บรรดานักเล่นหุ้นแบบ Trend Following หลายๆคนมีความเชื่ออยู่ลึกๆว่า แท้จริงแล้วองค์ประกอบของระบบการลงทุนที่สำคัญนั้น อยู่ที่สัญญาณการขายหุ้น (Exit) และรูปแบบการบริหารเงินทุน (Money Management) ไม่ใช่สัญญาณซื้อหุ้น (Entry) อย่างที่หลายๆคนเข้าใจกัน ความเชื่อนี้บ้างก็ถูกต่อต้านบ้างก็มีคนเห็นด้วย วันนี้ผมเลยขอนำผลการทดลองคร่าวๆ มาให้ดูกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร หากว่าเราลองปาเป้าเลือกหุ้นในตลาดหุ้นกันครับ!
แก่นเบื้องหลังของกลยุทธ์เล่นหุ้นตามแนวโน้ม
หนึ่งในบรรดา Trend Follower ที่ฟันธงให้ความเห็นไว้กับเรื่องนี้อย่างชัดเจนเอาไว้ก็คือ David Harding ผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟัน Winton Capital Management นั่นเอง โดยเขาได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า :
“แม้ว่าคุณจะสุ่มซื้อหุ้นเหมือนลิงปาเป้า แต่คุณก็ยังคงที่จะทำกำไรในระยะยาวออกมาได้ หากว่าคุณรู้จักกำหนดจุดตัดขาดทุนเอาไว้และปล่อยให้กำไรไหลไปเรื่อยๆ แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อคุณสุ่มซื้อหุ้น แต่กลับไม่รู้จักกำหนดจุดตัดขาดทุนเอาไว้ หนำซ้ำยังพยายามที่จะตั้งเป้าขายทำกำไรให้ได้ราคานั้นราคานี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคุณจะขาดทุนอย่างแน่นอน ดังนั้น สุภาษิตคำพังเพยที่ว่าให้คุณตัดขาดทุนอย่างรวดเร็วและปล่อยให้กำไรวิ่งต่อไปเรื่อยๆ จึงมีความเป็นจริงอยู่ไม่มากก็น้อย”
พูดง่ายๆว่าความหมายที่เขาพยายามจะบอกกับเราก็คือ แท้จริงแล้วเงื่อนไขสำคัญในการทำกำไรของเหล่า Trend Follower ทั้งหลายนั้น ซ่อนอยู่ภายใต้กลไกของตัวมันเอง (“ตัดขาดทุนอย่างรวดเร็ว และปล่อยให้กำไรวิ่งต่อไป”) เนื่องจากนี่เป็นวิธีการเล่นหุ้นที่จะดึงเอากำไรออกมาจากปรากฏการณ์ Fat Tail หรือสถิติการกระจายตัวของผลตอบแทนในตลาดหุ้นออกมา โดยพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการที่จะต้องเจอกับหางทางด้านซ้ายให้มากที่สุด พร้อมกับสร้างโอกาสที่จะอยู่ส่วนขวาของหางให้ได้นานที่สุดนั่นเอง (ใครไม่เคยอ่านหรือจำไม่ได้ให้ Click ไปอ่านในลิงค์นี้ได้เลยครับ)
การทดลองสุ่มซื้อหุ้น (Radom Entry)
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่า การทดลองชิ้นนี้ไม่ได้มีความต้องการให้คุณเลิกวิเคราะห์หุ้นแล้วสุ่มจิ้มหุ้นเอานะครับ ผมเพียงแต่อยากนำเสนอผลกระทบและสิ่งที่เกิดขึ้นในบางแง่มุม เมื่อเราทำการปาเป้าสุ่มซื้อหุ้น โดยมีจุด Stop และระบบ Money Management ควบคุมเอาไว้อยู่เบื้องหลังว่าจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การทดลองที่มีความครบถ้วนและสมบูรณ์มากนัก เพราะเพียงแค่ต้องการชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้จากกลไกของระบบการลงทุนแบบ Trend Following เท่านั้นครับ
