fbpx
วิธีการเล่นหุ้นและวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค

ความเข้าใจผิด 10 ประการเกี่ยวกับการลงทุนอย่างเป็นระบบ

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

ในฐานะของนักลงทุนคนหนึ่งที่วนเวียนอยู่กับการค้นคว้าวิจัยกลยุทธ์หรือระบบการลงทุนมาหลายปี ผมเองยอมรับว่าค่อนข้าง “เพลีย” พอสมควร เวลาที่มีใครกล่าวหาว่าร้ายหลักการลงทุนอย่างเป็นระบบแบบ Quantitative and Systematic Trading โดยขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง ดังนั้นในวันนี้ผมจึงอยากจะพูดถึงความเข้าใจผิดหลายๆอย่างเกี่ยวกับการลงทุนอย่างเป็นระบบ ที่ผมมักจะได้ยินมาหรืออ่านมาอยู่บ่อยๆครับ

นิยามของการลงทุนอย่างเป็นระบบ และระบบการลงทุน

เป็นธรรมเนียมที่ผมจะต้องขอจำกัดความสิ่งที่ผมกำลังจะพูดถึงกันเสียหน่อยนะครับ เพื่อไม่ให้ความหมายของพวกมันหลุดกรอบกันออกไป โดยสำหรับผมแล้ว

“การลงทุนอย่างเป็นระบบ” (Quantitative Trading-Investing) คือการลงทุนด้วยกฎระเบียบต่างๆที่ชัดเจน ตามหลักฐานข้อเท็จจริงและสถิติตที่พิสูจน์ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หรือในอีกแง่หนึ่งนั้น

“ระบบการลงทุน” (Quantitative Trading-Investing System) ก็คือ ชุดของกฎระเบียบต่างๆในการลงทุนที่มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งได้ถูกออกแบบมาโดยการค้นคว้าวิจัย, สรุป และยืนยันผล ตามหลักสถิติและวิทยาศาสตร์นั่นเองครับ

และนี่ก็คือนิยามสั้นๆกระชั้บๆก่อนที่ผมจะพูดถึงความเข้าใจผิดต่างๆเกี่ยวกับการลงทุนอย่างเป็นระบบกันต่อไปครับ

1. การลงทุนตามระบบใช้ไม่ได้จริง เพราะตลาดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

Answer : แน่นอนครับว่าตลาดเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (และนักออกแบบระบบทุกคนก็รู้ดี) แต่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “แก่น” ของพฤติกรรมตลาดนั้นก็มักจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก (ยกตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆของทางตลาดหลักทรัพย์ อาทิเช่น การกำหนดราคา Ceiling-Floor ใหม่ หรือ การเปลี่ยนแปลงขนาดของ Spread ราคา) ซึ่งถ้าให้พูดตรงๆเลยก็คือหากมีการเปลี่ยนแปลงแบบ “สุดขั้ว” ในโครงสร้างของตลาดแบบนี้ ระบบการลงทุนที่ใช้ประโยชน์จากกฎหรือโครงสร้างต่างๆของตลาด เหล่านั้นก็อาจจะต้องพังลงอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในตลาดนั้น มักที่จะอยู่ในลักษณะการเปลี่ยนแปลงในชั้น “เปลือก” ซึ่งมักที่จะเกิดขึ้นโดยอารมณ์ ความรู้สึก และความเชื่อของนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดเอง โดยที่พฤติกรรมเหล่านี้มักถูกควบคุมโดยสันดานและสมองของมนุษย์ ซึ่งยากที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไปเป็นระยะๆ ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมของ Momentum นั้นถูกค้นพบมาเป็นเวลาร้อยๆปีแล้วก็ยังคงมีให้เห็นอยู่เช่นเดิม  ดังนั้นแล้ว ระบบการลงทุนที่ออกแบบมาดีและได้รับการดูแลอยู่เสมอ จะสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ได้อย่างไม่ยากนัก เนื่องจากพวกมันจะต้องถูกออกแบบมาให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในระดับเปลือกได้อยู่แล้วเป็นอันดับแรกนั่นเองครับ

image

ภาพที่ 1 : แสดงให้เห็นผลลัพท์ของระบบ Mangmao ATH ซึ่งเป็นระบบการลงทุนรูปแบบหนึ่งในเชิงของกลยุทธ์ Trend Following โดยจะเห็นได้ว่ามันยังคงสามารถที่จะปรับตัวและเอาชนะตลาดได้ในทั้งช่วงอดีตและปัจจุบันของตลาด

