ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น ผมบังเอิญได้ผ่านไปอ่านกระทู้สุดฮอตที่ว่า “สามีจะลาออกจากงานประจำมาเล่นหุ้นค่ะ จะทำยังไงให้เขาเปลี่ยนความคิดดีคะ?” จากทางเว็บไซท์ pantip.com มาครับ
แน่นอนว่าคอมเมนท์ต่างๆในกระทู้นั้นก็มีหลายแง่มุมที่ดีแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมสังเกตได้ก็คือความเห็นส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นแง่คิดที่ออกมาจากประสบการณ์และความรู้สึกกันเสียมากกว่า ซึ่งอาจจะทำให้นักลงทุนมือใหม่ที่ไฟกำลังแรงไม่เห็นภาพได้ชัดเจนสักเท่าไหร่นัก ในบทความนี้ผมจึงอยากจะเขียนถึงแง่คิดบางอย่างที่ผมคิดว่ามีความสำคัญ และสามารถแสดงให้เห็นได้ในเชิง “ตัวเลข” ก่อนที่พวกเราหลายๆคนจะตัดสินใจลาออกมาเป็นนักลงทุนอย่างเต็มตัวกันครับ
ความเห็นของผมต่อกระทู้นี้
ก่อนอื่นผมคงต้องขอบอกก่อนเลยนะครับว่าจริงๆแล้วผมเป็นคนไม่ชอบ “เผือก” หรือ “นั่งปูเสื่อต้มมาม่า” ไปนั่งอ่านหรือนั่งตอบกระทู้เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวหรือครอบครัวคนอื่นสักเท่าไหร่นักหรอกนะครับ (จะมีคนเชื่อไหมเนี่ย 55) แต่หลังจากที่ผมได้รับการแชร์ลิงค์เข้ามาและแวะเข้าไปอ่านกระทู้นี้แล้ว ผมพบว่ามันค่อนข้างที่จะมีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องหุ้น และเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยเขียนลงในบล็อกมาก่อนเลยเสียด้วย (ผมต้องขออณุญาติและขอบคุณทั้งคุณเจ้าของกระทู้และสามีในการอ้างอิงถึงที่มาของบทความนี้ด้วยนะครับ)
อย่างไรก็ตามสำหรับบทความนี้นั้น ผมเองจะไม่ขอฟันธงหรือโน้มน้าวหรือตัดสินใจแทนใครทั้งสิ้นนะครับ เพราะผมเชื่อว่าแต่ละคนแต่ละครอบครัวนั้นควรคุยกันและเลือกหนทางของตนเองด้วยความคิดและเหตุผลของพวกเขา เพราะแน่นอนว่าโอกาสที่จะสำเร็จมันก็มี แต่โอกาสเจ๊งมันก็มีมากเหมือนกัน (ตัวผมเองไม่เคยทำงานประจำและอาศัยรายได้จากตลาดหุ้นเป็นหลักมาตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะเคยมีความฝันแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่ก็ได้เริ่มต้นเล่นหุ้นและฝ่าฟันหากับตลาดมาตั้งแต่จบชั้น ม.ปลาย ซึ่งผมต้องขอยอมรับว่ามันไม่ง่ายเหมือนที่เคยคิดฝันไว้ในตอนแรกๆเลยครับ *o*) ดังนั้นแล้วผมคิดว่ามันจึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการที่จะแชร์สิ่งต่างๆที่ผมต้องครุ่นคิดก่อนที่จะกล้าเสี่ยงเข้ามาอยู่ในตลาดแบบเต็มตัว และผมก็เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่คุณควรคิดและตัดสินใจให้ดีก่อนที่จะออกมาเล่นหุ้นเต็มตัวเช่นกัน ว่าแล้วก็เข้าเรื่องเลยดีกว่าครับ
1. ความพร้อมของตัวเราเอง (และครอบครัว)
แน่นอนครับว่าความพร้อมอย่างแรกของตัวเราเลยก็คือความรู้ความเข้าใจในตลาดหุ้นว่ามากน้อยสักแค่ไหนนั่นเอง โดยความพร้อมเหล่านี้ผมอยากจะขอแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลักๆซึ่งก็คือ
