fbpx
วิธีการเล่นหุ้นและวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค

องค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับ System Trader และการลงทุนอย่างเป็นระบบ

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

“อยากลงทุนอย่างเป็นระบบ ควรต้องรู้อะไรบ้าง?” วันนี้ผมจะเขียนแชร์ให้เห็นถึงภาพกว้างๆขององค์ความรู้พื้นฐานที่ผมคิดว่าจำเป็นจะต้องมีเพื่อที่จะสร้าง, ทดสอบ และนำระบบการลงทุนไปปรับใช้กันได้อย่างมีประสิทธิภาพกันนะครับ

องค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการลงทุนอย่างเป็นระบบ

quote-Benjamin-Franklin-an-investment-in-knowledge-pays-the-best-100399

ก่อนอื่นผมคงต้องขอบอกก่อนเลยนะครับว่า สำหรับในบทความนี้ผมจะขอพูดถึงเฉพาะองค์ความรู้เบื้องต้นที่ผมคิดว่าสำคัญกับนักลงทุนในระดับรายย่อยหรือรายบุคคล โดยผมพิจารณากลั่นกรองเอาจากประโยชน์ใช้สอย และจากความถี่ที่ต้องนึกถึงหรือนำเอาความรู้เหล่านี้มาใช้บ่อยๆอยู่เป็นประจำในกิจวัตรประจำวัน ซึ่งก็ประกอบไปด้วยองค์ความรู้พื้นฐานหลักๆ 5 อย่าง และนั่นก็คือ

  1. ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ (Algebra and English)
  2. ความรู้พื้นฐานทางด้านการลงทุน (Investing-Trading and Markets Knowledge)
  3. ความรู้พื้นฐานทางด้านการใช้และเขียนโปรแกรม (Computer and Programing)
  4. ความรู้พื้นฐานทางด้านการออกแบบและทดสอบระบบการลงทุน (System Design and Backtesting)
  5. ความรู้พื้นฐานทางด้านวิชาสถิติศาสตร์ (Statistics)

ผมจะค่อยๆเล่าถึงเหตุผลและความจำเป็นไปทีละข้อนะครับ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำก่อนว่าลำดับหัวข้อที่ผมเขียนนั้นไม่ได้บ่งบอกถึงลำดับความสำคัญเท่าไหร่นัก เพราะผมคิดว่าทุกอย่างเกื้อหนุนกันหมด ว่าแล้วเราก็เริ่มกันเลยดีกว่าครับ!

ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ (General-Basic Knowledge)

maths and science formula on whiteboardจำนวนและตัวเลขคือภาษาของ System Trader เนื่องจากเป้าหมายและหัวใจของการลงทุนด้วยระบบการลงทุนนั้นก็คือความพยายามที่จะตัดเอาอารมณ์ความรู้สึก และทำการตัดสินใจต่างๆด้วยข้อมูลตัวเลขซึ่งมีความเป็นรูปธรรม ความรู้พื้นฐานด้านคณิตศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการที่จะทำความเข้าใจต่อองค์ความรู้ในระดับต่างๆที่สูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ

ในที่นี้ผมไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องได้เกรด A วิชา Calculus หรืออะไรขนาดนั้นนะครับ แต่อย่างน้อยที่สุดแล้วผมคิดว่าความรู้เกี่ยวกับการคำนวณทางคณิตศาสตร์แบบพีชคณิตในระดับชั้น ม.ปลาย (Algebra) ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรจะต้องจำกันได้อยู่พอสมควร ดังนั้นถ้าใครคืนอาจารย์ไปหมดแล้วผมคงต้องแนะนำว่าให้รีบกลับไปทบทวนกันเสียก่อนเป็นอันดับแรกเลย ไม่เช่นนั้นจะติดปัญหาเวลาอ่านหนังสือที่อธิบายสิ่งต่างๆมาเป็นตัวเลขเป็นสมการให้เราดูครับ