 

2. การลงทุนอย่างเป็นระบบจะช่วยให้ได้กำไร

Answer : อาจจะครับ! เพราะการลงทุนอย่างเป็นระบบไม่ได้การันตีว่าคุณจะได้รับผลกำไรในอนาคต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่การลงทุนอย่างเป็นระบบจะสามารถการันตีให้กับคุณได้ก็คือ มันจะทำให้คุณลงทุนตามหลักการ และหลักฐานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับตลาดในอดีตที่ผ่านมาต่างหาก โดยมีเหตุผลมาจากหลายๆอย่าง อาทิเช่น

– ความผิดพลาดจากการวิจัยและออกแบบระบบการลงทุน

– โครงสร้างของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอย่างมีนัยยะสำคัญ

– พฤติกรรมของผู้เล่นส่วนใหญ่หรือผู้เล่นที่มีผลกับตลาดในอนาคตนั้นเปลี่ยนแปลงไป

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงที่คุณควรต้องทำความเข้าใจให้ดี และยอมรับให้ได้ก่อนเริ่มต้นลงทุนด้วยระบบการลงทุนต่างๆครับ

3. การลงทุนอย่างเป็นระบบเหมาะสำหรับคนโง่ หรือคนที่ไม่รู้เรื่องการลงทุน

Answer : การจะเป็นนักลงทุนที่สามารถทำกำไรในตลาดได้ในระยะยาวนั้นเราไม่สามารถเป็นคนโง่ หรือโง่ที่สุดในตลาดได้ครับ! สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก็คือ การลงทุนอย่างเป็นระบบนั้นกลับต้องอาศัยความเข้าใจในหลายๆด้านเป็นอย่างดี อาทิเช่น หลักของการลงทุน, พฤติกรรมของกลยุทธ์การลงทุนในลักษณะต่างๆ, หลักสถิติ และเทคโนโลยีต่างๆซึ่งอาจมีผลดีและผลเสียกับการลงทุนอย่างเป็นระบบของเราครับ

สาเหตุก็เนื่องมาจากมันจะเป็นไปไม่ได้เลยในการที่เราจะสามารถยึดมั่นต่อหลักและวิธีการลงทุนของระบบการลงทุนที่เรากำลังใช้อยู่ได้อย่างยาวนาน หากว่าเราขาดความเข้าใจต่อพฤติกรรมของมัน และนั่นก็มักจะทำให้เราเกิดความคาดหวังที่ไม่สมจริง จนทำให้ต้องล้มเลิกการลงทุนตามระบบนั้นๆไปในที่สุด

Mangmao ATH 2004-2007

ภาพที่ 2 : แสดงให้เห็นผลตอบแทนของระบบ Mangmao ATH แบบ Close-Up ในช่วงปี ค.ศ. 2004-2007 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดโดยรวมหรือ SET Index ให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก และนั่นทำให้ถึงแม้ว่าระบบจะสามารถเอาชนะผลตอบแทนของตลาดได้ แต่มันก็มีช่วง Flat Period จนพอร์ทการลงทุนเกิด Drawdown กว่า 20% และไม่สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ยาวนานถึง 27.35 เดือน (2 ปีกว่า) ซึ่งสามารถที่จะถีบนักลงทุนที่ไร้ความเชื่อมั่นและความเข้าใจเกี่ยวกับระบบและกลยุทธ์ชนิดนี้ออกไปได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณคิดว่าระบบมันย่ำแย่มากแล้วล่ะก็ สิ่งที่น่าสนใจก็คือผลตอบแทนของดัชนี SET Index มี Drawdown กว่า 26.75% และมีช่วง Flat Period ยาวนานกว่า 42.4 เดือนเลยทีเดียว ซึ่งผมเชื่อว่าใครที่เคยลงทุนมานานเพียงพอจะนึกออกว่าช่วงปีสองปีนั้นตลาดน่าเบื่อแค่ไหน

4. การลงทุนอย่างเป็นระบบตามหลักสถิติเป็นเรื่องไร้สาระ

Answer : เรื่องที่ไร้สาระกว่าคือการที่คนพูดอย่างนี้มักไม่รู้ว่าหลักวิชาการลงทุนที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่ได้ถูกพิสูจน์และยืนยันตามกระบวนการทางสถิติมาแล้วทั้งสิ้นครับ!