- ความรู้ด้านทฤษฎีการลงทุน ซึ่งหาได้จากการพูดคุย, อ่านหนังสือและเข้าอบรมในงานสัมมนาต่างๆ (เข้าถึงง่ายที่สุด)
- ความรู้ในเชิงปฎิบัติ ซึ่งเป็นความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆที่เราจะนำมาใช้ในการลงทุนของเราทั้งในการซื้อขายและการทดสอบวิจัยต่างๆ (ความรู้เชิงลึกแบบ Know-How)
- ความรู้และความชำนาญจากประสบการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการลงทุนจริงๆว่าตรงไหนบ้างที่เป็นอุปสรรคหรือขีดจำกัดของการลงทุน (ความรู้ที่เกิดขึ้นจากความรู้ + ประสบการณ์ ที่ต้องใช้เวลาและความพยายามเป็นตัวบ่มเพาะ)
โดยที่ผมเชื่อว่าความรู้ความเข้าใจทั้ง 3 ประการของคุณนี้ควรจะอยู่ในระดับที่ดีมากๆพอสมควรครับ ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะรู้สึกกดดันและสับสนเป็นอย่างมากเมื่อกระโจนเข้าตลาดอย่างเต็มตัวก็ได้ อย่างไรก็ตามไม่ว่าคุณจะมั่นใจว่าคุณรู้ดีสักแค่ไหน แต่จากประสบการณ์และงานวิจัยต่างๆนั้น เรามักพบว่านักลงทุนในตลาดมักที่จะมีความมั่นใจในตนเองที่สูงเกินกว่าความสามารถที่แท้จริงไปอยู่เสมอ ดังนั้นแล้วไม่ว่าคุณจะมีความมั่นใจในความรู้และฝีมือของตนเองสักเท่าไหร่นั้น ขอให้พึงระลึกอยู่เสมอว่าผลลัพท์ของการกระทำทุกๆอย่างนั้นมี “ความน่าจะเป็น” ทั้งในเชิงบวกและลบแฝงอยู่เสมอ (ส่วนใหญ่มันมักที่จะออกไปในเชิงลบเสียด้วยสิ 55) และเราก็มักที่จะเชื่อว่าเรารู้มากกว่าสิ่งที่เรารู้จริงๆอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน เราจึงควรต้องไตร่ตรองให้รอบคอบและเปรียบเทียบกับผู้เล่นรายอื่นๆในตลาดว่าเราอยู่จุดไหนตามความเป็นจริงให้ได้มากที่สุดครับ
ประเด็นความพร้อมอีกอย่างที่ผมคิดว่าเราจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ เรื่องของครอบครับและสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา เพราะถึงแม้ว่าคุณจะเชื่อว่าคุณมีความพร้อมและความสามารถแค่ไหนแล้วล่ะก็ หากว่าคุณยังคงจะต้องสู้รบปรบมือกับผู้คนที่อยู่รอบข้างของคุณอยู่เสมอแล้ว สมาธิและความนิ่งของจิตใจในการลงทุนของคุณจะสั่นคลอนอยู่เป็นระยะๆ (เช่นในกระทู้ที่คุณภรรยาต้องมาขอความเห็นและคำแนะนำจากเพื่อนๆในเว็บบอร์ด)
ผมเองเห็นว่าเรื่องความพร้อมของทางครอบครัวเป็นตัวแปรที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งในการลงทุนของเราเลยเสียด้วยซ้ำ ซึ่งการที่เราจะถูกมองด้วยความเป็นห่วงอย่างมากนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะต้องไปโมโหใครหรือน่าแปลกใจอะไรให้มากมาย เนื่องมาจากตามสถิติแล้วมีคนกลุ่มเล็กๆไม่ถึง 5% ในตลาดเท่านั้นที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวนั่นเอง (ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราจะเข้าใจครับ)