ลำดับต่อมาก็คือความรู้ด้านภาษาอังกฤษ! ความรู้ภาษาอังกฤษมันสำคัญอย่างไรน่ะหรือครับ!? คำตอบก็คือมันเป็นสะพานเชื่อมเราไปสู่โลกใบใหญ่ที่กว้างกว่าและล้ำลึกกว่านั่นเอง เพราะสำหรับในเรื่องของการลงทุนและการเก็งกำไรนั้น ตลาดหุ้นไทยพึ่งจะเกิดมาได้ราว 20 – 30 ปีเท่านั้นเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นของฝรั่งซึ่งเกิดมาเป็น 100 ปีแล้ว (การลงทุนโดยอาศัยข้อมูลเชิงปริมาณและหลักการทางสถิติเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงยุค ค.ศ. 1930 ส่วน Systematic Trading เริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายกันมาตั้งแต่ยุค ค.ศ. 1970 ลองนึกดูเล่นๆกันนะครับว่าทุกวันนี้ระยะห่างของเรากับเขาจะต่างกันสักกี่ปี?)

ดังนั้นแล้วองค์ความรู้ต่างๆในการของพวกเราในหลายๆด้านจึงยังเทียบไม่ได้เลยกับความรู้ที่ถูกค้นพบและถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากประเทศที่เขาเป็นต้นตำหรับในเรื่องเหล่านี้ ภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการขวนขวายหาความรู้ของพวกเรา มันคือสิ่งที่จะช่วยร่นระยะเวลาและนำพาไปสู่ความเข้าใจในสิ่งต่างๆที่ลึกและกว้างใหญ่ขึ้น อีกทั้งยังทำให้เราเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในการลงทุนในปัจจุบันรวมถึงอนาคตอีกด้วย

Note : อย่าให้ใครมาอ้างได้เลยนะครับว่าความรู้จากเมืองนอกเมืองนามันใช้กับตลาดไทยไม่ได้และอาจล้าสมัยไปแล้ว ช่วงแรกๆที่หาความรู้ในการลงทุนผมเคยเจอประโยคนี้บ่อยมาก แต่มาถึงทุกวันนี้แล้วผมคิดว่าคำกล่าวอ้างแบบนี้มักเกิดจากการที่ไม่สามารถจะตีความเอาแก่นและหัวใจของวิชาความรู้ออกมาปรับใช้ได้เองมากกว่า อย่างที่บัฟเฟตเคยพูดไว้นั่นแหละครับว่า “หลักการไม่มีวันล้าสมัย และถ้ามันล้าสมัยได้มันก็ไม่ใช่หลักการแล้ว!”

ความรู้พื้นฐานในการลงทุน และความเข้าใจต่อกลไกของตลาด (Investing-Trading Knowledge)

all_books_470x289

ความรู้ความเข้าใจในการลงทุนคือเชื้อเพลิงและหัวใจหลักของการสร้างระบบการลงทุน นั่นก็เพราะนอกจะพวกมันจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราแล้ว พวกมันยังเปรียบได้กับเข็มทิศนำทางให้เราในการออกแบบปรับปรุงระบบของเราด้วย องค์ความรู้ชนิดนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทาง, Mindset, และความคาดหวังในการลงทุนของเราเอาไว้ ซึ่งหากว่าเรามีความคิดอ่านที่ผิดทางหรือหลุดจากโลกของความเป็นจริงไป มันก็จะทำให้การพัฒนาและปรับใช้ระบบการลงทุนของเราหยุดอยู่กับที่หรือย่ำแย่ตามไปด้วย