เงื่อนไขการทดลอง
1. ผมจะทำการทดลองกับหุ้นทั้งหมด 569 ตัวในตลาด* ด้วยวิธีการ Monte Carlo Testing โดยจะทำการสุ่มซื้อหุ้นไปเรื่อยๆจากหุ้นในตะกร้าเหล่านี้ ตั้งแต่วันที่ 1/1/2000 – 31/12/2010 เป็นจำนวนทั้งหมด 10,000 รอบ (Combination) โดยในแต่ละรอบนั้นด้วยการสุ่มแบบ Random Entry จะทำให้เรามีลำดับการจัดเรียง (Permutation) ของการซื้อขายหุ้นในพอร์ทที่ไม่ซ้ำกันเลย (เป็นไปได้กับบางช่วงของการซื้อขายและมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากๆ) นี่จะทำให้ผลการทดลองเกิดความเที่ยงธรรมอยู่ในระดับหนึ่งพอสมควร เพราะเป็นการสุ่มทั้งหุ้น และสุ่มทั้งจะหวะซื้อหุ้น
* จำนวนหุ้นอาจไม่ตรงกับจำนวนหุ้นจริงๆที่ทำการซื้อขายกันอยู่ เนื่องจากหุ้นบางตัวที่หยุดซื้อขายไปแล้วยังค้างอยู่ในฐานข้อมูลของผม
2. ในขณะที่ทำการสุ่มซื้อหุ้นนั้น หากหุ้นตัวใดที่มีปริมาณการซื้อขายโดยเฉลี่ยภายใน 1 เดือนต่ำกว่า 1 ล้านบาท จะไม่ถูกซื้อเขามาในพอร์ท เพื่อเป็นการกรองและหลีกเลี่ยงหุ้นที่ไร้สภาพคล่องมากๆออกไป
3. ผมจะใช้การกำหนดจุดตัดขาดทุนในรูปแบบของ Trailing Stop หรือจุดตัดขาดทุนที่จะวิ่งไล่ตามราคาไปเรื่อยๆ โดยเลือกใช้เป็นจุดต่ำสุดหรือแนวรับภายใน 20 วันของราคาหุ้น (20 Days Low) เนื่องจากถือเป็นเครื่องมือมาตรฐานอย่างหนึ่ง โดยหากว่าเมื่อสุ่มซื้อเขาไปแล้ว แล้วหุ้นเกิดหลุดลงไปต่ำกว่าจุดที่ตั้งไว้ ก็จะดำเนินการขายทิ้งไป
4. ผมใช้ระบบการบริหารเงินทุน Money Management แบบ Equal Unit หรือแบ่งเงินเป็นสัดส่วนเท่าๆกันในพอร์ท (ในที่นี้ใช้ 10%) เนื่องจากเป็นระบบ MM ที่ง่ายที่สุดและถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย
5. เมื่อเกิดสัญญาณขึ้นในวันใด เราจะทำการซื้อ-ขายหุ้นในวันทำการถัดไปที่ราคาเปิด (OPEN) ทันที
6. การทดลองจะเป็นไปในรูปแบบ Re-Investment หรือพูดง่ายๆคือไม่ถอนเงินที่เป็นกำไรออกมา ปล่อยให้มันทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็หมดตัวลงไปซะ
7. อัตราค่าคอมมิสชั่นจะอยู่ที่รอบละ 0.25% หรือไปกลับ 0.5% ของมูลค่าการซื้อขายหุ้น
8. ผลการทดลองในรูปแบบ Monte Carlo จะให้ผลออกมาในลักษณะของความน่าจะเป็นภายในชุดการทดลอง หรือพูดง่ายๆคือ มีความจะเป็นมากแค่ไหน-เท่าใดภายใต้การทดลองเป็นจำนวน 10,000 ครั้ง โดยหากผลการทดลองเข้าไกล้ 100% มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นการยืนยันว่ามีความน่าจะเป็นมากขึ้นเท่านั้น
ผลการทดลองที่น่าสนใจ
1) Money Management คือสิ่งที่มีผลกระทบต่อการอยู่รอดของคุณ
