วันอาทิตย์ที่ผ่านมาพึ่งมีโอกาสได้รับการเชิญชวนจากครูเสกแห่ง CDC ไปช่วยบรรยายในงาน meeting หุ้นอีกครั้งหนึ่ง ก็เลยเอาข้อมูลที่ทำไว้มาสรุปคร่าวๆให้อ่านกันครับ
สนใจสภาวะของตลาดไปเพื่ออะไร
เหตุผลง่ายๆก็เพราะราคาหุ้นส่วนใหญ่จะวิ่งขึ้นไปในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นหรือเอื้ออำนวย และจะพากันดิ่งลงเมื่อตลาดกลับกลายเป็นขาลงหรือขาดเม็ดเงินที่เข้ามาหนุนตลาด ยกตัวอย่างเช่นผลการทดลองจากบทความ กฏ 3 ใน 4 และตลาดหุ้นขาลง ที่ได้แสดงให้เห็นว่าในวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 มีหุ้นในตลาดเพียงแค่ 2.28% เท่านั้นที่ยังคงให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกเมื่อตลาดจบสิ้นขาลง นอกจากนี้แล้วระบบการลงทุนในแนวทางเทคนิคส่วนใหญ่ซึ่งใช้ปรัชญาของ Trend Following ก็มักที่จะให้ผลตอบแทนส่วนใหญ่เมื่อตลาดเป็นขาขึ้นเท่านั้น
Benchmark เพื่อวัดผลในการวิเคราะห์
ก่อนที่จะพูดถึงเทคนิคง่ายๆที่จะช่วยให้ทุกๆคนสามารถนำไปใช้สังเกตตลาดนั้น ผมอยากจะหาจุดอ้างอิงเพื่อวัดผลเปรียบเทียบประสิทธิภาพของพวกมันสักเล็กน้อย โดยในกรณีนี้ผมจะขอให้ผลตอบแทนของ SET index ตั้งแต่วันที่ 4/1/2000 – 22/6/2012 โดยสมมุติง่ายๆว่าหากเรามีเงินทุนตั้งต้น 1 ล้านบาทแล้วซื้อหุ้นตัวหนึ่ง (ซึ่งในที่นี้คือ SET index) ผลตอบแทนและความเสี่ยงจะออกมาดังนี้
CAGR หรือผลตอบแทนทบต้นของ SET index – 7.09% ต่อปี
Net Profit หรือผลตอบแทนสุทธิของ SET index – 135.1%
Max DD. หรือการลดลงสูงสุดของมูลค่าเงินทุนในระหว่างการลงทุน – 58.01%
MAR Ratio หรือผลตอบแทนทบต้น CAGR ต่อ MaxDD – 0.12
Ending Capital หรือเงินทุนสิ้นสุดการลงทุน – 2,351,021 บาท
ข้อสังเกต 3 ประการที่ช่วยบ่งชี้ว่าตลาดกำลังเอื้อต่อการทำกำไร
ความจริงแล้วแนวทางในการวิเคราะห์สภาวะตลาดโดยรวมนั้นมีอยู่อย่างมากมายจนนับไม่หมด แต่ในคราวนี้ผมจะขอยกตัวอย่างแนวทางการสังเกตไว้เป็นทางเลือกในการประกอบการวิเคราะห์ของเพื่อนๆไว้ 3 แนวทางง่ายๆ โดยจะขอพูดถึงแนวทางเบื้องต้นที่สุดก่อนแล้วกันครับ
1. แนวโน้มราคาในระยะสั้นของดัชนี SET index โดยวัดจาก Peak n Trough ที่ 1%
เชื่อว่าหลักสังเกตข้อนี้คงน่าจะเป็นที่เคยผ่านหูผ่านตาสำหรับหลายๆคนมาบ้างแล้ว โดยในรูปกรอบสีดำคือแนวร้บแนวต้าน (Peak n Trough) ที่เกิดขึ้นจาก Zigzag indicator ที่ 1% นั่นเองครับ กราฟที่เป็นสีเขียวจะแสดงให้เห็นตลาดที่เป็นขาขึ้นในระยะสั้นและสีส้มคือตลาดที่เป็นขาลง