ดังนั้นแล้วทางแก้ก็คือการที่พยายามพูดคุยและปรับความเข้าใจกับพวกเขาเกี่ยวกับเป้าหมายและความฝันความต้องการของเรา รวมถึงการแสดงให้พวกเขาได้เห็นถึงหลักฐานต่างๆที่จะทำให้พอให้เชื่อมั่นได้ว่าคุณเองนั้นมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง รวมไปถึงว่าหากคุณพลาดพลั้งในเกมการเงินครั้งนี้แล้ว มันจะไม่ทำให้พวกเขาจะต้องเดือดร้อนอะไรไปกับคุณอย่างมากมายอีกด้วย โดยหลักฐานเหล่านั้นก็อาจเป็นผลการลงทุนของคุณเองในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา (Minimum Track Record) หรือแม้กระทั่งการแบ่งเงินทุนส่วนหนึ่งออกมาเพื่อรับประกันให้ได้ว่าไม่ว่าผลลัพท์จะเป็นเช่นไร (Non-Investment Budget) คุณและเขาจะยังมีทางรอดให้เดินต่อไปได้อย่างไม่ยากลำบากนัก ไม่เช่นนั้นแล้วความพร้อมของครอบครัวก็จะกลายเป็น “ชนัก” ติดหลังคุณในขณะที่ทำการลงทุนอยู่เสมอครับ
2. ขนาดของเงินทุนตั้งต้น (และสายป่าน)
ขนาดของเงินทุนตั้งต้นและสายป่านนั้นสำคัญมากแค่ไหน? คำตอบก็คือสำคัญมากถึงมากที่สุดครับ เพราะการลงทุนชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการนำเงินทุนมาลงเพื่อหาผลตอบแทนในตลาด ดังนั้นเพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างเพียงพอในการดำรงค์ชีวิตแล้วล่ะก็ มันก็ควรที่จะต้องมีจำนวนเงินมากพอควรที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนขั้นต่ำจนหักลบกลบหนี้ค่าใช้จ่ายของคุณได้ทั้งหมด
ซึ่งจำนวนเงินขั้นต่ำที่ผมคิดว่าอาจจะเพียงพอ (ในกรณีที่ตลาดนั้นดีขึ้นในระยะยาว) ก็ควรจะต้องเป็นเลข 7 – 8 หลักขึ้นไปครับ ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณเป็นโคตรอัจฉริยะที่ทั้งเก่งบวกเฮง เนื่องจากเมื่อมองตามความเป็นจริงนั้นหากว่าผลงานของนักลงทุนระดับโลกในระยะยาวส่วนใหญ่จะมีผลตอบแทนทบต้นหรือ CAGR อยู่ที่ราวๆ 20% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งหากคิดเสียว่าคุณโชคดีประสบความสำเร็จได้ผลตอบแทนที่สักราวๆครึ่งหนึ่งของพวกเขาในระยะยาว หรือได้รับผลตอบแทนทบต้นราว 10% ของจำนวนเงิน 8 หลักนี้ มันก็น่าที่จะพอประทังให้ชีวิตของคุณอยู่ได้อย่างไม่ยากลำบากเกินไป (ยกเว้นว่าคุณจะมีความรับผิดชอบและค่าใช้จ่ายที่มากมายพอสมควร) นอกจากนี้แล้วหากจะอ้างอิงจากผลตอบแทนของดัชนี SET Index ภายในช่วงราวๆ 10 ปีหลังตั้งแต่ 2004 เป็นต้นมานั้น ตลาดจะให้ CAGR อยู่ที่ราว 6% (ยังไม่รวมปันผล) ดังนั้นการคาดหวังผลตอบแทนในแง่ดีที่สามารถเอาชนะตลาดได้ที่ราวๆ 10% ต่อปีก็ดูจะมีเหตุผลอยู่ไม่น้อย (แต่ถ้าฟลุคแจ็คพอทแตกตลาดดีมากๆตั้งแต่ต้นก็อีกเรื่องนึงนะครับ )
โดยที่นอกเหนือไปจากขนาดของเงินต้นในการลงทุนแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ เรื่องของเงินทุนสำรองที่คุณจะต้องเจียดออกมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายล่วงหน้าอย่างน้อย 3 – 4 ปีครับ
ถามว่าทำไมต้อง 3 – 4 ปี เป็นอย่างน้อย?