สิ่งที่ผมอยากพูดถึงคือแนวคิดในการสร้างระบบนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมาจากแหล่งหรือสาขาวิชาเดียวในการลงทุน จงอย่ายึดมั่นถือมั่นกับรูปแบบการลงทุนในสไตล์ใดสไตล์หนึ่งมากเกินไปจนมองข้ามประโยชน์หรือจุดเด่นของสไตล์อื่นๆ เพราะในที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจทางด้าน เศรษฐศาสตร์ (Economics), การเงิน (Finance), ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis), ปัจจัยทางเทคนิค (Technical Analysis), การจัดสรรเงินทุน (Asset Allocation), การบริหารความเสี่ยงและหน้าตัก (Risk & Money Management) และอื่นๆอีกมากมาย (ที่ผมคงร่ายไม่หมด Open-mouthed smile) พวกมันล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และยังอาจเป็นตัวช่วยบอกใบ้ให้เราสามารถคลำทางหาจิ้กซอว์ตัวต่อไปของรูปภาพกลไกตลาดได้อย่างคาดไม่ถึงในหลายๆครั้งเลยทีเดียว

ข่าวดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ในปัจจุบันองค์ความรู้ชนิดนี้ค่อนข้างจะเป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง เราสามารถที่จะหาเรียนหรือหาซื้อหนังสืออ่านกันได้ไม่ยากสักเท่าไหร่นัก (แม้ว่าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหนังสือภาษาไทยอาจจะไม่ได้มีเนื้อให้ในเชิงลึกสักเท่าไหร่ แต่ก็เพียงพอที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดออกไปศึกษาหาความรู้ต่อได้ในระดับหนึ่ง) ดังนั้นแล้วองค์ความรู้ในข้อนี้ผมเชื่อว่าคงไม่ใช่ปัญหาของนักลงทุนหลายๆคนสักเท่าไหร่ เพียงแต่ต้องอ่านแล้วไตร่ตรองกรองดูให้ดี อย่าเชื่อเพียงเพราะคนเขียนดัง อย่าเชื่อเพียงเพราะเขาเขียนโดยอ้างถึงกูรู อย่างเชื่อเพียงเพราะคนอื่นๆเชื่อ

อย่างไรก็ตามการเปิดใจให้กว้างและพยายามกักตุนความรู้เหล่านี้เอาไว้จากหลายๆสาขาอยู่อย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจำเป็น เพราะจากประสบการณ์ของผมแล้วในหลายๆครั้แล้วง สิ่งที่เราไม่คาดคิดหรืออาจเพียงแต่จำได้แค่ลางๆก็มักที่จะกลายเป็นบันไดเชื่อมต่อให้เราค้นพบในสิ่งต่างๆที่ช่วยพัฒนาระบบการลงทุนของเราได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวครับ

ความรู้พื้นฐานด้านการใช้โปรแกรมและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer and Programming Knowledge)

sample

ขึ้นชื่อว่า Systematic Trader ถ้าขาดความรู้ในข้อนี้ไปก็คงจะกระไรอยู่จริงไหมครับ!? แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงการเขียนโปรแกรม (Programing) เรื่องนี้มักจะทำให้หลายๆคนกุมขมับเพราะคิดว่ามันจะต้องเป็นงานที่ยุ่งยากซับซ้อนใช้สมองและความเป็นอัจฉริยะเหมือนกับในหนังภาพยนต์หลายๆเรื่อง อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์จริงๆของผมในการเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างระบบการลงทุนมามันไม่ได้โหดร้ายเสียขนาดนั้นหรอกครับ

คุณไม่จำเป็นต้องเก่งขั้นเทพระดับ Hacker มือโปรเพื่อที่จะออกแบบหรือทดสอบแนวคิดต่างๆในการลงทุนด้วยตัวคุณเองเลย! อันที่จริงแล้วนักลงทุนรายย่อย Individual Systematic Trader อย่างเราเพียงแค่ต้องเข้าใจหลักการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ในเบื้องต้น-ปานกลางก็นับว่าเพียงพอแล้ว เนื่องจากในทุกวันนี้มีโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการทดสอบระบบการลงทุนของเราอย่างมากมายให้เลือกใช้

คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นทุกอย่างจากศูยน์ด้วยการสร้าง Backtesting Platform ในการทดสอบและวิจัยระบบของคุณเองขนาดนั้น เรื่องตลกก็คือถ้าคุณพยายามที่จะทำเช่นนั้นเพื่อให้ได้โปรแกรม Backtesting ที่มีคุณภาพในระดับที่วางขายกันด้วยทีมหรือตัวคุณเองคนเดียวล่ะก็ ผมคิดว่าคุณอาจจะไม่ได้มีเวลาเหลือเพียงพอที่จะทำการทดสอบในสิ่งต่างๆที่คุณสงสัยเกี่ยวกับตลาดกันสักเท่าไหร่เลยล่ะครับ Open-mouthed smile

ทีนี้เมื่อพูดถึงประโยชน์ในการที่เราจะสามารถเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ได้นั้นล่ะก็ ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงพอนึกออกว่ามันจะช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับเราได้อย่างมากแค่ไหน งานต่างๆที่คุณต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวันด้วยการทำมืออาจเสร็จลงได้ด้วยการพิมพ์ Code ไม่กี่ประโยคไม่กี่บรรทัดลงไปเท่านั้น อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมากกับพัฒนาการในการเป็น Systematic Trader ก็คือเรื่องของการได้ฝึกฝนตรรกะความคิดที่เป็นระบบขั้นตอนครับ

การเขียนโปรแกรมนั้นจะทำให้คุณได้ฝึกฝนการวางลำดับความคิดให้เป็นระบบได้เป็นอย่างดีมากๆ เนื่องจากอันที่จริงแล้วหัวใจในการที่เราจะเขียนโปรแกรมขึ้นมาสักอย่างก็เพื่อที่จะสื่อสารกับคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาหรือทำงานต่างๆที่เราต้องการที่จะทำ (แต่ไม่อยากทำเองทุกขั้นตอน) ออกมา ดังนั้นแล้วการเขียนโปรแกรมจึงเป็นศาตร์และศิลป์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆออกมาอย่างเป็นระบบนั่นเอง (Problem Soving)

การเขียนโปรแกรมจะช่วยให้คุณได้ฝึกฝนการวิเคราะห์ปัญหาและวางขั้นตอนในการจัดการกับมันอย่างเป็นรูปธรรม (Algorithm) ไม่เช่นนั้นแล้วเจ้าคอมพิวเตอร์สมองไว (แต่กลวง) ก็จะออกอาการ Error ออกมาเป็นแน่แท้ ซึ่งแน่นอนว่าทักษะในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบขั้นตอนที่คุณได้จากการฝึกเขียนโปรแกรมอยู่เสมอเหล่านี้จะมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการแก้โจทย์ต่างๆของตลาดหุ้น, การลงทุน และในชีวิตจริงๆของคุณเช่นเดียวกัน (โดยที่คุณอาจไม่รู้ตัวเลยก็ได้ … แฝงอยู่แบบ Inner สุดๆ)

