เป็นที่ถกเถียงกันมานานระหว่างทฤษฏีตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient Market) และตลาดไร้ประสิทธิภาพ (Inefficient Market) ว่าจริงๆแล้วตลาดหุ้นมีพฤติกรรมของมันเป็นอย่างไร ในบทความนี้ผมจะลองนำเอาค่าการกระจายตัวของผลตอบแทนในตลาดหุ้น ซึ่งเปรียบเสมือนกับลายเซนต์ของทฤษฏีทั้งสองอย่างนี้มาให้ลองดูกันครับ
ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่างานเขียนในตอนนี้ผมตั้งใจที่จะให้มันเป็นกึ่งๆบทความหรือกึ่งๆกระทู้เสียมากกว่า อยากชวนเพื่อนๆมาร่วมออกความเห็นกันนะครับ ไม่อยากให้คิดว่าใครผิดใครถูกจนมากเกินไป ลองแสดงความคิดเห็นกันเล่นๆดูครับว่าเราเห็นอะไรกันบ้าง หรือเราจะมีหนทางใช้ประโยชน์จากพวกมันได้อย่างไรอีกกันบ้างครับ
เหตุผลที่ผมได้นำเอาค่าการกระจายตัวของผลตอบแทนในตลาดหุ้น (Distribution of Returns) มาให้ดูกันก็เนื่องมาจากว่า หนึ่งในลายเซนต์หรือ Trademark ของทฤษฏีตลาดมีประสิทธิภาพนั้น เมื่อมองกันในแง่ของสถิติ มันควรที่จะให้ค่าการกระจายตัวของผลตอบแทนแบบสุ่มในรูปของระฆังคว่ำ (Bell Shape) ออกมา เนื่องจากเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของตลาดอยู่ในลักษณะเดินสุ่ม อย่างไรก็ตาม ตามงานเขียนหรือค้นคว้าวิจัยในยุคหลังๆมาได้มีการค้นพบกันว่า แท้จริงแล้วตลาดมักที่จะให้การกระจายตัวออกมาในรูปแบบโด่งสูง (Leptokurtic) หรือในบางครั้งเป็นแบบโด่งต่ำ (Platykurtic) แทน ซึ่งนั่นหมายความว่าอย่างไร?
นั่นหมายความว่าตลาดนั้นมักที่จะมีการเคลื่อนไหวเป็นการเหวี่ยงขึ้นลงสั้นๆ (Mean Reversion) มากกว่าปกติที่ควรจะเป็นไป หากว่าตลาดนั้นมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง นอกจากนี้แล้ว ในขณะที่มันไม่ได้เคลื่อนไหวเวี่ยงขึ้นลงสั้นๆ มันก็มักที่จะเคลื่อนไหวอย่างสุดขั้ว หรือเป็นแนวโน้มอย่างชัดเจนมากกว่าปกติที่ควรจะเป็นไปหากว่าตลาดนั้นมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงนั่นเอง (โดยที่นักสถิติมักเรียกการกระจายตัวแบบนี้ว่ากราฟแบบ Fat Tail of Distribution)
สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้อาจมองไม่ค่อยเห็นภาพ แต่ให้ลองสังเกตุภาพด้านล่างนี้ดูครับ
จากรูปด้านบนแสดงให้เห็นว่า ผลตอบสุดขั้วของตลาดมักที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าที่ควรจะเป็น (โดยแสดงออกเป็นการกระจายตัวแบบ Fat tail) หากว่าตลาดมีการกระจายตัวของผลตอบแทนเป็นแบบสุ่มหรือตลาดมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง แต่หากยังนึกไม่ออกอีกลองเข้าไปอ่านคร่าวๆได้ที่ http://www.watpon.com/Elearning/stat12.htm ครับ
การกระจายตัวของผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทย
ว่ากันมาเสียยาว ต่อจากนี้จะเป็นผลการทดลองอย่าง “คร่าวๆ” (อาจมีความคลาดเคลื่อนในฐานข้อมูลอยู่บ้าง) ที่ผมได้ทดสอบดูกับหุ้นในตลาดหุ้นของไทยครับ โดยผมจะนำค่าการกระจายตัวของผลตอบแทนในแต่ละ Time Frame ออกมาให้ดูกันว่าตลาดหุ้นของเราจะเป็นไปอย่างที่เขาว่ากันหรือปล่าวโดยที่