ยกตัวอย่างเช่น องค์ความรู้ต่างๆในสาขาวิชาการเงินการลงทุนหลายๆอย่าง เช่นทฤษฎี Modern Portfolio Theory ก็เกิดขึ้นมาจากการตั้งสมติฐาน, เก็บข้อมูล, การสร้างแบบจำลองทางการเงิน และสรุปผลลัพท์ด้วยสถิติ จนถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางในกองทุนต่างๆทุกวันนี้

หลักการลงทุนเน้นคุณค่าด้วยปัจจัยพื้นฐาน ก็เกิดขึ้นโดยการสังเกตุ, ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับตัวแปรทางปัจจัยพื้นฐานต่างๆ, การเก็บข้อมูล และสรุปผลวิจัยจากข้อมูลทางสถิติ ของ เบนจามิน เกรแฮม จนสืบทอดและถูกพัฒนาต่อมาจนกลายเป็นแนวทางการลงทุนเชิงคุณค่า (Value Investing) สายหลักของโลกใบนี้

ส่วนหลักการลงทุนตามแนวโน้มก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากการค้นพบปรากฏการณ์ของ Momentum ซึ่งในปัจจุบันนั้นก็มีงานวิจัยทางวิชาการอยู่มากมายที่ได้ทำการทดสอบวิจัยและสรุปผลทางสถิติแล้วว่าปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและสามารถหาช่องว่างของตลาดเพื่อการทำกำไรได้

พูดง่ายๆก็คือ อะไรก็ตามที่คุณใช้การสังเกตจากอดีต, เก็บข้อมูล และวิจัย พวกมันก็ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับหลักการทางสถิติทั้งนั้นแหละครับ!

image

image

ภาพที่ 3-4 : ตัวอย่างหน้าแรกของบทสัมภาษณ์ เบนจามิน เกรแฮม เกี่ยวกับแนวคิดและระบบการลงทุนที่เรียบง่ายของเขาในนิตยสาร Medical Economics เมื่อปี ค.ศ. 1976 (หนังสือ The Intelligence Investor ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1949) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการลงทุนอย่างเป็นระบบเชิง Quantitative Investing ของเขาออกมา โดยเขาได้กล่าวไว้ว่ามันสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเป็นสองเท่าของดัชนีดาวโจนส์จากการทดสอบย้อนหลังกลับไปกว่า 50 ปี

5.ผลลัพท์ของการทดสอบย้อนหลังเป็นเรื่องไร้สาระ

Answer : หลายคนให้เหตุผลว่าการทดสอบกลยุทธ์การลงทุนย้อนหลังนั้นขาดความสมจริงเกินไป เพราะอาจไม่ได้กำหนดเงื่อนไขของค่าคอมมิสชั่น, ผลกระทบของการซื้อขายที่มีต่อตลาด และปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบย้อนหลังอย่างสมจริง และยังอาจเกิดขึ้นจากความบังเอิญได้อีกด้วย ซึ่งในอนาคตนั้นแน่นอนว่าผลตอบแทนที่เกิดขึ้นก็มีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนไปในระดับหนึ่ง

ผมเห็นว่าจริงๆเรื่องนี้มันก็เหมือนกับคนที่เห็นกำแพงแล้วบอกว่าไม่มีทางไป แทนที่จะหาวิธีการปีนข้ามหรือเดินอ้อมกำแพงนั้นๆเพื่อไปสู่จุดหมายครับ เพราะความจริงแล้วในทุกวันนี้มีเทคนิคมากมายหลายอย่างที่เราจะสามารถนำมาช่วยในการประเมิณผลของผลการทดสอบให้สมจริงมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเราสามารถกำหนดค่าคอมมิสชั่น, ความคลาดเคลื่อนของราคาในการซื้อขาย (Slippage), กฎระเบียบต่างๆของตลาดนั้นๆ, การใส่ผลกระทบของขนาดการซื้อขายหุ้นในตลาด (Market Impact) หรือแม้แต่การประมาณการณ์ผลตอบแทนและความเสี่ยงด้วยเทคนิคการ Simulation ทางคอมพิวเตอร์ได้อย่างไม่ยากเย็นนักด้วยวิธีการทางคอมพิวเตอร์ต่างๆ สรุปแล้วผมเห็นว่านี่ไม่ใช่ประเด็นที่จะชี้ว่าการทดสอบหรือวิจัยกลยุทธ์การลงทุนย้อนหลังเป็นเรื่องที่เพ้อฝันเกินความเป็นจริง