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะพูดเพื่อเป็นกำลังใจให้กับหลายๆคนก็คือ ทุกวันนี้การเรียนรู้การเขียนโปรแกรมไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นเกินไป มีภาษาหลายภาษารวมถึงโปรแกรมซึ่งออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับการเริ่มต้นเรียนรู้การเขียนโปรแกรม (มีแม้กระทั่งภาษาแบบตัดแปะที่คุณไม่ต้องพิมพ์อะไรเลยเช่น Google Blocky, Scratch หรือแม้แต่เกมใน Ipad) และถึงแม้ว่าคุณจะคิดว่ามีโปรแกรมต่างๆถูกพัฒนาออกมาอย่างมากมายในท้องตลาดจนตาลาย (รวมถึงที่เจ๊งจนขาดทุนหายไป) แต่การเขียนโปรแกรมก็คือการเขียนโปรแกรม แก่นของมันคือการสร้าง Algorithm เพื่อวิเคราะห์และออกแบบกระบวนการในการแก้ไขปัญหาออกมา ดังนั้นแล้วถึงแม้ว่าโปรแกรมและภาษาในการเขียนโปรแกรมต่างๆนั้นจะมีอยู่มากมาย แต่พวกมันก็มักจะมีองค์ประกอบและโครงสร้างของภาษาที่คล้ายกัน โดยอาจจะแตกต่างกันหลักๆแค่เพียงคำศัพท์ที่ใช้ในการสั่งงานคอมพิวเตอร์เท่านั้น (โดยเฉพาะภาษาของโปรแกรมพวก Backtesting Platform) นั่นจึงทำให้หากว่าคุณเขียนโปรแกรมภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นแล้ว คุณก็จะสามารถศึกษาหรือโยกย้ายไปใช้โปรแกรมอื่นๆได้อย่างไม่ยากเย็นนักครับ

ความรู้พื้นฐานในการออกแบบและทดสอบระบบการลงทุน (System Design and Backtesting Knowledge)

AlgoTrader-Strategy_Development_Process

องค์ความรู้ในการออกแบบและทดสอบระบบการลงทุนถือเป็นองค์ความรู้เฉพาะทางที่แยก Systematic Trader ออกจากนักลงทุนและนักเก็งกำไรจำพวกอื่น นอกจากนี้โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าไม่ว่าใครที่ไม่เข้าใจกระบวนการและขั้นตอนในการออกแบบและทดสอบระบบการลงทุนก็ยังไม่ควรที่จะเรียกตนเองว่าเป็นนักออกแบบระบบการลงทุนหรือ Trading System Designer กันสักเท่าไหร่นัก

ผมอยากทำความเข้าใจกันก่อนว่าถึงแม้ว่าแนวคิดการลงทุนด้วยระบบจะเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายกันในปัจจุบัน แต่การลงทุนด้วยระบบการลงทุนนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่จะการันตีถึงความสำเร็จในการลงทุนเสมอไป และอันที่จริงแล้วผลลัพท์ของระบบการลงทุนส่วนใหญ่ที่ถูกเผยแพร่กันออกมาก็มักที่จะตกอยู่ในหลุมพรางบางอย่างในการออกแบบและทดสอบระบบ (Bias) จนทำให้มันดูดีเกินจริงในกระดาษ และดูแย่เกินไปในชีวิตจริงเอาเสียด้วย! (ถ้าไม่นับเรื่องความพยายามในการหลอกลวงขายระบบด้วยผล Backtest ความผิดพลาดในขั้นตอนการออกแบบและทดสอบระบบมักเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ ระบบส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังหรือแย่สุดคือขาดทุนจนเจ๊ง)

ความรู้ความเข้าใจถึงความจำเป็นและประโยชน์ใช้สอยขององค์ประกอบต่างๆในแต่ละส่วนของระบบ เช่น การบริหารพอร์ทและคัดสรรตะกร้าในการลงทุน (Portfolio Management), กลไกเงื่อนไขสัญญาณซื้อขาย (Entry – Exit), การบริหารหน้าตักเงินทุน (Money Management), การบริหารความเสี่ยงระหว่างการลงทุน (Risk Maangement), การจัดการกับคำสั่งซื้อขายรู้แบบต่างๆให้เหมาะสมกับสภาพตลาด (Order Management) รวมถึงส่วนปลีกย่อยอื่นๆของระบบ พวกมันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการออกแบบระบบเป็นอย่างมาก (มีโอกาสผมจะลองเขียนให้อ่านกันอีกทีนะครับ)