- ตาราง Daily Return จะคำนวนจากราคา Open หักลบกับ Close ในแต่ละวัน
- ตาราง Monthly Return จะคำนวนจากราคา Close ของวันแรกที่มีการซื้อขายในเดือนนั้น หักลบกับราคา Close ของวันสุดท้ายที่มีการซื้อขายกันในเดือนนั้น
- ตาราง Yearly Return จะคำนวนจากราคา Close ของวันแรกที่มีการซื้อขายในปีนั้น หักลบกับราคา Close ของวันสุดท้ายที่มีการซื้อขายกันในปีนั้น
ผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดของพวกมันจะถูกนำมารวมกันเป็นตารางแจกแจงความถี่โดยที่แกน X คือผลตอบแทนที่เกิดขึ้น ส่วนแกน Y จะเป็นความถี่จำนวนครั้งของการเกิด ผมได้ทำการทดสอบย้อนหลังเป็นเวลาประมาณ 20 ปี (1/1/1991 – 1/1/2011) ในการทดสอบเราจะวัดเอาแต่ผลการเปลี่ยนแปลงของราคาเท่านั้น ไม่มีการเอาปันผลเข้ามารวมนะครับ ว่าแล้วผมก็ขอนำค่าการกระจายตัวของ SET Index นำมาให้ดูกันก่อนเลยครับ
SET index return Distributions
SET index daily return distributions 1/1/1991 – 1/1/2011 Spacing 1% : ตารางการกระจายตัวของผลตอบแทนในคาบเวลาหนึ่งวันของ SET Index ช่องไฟที่ 1%
SET index monthly return distributions 1/1/1991 – 1/1/2011 Spacing 5% : ตารางการกระจายตัวของผลตอบแทนในคาบเวลาหนึ่งเดือนของ SET Index ช่องไฟที่ 5%
*** ค่า Yearly Return ไม่มีนะครับ เพราะ Sample น้อยเกินไป เพียงแค่ 20 ครั้งเท่านั้น ไม่มีนัยยะทางสถิติครับ
SET50 index return Distributions
ในคราวนี้ลองมาดูหุ้นประเภทบูลชิท … เอ้ยบลูชิพว่าจะเป็นอย่างไรกันบ้างดีกว่า โดยสำหรับหุ้นในกลุ่มนี้ผมเลือกทดสอบตั้งแต่ปี (1/1/2001 – 1/1/2011) เท่านั้น เพื่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนให้น้อยลง เนื่องจากดัชนีอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ถ้าย้อนหลังยาวๆอาจคลาดเคลื่อนไปไกลครับ
SET50 index daily return distributions 1/1/2001 – 1/1/2011 Spacing 1% : ตารางการกระจายตัวของผลตอบแทนในคาบเวลาหนึ่งวันของ SET Index ช่องไฟที่ 1%
SET50 index monthly return distributions 1/1/2001 – 1/1/2011 Spacing 5% : ตารางการกระจายตัวของผลตอบแทนในคาบเวลาหนึ่งเดือนของ SET Index ช่องไฟที่ 5%
SET50 index Yearly return distributions 1/1/2001 – 1/1/2011 Spacing 5% : ตารางการกระจายตัวของผลตอบแทนในคาบเวลาหนึ่งปีของ SET Index ช่องไฟที่ 5%
Overall Stocks
ตารางในกลุ่มสุดท้ายนี้จะเป็นการกระจายตัวของผลตอบแทนของหุ้นในตลาดโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นหุ้น VI, หุ้น Technic, หุ้นปั่น, หุ้นดี หรือแม้แต่หุ้นอะไรก็ตามจำนวน 570 ตัวที่ผมมีข้อมูลอยู่ในขณะนี่ โดยทำการทดสอบตั้งแต่ 1/1/1991 – 1/1/2011 ครับ
Overall Stocks Daily return distributions 1/1/1991 – 1/1/2011 Spacing 1% : ตารางการกระจายตัวของผลตอบแทนในคาบเวลาหนึ่งวันของหุ้นทั้งตลาด ช่องไฟที่ 1%