สาเหตุก็เพราะถึงแม้ว่าตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกในระยะยาว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกในทุกๆวัน, ทุกๆเดือน หรือทุกๆปีนั่นเอง มิหนำซ้ำแล้วในความเป็นจริงนั้นผลตอบแทนส่วนใหญ่ของพวกเราก็มักที่จะเป็นไปในทางเดียวกับตลาดด้วยเช่นกัน (High Correlation of Returns) ซึ่งเมื่อมองอย่างแง่ดีไปที่ดัชนี SET Index ตั้งแต่ต้นปี 2004 มานั้น พวกมันเคยอยู่ในช่วง Flat Time หรือไม่สามารถที่จะสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้นานถึง 42.40 เดือนหรือราว 3 ปีกว่าๆในช่วงปี 2007 – 2010 เลยทีเดียว (ไม่ต้องพูดถึงเหตุการณ์จากครั้งต้มยำกุ้งนะครับ เพราะจนป่านนี้ตลาดยังไม่สามารถจะทำจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ช่วงเวลานั้นได้เลย) นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องควรมีเงินทุนสำรองเพื่อใช้จ่ายเอาไว้อย่างน้อย 3 – 4 ปี หรือมีช่องทางรายได้อื่นๆเผื่อเอาไว้ในยามที่ตลาดย่ำแย่ขึ้นในอนาคตนั่นเอง
โดยที่ภาพและตารางด้านล่างก็คือตัวเลขสถิติที่น่าสนใจต่างๆของดัชนี SET Index ภายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยคำนวณจากผลตอบแทนรายเดือนของดัชนี (Monthly Return) ซึ่งน่าจะช่วยให้คุณได้เห็นถึงธรรมชาติความผันผวนและผลตอบแทนโดยรวมของตลาดได้ดีในระดับหนึ่งกันครับ
ภาพที่ 1 ค่าสหสัมพันธ์ของผลตอบแทนรายเดือน (Monthly Returns Correlation) ระหว่างตัวอย่างระบบการลงทุนในรูปแบบหนึ่งซึ่งผมจะขอนำมาเป็นตัวอย่างในบทความนี้ และมันก็คือ Simple Turtle System ซึ่งเป็นระบบการลงทุนในลักษณะ Long Term Trend Following ที่พวกเราใช้กันอยู่เสียส่วนใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกันกับดัชนี SET Index เป็นอย่างมาก โดยให้ค่า Correlation ที่สูงถึง 0.65 เลยทีเดียว
ตารางที่ 1 ผลตอบแทนและความเสี่ยงโดยรวมของดัชนี SET Index ตั้งแต่ 2004-01-01 ถึง 2014-10-10 (ค่าที่ได้จะอยู่ในหน่วยทศนิยม ถ้าคิดเป็น % ต้องคูณด้วย 100 นะครับ เผื่อใครมึน ) ซึ่งจะสังเกตได้ว่าตลาดนั้นให้ผลตอบแทนรายเดือนที่ผันผวนอยู่พอสมควร (Annualized Standard Deviation) นอกจากนี้แล้วผลตอบแทนรายปีที่เป็นบวกก็ยังมากพอๆกับผลตอบแทนรายปีที่เป็นลบอีกด้วย (% Positive Year)
ตารางที่ 2 รายละเอียดของการเกิด Drawdown หรือการลดลงของมูลค่า SET Index จากจุดสูงสุดในขณะนั้นๆ ตั้งแต่ 2004-01-01 ถึง 2014-10-10 โดยที่ Length คือระยะเวลาเป็นจำนวนวันที่มีการซื้อขาย, To Through คือจำนวนวันนับตั้งแต่จุดสูงสุดลงไปยังจุดต่ำสุด, Recovery คือจำนวนวันที่ดัชนีวิ่งขึ้นมาจากจุดต่ำสุดในรอบนั้นจนสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ โดยจากตารางนี้เราจะสังเกตได้ว่าตลาดเคยร่างลงหนักที่สุดกว่า –58.02% ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และเคยจมอยู่กับ Drawdown นานที่สุดถึง 848 วันทำการ (ราว 3.36 ปี) ในช่วงระหว่างปี 2004 – 2007
