ว่ากันว่าการวิเคราะห์หุ้นด้วยรูปกราฟแท่งเทียนหรือ Candlestick สามารถที่จะช่วยให้คุณทำการซื้อขายหุ้นได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น คำกล่าวอ้างนี้จะเป็นจริงแค่ไหน? และมันจะสามารถเอาชนะความน่าจะเป็นของการโยนเหรียญได้หรือไม่? ในวันนี้ผมได้ลองทำการทดสอบมันกับตลาดหุ้นไทยออกมาให้ดูกันครับ
ประวัติโดยสังเขปของการวิเคราะห์ด้วยกราฟแท่งเทียน Candlestick
เป็นที่รู้กันดีว่ากราฟแท่งเทียนหรือ Candlestick Chart นั้นมีประวัติของมันมาอย่างยาวนาน มันถูกคิดค้นขึ้นโดยนักเก็งกำไรข้าวชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Honma Munehisa หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า Sokyu Homma ในช่วงราวๆศตวรรษที่ 17 โดยภายหลังจากที่เขาได้ทำการคิดค้นการวิเคราะห์พฤติกรรมของราคาข้าวด้วยกราฟแท่งเทียนขึ้นมานั้นมันก็ได้ช่วยให้เขากลายเป็นอภิมหาเศรษฐีในยุคของเขาในเวลาไม่นานนัก ประมาณการกันว่าทรัพย์สมบัติของเขานั้นหากนำมาตีเป็นมูลค่าของเงินในปัจจุบันนั้นเทียบได้ถึงราวๆ 100 Billion US Dollar เลยทีเดียว ใครอยากอ่านประวัติของเขาเพิ่มเติมแบบสนุกๆลองคลิ้กเข้าไปอ่าน Post ที่เขียนไว้โดยคุณ Tea for Two ได้เลยที่นี่ครับ (ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ )
*** ในบทความนี้ผมเองจะไม่ขอกล่าวถึงพื้นฐานการวิเคราะห์ด้วยกราฟแท่งเทียนให้อ่านกันนะครับ เนื่องจากคิดว่าคงมีบทความดีๆเกี่ยวกับมันอยู่เต็มไปหมดแล้ว และมันก็ไม่ใช่สิ่งที่อยากจะนำมาพูดคุยกันในวันนี้ด้วย เพราะประเด็นสำคัญของมันในวันนี้ก็คือความแม่นยำของมันเสียมากกว่าครับ
ความแม่นยำของแท่งเทียน
ถึงแม้ว่าความแม่นยำของการวิเคราะห์ด้วยกราฟแท่งเทียนนั้นจะเป็นที่ถูกกล่าวขานกันมานานแล้วในวงการตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าน้อยคนนักที่จะเคยได้ทราบว่าจริงๆแล้วอัตราความแม่นยำของมันในตลาดหุ้นไทยนั้นเป็นอย่างไร ในวันนี้ผมจึงได้จับเอารูปแบบของกราฟแท่งเทียนที่เป็นที่ยอมรับกันโดยสากลมาลองทดสอบออกมาให้ดูกันคร่าวๆว่าผลจะเป็นอย่างที่เราเชื่อกันมากน้อยแค่ไหน และต่อไปนี้คือรายละเอียดของวิธีการทดสอบครับ
ผมได้จับเอาสัญญาณการกลับตัวที่เป็นที่ยอมรับกันโดยสากลว่าพวกมันมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดขึ้นมาทั้งหมด 10 รูปแบบ แบ่งเป็นสัญญาณการกลับตัวขึ้นและลงอย่างละ 5 แบบเท่าๆกัน (ตามรูปด่านล่าง) โดยผมได้ทำการทดสอบย้อนหลังกับหุ้นทั้งตลาดตั้งแต่ช่วงวันที่ 1/1/2001 – 1/1/2011 และเพื่อให้การวัดผลอัตราความแม่นยำของสัญญาณที่เกิดขึ้นมานั้นไม่ถูกผลกระทบจากองค์ประกอบอื่นๆของระบบ ผมจึงได้ตัดเอาสัญญาณขายหุ้นทุกๆอย่างทิ้งไปแล้วแทนที่ด้วยการ Exit โดยนับจากจำนวนวันภายหลังจากที่ได้ Entry เข้าไปแทน (แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ 5, 10, 15, 20 วันหลังจาก Entry เข้าไป) เนื่องจากวิธีการนี้จะช่วยให้เราสามารถตัดเอาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสัญญาณขายและทำให้เหลือตัวแปรหลักอยู่เพียงตัวเดียว ซึ่งนั่นก็คือ Entry Signal ที่เราต้องการจะทดสอบกันครับ
*** ผลความแม่นยำของสัญญาณแต่ละรูปแบบจะถูกวัดออกมาใน 4 คาบเวลา นั่นคือการ Exit หลังจากที่เราได้ Entry เข้าไปเป็นจำนวน 5, 10, 15 และ 20 วัน เพื่อที่จะดูถึงผลกระทบและความเสถียรรวมถึงความประสิทธิภาพของมันในตามความยาวนานของการถือครองหุ้น เหตุผลที่ผมได้ตั้งจุดสูงสุดในการทดสอบไว้ที่ 20 วันก็เนื่องมาจากพวกมันมักถูกใช้ในการเก็งกำไรในระยะสั้นๆเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง
บางส่วนจากผลการทดสอบความแม่นยำของสัญญาณจากกราฟแท่งเทียน Candlestick