หลักการมองตลาดหุ้นด้วยแนวโน้มของ SET index ในระยะสั้น
ขาขึ้น – SET index ทำราคาสูงสุด เหนือจุดสูงสุดเดิมของค่า Zigzag Peak ที่ 1%
ขาลง – SET index ทำราคาต่ำสุด ต่ำกว่าจุดต่ำสุดเดิมของ Trough ที่ 1%
ในคราวนี้เราลองมาทดสอบผลตอบแทนของสัญญาณที่เกิดขึ้นกับ SET index ตัวนี้กันบ้าง โดยผมจะทำการสร้างระบบการลงทุนขึ้นมาโดยอิงสัญญาณจากแนวโน้มระยะสั้นของ SET โดยต่อไปนี้เป็นกฏของระบบครับ
ระบบแมงเม่า SET Buy
Position Size = 5% ของเงินทุน
Buy = กวาดซื้อหุ้นเมื่อ SET index เป็นขาขึ้นในราคา Open ของเช้าวันถัดไป
Sell = ขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมดเมื่อ SET index เป็นขาลงในราคา Open ของเช้าวันถัดไป
Ranking = เนื่องจากเงินทุนของเราไม่สามารถที่จะกว้านซื้อหุ้นทั้งตลาดได้ในคราวเดียว ผมได้ให้ระบบเลือกหุ้นที่อยู่ใกล้จุดสูงสุดภายใน 1 ปีของมันตามลำดับไล่ลงไปเรื่อยๆจนกว่าเงินจะหมดครับ
Commission = 0.25% ต่อครั้งรวม 0.5% ต่อรอบ
*** ระบบนี้ไม่มีการปรับแต่งอย่างอื่นเพิ่มเติมใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากต้องการที่จุดได้ผลที่บริสุทธิที่สุดของมันออกมานะครับ
ผลตอบแทนของระบบจากสัญญาณแนวโน้มในระยะสั้นของ SET index
- CAGR – ระบบ 22.13% vs. SET index 7.09%
- Net Profit – ระบบ 1110.86% vs. SET index 135.1%
- Max DD. – ระบบ 16.23% vs. SET index 58.01%
- MAR Ratio – ระบบ 1.36 vs. SET index 0.12
- Ending Capital – ระบบ 12,108,604 vs. SET index 2,351,021
บทสรุปผลของระบบจากสัญญาณแนวโน้มระยะสั้นของ SET index
ถึงแม้ผมจะไม่ได้ทำการเก็บสถิติผลตอบแทนของหุ้นทุกๆตัวทั้งหมดที่อยู่ในตลาดเมื่อตลาดเป็นขาขึ้นออกมา แต่เชื่อว่าผลจากระบบการลงทุนที่อิงสัญญาณจากแนวโน้มระยะสั้นของ SET index ง่ายๆนี้ก็น่าจะเป็นข้อบ่งชี้ได้พอสมควรว่าความจริงแล้วการเลือกลงทุนให้ถูกจังหวะกับตลาดก็สามารถที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้เหนือกว่าตลาดได้ไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วระบบยังให้ความแม่นยำในระยะยาวสูงกว่า 50% อีกด้วย นับว่าเป็นระบบ Trend Following ที่ค่อนข้างผ่าเหล่าผ่ากอพอสมควรนะครับ เอาล่ะครับ วันนี้ไว้เท่านี้ก่อน เดี๋ยวอีกสัก 2-3 ในบทความต่อไปจะนำข้อสังเกตอีก 2 ประการ (ทีเด็ดที่หลายๆคนอาจไม่เคยนึกถึง) มาลงกันให้ดูต่อไป ใครผ่านมาอ่านก็แวะมา comment ทักทายกันหน่อยเน้อครับ