Overall Stocks Monthly return distributions 1/1/1991 – 1/1/2011 Spacing 5% : ตารางการกระจายตัวของผลตอบแทนในคาบเวลาหนึ่งเดือนของหุ้นทั้งตลาด ช่องไฟที่ 5%
Overall Stocks Yearly return distributions 1/1/1991 – 1/1/2011 Spacing 10% : ตารางการกระจายตัวของผลตอบแทนในคาบเวลาหนึ่งปีของหุ้นทั้งตลาด ช่องไฟที่ 10%
ข้อสังเกตุที่น่าสนใจ
- ในคาบเวลาระยะสั้น Daily Return Timeframe นั้น เราจะเห็นได้ว่าการกระจายตัวในทุกกลุ่มนั้นเป็นไปในรูปแบบของกราฟ Leptokurtic ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นแบบเหวี่ยงไปมาสั้นๆ มากกว่าที่จะเป็นไปในรูปแบบ Bell Curve ของการกระจายตั่วแบบสุ่มตามธรรมดา
- ในคาบเวลาระยะกลาง Monthly Return Timeframe นั้น เราจะเห็นได้ว่าการกระจายตัวจะเริ่มมีลักษณะเป็น Fat Tail ที่มากขึ้น ซึ่งหมายถึงการให้ผลตอบแทนที่สุดขั้วมากกว่าที่จะเป็นไปในรูปแบบ Bell Curve ของการกระจายตัวแบบสุ่มตามธรรมดาเช่นกัน
- ในคาบเวลาระยะยาว Yearly Return Timeframe นั้น เราจะเห็นได้ว่าการกระจายตัวจะมีลักษณะของ Fat Tail อย่างชัดเจน โดยเบ้ไปในทางบวก นั่นหมายความว่าในคาบเวลาระยะยาวนั้น ตลาดมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนอย่างสุดขั้วออกมามากกว่าที่จะเป็นไปในรูปแบบ Bell Curve ของการกระจายตัวแบบสุ่มตามธรรมดาเป็นอย่างมาก
มุมมองของผมเกี่ยวกับการกระจายตัวของผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทย
จากกราฟที่เราได้เห็นมานั้น เราจะสังเกตได้ว่าตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพไปเลยซะทีเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นที่ได้สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของตลาดออกมาให้เราเห็นอยู่พอสมควร ผมคิดว่านี่เองจึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมกลยุทธ์การเล่นหุ้นแบบ Trend Following, Swing Trading หรือแม้แต่การลงทุนแบบเน้นคุณค่าจึงยังคงมีประสิทธิภาพอยู่ นั่นก็เพราะพวกมันได้ใช้ประโยชน์หรือลงรอยกับพฤติกรรมการกระจายตัวของผลตอบแทนในตลาดตามที่ได้เห็นกันไปนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเล่นหุ้นสั้นๆระหว่างวันอาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับคนโดยส่วนใหญ่เลยทีเดียว นั่นก็เนื่องมาจากการกระจายตัวของผลตอบแทนส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเป็นกราฟแบบโด่งสูงนั่นเอง โอกาสที่จะทำกำไรจากการ Let Profit Run ไกลๆจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากมากๆ และต้องไปพึ่งพาความแม่นยำหรือการควบคุมความเสี่ยงให้เป็นอย่างดีนั่นเอง (แต่ไม่ได้หมายความว่ามันทำไม่ได้นะครับ)
สุดท้ายนี้ สิ่งที่ได้ทดสอบมาเป็นเพียงผลในเชิงสถิติเพียงอย่างเดียว มันไม่ได้รับประกันว่าถ้าคุณทำตามกลยุทธ์ที่เป็นไปในแนวทางเดียวกับพฤติกรรมของตลาดแล้วจะต้องประสบความสำเร็จเสมอไป เนื่องจากยังมีปัจจัยทางจิตวิทยาที่สำคัญอีกหลายอย่าง ในการที่คุณจะต้องฝ่าฟันมันไปให้ได้นั่นเองครับ