จิตวิทยาการลงทุนว่าด้วยเรื่องของกำไรคาดหวัง และการทำลายอคติของความต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอ โดย Dr. Van K. Tharp (ตอนที่ 1)
โดยทั่วไปแล้ว ในงานสัมนาการลงทุนทั่วๆไปนั้น วิทยากรที่ได้รับความสนใจมากที่สุดนั้น มักจะเป็นคนที่พูดเกี่ยวกับเรื่องของวิธีการลงทุน ที่ให้ผลของความแม่นยำในการเข้าซื้อมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หากคุณพูดว่า “จงซื้อเมื่อคุณมีความน่าจะเป็นสูงที่สุด” และยกตัวอย่างวิธีการซื้อ-ขายซึ่งให้ผลความแม่นยำถึง 75% ออกมา นั่นจะทำให้ผู้คนมากมายจับจ้องและหันมาที่คุณ
อย่างไรก็ตาม วิธีการเล่นหุ้นส่วนใหญ่ในรูปแบบนี้นั้น มักที่จะให้ผลการขาดทุนขนาดใหญ่ออกมาด้วยเช่นกัน หรือมันอาจไม่สามารถทำกำไรให้คุณในระยะยาวก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ด้วยความแม่นยำถึง 75% นั้น มันก็สามารถที่จะทำให้นักเล่นหุ้นมากมายต้องการที่จะใช้มันเป็นอย่างมาก
ผลความแม่นยำของระบบการลงทุนนั้น มีความสำคัญมากแค่ไหนน่ะหรือ?
สมมุติว่าผมพูดกับคุณว่า ผมสามารถรับประกันได้ว่าคุณจะสามารถทำกำไรได้อย่างมากมายเมื่อถึงปลายปีนี้ มันจะเป็นกำไรก้อนโตเลยทีเดียว แต่คุณอาจจะต้องเสียเงินอยู่หลายครั้ง หรือเกิดความผิดพลาดขึ้นประมาณ 90% ของการซื้อ-ขายของคุณทั้งหมด คุณจะสนใจมันไหมครับ? คุณจะทนรับมันได้ไหม? หรือคุณจะตกลงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นระหว่างการลงทุนได้ไหม?
แน่นอนว่าพวกเขามักจะตอบทันทีว่า “ไม่” ในคำถามที่ผมได้ถามไปทั้งหมด และนั่นมักจะเป็นคำตอบของนักเล่นหุ้นส่วนใหญ่เลยทีเดียว และหากว่านี่เป็นคำตอบในใจของคุณด้วยล่ะก็ คุณอาจกำลังปฏิเสธโอกาสในการทำกำไรของคุณไป เพียงเพราะแค่ ความต้องการที่จะ “ถูกต้อง” ของคุณนั้น อาจสำคัญมากกว่าความต้องการที่จะทำกำไรของคุณก็เป็นได้
อาจมีบางคนที่อยากถามว่า “คุณจะทำกำไรได้อย่างไร หากว่าคุณเกิดความผิดพลาด (ขาดทุน) ขึ้นถึง 90% ในการเข้าซื้อ?” คำตอบของสิ่งนี้นั้น จริงๆแล้วก็คือการวนกลับไปที่กฏทองของการเล่นหุ้น นั่นก็คือ “ตัดขาดทุนอย่างรวดเร็ว และปล่อยให้กำไรวิ่งต่อไป” นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจขาดทุนครั้งละ 100 ดอลลาร์ ถึง 9 ครั้ง และคุณสามารถทำกำไรได้เพียงครั้งเดียว แต่มันกลับให้ผลกำไรออกมาที่ 2,000 ดอลลาร์ เมื่อคุณนำมาหักลบกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คุณจะมีกำไรสุทธิเหลืออยู่ประมาณ 1,100 ดอลลาร์ และนี่คือกำไรก้อนใหญ่เลยทีเดียว และมันคือสิ่งที่ได้มาจากกำไรเพียงครั้งเดียว จากการซื้อ-ขายทั้งหมด 10 ครั้งของคุณนั่นเอง สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ถึงแม้ว่าระบบการลงทุนที่ดีส่วนใหญ่นั้น อาจไม่เกิดการขาดทุนถึง 90% แต่พวกมันก็มักที่จะทำกำไรให้คุณเพียงแค่ 30-40% จากการซื้อ-ขายทั้งหมด
ผมคาดเดาว่า 99% ของนักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนส่วนใหญ่นั้น ไม่สามารถที่จะใช้ระบบการลงทุนซึ่งก่อให้เกิดความผิดพลาด (ขาดทุน) ขึ้นถึง 90% ได้ ไม่ว่ามันจะสามารถทำกำไรได้เป็นอย่างดีแค่ไหนก็ตาม เหตุผลก็เนื่องมาจากว่า พวกมันไม่สามารถที่จะให้ความแม่นยำหรือความถูกต้องได้เพียงพอ และพวกมันมักที่จะก่อให้เกิดการขาดทุนต่อเนื่อง (Losing Streak) ที่ยาวนานเกินไป โดยระบบการลงทุนเหล่านี้ มักที่จะเกิดการขาดทุนติดๆกันมากกว่า 5 ครั้งเป็นส่วนใหญ่ และนี่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่อาจที่จะทนรับมันได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว เมื่อเกิดขาดทุนติดๆกันขึ้นมานั้น นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ก็มักที่จะล้มเลิกความคิดในการที่จะใช้ระบบการลงทุนเหล่านี้อีกต่อไป (ระบบการลงทุนแบบนี้ มักที่จะเกิดการขาดทุนติดๆกันถึง 25 ครั้งได้อย่างง่ายดาย) เพราะเมื่อเกิดการขาดทุนติดๆกันขึ้นมาอย่างนี้นั้น นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ก็มักที่จะคิดไปว่า ระบบการลงทุนของพวกเขาใช้การไม่ได้อีกต่อไปแล้ว และพวกเขาก็จะพยายามทดลองสิ่งใหม่ๆแทน
