดของแนวโน้ม ด้วยตัวชี้วัดต่างๆที่อยู่ในข่ายของแปรเหล่านี้อยู่ คุณอาจที่จะต้องลองพิจารณามองหาตัวแปรในการวิเคราะห์ใหม่ๆกันสักนิดนะครับ เพราะไม่เช่นนั้นคุณอาจจะต้องเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ก็เป็นได้ เพราะมันแทบจะไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันเลยครับ
แล้วสรุปว่า SET Index จะลงต่อหรือไม่ และจะเป็นขาลงไปอีกยาวนานแค่ไหนกันล่ะ!?
พูดมาตั้งนานยังไม่ได้ฟันธงซะที … ผมรู้ว่านี่เป็นคำถามที่หลายๆคนอยากรู้กันนะครับ แต่ผมก็คงต้องบอกตรงๆว่าผม (และคงไม่มีใคร) ที่จะสามารถฟันธงแบบรับประกันผลการเดาได้ดีขนาดนั้นหรอกครับ! แต่เราก็สามารถจะทำได้ดีในระดับหนึ่ง ด้วยการเอาสถิติที่ผ่านมาออกมากาง ให้มองไว้เป็นกรอบกว้างๆอย่างในภาพที่ 4 และตารางที่ 2 ด้านบนของบทความนี้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ผมเองเข้าใจดีกว่าความอยากรู้อยากเห็นอนาคตมันเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ :P และผมเองก็ต้องการที่จะเขียนบทความให้มันสนุกและมี “น้ำจิ้ม” กว่าบทความทั่วๆไปเช่นกัน ดังนั้นแล้วผมจะขอวิเคราะห์แถมท้ายไว้สักหน่อย โดยตั้งเงื่อนไขสมมติหรือ Scenario ไว้ว่า
“ถ้าหากว่า Super Hammer Pattern ที่เกิดขึ้นในวันที่ 15-12-2014 หรือวันแดงเดือด -138 จุดที่ผ่านมานั้นเป็นจุดต่ำสุดของรอบนี้ไปแล้วจริงๆ เราจะคาดหวังอะไรกับมันได้บ้าง?”
ซึ่งเมื่อผมกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมลงไปจากข้อมูลที่มีอยู่นั้น ผมพบว่าหากว่าระยะเวลาในะการวิ่งลงไปถึงจุดต่ำสุดนั้นน้อยกว่า 5 Bars อย่างที่เรากำลังสมมติว่า Super Hammer ที่ผ่านมานั้นคือวันที่เกิดจุดต่ำสุดไปแล้ว จากสถิติแล้วเราจะมีโอกาสที่จะได้เห็น SET Index กลับมาเป็นขาขึ้นภายในระยะเวลาประมาณไม่เกิน 30 วันหรือ 6 สัปดาห์ต่อจากนี้ ด้วยความมั่นใจราวๆ 90% เลยทีเดียว (จากภาพรวมเดิมที่ 50%) และนั่นก็จะทำให้พอคาดเดาได้ว่าอย่างน้อยในเดือนกุมภาพันธ์เราก็น่าจะได้เห็น SET Index กลายเป็นขาขึ้นอีกครั้งหนึ่งนั่นเองครับ!
Note : อย่าลืมว่าสถิติเหล่านี้ต้องเผื่อความคลาดเคลื่อน +- ไว้ด้วยเสมอ ที่สำคัญที่สุดก็คือสถิติในตลาดหุ้นนั้นมักมีไว้ทำลายนะครับ และจุดต่ำสุด ณ วันที่ 15-12-2014 ก็อาจจะไม่ใช่จุดต่ำสุดของรอบก็เป็นได้ ดังนั้นแล้วฟังหูไว้หูเอาไปพิจารณาต่อกันเองดูนะครับ
ภาพที่ 5 : ภาพกราฟ Empirical Cumulative Distribution Function หรือสถิติการกระจายตัวของความน่าจะเป็นสะสม ของระยะเวลาที่ SET Index อยู่ในแนวโน้มขาลง (Down Trend Duration) ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าระยะเวลาในการดำดิ่งลงไปสู่จุดต่ำสุด (Bars to Bottom) นั้นน้อยกว่า 5 Bars นับตั้งแต่เกิดสัญญาณขาลงของ SET Index ขึ้น
แล้วเราจะเอาไงกันต่อดี?
แล้วจะเอาไงต่อดีล่ะ … คำตอบก็คือ “จงทำตามระบบตามแผนการของคุณไปให้ดีที่สุดนั่นแหละครับ!!!” อย่าไปวอกแวกกับความผันผวนรายวันของตลาดมากจนเกินไป ยกเว้นเสียแต่คุณไม่มีระบบหรือแผนการณ์ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นผมแนะนำให้หยุดเล่นแล้วไปหาความรู้เสียก่อน เพราะเวลาที่ตลาดเอาคืนมันมักจะมาโหดเอามากๆ
สิ่งที่ผมอยากฝากไว้ก็คือ ผมคิดว่าในระยะยาวแล้วสติและวินัยในการลงทุนนั้นจะมีค่ามากกว่าการพยายามแหกกฎแหกระบบ เพียงเพื่อความต้องการที่จะลดการขาดทุนที่เกิดขึ้นในบางครั้งให้น้อยลงอย่างเทียบกันไม่ได้เลย!!! ผมเองคิดว่า Mindset ในการลงทุนที่ดีคือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรักษาและหวงแหนไว้มากกว่าเงินที่คุณขาดทุนไปแล้วเป็นอย่างมาก เพราะพวกมันคือสิ่งที่จะคอยควบคุมการกระทำต่างๆของคุณ และมันจะส่งผลต่อผลการลงทุนในระยะยาวของคุณมากอย่างที่สุด … ซึ่งแน่นอนว่า Mindset ที่ว่านี้ไม่มีขาย แต่ต้องค่อยๆถูกบ่มเพาะขึ้นมาจากประสบการณ์ที่เราได้ทำตามระเบียบวินัยแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดก็ตามครับ
เอาล่ะครับ! สำหรับการคาดการณ์ตลาดจากสถิติต่างๆในขาลงของดัชนี SET Index ในบทความนี้ผมก็คงจะขอจบเพียงเท่านี้นะครับ อ่านเป็นความรู้สนุกๆแต่อย่าได้ยึดมั่นถือมั่นกับการพยากรณ์ต่างๆจนเกินไป … จำไว้ว่าเรายังคงสามารถทำกำไรจากตลาดได้แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรกันได้อยู่ดี ด้วยการทำตามระบบที่มีประสิทธิภาพ, การบริหารความเสี่ยง และบริหารสติอย่างเหมาะสมเอาไว้ตลอดเวลา (ใครไม่เข้าใจลองไปย้อนอ่านบทความเก่าๆที่ผมเขียนเอาไว้ตรงหน้าดัชนีบทความดูได้ครับ) … แล้วเจอกันใหม่บทความหน้า ขอบคุณที่อ่านจนจบรวมถึงคอมเมนท์ของทุกๆคนล่างหน้าครับ ^^
ปล. ภาพกราฟอาจไม่ได้อัพเดท ณ วันที่ปล่อยบทความนี้นะครับ เนื่องจากผมเขียนไว้ตั้งแต่วันที่ 15-12-2014 แต่ยังซ่อมเว็บไม่เสร็จครับ