ในขั้นต้นผมพบว่าการแบ่งเงินเป็นสัดส่วนเท่าๆกัน โดยลงทุนทีละ 10% ของพอร์ทนั้น ให้ความน่าจะเป็นในการที่เราจะมีกำไรออกมาได้ดังนี้
Profit Stats
Maximum Profit: ฿5,384,498.06 (538.45%)
Average Profit: ฿418,398.69 (41.84%)
Minimum Profit: -฿763,155.61 (-76.32%)
Standard Deviation: ฿615,904.49 (61.59%)
Probability of Profit: 73.98%
Probability of Loss: 26.02%
นี่หมายถึงเรามีความน่าจะเป็นอยู่ประมาณ 73.98% ที่จะทำกำไรได้จากการใช้ Random Entry โดยค่าเฉลี่ยกำไรของผลการทดลองจะอยู่ที่ประมาณ 41.84% แต่มีค่า Standard Deviation (SD) ที่เหวี่ยงค่อนข้างสูงถึงประมาณ 62% เลยทีเดียว ในขณะเดียวกันนั้น เมื่อผมเพิ่มขนาดการลงทุน (Position Size) ในแต่ละครั้งเข้าไปให้มากขึ้นจนถึง 100% คืออัดเข้าไปทีเดียวทั้งพอร์ท ผลที่ได้คือความน่าจะเป็นในการได้กำไรที่ลดลงพร้อมกับค่า SD ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม Probability of Profit ก็ยังคงไม่ลดลงต่ำกว่าประมาณ 50% อยู่ดี นี่จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า :
เราสามารถใช้ Random Entry กับ Trailing Stop ร่วมกันได้ผลดีในระดับหนึ่งแต่ไม่ 100% โดยระบบ Money Management จะมีผลเป็นอย่างมากกับความสามารถที่จะทำกำไรของเรา หากคุณไม่เป็นกลุ่มประชากรที่โชคร้ายจนเกินไปนัก คุณก็ยังมีสิทธ์ที่จะมีกำไรออกมาได้ แม้จะไม่รู้เรื่องว่าควรซื้อหุ้นเมื่อไหร่และอย่างไรดี ขอเพียงคุณรู้จักควบคุมขนาดการลงทุนและจุดตัดขาดทุนได้อย่างเหมาะสม
2) แล้วที่เขาบอกกันว่าตลาดหุ้นขาขึ้นใครเล่นก็ได้กำไรล่ะ ผลเป็นอย่างไร?
เมื่อผมยังคงการเข้าซื้อหุ้นแบบ Random Entry ตามเงื่อนไขเดิมที่ว่าไว้ เพียงแต่กำหนดให้ตลาดหุ้นหรือดัชนี SET ต้องเป็นขาขึ้น หรือยืนเหนือ Moving Average 100 วันของมันให้ได้ด้วย ผลที่ออกมาเป็นดังนี้ครับ :
Profit Stats
Maximum Profit: ฿5,916,095.47 (591.61%)
Average Profit: ฿935,762.38 (93.58%)
Minimum Profit: -฿471,185.31 (-47.12%)
Standard Deviation: ฿742,633.05 (74.26%)
Probability of Profit: 94.80%
Probability of Loss: 5.20%
สิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างที่จะตรงกับความเชื่อโดยทั่วไป เนื่องจากความน่าจะเป็นที่เราจะได้กำไรมากขึ้นถึงระดับเกือบๆ 95% เลยทีเดียว นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่าทำไมเราจึงเห็นอาม่าอาอึ้มหลายๆคนอารมณ์ดีเมื่อตลาดกลายเป็นกระทิง อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงมีโอกาสที่จะเป็นบุคคลที่ขาดทุนด้วย Random Entry ได้อยู่อีกราวๆ 5% ถึงแม้ว่าเราจะใช้ Trailing Stop และ MM ควบคุมเป็นอย่างดี
3) แล้วถ้าไม่เล่นหุ้นปั่นล่ะ?