ในทางตรงกันข้าม เราลองมาดูผลที่มักจะเกิดขึ้นกัน… สมมุติว่าระบบการลงทุนนั้นมีความแม่นยำสูงถึง 90% และคุณได้ทำการซื้อ-ขายทั้งหมด 100 ครั้ง โดยที่คุณจะได้กำไรโดยเฉลี่ยที่ 100 ดอลลาร์/ครั้ง และมีการขาดทุนโดยเฉลี่ย 2,000 ดอลลาร์/ครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คุณจะสามารถทำกำไรได้ถึง 90 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นเงินทั้งหมด 9,000 ดอลลาร์ โดยในขณะเดียวกันนั้น คุณก็เกิดการขาดทุนขึ้นมา 10 ครั้งเช่นเดียวกัน และนั่นจะทำให้คุณขาดทุนทั้งสิ้นเป็นเงิน 20,000 ดอลลาร์ เมื่อทำการหักลบกันแล้ว ผลก็คือคุณจะขาดทุนสุทธิที่ 11,000 นั่นเอง
คำถามก็คือ แล้วนักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนส่วนใหญ่ มักที่จะใช้ระบบเหล่านี้ไหม? แน่นอน พวกเขามักที่จะชอบใช้มัน และหากว่าระบบการลงทุนเหล่านี้ให้สัญญาณที่ประมาณ 4-5 ครั้งต่อปี พวกเขาก็มักที่จะใช้มันเป็นเวลาหลายๆปีจนหมดตัวไปเอง ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะพวกมันสามารถตอบสนองความต้องการที่จะ “ถูกต้อง” กับพวกเขาได้นั่นเอง
คุณอาจเถียงว่า “แล้วมีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะต้องปล่อยให้เกิดการขาดทุนขนาดใหญ่ขึ้นมา จนเกิดการขาดทุนสุทธิขึ้นถึง 11,000 ดอลลาร์ หลังจากการซื้อ-ขายทั้งหมด 100 ครั้งด้วยล่ะ?” คำตอบนั้นง่ายมากๆ ก็เนื่องมาจากว่า พวกเขามักจะปล่อยให้การขาดทุนเล็กๆน้อย กลายเป็นการขาดทุนขนาดใหญ่ ด้วยการเปลี่ยนมันเป็นการลงทุนระยะยาวในความคิดของพวกเขานั่นเอง โดยพวกเขามักที่จะพูดว่า “มันก็แค่การขาดทุนในกระดาษ ไม่ได้ขาดทุนจริงๆสักหน่อย!!” นั่นเอง
ผมมีบางอย่างจะเล่าให้คุณฟัง ผมเคยเจอนักเล่นหุ้นหลายๆราย ซึ่งได้เข้าร่วมอบรมสัมนาการลงทุนของผม ซึ่งตัวของพวกเขาเองนั้น ถือเป็นคนที่มีความสามารถที่เหนือกว่านักลงทุนส่วนใหญ่เลยทีเดียว เมื่อคิดในแง่ของความชำนาญของเขา อย่างไรก็ตาม เมื่อผมขอให้พวกเขายกมือขึ้น หากว่าพวกเขากำลังถือหุ้นหรือตราสารการลงทุนต่างๆ ซึ่งมีมูลค่าน้อยกว่า 50% ของราคาที่พวกเขาซื้อมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีคนยกมือขึ้นถึง 11 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนผู้เข้าสัมนาเลยทีเดียว และจากการคาดคะเนของผมนั้น ก็ทำให้ผมพอที่จะรู้ได้ว่า สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดนั้น ก็คงที่จะต้องมีคนที่กำลังจมอยู่กับการขาดทุนเป็นจำนวนมาก โดยหวังเพียงที่จะให้ราคาของมันกลับมาเป็นดังเดิมอย่างแน่นอน… ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะยอมรับได้ว่า พวกเขาได้คิด “ผิด” ไป และพวกเขาก็กำลังเฝ้าหวัง และรอคอยให้การลงทุนเหล่านั้นไม่เกิดการขาดทุน เพียงเพื่อที่จะช่วยยืนยันว่าความคิดของพวกเขานั้น ได้กลับกลายมาเป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง” นั่นเอง
แล้วอะไรล่ะ คือ “ต้นทุน” จากการถือการลงทุนที่ขาดทุนของคุณเอาไว้? อย่างแรกก็คือ คุณกำลังใช้เงินทุนของคุณซึ่งมีคุณค่าอย่างมากมาย ลงไปในสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดผลผลิตใดๆขึ้นมาเลย อย่างที่สองก็คือ คุณกำลังปิดกั้นโอกาสของคุณ จากการลงทุนที่ดีอย่างอื่นไปอย่างน่าเสียดาย
วันนี้จบเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวพรุ่งนี้จะลงตอนต่อไปให้อ่านกันต่อครับ ชอบไม่ชอบยังไงก็ Comment กันไว้ได้นะครับ ขอบคุณครับ :D