image

ตารางที่ 1 : ตัวอย่างผลลัพท์ของการประมาณการผลตอบแทนของระบบหลังผ่านการทำ Stress-Test ซึ่งกำหนดเงื่อนไขการทดสอบแบบสุดขั้ว ด้วยการใช้เทคนิค Monte Carlo Simulation (Bootstrapping-with-Replacement) ซึ่งช่วยให้เราคาดการณ์ถึงผลลัพท์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วยความน่าจะเป็นในระดับหนึ่ง

6. ระบบการลงทุนมีไว้เพื่อช่วยให้รายใหญ่ปั่นหุ้นและปล่อยของ

Answer : อีกหนึ่งความเชื่อที่ฝังอยู่ในใจหลายคนที่ไม่เข้าใจในหลักการออกแบบระบบการลงทุนก็คือเรื่องของ “ทฤษฎีสมคบคิด” ซึ่งเชื่อว่ามันถูกออกแบบและเผยแพร่มาเพื่อให้คนส่วนใหญ่เป็น “เหยื่อ” ของระบบการลงทุนนั้น

ความจริงแล้วระบบการลงทุนที่ดีต้องออกแบบตามกลไกทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมของผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดที่มักเกิดขึ้นซ้ำๆมาเป็นเวลายาวนานครับ ดังนั้นพูดสั้นๆก็คือหากว่าคุณคิดว่าจะสามารถหลอกล่อคนส่วนใหญ่ด้วยการสร้างตลาดและสวนระบบการลงทุนที่ดีนั้น ในทางกลับกันแล้วคนที่พยายามทำเช่นนั้นกำลังสวนตลาด หรือ สวนพฤติกรรมตลาดอย่างรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น การพยายามทุบหุ้นที่มีพื้นฐานดีในขณะที่เศรษฐกิจกำลังดีวันดีคืน หรือแม้แต่การใช้เม็ดเงินมหาศาลเพื่อที่จะควบคุมราคาให้วิ่งไปโดน Buy-Sell Signal ของระบบการลงทุนซึ่งมีอยู่เป็นร้อยๆรูปแบบในตลาด ซึ่งผลในระยะยาวของมันก็คงจะไม่น่าพิสมัยนัก เพราะไม่เช่นนั้นแล้วผลการทดสอบย้อนหลังของระบบการลงทุนที่ยั่งยืนเหล่านี้ก็ควรที่จะพังทลายไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

7. ระบบการลงทุนเป็นการซื้อขายตาม Technical Analysis และมีไว้เพื่อการเก็งกำไรระยะสั้น และสามารถใช้ได้ในเวลาที่ตลาดมีแนวโน้มเท่านั้น

Answer : อย่างที่ผมได้ชี้แจงไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า ระบบการลงทุนคือ กลุ่มหรือชุดของกฎในการลงทุนซึ่งมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกัน ดังนั้นแล้วมันจึงไม่ได้หมายถึงวิธีการหรือสไตล์การลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งเลย! การลงทุนอย่างเป็นระบบนั้นถือเป็น “ประเภทของการกระบวนการในการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนต่างหาก” (Trading-Investing Judgement Process) ซึ่งไม่ได้มีข้อบังคับว่าคุณจะต้องลงทุนด้วยหลักการของ Technical Analysis เท่านั้น