Note : จังหวะการขึ้นลงของผลตอบแทนของเรานั้นอาจจะเกิดขึ้นไกล้เคียงกันกับสภาวะของตลาด แต่มันอาจแตกต่างกันตรงขนาดของการขาดทุนและกำไรที่มากกว่าหรือน้อยกว่าตลาดในแต่ละช่วง และนั่นก็คือเหตุผลที่ว่าทำไมผลตอบแทนในการลงทุนของคนส่วนใหญ่จึงแตกต่างกันออกไปได้ทั้งบวกและลบนั่นเองครับ
3. แผนธุรกิจการลงทุน
อย่างที่ผมได้พูดไปแล้วว่าความพร้อมจากครอบครัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากๆอย่างหนึ่งของการลงทุนในตลาดหุ้น และสิ่งหนึ่งที่จะทำให้พวกเขาพอที่จะใจชื้นได้ก็คือหลักฐานบางอย่างซึ่งจะบ่งชี้ให้พวกเขาเห็นได้ว่าคุณมีโอกาสประสบความสำเร็จและจะไม่ทำให้พวกเขาต้องเดือดร้อนมากมายนักหากคุณล้มเหลว โดยที่หลักฐานเหล่านั้นก็คือผลตอบแทนย้อนหลังของคุณในตลาดอย่างน้อยที่สุด 4 – 5 ปี (1 Market Cycle แต่จะดีที่สุดควรผ่านอย่างน้อย 2 Cycle ของตลาด) เพื่อที่คุณจะได้สำผัสและรู้ซึ้งถึงรายละเอียดและสิ่งที่คุณอาจจะต้องเผชิญในวันข้างหน้านั่นเอง
โดยนอกจาก Track Record ของคุณแล้ว สิ่งที่คุณควรมีก็คือการมีแผนธุรกิจในการลงทุนที่ชัดเจนอีกด้วยครับ แล้วแผนธุรกิจในการลงทุนในตลาดหุ้นมันมีหน้าตาเป็นอย่างไรน่ะหรือครับ? … ในเมื่อเราเองก็ไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนว่าตลาดจะดีหรือร้ายมากสักแค่ไหนในปีต่อๆไป อีกทั้งผลตอบแทนรายวันและรายเดือนของตลาดก็มักที่จะมีความผันผวนเป็นอย่างมากเอาเสียด้วย!?
คำตอบที่พอจะทำให้คุณประมาณการณ์ได้ไกล้เคียงตามความเป็นจริงและเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดคำตอบหนึ่งก็คือ … “ผลการทดสอบระบบการลงทุนย้อนหลังเชิงลึก” (Rigorous Backtesting Result) ของคุณนั่นเอง!!
โดยที่คุณต้องไม่ลืมว่าผลการทดสอบระบบการลงทุนย้อนหลังนั้นย่อมมีขีดจำกัดในตัวของมันอยู่ และมันก็ไม่สามารถที่จะยืนยันหรือให้ความมั่นใจกับคุณได้อย่างเต็มที่ 100% ว่า ระบบการลงทุนของคุณจะยังคงสามารถทำกำไรและเอาชนะตลาดได้ต่อไปหรือไม่ในอนาคต (ระบบการลงทุนที่ให้ผลที่ดีในอดีตอาจพังทลายลงในอนาคต หากตัวแปรเงื่อนไขของมันด้อยประสิทธิภาพลง) แต่อย่างน้อยที่สุดแล้วผมคิดว่าหากคุณไม่มีผลการทดสอบเชิงลึกที่ชัดเจน หรือแม้กระทั่งไม่สามารถที่จะทำการทดสอบเพื่อวัดประสิทธิภาพของระบบการลงทุนของคุณออกมาได้แล้วล่ะก็ ในฐานะของ Systematic Trader อย่างผมคิดว่าคุณเองยังไม่สมควรที่จะก้าวเข้ามาอย่างเต็มตัว โดยหวังพึ่งพาแต่รายได้จากกำไรในตลาดหุ้นแห่งนี้ครับ!