นิยามของหุ้นปั่นมีหลายความหมายมากๆ แต่ในที่นี้ผมจะขอนำเอาลักษณะโดยระดับราคาของมันมาใช้ เนื่องจากหุ้นปั่นส่วนใหญ่จะมีราคาต่ำ 10 บาท ขึ้นลงหวือหวา เรามาดูกันว่าเมื่อเราตัดพวกมันทิ้งไป Random Entry ของเราจะมีความน่าจะเป็นในการทำกำไรขึ้นบ้างหรือไม่? (SET ไม่จำเป็นต้องเป็นขาขึ้น) ผลที่ออกมาก็คือ :
Profit Stats
Maximum Profit: ฿3,776,703.22 (377.67%)
Average Profit: ฿763,790.84 (76.38%)
Minimum Profit: -฿258,511.90 (-25.85%)
Standard Deviation: ฿423,344.94 (42.33%)
Probability of Profit: 98.88%
Probability of Loss: 1.12%
ผลที่ออกมานั้นต่างกับการ Test ครั้งแรกในข้อที่ 1 อย่างชัดเจน เพียงแค่เราไม่เล่นหุ้นปั่น (ต่ำกว่า 10 บาท) โอกาสที่เราจะมีกำไรจาก Random Entry เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 99% ซึ่งเยอะกว่าการที่ดัชนี SET ต้องเป็นขาขึ้นไปเสียอีก นอกจากนี้แล้วกำไรโดยเฉลี่ยในครั้งนี้ก็ยังมากกว่าการทดสอบในครั้งแรกเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว นี่เป็นหลักฐานอีกชิ้นที่แสดงให้เราเห็นถึงความอันตรายและความผันผวนของพวกมัน อย่างไรก็ตามมันได้ชี้ให้เราได้เห็นว่า แม้ใครสักคนที่ไม่รู้เรื่องเลยว่าจะซื้อหุ้นเมื่อไหร่อย่างไร แต่กลั้นใจอดทนขายหุ้นตาม Stop และกำหนดขนาดการลงทุนเอาไว้ให้คงที่-ไม่ใหญ่จนเกินไป และไม่เล่นหุ้นต่ำ 10 เขาก็มีโอกาสถึงเกือบ 99% ที่จะอยู่รอดได้ในตลาดหุ้นเป็นอย่างดี
4) แล้วที่บอกว่าให้เล่นแต่หุ้นขาขึ้นล่ะ?
แน่นอนว่าคำถามที่ยังค้างคาใจอยู่อีกอย่างก็คือ … แล้วที่บอกว่าให้เล่นแต่หุ้นขาขึ้นล่ะ ผลจะเป็นอย่างไร? โดยสำหรับคำว่าแนวโน้มขาขึ้นนั้น ก็มีอยู่หลายความหมายแล้วแต่ใครจะวัดอย่างไรเช่นกัน ผมจึงลองนิยามมันด้วยสูตรมาตรฐานสุดๆคือ ราคาหุ้นต้องอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย Moving Average 100 วันของมันเท่านั้น และผลการทดลอง Random Entry ที่ราคาปิดยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันของมันก็ออกมาเป็นเช่นนี้ครับ :
Profit Stats
Maximum Profit: ฿14,979,297.53 (1497.93%)
Average Profit: ฿2,220,164.77 (222.02%)
Minimum Profit: -฿186,698.10 (-18.67%)
Standard Deviation: ฿1,202,270.96 (120.23%)
Probability of Profit: 99.89%
Probability of Loss: 0.11%
ผลที่ออกมานั้นน่าสนใจพอสมควรเลยทีเดียว เนื่องจากความน่าจะเป็นของการมีกำไรพุ่งเฉียด 100% ไปนิดหน่อยอยู่ที่ 99.89% โดยในส่วนของ Average Profit ก็วิ่งขึ้นไปถึง 222% (พอร์ทโต 3.2 เท่า) เลยทีเดียว ซึ่งถือว่ามากกว่า Benchmark ซึ่งคือการซื้อแล้วถือไว้ตั้งแต่วันเริ่มต้นจนสิ้นสุดการทดลองที่ประมาณ 111.11% (พอร์ทโต 2.1 เท่า) นอกจากนี้แล้ว Minimum Profit หรือการขาดทุนที่มากที่สุดในกลุ่มการทดลองอยู่ที่เพียง –18.6% เท่านั้น ซึ่งเมื่่อเทียบกับในครั้งที่ผ่านมานั้นถือว่าดีขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะอย่างน้อยคุณก็ยังจะไม่หมดตัว และมีเงินเอาไว้ไปขายเต้าฮวยได้อยู่นั่นเอง แต่นั่นก็หมายถึงว่าคุณต้องเป็นคนที่โชคร้ายชนิดหาใครจับไม่ได้เลยทีเดียวครับ
5) แล้วอย่างน้อยที่สุดคุณควรต้องรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น เพื่อที่จะมีชีวิตรอดต่อไปในตลาดหุ้น?