อันที่จริงแล้ว หากว่าคุณสามารถรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้มากเพียงพอ คุณก็สามารถที่จะทำการทดสอบวิจัยและออกแบบระบบการลงทุนมาใช้งานได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลราคาย้อนหลัง (Price Data), ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานย้อนหลัง (Fundamental Data) ,ข้อมูลเหตุการณ์ที่กระทำโดยบริษัทจดทะเบียนฯ (Corporate Action) หรือแม้แต่ข้อมูลต่างๆที่ล่องลอยอยู่ในอินเตอร์เนทต่างๆ ดังนั้นแล้วสรุปก็คือ ถ้าคุณหาข้อมูลและเรียบเรียงให้อยู่ใน Format ที่นำมาทดสอบได้ มันก็สามารถนำมาวิจัยและออกแบบเป็นระบบได้ทั้งสิ้น

ส่วนจะถามว่าทำไมเราจึงมักที่จะเห็นว่าระบบการลงทุนส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบของการใช้ Technical Analysis หรือมักเป็นการนำเอาข้อมูลด้านการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นย้อนหลังมาทำ และทำไมจึงมักที่จะทำกำไรได้เมื่อตลาดมีแนวโน้มที่ชัดเจน สาเหตุก็เป็นเพราะข้อมูลราคาเป็นข้อมูลที่หาง่ายที่สุด, มีความสมบูรณ์ และเอื้ออำนวยต่อการนำมาทดสอบมากที่สุด และปรากฎการณ์ที่ช่วยให้เราทำกำไรจากตลาดได้เป็นอย่างดีคือปรากฎการณ์ของแนวโน้มหรือ Momentum Anomaly นั่นเอง นอกจากนี้แล้วมันยังมักที่จะให้ Drawdown ที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการถือยาวซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนตามระบบหลายๆคนไม่สามารถที่จะรับได้นั่นเองครับ

ภาพที่ 5 : ผลตอบแทนของระบบการลงทุนชนิดหนึ่ง ซึ่งอิงจากข้อมูล Google Trends data ที่มีการค้นหาเกี่ยวกับคำว่า Debt

8. การลงทุนตามระบบจำเป็นต้องใช้ร่วมกับการพิจารณาปัจจัยและการวิเคราะห์พื้นฐานอื่นๆ ก่อนที่จะทำการลงทุนในแต่ละครั้ง

Answer : ข้อนี้อันที่จริงแล้วเรามีทางเลือกที่จะทำเช่นนั้นก็ได้หรือไม่ทำก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามโดยมาตรฐานแล้ว ผู้ที่ออกแบบระบบการลงทุนมักเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น เนื่องจากตามหลักของการออกแบบระบบการลงทุนที่ดีนั้น มันควรที่จะต้องทำให้กฎระเบียบต่างๆนั้นมีความสมบูรณ์และคลอบคลุมการปฎิบัติการลงทุนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (นักออกแบบระบบหลายคนคิดว่าถ้าต้องใช้วิจารณญาณส่วนตัวเพิ่มเติมอีก จะนั่งวิจัยและออกแบบไปทั้งวันเพื่ออะไร) ซึ่งในปัจจุบันมีกองทุนในระดับโลกหลายกองที่ทำการลงทุนด้วยระบบการลงทุนอย่างเบ็ดเสร็จ และสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีเป็นอย่างมากออกมา โดยเราสามารถที่ะจะแบ่งเกรดความเข้มข้นของการนำไปปฎิบัติใช้ได้ดังนี้

– Algorithmic Trading คือการควบคุมกระบวนการลงทุนอย่างเบ็ดเสร็จด้วยคอมพิวเตอร์ ตามชุดคำสั่งหรือกฎในการลงทุนอย่างสมบูรณ์แบบ มักพบเจอในระบบที่ต้องใช้ข้อมูลที่เยอะมากๆ, มีการซื้อขายที่เร็วมากๆและสั้นมากๆจนมนุษย์ไม่สามารถทำได้ หรือเป็นกองทุนที่ต้องการสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการตัดสินใจต่างๆอยู่เสมอ

– Mechanical Trading คือการควบคุมกระบวนการลงทุนด้วยตัวบุคคลอย่างเข้มงวด ด้วยกฎในการลงทุนที่มีความสมบูรณ์และครอบคลุมกิจกรรมในการลงทุนต่างๆให้มากที่สุด มักพบเจอในกองทุนหรือกลุ่มบุคคลซึ่งมีความสามารถในการวิจัยและออกแบบระบบการลงทุน แต่ติดปัญหาในเรื่องของสภาพแวดล้อมและกฎเกณฑ์ต่างๆของตลาด