สาเหตุก็เนื่องมาจากสำหรับผมและนักลงทุนมืออาชีพหลายๆคนแล้ว การลงทุน-เก็งกำไร ถือเป็นการทำธุรกิจอย่างหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบและปัจจัยหลายๆอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการวิเคราะห์หุ้นเท่านั้น (Stock Selection) เช่น มันยังมีเรื่องของการวางแผนหาจังหวะการลงทุน (Market Timming), การควบคุมความเสี่ยง (Risk Management), การบริหารขนาดการลงทุน (Money Management) การปรับสัดส่วนของทรัพย์สินในการลงทุน (Asset Allocation) หรือแม้กระทั่งการบริหารดูแลสภาพแวดล้อมและเครื่องมือ, ข้อมูล และโปรแกรมต่างๆที่ใช้ในการลงทุน ที่จะต้องทำควบคู่กันไปอยู่ตลอดเวลา (Operation Management)
สิ่งเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องถูกเขียนและวางแผนเอาไว้เป็นอย่างดีก่อนที่จะทำการลงทุนใดๆลงไปในตลาดก่อนเสมอ ซึ่งผมเองคิดว่าความสามารถในการที่คุณจะสามารถทำการทดสอบย้อนหลังได้อย่างละเอียดและชัดเจนนั้นก็คือ “ข้อสอบ” ภาคบังคับที่คุณจะต้องสามารถแปลงเอาสิ่งที่คุณคิดให้กลายเป็นกฎที่ชัดเจนเพียงพอ จนกระทั่งคอมพิวเตอร์ก็สามารถที่จะปฏิบัติตามและวัดผลของมันออกมาได้ ซึ่งนั่นจะทำให้คุณและคนรอบข้างของคุณพอที่จะหาความน่าจะเป็นได้ว่า แท้จริงแล้วคุณมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากน้อยสักแค่ไหนในอนาคต
โดยที่ภาพและตารางด้านล่างคือตัวอย่างของข้อมูลเปรียบเทียบในเชิงสถิติที่คุณควรจะต้องรับรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์และระบบการลงทุนของคุณ โดยในบทความนี้ผมจะขอแสดงตัวอย่างของผลลัพท์ที่ได้จากการทดสอบในเบื้องต้น ระหว่างระบบ Simple Turtle System (ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่เรียบง่ายและให้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควรในระยะยาว — อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี) กับ ดัชนี SET Index ตั้งแต่ปี 1984 จนถึง ปัจจุบัน ซึ่งผมถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่อย่างน้อยที่สุดแล้วคุณควรที่จะต้องรับรู้และเข้าใจมัน ก่อนที่จะตัดสินใจกระโดดเข้ามาทำการลงทุน-เก็งกำไรในตลาดอย่างเต็มตัวครับ
ภาพที่ 2 ตัวอย่างการเติบโตผลตอบของระบบ Simple Turtle System Vs. SET Index (Benchmark) ตั้งแต่ 1984-01-04 ถึง 2014-10-10 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการค่อยๆเติบโตขึ้นของเงินทุนจากระบบ จนกระทั่งสามารถสร้างผลตอบแทนทิ้งห่างดัชนี SET Index ไปได้ในที่สุดในระยะยาว
ตารางที่ 3 ตัวอย่างค่าสถิติเปรียบเทียบระหว่าง Simple Turtle System VS. SET Index ในภาพรวมตั้งแต่ 1984-01-04 ถึง 2014-10-10 ซึ่งแสดงให้เห็นถึง Performance ของระบบในแง่มุมต่างๆเปรียบเทียบกับดัชนี
Note 2 : สำหรับระบบ Simple Turtle System ในบทความนี้นั้น เป็นระบบที่นำระบบ Turtle 55-20 วันมาปรับปรุงและใส่ Long Term Trend Filter เข้าไป โดยผลการเติบโตของเงินทุนที่ได้เป็นเพียงผลตอบแทนเบื้องต้นในทางทฤษฎีที่รวมค่าคอมมิสชั่นแล้ว แต่ยังไม่ได้ใส่เงื่อนไขและข้อจำกัดของตลาดอย่างเข้มงวดลงไป โดยมีจุดประสงค์เพียงเพื่อแสดงตัวอย่างเท่านั้นครับ (ใครสงสัยว่ามันคืออะไรลองไปไล่อ่านบทความเก่าๆที่ผมเคยเขียนไว้ดูนะครับ)