นอกจากนี้แล้วขั้นตอนต่างๆในการที่คุณจะทำการทดสอบระบบเพื่อเก็บเอาผลลัพธ์ของการซื้อขาย (Test Sample) ออกมากก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบและปรับปรุงความถูกต้องของฐานข้อมูล (Database Management), การตรวจสอบความถูกต้องของการเขียนโปรแกรม (Code Checking), การตั้งค่ารายละเอียดของการทดสอบต่างๆ (Simulation Setting), การทดสอบเบื้องต้น (In-Sample Pre-Testing), การทดสอบความเสถียรของตัวแปรต่างๆที่นำมาใช้ (Parameter Stepping Test or Optimization), การทดสอบความเสถียรของระบบภายใต้ข้อมูลที่ยังไม่ถูกใช้ (Out-of-Sample Testing or Walk Forward Analysis), การประมาณการณ์ผลการลงทุนด้วยการสุ่มเปลี่ยนผลตอบแทน (MonteCarlo Testing) และขั้นตอนเฉพาะทางอื่นๆ ทุกๆขั้นตอนเหล่านี้คือสิ่งที่คุณต้องพยายามหาความรู้และทำความเข้าใจถึงรายละเอียด, ประโยชน์ใช้สอย, จุดดีและจุดด้อยของพวกมันให้ลึกซึ้ง ไม่เช่นนั้นแล้วคุณก็อาจจะตกหลุมพรางหรือ Bias ต่างๆในการออกแบบและทดสอบระบบการลงทุนได้อย่างง่ายมากๆ

ผมอยากเน้นย้ำว่าการที่คุณสามารถใช้โปรแกรมหรือเขียนสูตรต่างๆขึ้นเพื่อทำการทดสอบระบบหรือแนวคิดต่างๆย้อนหลังจนได้ค่าตัวเลขต่างๆออกมาได้นั้น ไม่ได้หมายความหรือเป็นการรับประกันว่าคุณจะทำการ Backtest เป็นหรือทำได้อย่างเหมาะสมจริงๆ ดังนั้นแล้วผมจึงคิดว่าความเข้าใจในองค์ความรู้ข้อนี้จึงเป็นสิ่งที่ชี้เป็นชี้ตายให้กับบรรดา Systematic Trader และนักลงทุนที่สนใจในการลงทุนด้วยระบบเป็นอย่างมาก

คำแนะนำของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือเราควรพยายามทำความเข้าใจกับองค์ความรู้ชนิดนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วค่อยๆเก็บ Know-How ในการออกแบบและทดสอบระบบไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะให้ข้อมูลที่ได้ออกมานั้นไม่มีความลำเอียงหลอกลวงจนมากเกินไป เพราะจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของพวกเราในการสร้างระบบนั้นไม่ใช่เพื่อให้เห็นตัวเลขผลกำไรที่สูงที่สุด แต่เพื่อเป็นการสร้างระบบที่ให้ผลลัพธ์ตรงกับเป้าหมายของเรามากที่สุดและมีความเสถียรกับข้อมูลที่ระบบยังไม่เคย (ข้อมูลในอนาคต) มากที่สุดต่างหาก

ความรู้พื้นฐานทางด้านวิชาสถิติศาสตร์ (Statistics Knowledge)

ทำไมต้องใช้วิชาสถิติด้วย!? (แค่นี้ก็ปวดขมองจะแย่!) เหตุผลสั้นๆเลยก็เนื่องมาจากว่า เราต้องการที่จะใช้ระบบการลงทุนกับข้อมูลต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ใช่ข้อมูลในอดีตนั่นเองครับ!