– Evidence Based Trading คือการใช้วิจารณญาณร่วมกับผลงานวิจัยและทดสอบย้อนหลังในตลาด มักถูกนำไปใช้ในกองทุนที่ยังอาศัยพึ่งพาความสามารถของเทรดเดอร์ในกองทุนเป็นหลัก

ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณภาพของผลการตอบแทนในการลงทุนนั้นไม่สามารถที่จะการันตีได้ด้วยลำดับความเข้มข้นของการนำไปปฎิบัติใช้นะครับ เพราะในแต่ละขั้นของความเข้มข้นนั้นก็ย่อมมีความยากง่าย และความสะดวกที่แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและตลาดในแต่ละแห่งครับ

9. ระบบการลงทุนง่ายๆใช้ได้ผลดีไม่เท่าระบบการลงทุนที่ซับซ้อน

Answer : คนส่วนใหญ่เชื่อว่าระบบการลงทุนอันลึกล้ำซับซ้อนที่ต้องพึ่งพาข้อมูลในการตัดสินใจหลายร้อยอย่าง หรือต้องพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงเท่านั้นจึงจะสามารถอยู่รอดได้ในตลาด

น่าเสียดายว่าความเชื่อนี้ไม่เคยมีหลักฐานงานวิจัยใดๆมารองรับเลยสักนิด! ซึ่งอันที่จริงแล้วกลับมีงานวิจัยบางชิ้นที่ได้บ่งชี้ให้เห็นว่าการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่มากเกินไปกลับที่จะทำให้คุณภาพและความสม่ำเสมอของการตัดสินใจในระยะยาวนั้นลดลงเสียด้วยซ้ำ

เรื่องนี้สามารถอธิบายได้อย่างง่ายๆว่า หากระบบนั้นต้องพึ่งพาข้อมูลที่เยอะจนเกินไป ตัวแปรต่างๆทั้งที่สำคัญมากและสำคัญน้อยมักจะถูกลดความสำคัญลงโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้แล้วมันยังเป็นการยากที่จะตรวจสอบได้ว่าตัวแปรใดๆคือตัวปัญหาของระบบนั้นๆในช่วงเวลาหนึ่ง อีกทั้งระบบการลงทุนที่ซับซ้อนมากๆยังมักมีความเสี่ยงต่อการ Overfitting Data หรือการออกแบบระบบซึ่งจับรายละเอียดยิบย่อยที่ไม่ใช้หลักสำคัญในฐานข้อมูลมากเกินไป จนทำให้ระบบการลงทุนพังทลายลงเมื่อตลาดเปลี่ยนแปลงในอนาคตเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้นแล้ว ความยาก-ง่ายซับซ้อน ความล้ำลึกของเทคโนโลยี หรือความแปลกประหลาดของกลยุทธ์การลงทุน จึงไม่ใช่ปัจจัยที่คุณควรให้ความสนใจจนมากเกินไปครับ (ผลกำไรสูงๆเว่อร์ๆก็ไม่ใช่ตัวยืนยันความเสถียรยั่งยืนของระบบเช่นกันครับ)

10. ระบบการลงทุนไม่สามารถนำมาใช้จริงได้ เพราะถ้าทุกคนใช้ระบบเดียวกันระบบเดียวกัน แล้วมันจะเป็นอย่างไร!?

Answer : เรื่องนี้ผมได้เคยอธิบายไปในหลายๆโพสท์เก่าๆเอาไว้แล้วว่ามันเป็นไปได้ยากมากๆ สาเหตุก็เพราะ …

– คนเรามีความเชื่อและศรัทธาที่แตกต่างกัน โดยแต่ละคนก็จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันไปในแต่ละส่วน ขนาดระบบ Mangmao All Time High ที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ “แมงเม่าคลับ” ยังไม่มีใครคิดที่จะเอาไปใช้กันตรงๆเป๊ะๆตามต้นฉบับเลยครับ เพราะมันดู “ง่าย” เกินไป จนทุกคนคิดว่าต้องเอาไปปรับแต่งมันเสียหน่อย