4. ทางหนีทีไล่และช่องทางของรายได้อื่นๆ
ข้อคิดสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากเอาไว้ก่อนที่พวกเราจะตัดสินใจกระโดดลงมาในตลาดกันอย่างเต็มตัวเต็มเวลาก็คือ เรื่องของทางหนีทีไล่และช่องทางของรายได้อื่นๆ เพราะอย่างที่ผมได้แสดงให้เห็นไปแล้วว่าตลาดหุ้นนั้นมีความผันผวนเป็นอย่างมากกว่าการลงทุนในลักษณะอื่นๆโดยทั่วไป นอกจากนี้แล้วกลยุทธ์การลงทุนที่เคยเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพในอดีตก็ไม่ได้มีอะไรสามารถรับประกันได้ว่ามันจะยังคงมีประสิทธิภาพเช่นนั้นในอนาคต ทุกอย่างในตลาดหุ้นยังคงเป็น “ความน่าจะเป็น” อยู่เสมอ ดังนั้นแล้วผมจึงคิดว่ามันไม่เห็นที่จะผิดอะไรในการที่เราจะมองหาช่องทางของรายได้อื่นๆไม่ว่าจะเป็นการทำงานประจำ-ไม่ประจำ หรือการทำธุรกิจต่างๆ เพราะนั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในพฤติกรรมของตลาดตามความเป็นจริง (และเป็นการกระจายความเสี่ยงไปในตัวอีกด้วย)
และเพื่อที่จะทำให้ทุกคนเห็นภาพกันอย่างกระจ่างชัดเจนสำหรับแนวคิดในข้อคิดนี้นั้น ในบทความนี้ผมจึงอยากจะทำการจำลองสถานการณ์เพื่อหาความน่าจะเป็นของผลตอบแทนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกันออกมาให้พวกเราดูเป็นตัวอย่างกันสักเล็กน้อย
โดยการจำลองสถานการณ์แบบ Stress Test ในลักษณะนี้นั้น พวกเรานักเล่นหุ้นก็มักเรียกมันว่าการทำ Bootstrapping หรือ Monte Carlo Simulation ออกมานั่นเอง (หากใครอ่านแล้วมึน งง ก็ข้ามไปอ่านส่วนการอธิบายค่าที่ได้จากตารางได้เลยนะครับ) ซึ่งหากจะให้พูดเป็นภาษาชาวบ้านให้ง่ายที่สุดแล้วก็คือ การจำลองด้วยการสุ่มหยิบเอาข้อมูลผลตอบแทน (ในที่นี้จะใช้รายเดือน Monthly Return) จากฐานข้อมูลชุดเดิมๆออกมาสร้างเป็นข้อมูลชุดใหม่ๆเป็นร้อยเป็นพันครั้ง (ในการจำลองครั้งนี้ใช้ผลตอบแทนรายเดือนของระบบ Simple Turtle System และ SET Index ตั้งแต่ปี 1984 จนถึงปัจจุบัน) เพื่อที่จะหาค่าสถิติโดยรวมที่อาจเกิดขึ้นกันออกมา (Re-Sampling Method)
โดยที่ในบทความนี้ผมจะทำการสุ่มหยิบเอาผลตอบแทนรายเดือนของระบบ Simple Turtle System และ SET Index ออกมาเรียงกันใหม่จำนวน 100 ชุด โดยในแต่ละชุดจะมีจำนวนผลตอบแทนรายเดือนเท่ากันเช่นเดิม และในแต่ละครั้งที่ผมหยิบข้อมูลออกมานั้น หลังจากที่ได้บันทึกค่าผลตอบแทนรายเดือนออกมาไว้แล้ว เราก็โยนข้อมูลชิ้นที่หยิบขึ้นมาได้กลับเข้าไปในฐานข้อมูลเดิมอีกครั้งหนึ่ง (Sample with Replacement) เพื่อที่จะเป็นการจำลองสถานการณ์ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้จากฐานข้อมูลเดิมที่เรามีอยู่นั่นเองครับ
โดยตารางต่อไปนี้ก็คือผลลัพท์ที่จะบอกกับเราว่ามีความเป็นไปได้อย่างไรบ้างในอนาคต กับผลการลงทุนของระบบ Simple Turtle System และดัชนี SET Index โดยอิงจากผลลัพท์ 95% ของการจำลองทั้งหมด (95% Confidence Level)