Sample to Population 2

ความสำคัญที่เราจำเป็นต้องใช้วิชาสถิติเข้ามาช่วยก็เพราะตัวเลขต่างๆที่เราได้ออกมาจากผลการทดสอบ Backtest ของเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นผลการซื้อขายหรือผลลัพธ์การเติบโตของเงินทุน พวกมันถือเป็นเพียงแค่กลุ่มตัวอย่าง (Sample) ที่ถูกเก็บข้อมูลออกมาจากข้อมูลบางช่วงในอดีตของตลาดที่เรามีอยู่ และแน่นอนว่าค่า Ratio ต่างๆที่ได้ออกมาก็เป็นเพียงแค่ค่าสถิติเชิงบรรยายเท่านั้น (Descriptive Statistics) ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เพียงพอในการที่จะวิเคราะห์และนำระบบไปใช้ได้ในทันที เพราะสิ่งที่เราต้องการคาดการณ์คือลักษณะภาพรวมของผลการลงทุนที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือพูดง่ายๆก็คือเราไม่ได้ต้องการแค่รู้ค่า Descriptive Statistics แต่เป็น Population Parameter ต่างหาก Informed Systematic Trader จึงพยายามที่จะใช้กลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการ Backtest เพื่อคาดการณ์ถึงลักษณะของผลการซื้อขายที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (อันใกล้) ภายใต้ความน่าจะเป็นในระดับหนึ่งๆด้วยวิชาสถิติออกมานั่นเอง

สถิติเชิงอนุมาน (Inference Statistics) คือสิ่งที่จะเข้ามาช่วยเราในเรื่องนี้ วิชาสถิติจะช่วยให้เราสามารถประมาณการณ์ค่าของประชากรในภาพรวมจากกลุ่มตัวอย่างของเรา มันจึงทำให้เราสามารถที่จะคาดการณ์ถึงผลการลงทุน (เดาแบบมีหลักการ) และตัดสินใจถึงสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนได้จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัดภายใต้ความมั่นใจในระดับหนึ่งๆออกมานั่นเอง (ผมคงต้องบอกว่าไม่มีคำว่ามั่นใจ 100% โลกของ Systematic Trading – Backtesting นะครับ)

สำหรับเครื่องมือทางสถิติที่มักถูกนำมาใช้อยู่บ่อยครั้งนั้นก็ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนจนเกินไป ผมพบว่าจากประสบการณ์แล้ว ในเบื้องต้นเครื่องมือที่มักนำมาใช้ก็จะเป็นการทำการหาค่า Descriptive Statistics ต่างๆจากผลการซื้อขายที่มีอยู่ รวมไปถึงการทดสอบสมมติฐาน (Hypothesis Testing) เพื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนของระบบการลงทุนแต่ละระบบว่ามีความแตกต่างกันจริงหรือไม่และมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้แล้วในระดับที่สูงขึ้นนั้น วิขาสถิติยังมีประโยชน์ในการทำวิจัยเกี่ยวกับตลาดในแง่มุมต่างๆอย่างมากอีกด้วย (Statistical & Quantitative Analysis) ซึ่งข้อมูลที่ได้เหล่านี้ก็จะสามารถนำมาปรับปรุงระบบได้อีกทีหนึ่ง แต่สำหรับสำหรับการวิจัยของ Individual Systematic Trader ในเบื้องต้นแบบพวกเราแล้ว เครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องลึกล้ำซับซ้อนขนาดนั้นหรอกครับ พวกมันก็มักจะเป็นเครื่องมือต่างๆที่อยู่ในวิชาสถิติพื้นฐานที่พวกเรามักได้เรียนกันในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น สถิติเชิงบรรยาย (Descriptive Statistics), การทดสอบสมมติฐาน (Hypothesis Testing), การวิเคราห์ค่าสหสัมพันธ์ (Correlation Testing), การวิเคราะห์ความแปรปรวน (Anova) หรือการวิเคราะห์การถดถอย (Regression Analysis) นั่นเอง ส่วนใครมีความรู้มากหน่อยจะเล่นท่ายากใช้เครื่องมือล้ำๆแปลกๆเพิ่มเติมจนกลายเป็นพวก Quant หรือ Financial – Rocket Scientist ก็คงจะไม่ว่ากันครับ ^_^