– คนเรามีความสามารถในการแบกรับความเสี่ยงที่ต่างกัน บางคนชอบเสี่ยง บางคนไม่ชอบ บางคนทนกับความผันผวนได้มาก บางคนทนกับความผันผวนได้น้อย ดังนั้นยากมากๆที่ทุกคนจะทนใช้ระบบหรือกลยุทธ์เดียวกันได้ตลอดไป

– กลยุทธ์หรือระบบการลงทุนที่ยั่งยืนส่วนใหญ่ง่ายที่จะเข้าใจแต่ยากที่จะทำ สาเหตุเพราะช่องว่างในการทำกำไรจากตลาด มักเกิดจากความไร้เหตุผลของผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาด และมันก็มักจะเกิดขึ้นในจุดที่ยากที่สุดในการตัดสินใจทำอะไรลงไปได้อย่างมีเหตุผลอยู่สม่ำเสมอ เช่น การซื้อหุ้นเมื่อเกิด Panic, การซื้อหุ้นเมื่อมันทำ All-Time High หรือแม้แต่การอยู่เฉยๆได้เป็นเดือนๆปีๆ

– ระบบการลงทุนที่ยั่งยืนส่วนใหญ่มีกลไกในการ “ถีบ” คนส่วนใหญ่ออกไปโดยอัตโนมัติ เช่น Win Rate ต่ำ, Maximum Drawdown สูง, ความผันผวนระหว่างการลงทุนสูง หรือแม้แต่ช่วง Flat Time ที่พอร์ทจะอยู่นิ่งๆนานมากๆ สิ่งเหล่านี้สามารถถีบแมงเม่าส่วนใหญ่ออกไปได้ในเวลาไม่นานนัก (ต่อให้ใช้ Robot มา Automated ให้ก็ไม่ใช่ว่าจะทนเรื่องพวกนี้ได้ง่ายๆครับ)

– คนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถลงทุนอย่างเป็นระบบ และมีวินัยอย่างสม่ำเสมอได้ เพราะการลงทุนอย่างเป็นระบบต้องอาศัยความเข้าใจในศาสตร์หลายๆอย่างเป็นอย่างดี เช่น วิชาการลงทุน, วิชาสถิติ, การเขียนโปรแกรม รวมไปถึงความเข้าใจต่อ Profile ของระบบการลงทุนนั้นๆในช่วงเวลาต่างๆของตลาดเป็นอย่างดีอีกด้วย ดังนั้นแล้วมันจึงเป็นไปได้ยากมากๆที่คนส่วนใหญ่จะสามารถลงทุนอย่างเป็นระบบได้อย่างมีวินัยยาวนาน

image

ตารางที่ 2 : แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนรายเดือนและรายปีของระบบ Mangmao ATH ภายใต้การทดสอบอย่างเข้มงวดในเวลากว่า 25 ปี ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าพวกมันมีทั้งช่วงเวลาที่กำไรและขาดทุนสลับกันไป นอกจากนั้นแล้วยังมีช่วงเวลาที่ผลตอบแทนเป็น 0 หรือไม่ได้ทำการลงทุนนานหลายเดือนติดต่อกันอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความยากในเชิงปฎิบัติจนทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อาจทำตามกลยุทธ์การลงทุนที่แสนจะเรียบง่ายและมีประสิทธิภาพเหล่านี้ได้

และทั้งหมดนี้ก็เป็นความคิดที่ผมอยากจะแชร์ให้เพื่อนๆที่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการลงทุนอย่างเป็นระบบได้อ่านกัน หวังว่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ

ปล. ส่วนใครที่ถามว่าแล้วมีใครที่รวยจากการเล่นหุ้นอย่างเป็นระบบตามหลักสถิติบ้างไหม ขอให้ไปลองไล่อ่านโพสท์เก่าๆ หรือไปหาหนังสือแมงเม่าคลับดูมาอ่านดูนะครับ ผมขี้เกียจจะเขียนใหม่อีกรอบแล้วครับ ฮ่าๆ :D

แมงเม่าคลับ.คอม หนังสือหุ้นน่าอ่าน, วิธีการเล่นหุ้น, การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค, จิตวิทยาการลงทุน และการบริหารเงินทุน Money Management

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)