ตารางที่ 4 ค่าผลตอบแทนภายใต้ความมั่นใจที่ 95% จากการจำลองสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแบบ Bootstrapping หรือ Monte Carlo Simulation ของระบบ Simple Turtle System และดัชนี SET Index (Benchmark) จากฐานข้อมูลผลตอบแทนรายเดือนตั้งแต่ 1984-01-04 ถึง 2014-10-10 โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าระบบและดัชนีจะยังคงมีพฤติกรรมพื้นฐานในลักษณะเดิมแต่การเรียงตัวของสถานการณ์ในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบต่างๆ
ซึ่งค่าต่างๆที่ได้จากตารางนั้นจะถือเป็นค่ากรณีเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ความมั่นใจที่ 95% โดยที่ค่าผลตอบแทนทบต้นหรือ CAGR สำหรับ Simple Turtle System และ SET Index นั้นมีได้ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า 17.77% และ –1.40% ต่อปีตามลำดับ, ค่า Maximum Drawdown หรือการลดลงสูงสุดของมูลค่าเงินทุนนั้นจะน้อยกว่า -65.15% และ –98.72% ตามลำดับ, ค่า Longest Drawdown จะน้อยกว่า 106 เดือน (8.83 ปี) และ 309.1 เดือน (25.75 ปี) ตามลำดับ ส่วนค่า MAR Ratio หรือการนำเอา CAGR หารด้วย Max Drawdown นั้นจะมากกว่า 0.2962 และ –0.004301 ตามลำดับ
จากข้อมูลในเบื้องต้นนี้เราจะเห็นได้ว่า ค่าที่เราได้จะแตกต่างและย่ำแย่ลงจากการทำ Backtest ในเบื้องต้นค่อนข้างมาก (ตารางที่ 3) เนื่องจากมัแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีเลวร้ายในอนาคต แน่นอนว่าพวกมันอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ อย่างไรก็ตามผลลัพท์ของการจำลองก็ได้บอกกับเราว่าราว 95% ของผลการจำลองให้ผลที่มากกว่าหรือน้อยกว่าค่าต่างๆเหล่านี้ และนี่ก็เป็นสิ่งที่เราควรจะทำความเข้าใจและยอมรับ รวมถึงรับรู้มันก่อนที่เราจะตัดสินใจกระโดดเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มตัวนั่นเองครับ
แล้วคุณควรจะลาออกจากงานประจำมาเล่นหุ้นอย่างเดียวหรือไม่?
อย่างที่ผมได้บอกไปแล้วว่า ผมคิดว่าการตัดสินใจในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุณจะต้องทำการพิจารณาให้รอบคอบก่อนด้วยตัวคุณเอง อย่างไรก็ตามผมเองเชื่อว่าหากคุณยังไม่สามารถที่จะตอบคำถามหรือแก้โจทย์ทั้ง 4 ข้อที่ว่ามาได้ อนาคตในการเป็นนักลงทุน-เก็งกำไรแบบเต็มตัวที่ประสบความสำเร็จก็ค่อนข้างจะริบหรี่ลงอยู่พอสมควร เพราะนั่นหมายความว่าคุณเองก็ยังไม่รู้ว่าคุณอาจจะต้องเจอกับอะไรบ้างในตลาด หรือแม้กระทั่งรู้ซึ้งถึงโอกาสในการประสบผลสำเร็จของคุณเลยแม้แต่น้อย และมันก็เป็นสิ่งที่ยากมากๆที่คุณจะสามารถเอาตัวรอดและควบคุมสติเมื่อต้องเจอกับสภาวะตลาดที่ผันผวนหรือโหดร้ายได้นั่นเองครับ
และนี่ก็คือแง่คิดที่ผมพอจะนึกได้และปั่นออกมาเป็นบทความในช่วงโคตรดึกของวันอาทิตย์นี้ ซึ่งหากว่าใครสามารถที่จะตอบคำถามเหล่านี้กับตัวเอง และยอมรับถึงผลที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้แล้วล่ะก็ ผมก็คงต้องขอแสดงความยินดีและต้อนรับคุณเข้าสู่การเป็นเพื่อนพ้องนักลงทุน-เก็งกำไรในตลาดอย่างเต็มตัวกันล่วงหน้านะครับ
สำหรับบทความนี้ก็คงจะขอจบเพียงเท่านี้ ใครมีแง่คิดประสบการณ์อยากแชร์เพิ่มเติมก็เชิญคอมเมนท์กันได้ตามสบายนะครับ เพราะบทความนี้ค่อนข้างจะปั่นอยู่พอสมควร รายละเอียดต่างๆอาจยังไม่ครบถ้วนสักเท่าไหร่นัก ส่วนตอนนี้ผมขอตัวไปนอนก่อนแล้วกันครับผม :D