Bullish Signal : สัญญาณการกลับตัวขึ้น
#Trades | 5 days | 10 days | 15 days | 20 days |
Bullish Engulfing | 1,201 | 1,182 | 1,171 | 1,153 |
Hammer | 756 | 746 | 729 | 722 |
Bullish Harami | 8,644 | 7,940 | 7,347 | 6,899 |
Piercing Line | 154 | 154 | 153 | 152 |
Bullish Morning Doji Star | 243 | 242 | 241 | 240 |
Bearish Signal : สัญญาณการกลับตัวลง
#Trades | 5 days | 10 days | 15 days | 20 days |
Bearish Engulfing | 1,005 | 997 | 982 | 971 |
Shooting Star | 36,647 | 28,158 | 21,826 | 18,098 |
Bearish Harami | 18,664 | 16,509 | 14,685 | 13,178 |
Dark Cloud Cover | 372 | 372 | 372 | 372 |
Bearish Evening Doji Star | 71 | 71 | 70 | 70 |
แท่งเทียน, เหรียญ และความแม่นยำ
จากผลการทดสอบในตารางที่ออกมานั้น เราจะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วสัญญาณของพวกมันนั้นให้อัตราความแม่นยำที่แทบจะไม่แตกต่างกับการโยนเหรียญสักเท่าไหร่เลย มิหนำซ้ำสัญญาณหลายๆตัวยังให้ความน่าจะเป็นที่แย่กว่าการโยนเหรียญเสียอีก อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะสังเกตุได้ก็คือแม้ Holding Period จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ไม่ได้ทำให้อัตราความแม่นยำของพวกมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญสักเท่าไหร่นัก นี่อาจค้ากับความเชื่อที่ว่าแท่งเทียนต้องเอาไว้เล่นสั้นๆไม่กี่วันก็เป็นได้ นอกจากนี้แล้วเรายังจะสังเกตุได้อีกว่าสัญญาณการวกตัวลงนั้นมีความถี่ (#Trades) ที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าการวกตัวขึ้นอีกด้วย
คำถามก็คือจากผลการทดสอบที่ออกมา … อัตราความแม่นยำที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะทำให้แท่งเทียนหมดค่าไปเลยหรือไม่?
ผมคงต้องตอบว่าเราคงจะรีบด่วนสรุปอย่างนั้นไม่ได้ เนื่องจากจริงๆแล้วสัญญาณเทคนิคเมื่อวัดกันโดยตัดตัวแปรของ Exit ออกไป ส่วนใหญ่ก็ให้ค่าไม่ดีไปกว่าการโยนเหรียญเลยเช่นกัน นอกจากนี้มันก็ไม่ได้หมายความว่าเพียงเพราะความแม่นยำที่พอๆกับการโยนเหรียญนี้จะแปลว่ามันไม่มีประสิทธิภาพในการทำกำไรให้คุณด้วยเช่นกัน เนื่องจากสุดท้ายแล้วจุดขาย Exit ต่างหากที่จะตัดสินได้จริงๆว่ามันจะให้ค่ากำไรคาดหวังหรือ Expectancy ที่เป็นบวกได้หรือไม่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นการดีกว่าที่พวกเราจะได้ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคอย่างรู้เท่าทันโดยไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างที่เกินจริงไป เนื่องจากเมื่อสิ่งที่คุณคาดหวังกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมันไม่ได้ไกล้เคียงกันเลยนั้น จะส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนของคุณอย่างแน่นอน
… สำหรับวันนี้ก็มีเพียงเท่านี้ครับ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้า ขอบคุณครับ
ปล. นี่เป็นผลการทดสอบคร่าวๆจากฐานข้อมูลที่ผมมีเท่านั้น ผมไม่อาจรับประกันถึงความถูกต้องได้เต็ม 100% ดังนั้นผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณของตนเองพิจารณาดู หรือลองทดสอบด้วยตนเองดูเช่นกันครับ