องค์ความรู้สุดท้ายที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึง

visual-book-notes-how-to-read-a-book

จริงๆแล้วยังมีองค์ความรู้อีกอย่างหนึ่งที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึง เนื่องจากผมก็ไม่แน่ใจว่าจะบัญญัติมันว่าอะไรดี 55 (ใครนึกศัพท์ออกบอกผมด้วยครับ Open-mouthed smile แต่เท่าที่นึกออกน่าจะเป็นองค์ความรู้ประเภท Knowledge Management (KM)) และนั่นก็คือความรู้ในการที่จะหาความรู้และเก็บความรู้ที่ได้มาเหล่านั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกทีหนึ่ง โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าความรู้ในการที่จะเรียนรู้และจัดเก็บความรู้ต่างๆนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในปัจจุบันไม่ว่าเราจะอยู่ในสาขาอาชีพใดก็ตาม เพราะในขณะนี้ผมคิดว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคของ Big Data ซึ่งมีข้อมูลลอยอยู่มากมายในอากาศจนทะลัก ดังนั้นแล้วปัญหาในวันข้างหน้าจึงอาจจะไม่ใช่การไม่มีแหล่งข้อมูลความรู้ แต่เป็นปัญหาจากขีดความสามารถที่จะเรียนรู้, จัดเก็บ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้กันเสียมากกว่า และนี่ก็คือทั้งหมดที่อยากเขียนในบทความนี้ครับ

ก่อนจะจบบทความผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยการให้กำลังใจไว้สักหน่อยว่า องค์ความรู้ทั้งหมดเหล่านี้คงไม่ใช่สิ่งที่คุณจะสามารถทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆทั้งหมดได้ภายในปีเดียวหรือในเวลาอันรวดเร็ว ผมคิดว่าการจะทำความเข้าใจกับมันนั้นต้องค่อยๆเคี้ยวทีละชิ้น กลืนทีละคำ และบ่มเพาะไปเรื่อยๆ อยากบอกว่าส่วนตัวแล้วผมเองก็ไม่ใช่คนที่ตั้งใจเรียนจนเข้าใจและจดจำทุกอย่างได้มาตั้งแต่ตอนเรียนหรอกครับ (ม.ปลาย ผมเรียนสายวิทย์ก็จริง แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนมากมาย พอเรียนมหาวิทยาลัยผมเปลี่ยนแนวไปเล่นดนตรี ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นอย่าเรียกว่าผมคืนอาจารย์ไปหมดแล้ว ให้เรียกว่ามันแทบไม่มีอะไรอยู่ในหัวเลยจะดีกว่าครับ! 55) ดังนั้นแล้วความพยายาม, ความรักในการลงทุน รวมไปถึงความสนุกที่มีต่อการได้เรียนรู้สิ่งต่างๆในตลาดจึงเป็นกุญแจสำคัญในการที่จะค่อยเรียนรู้, รื้อฟื้น และต่อจิ้กซอว์เหล่านี้เข้าด้วยกัน

ผมหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์และเป็นแผนที่นำทางให้กับทุกๆคนที่อยากจะพัฒนาตนเองสู่ความเป็น Systemtic Trader หรือผู้ที่ต้องการที่จะทำการลงทุนอย่างเป็นระบบกันไม่มากก็น้อยครับ

ปล. ใครมีอะไรอยากช่วยเสริมในองค์ความรู้ต่างๆที่ผมไม่ได้พูดถึงก็ช่วยเสริมกันใน Comment ได้ เผื่อใครเข้ามาอ่านจะได้มีข้อมูลทางเดินต่อไปที่มากขึ้น และเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของวงการลงทุนไทยละกันนะครับ เอ้า … เฮ!!

แมงเม่าคลับ.คอม หนังสือหุ้นน่าอ่าน, วิธีการเล่นหุ้น, การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค, จิตวิทยาการลงทุน และการบริหารเงินทุน Money Management

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)