บทสรุปของการทดลองใช้ Random Entry กับ Trailing Stop ในวันนี้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้การใช้ Trailing Stop และ Money Management จะช่วยทำให้คุณมีโอกาสอยู่รอดได้ในตลาดหุ้นได้พอสมควรแม้ว่าคุณไม่รู้ว่าควรจะซื้อหุ้นเมื่อไหร่เลยก็ตาม แต่มันก็ไม่ได้ให้ผลขนาด 100% แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้เราได้รู้ว่า หากเพียงแค่คุณรู้ว่าหุ้นที่คุณกำลังจะซื้อนั้นเป็นขาขึ้น (อยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันของมัน) และไม่เป็นหุ้นที่ผันผวนมีความเสี่ยงจนเกินไป (ต่ำ 10 บาท) นั่นก็เพียงพอแล้วกับการที่คุณจะสุ่มซื้อหุ้นแล้วใช้ Trailing Stop พร้อมกับซื้อหุ้นทีละ 10% ของพอร์ทเพื่อที่จะทำให้มีกำไรได้ในระยะยาว พร้อมกับสามารถเอาชนะผลตอบแทนหรือ Benchmark ของตลาด (SET) ได้หลายช่วงตัวดังผลทดสอบสุดท้ายข้างล่างนี้ครับ
Profit Stats
Maximum Profit: ฿5,268,326.32 (526.83%)
Average Profit: ฿2,137,513.52 (213.75%)
Minimum Profit: ฿516,378.28 (51.64%)
Standard Deviation: ฿540,753.89 (54.08%)
Probability of Profit: 100.00%
Probability of Loss: 0.00%
คุณจะเห็นได้ว่า ในตอนนี้ความน่าจะเป็นที่คุณจะได้กำไรนั้นวิ่งขึ้นไปที่ 100% เรียบร้อยแล้ว โดยมีค่าเฉลี่ยของกำไรจากผลการทดลองอยู่ที่เกือบ 214% ซึ่งชนะ SET ที่ 111.11% ไปเกือบเท่าตัว ซึ่งหากว่าคุณโชคร้ายมากๆจริงๆ ผลกำไรของคุณก็ยังคงเป็นบวกอยู่ที่ 51.64% อยู่ดี นอกจากนี้แล้วจาก Chart : Net Profit Distribution นั้น คุณจะเห็นได้ว่าผลกำไรจากการทดลอง 10,000 รอบนั้น ค่ากำไรโดยเฉลี่ยฟอร์มตัวเป็นรูประฆังคว่ำอย่างสวยงาม โดยที่ผลตอบแทนช่วงระหว่าง 51.64% – 99.16% นั้น นับเป็นเพียงแค่ 0.6 % ของผลการทดสอบทั้งหมด และจะไปกระจุกตัวจริงๆอยู่แถวผลตอบแทนระยะระหว่าง 147% – 242% ถึงกว่า 60% ของผลการสุ่มทั้งหมดเลยทีเดียว ซึ่งจากผลการทดลอง Random Entry กับ Trailing Stop ด้วยวิธีการ Monte carlo Backtest กับหุ้นในตลาดของไทยคร่าวๆแบบพอหอมปากหอมคอในวันนี้ ก็น่าจะทำให้ได้เห็นอะไรกันไปพอสมควรนะครับ (ต้องขออภัยที่ไม่ได้ลงรายละเอียดทุกๆมุม) แล้ววันหลังจะเอาเรื่องที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังกันใหม่ครับ
ปล. ผลการทดลองนี้ไม่สามารถที่จะยืนยันหรือการันตีได้ว่าผลของมันในอนาคตจะต้องเหมือนเดิม การลงทุนมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ควรใช้วิจารณญาณของคุณควบคู่ไปด้วยนะครับ